Wildcatters - ครบวงจรส่งน้ำมัน

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Wildcatters - ครบวงจรส่งน้ำมัน

น้ำมัน! น้ำมัน!! น้ำมัน!!! เกมนี้จะพาเราไปอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขุดเจาะน้ำมันทั่วโลก ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะต้องรับบทเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่จะมาจัดการธุรกิจน้ำมันตั้งแต่แท่นขุดเจาะไปจนถึงการลำเลียงน้ำมันไปยังทวีปต่างๆทั่วโลก

เป็นหนึ่งในเกม mid-heavy ที่ผมชอบเล่นมากอีกเกม จริงๆดอง draft ไว้นานล่ะเพราะเกมนี้ผลิตมาจำนวนจำกัดกับมีข่าวจะ reprint เลยกะว่ารอก่อนดีกว่า มาตอนนี้เกมนี้ confirm ล่ะว่าจะกลับมาพิมพ์ใหม่ขาย essen 17 นี้ก็เลยคิดว่าน่าจะได้เวลาเอามาเขียนต่อ :)


Let the oil flow

ตัวเกมแบ่งออกเป็น  7 โซน โดยจะเป็น 4 โซนหลักอันเป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตน้ำมันได้ กับโซนรองที่ทำได้แค่รอรับน้ำมันมาส่งอีก 3 โซน ทีนี้ในโซนหลักจะโดนซอยออกออกเป็น พื้นที่ย่อยสองส่วน (รวมมี 8 พื้นที่ย่อย)  เกมจะมีการ์ดสำหรับแต่ล่ะพื้นที่ที่โดนแบ่งนี้ทั้งหมด 4 ชุด ในแต่ล่ะตาเกมจะหงายการ์ดออกมาให้เราดู 8 ใบโดยเราจะต้องเลือกการ์ด และเราทำ action ในพื้นที่ที่เราหยิบการ์ดมาเท่านั้น (เท่ากับว่าพื้นที่ล่ะจุดในเกมจะถูกใช้งานได้เพียงแค่ 4 ครั้งทั้งเกม แต่เราจะไม่รู้แน่นอนว่าจะออกมาตอนไหนบ้าง)

สิ่งที่เราสามารถทำได้ในแต่ล่ะพื้นที่คือ

  • ลงทุนสร้างแทนขุดเจาะ : เมื่อพื้นที่มีจำนวนแท่นเจาะจากผู้เล่นทุกคนเพียงพอจะมีน้ำมัน
  • สร้างโรงกลั่นน้ำมัน : ปลายทางที่จะรับน้ำมัน
  • วางระบบรางรถไฟ : เอาไว้ขนส่งน้ำมันออกจากบ่อ ลำเลียงไปขึ้นเรือ หรือโรงกลั่น
  • ซื้อเรือบรรทุกน้ำมัน : ขนย้ายน้ำมันข้ามทวีป

ตัวเกมเล่นกันแค่ 7 รอบ (ทั้งเกมเล่นกันคนล่ะ 7  action) flow ของเกมคือการที่เราขุดน้ำมัน(จากแท่นขุดของเรา) ไปส่งผ่านระบบ รางรถไฟ/เรือ (ของใครก็ได้) ไปสู่โรงกลั่นน้ำมัน (ของใครก็ได้)


“Friendship and Money : Oil and Water”

- Mario Puzo

ในเกมนี้เราจะได้เงินเป็นจำนวนคงที่เท่ากันทุกตา ส่วน action ในการสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่จะใช้เงินในการสร้าง (จะมองว่าเงินก็คือ action point ก็ได้) จุดสำคัญของเกมนี้อยู่ที่เงินที่คุณมีจะไม่สามารถ สร้างทุกอย่างในครบวงจรได้ด้วยตัวคนเดียว (จริงๆก็ทำได้อยู่แต่ว่าค่อนข้างแพงจนไม่คุ้ม)

