Watergate- สงครามข่าวคดีอัปยศ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Watergate- สงครามข่าวคดีอัปยศ

▪️”ลองตามเส้นทางของเงินไปสิ”……. คำพูดจากแหล่งข่าวลับสุดยอดที่เขย่าบัลลังก์ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน วีรชนที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงจากชาวสหรัฐ ผู้นำทหารกล้ากลับจากสงครามไร้ความหมายในเวียดนาม และผู้ปิดฉากยุคสมัยแห่งสงครามเย็นให้กลายเป็นไอ้นักการเมืองที่ใช้วิธีสกปรกในการเลือกตั้งจนเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของอเมริกาที่โดนปลดออกจากตำแหน่งระหว่างดำรงหน้าที่

▪️Watergate เป็นชื่อของคดีอันอื้อฉาวของการเมืองอเมริกาเริ่มจากมีการจับกุมโจรงัดแงะโรงแรมชื่อเดียวกันที่ ‘บังเอิญ’เป็นที่ตั้งของสำนักงานพรรคเดโมเครต (ที่อเมริกาจะมีพรรคการเมืองแค่สองพรรคเท่านั้น ซึ่งนิกสันอยู่พรรครีพับลิกัน) การจับกุมครั้งนั้นนำไปสู่การสอบสวนที่ขยายผลและขุดคุ้ยอย่างยากลำบากไปสู่บทสรุปที่ว่า คดีที่นึกว่าจะเป็นคดีงัดแงะธรรมดากลับกลายเป็นการส่งอดีตเจ้าหน้าทีซีไอเอ ( Central Intelligence Agency: หน่วยงานราชการด้านข่าวกรองต่างชาติพลเรือนของ รัฐบาลกลาง) จากฝั่งรีพับลิกันให้ไปล้วงเอาข้อมูลการหาเสียงของฝั่งเดโมเครต

🔸 ….. ถ้ายังไม่เก็ทว่าเหี้ยยังไง นี้คือฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบไปขโมยข้อมูลคู่แข่งนะ ….. ในช่วงเวลานั้นทาง FBI ที่เป็นคนสืบคดีเองก็โดนแทรงแซงจากฝั่งรัฐบาลอยู่ตลอด

P1050762

▪️เกมนี้จะจำลองช่วงคดีดังกล่าวโดนผู้เล่นคนหนึ่งจะรับบทเป็นทีมงานของนิกสัน และอีกคนเป็นนักข่าว โดยที่ฝั่งนักข่าวจะพยายามเชื่อมโยงหลักฐานเกี่ยวกับคดีจากพยานให้โยงไปถึงตัวนิกสัน ในขณะที่ทีมงานทำเนียบขาวจะพยายามสกัดกั้นความพยายามที่ว่า รวมไปถึงพยายามดึง ‘กระแส’ มวลชนให้เข้าทางตัวเองมากที่สุด เกมออกแบบโดย Matthias Cramer (Glen More, Lancaster, Rokoko, Kraftwagen)

▪️รูปแบบเกมจะใช้ระบบ CDG (Card Driven Games) อันเป็นระบบการเล่นยอดนิยมจากฝั่ง Wargames ที่จะให้ผู้เล่นผลัดกันเล่นการ์ดที่สร้างเหตุการณ์ต่างๆในเกมแทนที่จะไปเลื่อนขยับเหตุการณ์นั้นโดยตรง ซึ่งสิ่งที่เราจะมาทำในเกมนี้คือการ ‘ชักเย่อ’

P1050774

▪️ในหนึ่งรอบเกมผู้เล่นจะได้จั่วการ์ดมาจำนวนหนึ่งและผลัดกันเล่นจนหมดมือ สิ่งที่เราจะทำคือดึงเอา ‘กระแสของคดี’ หรือ ‘หลักฐาน’ ให้ขยับมาใกล้ฝั่งเรา พอเล่นกันการ์ดหมดมือทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ได้ครอบครองหลักฐานจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งความน่าสนใจของระบบ CDG ในเกมนี้คือการ์ดมันทำได้สามอย่างคือใช้แต้มเพื่อดึง ‘หลักฐาน’ หรือ ‘กระแสคดี’ หรือใช้ความสามารถบนการ์ดซึ่งก็แตกต่างกันไป

