Yokohama - ส่งลิ้วล้อนำหน้า วิ่งสั่งงานตามหลัง

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Yokohama - ส่งลิ้วล้อนำหน้า วิ่งสั่งงานตามหลัง

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายเกมนี้คือ Istanbul ในฉบับ euro gamer (ผมไม่เรียก Istanbul ว่า euro game แต่เรียกว่า german family game) ทั้งๆที่สองเกมนี้แทบไม่มีอะไรเหมือนแต่ถ้าบอกให้ยกตัวอย่างเกมที่คล้ายๆกันผมก็คงยกตัวอย่างเดิมอยู่ดี (งงมะ?)

เกมนี้เริ่มวางขายครั้งแรกในญี่ปุ่น จากนั้นก็ได้ค่าย TMG จับไปทำ deluxe edition ปรับ grahpic ใหม่เพิ่ม token ไม้ ลง KS (ปิดไปแล้วเริ่มส่งของเดือน เมษา ปี 17) เกมนี้ก็เป็นอีกเกมที่ได้มาแบบงงๆ คือเพื่อนผมไปสั่งเกมมาจากญี่ปุ่น แต่เห็น component ของ deluxe สวยดีเลยเอามาขายต่อ พอดีในกลุ่มยังไม่มี ผมเลยแบบ…..เอามาก็ได้ว่ะ ราคาตัวเกมไม่ได้แพงเท่าไร 2000 แต่เจอค่าส่งกับภาษีไปก็หนักอยู่ (โดนไปอีก 1500)

“แกนหลักคือการส่งคนงานไปรอที่หมายล่วงหน้า จากนั้นเราจะไปไล่ตามสั่งงาน”

เกมนี้เราเป็นหัวหน้าพ่อค้าในเมืองท่าโยโกฮาม่าสมัยพึ่งเปิดประเทศใหม่ๆ เน้นทำแต้มจากการส่งสินค้าตามใบออร์เดอร์ (ใช้ระบบ set collection)  flow ค่อนข้างตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย เมื่อเริ่มเกมมาเราจะเอาไทล์สถานที่ในเกมจัดวางในทรงพีระมิด ทุกรอบจะมีไทล์เหมือนกันหมดแต่สุ่มสลับต่ำแหน่งกัน

ในแต่ล่ะตาผู้เล่นจะผลัดกันทำตาม step ตามนี้

  • 1.a)วางผู้ช่วย 3 คนแยกกันไว้ที่ไทล์ไหนก็ได้บนแผนที่ หรือ
  • 1.b)วางผู้ช่วย 2 คนไว้ที่ไทล์เดียวกัน

  • 2) จากนั้นขยับประธานเดินตามไทล์ที่มีผู้ช่วยไปเรื่อยๆ หยุดที่ไหน ต้องทำ action ช่องนั้น
  • 3) เก็บผู้ช่วยทุกตัวที่อยู่ในไทล์ที่พึ่งทำ action เข้ามือ

ระบบหลักของเกมนี้เองที่ทำให้มองผ่านๆแล้วก็คล้าย Istanbul แต่แทนที่เราจะเดินไปไทล์อื่นแล้วทิ้งลูกน้องไว้ข้างหลัง ก็เปลี่ยนเป็นเราต้องส่งลูกน้องไปล่วงหน้าให้ลูกน้องเป็นทางเดินแล้วไปหยุดสั่งงานแทน ไทล์เกมนี้ส่วนมากจะตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายมาก คือเก็บเอาสินค้าไว้รอส่งให้กับการ์ดใบสั่งซื้อ

ตัวเกมไม่อนุญาตให้เราหยุดที่เดียวกับหัวหน้าของผู้เล่นคนอื่น แต่ว่าสามารถเดินผ่านได้ แต่ถ้าเดินผ่านล่ะก็ต้องจ่ายเงินของเราให้ผู้เล่นคนนั้นด้วย การที่เราจะวางลูกน้องไว้ที่เดียวกับประธานของคนอื่นเราก็ต้องจ่ายเงินให้เหมือนกัน เกมนี้เงินค่อนข้างหายาก เอาไปจ่ายมั่วซั่วจะลำบากเอาทีหลัง (ไม่มีคำอธิบายเชิงธีม แต่ผมชอบบอกว่าแวะเลี้ยงเหล้าลูกค้าตามธรรมเนียมญี่ปุ่น)