การจะได้มาซึ่งน้ำมันจะเริ่มจากการขุดเจาะพื้นที่ก่อน ในแต่ล่ะพื้นที่ของเกมทันทีที่มีแท่นขุดเจาะ(ของใครก็ได้)เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ผู้เล่นเจ้าของเทิร์นสามารถจ่ายเงิน เพื่อบุกเบิกให้พื้นที่นั้นสามารถขุดเจาะน้ำมันได้  พอจ่ายแล้วแท่นขุดเจาะอันหนึ่งของเราจะกลายเป็นแท่นปั๊มน้ำมันพร้อมกับวาง ถังน้ำมันไว้บนแท่น จังหวะนี้ผู้เล่นคนอื่นที่ ‘บังเอิญ’ (จริงๆคือวางแผนมานะ :P) มีแท่นขุดอยู่ในพื้นที่นั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแทนขุดของตัวเองได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องจ่ายหุ้นของเค้าให้กับเรา(คนบุกเบิก)เป็นการตอบแทน  ระบบหุ้นของเกมนี้ไม่ใช่แบบ 100% แล้วแบ่งเป็นสัดส่วนแต่เกมจะมองเหมือนกับเป็นเงินอีกสกุลมากกว่า ผู้เล่นแต่ล่ะคนก็จะมี ‘เงิน’(หุ้นสีตัวเอง) นี้เอาไว้จ่ายแลกเปลี่ยนใช้บริการ facility ของผู้เล่นคนอื่น

หลังจากนั้นถ้าเจ้าของเทิร์นยังมีเงินเหลือก็สามารถจ่ายเงินเปลี่ยนแท่นขุดได้เรื่อยๆ แต่คนอื่นที่มาแจมเปลี่ยนแท่นขุดเป็นปั๊มไม่ได้แล้ว ถ้าอยากจะได้บ้างก็ต้องไปเลือกการ์ดพื้นที่นั้นเอาในตาตัวเอง (แต่อย่าลืมว่าการ์ดพื้นที่มีแค่ 4 ใบ)

หลังจากนั้นถ้าพื้นที่ตรงนั้นมีรถไฟอยู่สามารถส่งน้ำมันออกมาได้ เกมนี้น้ำมันต้องมุ่งหน้าเข้าสู่โรงกลั่นเท่านั้น น้ำมันที่ส่งออกมาได้คือแท่นล่ะ 1 ถัง จังหวะนี้ถ้าใช้บริการรถไฟของใครเราก็จะต้องจ่ายหุ้นของเราให้กับผู้เล่นคนนั้น 1 หุ้น

หลายๆครั้งใช้แค่รถไฟเรายังไปไม่ถึงที่หมาย  ผู้เล่นสามารถเลือกที่จะขนน้ำมันขึ้นเรือได้ ตัวเรือมีความจุจำกัดพอโหลดน้ำมันขึ้นเรือแล้วผู้เล่นที่มีถังน้ำมันเยอะสุดจะได้เลือกว่าเรือจะไปจอดส่งน้ำมันที่โรงกลั่นไหน ถ้ามีเท่ากันเจ้าของเรือจะเป็นคนเลือก และแน่นอนว่าค่าขึ้นเรือก็คือหุ้นของเราอีกนั้นแหละ 1 หุ้นเช่นกัน

“หุ้นของเราคือเงิน และหุ้นของเรามักจะมีเท่าไรก็ไม่พอ”

หนึ่งในจุดเด่นของเกมนี้คือระบบการใช้หุ้นในการรับจ่ายระหว่างผู้เล่น

  • การใช้บริการเรือ/รถไฟ ของผู้เล่นอื่นเราจะต้องจ่ายเป็น หุ้น ของเราเอง ให้แก่เจ้าของระบบขนส่ง
  • ทันทีที่น้ำมันส่งมาถึงโรงกลั่น เจ้าของโรงกลั่นจะต้องจ่ายหุ้นของตัวเองเป็นค่าน้ำมันแก่คนที่มาส่งถังล่ะ 2 หุ้น (ถ้าเป็นน้ำมันตัวเองไม่ต้องเสียอะไร)