▪️เงื่อนไขของฝ่ายนิกสันก็คือดึงเอากระแสคดีมาให้ครบ 5 อัน ในขณะที่ฝ่ายนักข่าวจะชนะโดยการเล่นการ์ดเหตุการณ์เพื่อเปิดปากพยาน จากนั้นก็พยายามดึงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเกมแทนด้วยสีสามสีให้วางเชื่อมโยงจากพยานไปจนถึงนิกสันถ้าทำได้สองคนก็จะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งหากฝ่ายนิกสันได้ครอบครองหลักฐานแทนจะได้เอาหลักฐานมาวางกลับด้าน (ทำเป็นรูปเอาเมจิคสีดำมาขีดทับ) ทำให้ฝ่ายนักข่าวเชื่อมโยงคดีกับนิคสันยากขึ้น

เล่นไปแบบนี้ไม่กี่รอบ ราวๆ 30-45 นาทีก็จบเกม

🐸 [Family, เพื่อนเก่าสองคนเล่าความหลังครั้งแย่งกันจีบสาวคนเดียวกัน]

🔹 เพื่อนสองคนนี้ชอบเล่าเรื่องห่ามๆตอนแย่งกันขัดขา หรือวางแผนจีบสาวที่ดันปิ้งในเวลาเดียวกัน ในขณะที่คนหนึ่งวางแผนซื้อดอกไม้ให้ อีกคนก็หาทางเอาขี้หมาใส่ไว้ในดอกไม้เสียอย่างนั้น

🔹เป็นเกมที่เต็มไปด้วยความพอดี ที่เขียนแล้วมีแต่คำอวย (แต่กรุณาอย่าคาดหวังสุดยอดเกม เพราะไม่ได้หมายความแบบนั้น แค่มันทำมา ‘พอดี’ ในความต้องการบางแง่มุมของผม) จากกรอบเกมสองคนใช้เวลาไม่นานแล้วเกมนี้เป็นเกมที่ ‘นำเสนอ’ ระบบการเล่นและผสมธีมเข้าไปได้น่าสนใจมาก แค่เล่นการ์ดดึงโทเคนกลับไปกลับมาทำไมมันสนุก

🔹ส่วนตัวผมไม่ได้นำพาอะไรกับคดีนี้นอกจากรู้จักชื่อนิดหน่อย แต่พอเล่นแล้วเห้ย ขนาดไม่รู้เหี้ยไรเลยยังรู้สึกอินอยู่หน่อยๆ ระบบการเล่นเองก็มีน้ำหนักการตัดสินใจที่ดีมาก คือคุณมีมืออยู่ 4-5 ใบ ความสามารถก็อยากใช้ จะเอาแต้มไปดึงของที่จำเป็นกับเราก็อยาก เอาแค่นี้เกมก็สนุกล่ะ เพราะธีมที่โปรยเอาไว้มันช่วยนำพาให้เรารู้สึกว่าถ้าได้หลักฐานนี้มา หรือดึงกระแสคดีมาได้เกมจะเปลี่ยนแน่ ตอนชนะก็จะมีความดวงๆแบบจั่วการ์ดนิดๆพอให้ลุ้นๆ แต่ด้วยความที่เกมไม่นานมากและจังหวะฉับไว ก็ทำให้เราอยากซ้ำต่อในทันที

P1050779

🔹ในบรรดาเกมที่เคยเล่นมา เกมนี้ซอยเอาธีมโรยใส่ระบบการเล่นที่ดูธรรมดาแต่ออกแบบมาฉลาดได้อยู่อันดับต้นๆ บอร์ดกลางแผ่นไม้คอร์กพร้อมเส้นโยงไปมาแบบหนังนักสืบก็เพิ่มอารมณ์ให้กับการวางหลักฐานธีมหลวมโพรกได้ดีจนน่าตกใจ ส่วนตัวผมอยากเห็นเกมการศึกษาทำออกมาในแนวทางแบบนี้มาก เพราะเกมนี้พอเล่นปุ๊บเราก็อยากจะไปคุ้ยอ่านเชิงอรรถและเปิด google/wiki/pantip… หาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ทันที ไม่ใช่เล่นแล้วเออธีมดีๆแล้วก็จบๆไป