เกมนี้ผู้เล่นจะมีคนงาน/สิ่งปลูกสร้าง จำนวนจำกัด เราสามารถหามาเพิ่มได้จากการทำ action ระหว่างเล่น ความน่าสนใจอยู่ตรงเราได้รับสิทธิ์ในการเบิกเป็นจำนวนชิ้น เราจะต้องเลือกเองว่าจะเปลี่ยนสิทธิ์นี้เป็นคนงาน/สิ่งปลูกสร้างเอง การเบิกของแต่ล่ะชนิดก็จะมีราคาไม่เท่ากัน

“คนงานยิ่งเยอะก็ยิ่งได้ของเยอะ”

ในแต่ล่ะไทล์พื้นที่ของเกมจะมีตาราง 5 ช่องมีเลขกำกับ บอกถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานไทล์นั้น เวลาเราจะทำ action ที่ไทล์ไหน เราจะต้องนับ ตัวหัวหน้า + ลูกน้อง + สิ่งปลูกสร้างของเราในไทล์นั้นว่ามีจำนวนเท่าไรเราก็จะได้ทำ action ที่ความแรงเท่านั้น (แน่นอนว่ายิ่งเยอะยิ่งดี) ถ้าพูดให้ง่ายก็คือมีสีของเรากี่ชิ้นในไทล์นั้น เราก็ได้ power เท่านั้นแหละ

ถ้าเราสะสมคนงานรอ activate ได้มากพอเราอาจจะได้โบนัสเพิ่มด้วย

  • ถ้า activate ไทล์นั้นด้วย power 4-5 เราจะได้วางสิ่งปลูกสร้างพร้อมเลือกโบนัสประจำช่องนั้น
  • ถ้า activate ไทล์นั้นด้วย power 5 เป็นคนแรกจะได้โบนัสประจำไทล์ (สุ่มตอนเริ่มเกม)

การวางสิ่งปลูกสร้างนอกจากจะได้ one time โบนัสแล้วยังทำให้เรามี power ฟรีๆอีกหนึ่งหน่วยตอนแวะกลับมาทำ action ที่ไทล์นั้นซ้ำ ส่วนโบนัส 5-power คนแรกก็ถือว่าไม่น้อยมูลค่าประมาณฟรี 1-2 action การวางแผนว่าจะไปสะสมคนงานรอระเบิดพลังให้คุ้มๆในเกมนี้ก็สนุกดี

“ทำได้หลายอย่างแต่ไม่ต้องทำทุกอย่าง”

เกมนี้ทำแต้มได้หลายทางมากๆ แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเล่นเกม point salad จ๋าๆ

ไทล์ส่วนมากของเกมจะเป็นตัวผลิตสินค้า มีสี่อย่างคือ ปลา/ใบชา/ไหมดิบ/ทองแดง โดยเราจะเก็บสะสมไว้เพื่อ complete ใบสั่งซื้อที่เป็นแต้มหลักของเกม การจะได้มาเราก็ต้องเริ่มจาก active ไทล์ท่าเรือเพื่อจั่วใบที่เราอยากได้ก่อน (ไทล์จั่วการ์ดถ้า power เยอะก็จะได้เลือกการ์ดเยอะขึ้น) ในแต่ล่ะใบก็จะมีความต้องการและของรางวัลถ้าปิดจ๊อบได้สำเร็จต่างๆกันไป