ถ้าสังเกตุดีๆเกมนี้เรามีแต่จ่ายหุ้นตัวเองให้คนอื่น แถมหุ้นคนอื่นได้มาเอามาทำอะไรไม่ได้นิหว่านอกจากเอามาแลกในอัตตราเสียเปรียบ 3:1 หนทางที่เราจะได้มาซึ่งหุ้นของตัวเองมาเพิ่มก็คือการขายน้ำมันจากโรงกลั่นของเราเองเท่านั้น

ในตอนจบแต่ล่ะรอบ ถ้าโรงกลั่นมีน้ำมันเต็มจำนวนแล้ว เจ้าของโรงกลั่นจะได้ค่าตอบแทนเป็นหุ้นอะไรก็ได้ 4 หุ้น ต่อถังน้ำมันของคนอื่นที่เรามี (กำไรสองเท่าแต่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร เพราะต้องรอโรงกลั่นเต็ม) จากนั้นถังน้ำมันจะย้ายไปวางไว้ zone เล็กๆบนกระดานตรงกับทวีปที่โรงกลั่นตั้งอยู่ (eg. ไม่ว่าจะส่งน้ำมันไปที่ฝั่งตะวันออกหรือตะวันตกของอเมริกาใต้ น้ำมันก็จะไปวางที่ช่องทวีปอเมริกาใต้เสมอ) แต่ถ้าเป็นน้ำมันของเราเองเราต้องเลือกว่าจะเปลี่ยนเป็นหุ้น หรือ ส่งน้ำมันโดยไม่ได้หุ้น

โดยถังน้ำมันนี้จะเอาไปวางรอคิดแต้ม majority ในรอบ scoring ของเกม โดยเกมนี้คิดแต้มแค่สองครั้ง แต้มทั้งหมดจะมาจากการหา majority ใน 12 กลุ่มอันประกอบด้วย

  • Majority หุ้นแต่ล่ะบริษัทและเงิน (4 บริษัท + 1 เงิน)
  • Majority ผู้บริการน้ำมันในแต่ล่ะทวีป (มี 7 ทวีป สู้โดยการส่งน้ำมันไปที่โรงกลั่นในทวีปนั้น)

ปลายทางของเกมนี้จะไปจบที่โรงกลั่นน้ำมัน การจะสร้างแต่ล่ะครั้งนี้ต้องคิดให้ดีมากๆเพราะว่าราคาแพง ความเสี่ยงสูง (12$ เยอะกว่าเงินที่ได้รับปกติต่อรอบ) แถมยังอาจจะโดนคู่แข่ง’กั๊ก’ โดยการส่งน้ำมันมาให้เราทำให้เราถูกบังคับจ่ายหุ้น แต่จะไม่ยอมทำให้โรงกลั่นเต็มทำให้เงินของเราจมขยับตัวเล่นในรอบต่อไปลำบาก เพราะเกมนี้ส่งน้ำมันเข้าโรงกลั่นตัวเองจะไม่ค่อยคุ้มเท่าไรเทียบกับส่งไปขายให้คนอื่น แต่ว่าก็เป็นปลายทางของแต้มที่ทุกคนอยากจะมากัน การจัดสมดุลย์ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างหนึ่ง


Wildcatters

ในแต่ล่ะพื้นที่เมื่อมีการขุดน้ำมันครั้งแรก จะมีเหตุการณ์หนึ่งคือการประมูล ชิป wildcatters (เป็นชิปแทนกลุ่มคนที่ไปตามหาน้ำมันในที่ๆที่ยังไม่มีการขุดเจาะ อันเป็นชื่อของเกม) การประมูลจะต้องใช้หุ้นตัวเองในการบิด ตัว token นี้สัดส่วนแต้มถือว่าเยอะทีเดียวเพราะยิ่งเก็บมูลค่าแต้มอันต่อไปก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ (2 + 4 + 6 + 8 +….. ) แต่ข้อเสียคือหุ้นของเราที่ต้องจ่ายออกไป (อย่าลืมว่าเกมนี้จะจ่ายอะไรก็ใช้หุ้นเรา) ตรงนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันเพราะมันก่อให้เกิดกลยุทธ์แบบไม่เน้นส่งของแต่เน้นเก็บแต้มจากการประมูลแทน จะปล่อยให้ผู้เล่นสายเก็บ Wildcatter ได้ของถูกไปตลอดก็ไม่ได้ไม่งั้นแต้มจะทบไปจนตามไม่ทัน

ด้วยความที่หุ้นเราหายากใช่มะ เกมนี้ก็เปิดให้เรากู้ด้วย เกมนี้กู้เท่าไรก็ได้ ได้ครั้งล่ะ 10 หุ้นแต่เวลาจ่ายคืนขั้นต่ำคือ 15 หุ้น และยิ่งเวลาผ่านไปอัตราสูงสุดในการจ่ายคืนตอนท้ายเกมคือ 25 หุ้น!! เพราะงั้นการกู้ในเกมนี้มันขาดทุนเอามากๆ กลยุทธ์หนึ่งที่เจอบ่อยในเกมนี้คือการหาทางบังคับให้อีกฝ่ายต้องกู้เนี่ยล่ะ


Commentary

โดยพื้นฐานแล้วเกมนี้ก็คือเกมเก็บ majority ที่มีอยู่ 12 กลุ่ม (7 พื้นที่ / 4 หุ้น / 1 เงิน) วิธีเล่นก็ไม่ยุ่งยากเอาของมาส่งที่ปลายทางเท่านั้นเอง แต่ด้วย action ที่น้อยและต้องอาศัยความรวมมือกับคนอื่นทำให้กลายเป็นเกมที่มีน้ำหนักการตัดสินใจที่น่าสนใจ ด้วยความที่ว่ามันทำคนเดียวหมดไม่ได้การมองคู่แข่งให้ออก (และโน้มน้าว) จึงสำคัญมาก การมองการ์ดที่มีให้เลือกว่าพื้นที่ไหนสามารถทำอะไรได้ กับใครจะเลือกอะไรหรือจับมือกับใคร รวมๆผมรู้สึกเหมือนกำลังได้เล่นเกมของ Martin Wallace อย่าง Brass ในแง่มันเป็นเกมส่งของที่ใช้ระบบ card - driven ว่าพื้นที่ไหนจะได้ทำอะไรแล้วใครจะเป็นคนทำ demand-supply สิ่งปลูกสร้างชนิดไหน (ไม่ได้เหมือนอะไรขนาดนั้นนะแค่ยกมาเทียบเฉยๆ)

ผมชอบจังหวะตรงนี้ของเกมเพราะมีระดับการตัดสินใจที่สนุกๆอยู่หลายอย่าง

  • จำเอาไว้ก่อนว่าแต่ล่ะพื้นที่จะมีการสร้างได้แค่ 4 ครั้ง
  • เราต้องการแท่นขุดอย่างน้อย 4 อัน (หลายๆครั้งผู้เล่นจะต้องผลัดกันช่วยสร้าง/แบ่งกันออกค่าส่งน้ำมัน)
  • เรามีเงินไม่พอสร้างแท่นให้ครบ (ได้เงินแค่ตาล่ะ 10$ แท่นขุดอันล่ะ 4$ ค่าเปิดพื้นทีครั้งแรก 8$)