ถ้างงๆไม่รู้จะทำอะไรดีตัวเกมจะสุ่ม objective card กลางมาให้เราเกมล่ะสามใบ ผู้เล่นที่ทำตามได้ก็จะได้แต้มไป แต่ต้องแลกกับการเอาตัวคนงานของเราไปวางไว้ ถ้าเรารีบเคลม แต่วางแผนไม่ดี คนงานในมืออาจจะไม่พอใช้ไปทำอย่างอื่นทีหลัง ตัวเงื่อนไขจะออกไปแนวๆ ถ้ามีของ x จำนวน y หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างบนไทล์ชนิดที่กำหนดครบ z หลัง

เกมนี้การ์ดใบสั่งซื้อกับการ์ดเทคโนโลยี (การ์ดความสามารถพิเศษที่หยิบได้จากไทล์ในระหว่างเกม) จะมีสัญลักษณ์เป็นธงของต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าที่โยโกฮาม่าในสมัยนั้น (มี 5 ประเทศ) กิมมิคที่ทำให้เราต้องคิดเพิ่มในเกมนี้คือ

  • ตอนจบเกมเราจะได้แต้มตาม set ของจำนวนธงที่แตกต่างกัน
  • แต่ถ้าเราเก็บธงที่ซ้ำกัน ทุกๆครั้งๆที่ซ้ำเป็นคู่เราจะได้ token พิเศษที่ทำให้เรา activate ไทล์ได้ฟรี 1 ครั้ง

เกมนี้นอกจากวิธีเล่นเยอะ วิธีตัดจบก็เยอะเหมือนกันแทบจะตามสายที่เล่นได้เลย เกมจะจบเมื่อผู้เล่นคนหนึ่งทำอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จ

  • สร้างแผงลอยครบ 8 อัน
  • สร้างร้านค้าครบ 4 อัน
  • ไทล์ศุลกากรมีคนงานถึงจำนวนที่กำหนด
  • ไทล์โบสถ์มีคนงานถึงจำนวนที่กำหนด
  • ใบสั่งซื้อหมดกอง

ในอีกอย่างหมายหนึ่งก็คือยิ่งผู้เล่นคนไหนแกร่งในสายที่ตัวเองเล่นเกมก็จะยิ่งจบเร็ว

“ระบบหลักแข็งแกร่ง การเล่นฉับไว”

ส่วนตัวแล้วผมเฉยๆกับ Istanbul (อ้าวไหนว่าไม่เหมือน จะเทียบกันทำไม 5555) เพราะรู้สึกว่ามันยึกยักต้องเดินวนไปวนมาเยอะเกินจำเป็น แถมด้วยความที่เกมไม่ได้ลึกอะไรมากก็เลยกลายเป็นพอเจอ optimal path (ที่ใครๆเค้าก็มองออก) แล้วก็เดินวนไปวนมาแค่ตรงนั้นจนจบเกม แต่ใน Yokohama เล่นแล้วไม่รู้สึกอะไรแบบนั้น เกมมีไดนามิคที่ต้องคิดบริหาร action ของตัวตลอดเวลา path ในการเล่นก็ไม่ได้ฟิกซ์อะไร เหมือนจะให้ทำทุกอย่าง แต่ก็ไม่ต้องทำทุกอย่าง วิธีการทำแต้มก็หลายหลายดี ระบบตัวเลือกง่ายๆแต่ให้ผลออกมาดีมากๆ อย่างวางกระจายได้วางสามตัว ถ้าวางที่เดียวได้สองตัวเป็นระบบที่ทำให้เกิดการตัดสินใจสนุกๆได้บ่อยมาก

ด้วยที่ว่าเกมนี้ระบบการเล่นคือการค่อยๆหยอดสะสมคนงานไว้กองใหญ่ๆทิ้งไว้รอเราแวะไป ระหว่างนั้นเราก็ไล่ active ไทล์อื่นด้วยคนน้อยๆรอเวลา แต่แน่นอนว่าคนอื่นเค้าก็เห็นเหมือนกันว่าเรากำลังจะทำอะไร การบล๊อกโดยการเอาคนงานเราไปยืนทำ active ไทล์ที่คนอื่นหมายตาไว้ก็เลยเป็นกลยุทธ์สำคัญ  (เกมนี้ห้ามหยุดอยู่ที่เดียวกัน) ข้อดีอย่างหนึ่งของเกมนี้คือเวลาเราไปตัดเนี่ยก็ไม่ได้ตัดจริงอะไรมากมาย ทำได้แค่ให้เค้าได้ของช้าลงเท่านั้นเอง แต่ถ้าโดนตัดรัวๆแล้วดันทิ้งคงงานไว้ไทล์นั้นเยอะ ทีนี้ก็ยากล่ะ เพราะคนงานในมืออาจจะไม่พอทำลงได้ไม่ครบ 3 ตัวต่อรอบ ลองนึกภาพคุณ(นาย A)ทิ้งตัวไว้ไทล์นึง 3 ตัวแต่ยังไม่ activate

จากนั้นนาย B เข้ามาใช้ไทล์นั้น C กับ D ก็เล่นตาตัวเองไป พอวนกลับมาตาคุณ คุณไปใช้ไม่ได้ใช่มะ?

พอคุณเล่นตาตัวเองเสร็จ ทีนี้ตา B ย้ายออก นาย C เข้ามาใช้ต่อ วนกลับมาที่คุณอีกรอบคุณก็ใช้ไม่ได้อีกใช่มะ?

แล้วพอนาย C ออกนาย D ก็มาใช้ต่อ………………

ถ้าวางแผนไม่ดี ไปใช้ช่องป๊อบๆ ก็จะโดนแบบนี้แหละ ที่น่าเจ็บใจคือเอาตัวออกไม่ได้ค้างอยู่ 3 ตัว!!!

เกมนี้ มือเปิดมามีคนงานเพียง 8 ตัวถ้าโดนล๊อกไว้เยอะขนาดนั้นการเดินเกมก็จะติดขัดเอามากๆ

ข้อเสียที่ดูจะไม่ใช่ข้อเสียเท่าไรของเกมนี้คือตัวเกมดู “ยุ่งยาก ซับซ้อน เกินความเป็นจริง” อันเกิดจากไทล์พื้นที่ดูไม่ค่อยคลีนดูเส้นสายเยอะแยะ มีไทล์งอก ไทล์เสริมตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด แต่พอเล่นแล้วก็จะเข้าใจเองว่ามันไม่ได้เยอะอย่างที่คิด

ถัดมาคือเรื่องการ์ดเนื่องจากตัวที่ผมเล่นเป็นตัวต้นฉบับเลยมี text สองภาษา แต่ล่ะภาษาตัวเลยเล็กนิดนึง ทำให้อ่านกลับหัวไม่ค่อยสะดวกเท่าไร พอไปดูตัว KS นี้หนักเลย ตัดภาษาญี่ปุ่นออกที่เพิ่มขึ้นแต่ตัวหนังสือแทบจะเท่าเดิมเสียดายมาก แทนที่จะเปลี่ยนเป็นการ์ดใบใหญ่ๆ หรือไม่ก็เพิ่มขนาดตัวหนังสืออีก ส่วนตัวคิดว่าถ้ามันทำเป็น icon ให้ language independent จะดีมาก

ใน version KS มีการปรับเปลี่ยนลายเส้นหลายอย่างให้ดูสะอาดตาขึ้น เพิ่ม player aid บนกระดานหลายอย่าง อย่างพวกแต้ม majority ก็ย้ายไปพิมพ์ที่ตัวกระดานนั้นๆเลย player mat ก็ทำออกมา informative ดี (ของเก่าก็ไม่ได้แย่อะไรนะ แค่อันใหม่ดีกว่าเยอะ) ส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่ได้ไปหิ้วเองที่ญี่ปุ่นแบบไม่เสียค่าส่งก็รอตัว  KS ดีกว่าครับ

เป็นเกมที่เล่นแล้วชอบ เพราะระบบการเล่นกระชับฉับไว ระบบหลักแข็งแกร่ง

Sorry for the long post………. here’s a cat :)

15194525_1126373254144799_5339443715814277881_o

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->