คือจังหวะที่ว่าเราจะลงทุนยังไงดี เราจะเกาะไปกับพื้นที่ไหน สัดส่วนการมีแท่นขุดของเราถ้าเยอะไปคนอื่นก็คงไม่มา activate พื้นที่ให้ หรือบางทีเราก็แค่สร้างระบบขนส่งรอไว้ให้คนอื่นมาใช้ก็ได้ ความสนุกอีกอย่างในการตัดสินใจอีกอย่างของเกมก็คือ เวลาจะส่งน้ำมันออกก็ต้องจ่ายเงินด้วย โดยเจ้าของตาเป็นคนจ่ายแต่ว่าทุกคนที่มีน้ำมันในพื้นที่นั้นจะได้ส่งได้ด้วย แน่นอนว่าสายเกาะชาวบ้านเค้าก็ต้องเล็งที่ไว้ให้ดี ส่วนคนจ่ายเงินก็ต้องคิดให้ดีว่าไอ้พวกนี้เอาน้ำมันออกแล้วจะไปส่งที่ไหน เราคนจ่ายเงินจะคุ้มไหม?

ข้อเสียรวมๆน่าจะเป็นตรงที่ด้วยความที่เกมมันต้องอาศัยผู้เล่นอื่นประมาณนึงเสมอ ทำให้ถ้าเจอผู้เล่นที่มองเกมไม่ขาดจะทำให้สมดุลย์กับแผนที่เราวางไว้อย่างดีพังได้ง่ายๆ อย่างเช่นด้วยความที่เรือบรรทุกน้ำมันในเกมนี้คนบังคับเรืออาจจะไม่ใช่เรา คนที่บังคับเรืออาจจะพาเรือไปส่งที่โรงกลั่นที่เราไม่อยากไปก็ได้ (เพราะมีผลเรื่อง majority คิดแต้ม) หรือบางครั้งเราช่วยไปวางแท่นขุดเจาะเพิ่มเผื่อให้พื้นที่สามารถขุดน้ำมันได้แต่อีกฝ่ายกลับเลือกที่จะไม่จ่ายเงินเปิดพื้นที่ซะนี้  อีกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่คือการนับหุ้นและเงิน ตอนเล่นครั้งแรกๆผมใช้วิธีถามจำนวนหุ้นเอาแล้วพบว่าโคตรรรเสียเวลาเลยเพราะต้องนับหลายกอง จะเล่นแบบปิดก็จำเยอะเกิน เลยมาจบที่ตรงกลางว่าให้วางกองเปิดไว้ แต่ไม่ให้นับ ก็พอจะรู้ได้ว่ามีมากน้อยแล้วค่อยไปลุ้นกันอีกที

ตัวพิมพ์ใหม่เกมนี้ไม่เปิด KS แต่จะเริ่มทำขายโดยตรงเลยตอน essen 17 เอามาทำใหม่โดยค่าย Capstone Games ราคาก็อาจจะแพงนิดนึงมั้งถ้ามาไทยเพราะค่ายนี้อยู่อเมริกา แต่เท่าที่อ่านเหมือนจะไม่มีเปลี่ยนเป็นพิเศษ (การ์ดตัว 1st edition ค่อนข้างบางทำใหม่อาจจะหน้าขึ้น แต่คงไม่เปลี่ยนอาร์ทมั้ง) จัดตัวปัจจุบันก็ได้มีใบรับรองว่าซื้อตัวจำกัดเบอร์มา ราคาค่อนข้างปกติ (ราวๆ 40-50 EUR)

UPDATE 2017/10/31 พอดีพึ่งได้อ่านกติกาของตัวพิมพ์ใหม่รวมๆก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไรแต่ว่ามีการปรับกติกาเล็กๆน้อยๆหลายจุด (อันนี้อันเก่าพอจะปรับแก้ตามได้) กับเสริมระบบการเล่นเล็กๆเพิ่มขึ้นมาใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้เราซื้อไทล์พิเศษเพิ่มได้โดยจะเป็นทั้งแต้มตอนจบ และเป็น income หุ้นเสริมระหว่างเล่นด้วย (อันนี้อันเก่าไม่มี) และเค้าจะไม่ทำตัว upgrade มาให้

alt tag Let’s start a world domination…..

 

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->