👁‍🗨 ถ้าใครชอบเกมอย่าง Twilight Struggle, Wir sind das Volk! หรือ 13 Days: The Cuban Missile Crisis ก็น่าจะชอบเกมนี้นะเพราะเป็นเกมที่ย่นย่อระบบ CDG แบบการเมืองออกมาเป็นเกมที่ใช้เวลาไม่นาน กติกาสั้นระดับไม่กี่ bullet แต่เก็บอารมณ์กับธีมได้ดี หรือคนที่มองหาเกมสองคนแบบสู้กันที่ไม่เคร่งเครียดเกินไปและมีลุ้นตลอดเกมนี้ก็เป็นอีกเกมที่ลื่นไหลน่าสนใจอีกเกม สำหรับ Matthias Cramer นี้ผมเล่นเกมเค้ามาหลายเกม ส่วนมากก็สนุกดี แต่ผมยกให้เกมนี้ดีที่สุดของเค้าเลย

📌 อนึ่ง keyword ที่คุณจะเห็นบ่อยคู่กับคดีนี้คือคำว่า “Deep Throat” ซึ่งหมายถึงแหล่งข่าวลับสุดยอด Mark Felt (ดำรงตำแหน่ง No 2. ของ FBI ณ ตอนนั้น และเปิดตัวหลังคดีจบไปแล้วสามสิบปี ในวัยเก้าสิบ) ที่คอยให้ข่าวแก่นักหนังสือพิมพ์เป็นระยะจนเกิดกระแสสังคมขนาดใหญ่มากดดันรัฐบาลอีกทาง สาเหตุที่มีชื่อเหมือน Sex Slang ที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ นั้นมาจากภาพยนตร์ผู้ใหญ่ชื่อเดียวกันที่ออกฉายในปี 1972 อันเป็นปีเดียวกับคดี Watergate ด้วยความที่ชื่อมีความหมายถึงแหล่งข่าวที่ลึกแยกยากแก่การเข้าถึง ชื่อนี้จึงถูกเลือกเพื่อแทนตัวแหล่งข่าวในคดีนี้

👁‍🗨 ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยนำพากับ Twilight Struggle เกมสุดดังเท่าไร เล่นล่ะง่วงมากเหมือนเกมเล่นการ์ดไปงั้นๆทอยเต๋าชิงเมือง (ขออภัยจริงๆ แต่ผมไม่อิน) 1960: The Making of the President ที่ก็โด่งดังไม่แพ้กันก็เล่นแล้วง่วงเหมือนเดิม (คือปกติไม่ได้ปลื้มเกม CDG สองคนขนาดนั้นด้วยล่ะ) Campaign Manager 2008 ที่เป็นเกมแนวเลือกตั้งฉบับเล่นง่าย เน้นชักเย่อพื้นที่หาเสียงก็เล่นแล้วง่ายจนง่อยไปอีก สรุปคือเล่นแนวนี้มาหลายเกมไม่โดนซักเกม มาเจอเกมนี้เล่นแล้วทำมา ‘พอดี’ หลายอย่าง abstract ตรงทีควร ใส่ธีมเท่าที่ควรมี ในสัดส่วนเส้นยาแดงผ่าแปด

💭 อนึ่ง ข้อเขียนนี้เกิดจากกะว่าจะเขียนซักสามย่อหน้า………..งอกมาอีกล่ะ….. เอาจริงๆก็รู้สึกว่าจะชอบเกมพวกเล่นแล้วมีอะไรให้ค้นต่อ หรือกลับมานอนคิดท่าต่อได้มากๆ พวก Pax Series นี้ชอบมาก แต่กติกาส่วนมากจะอ่านยาก (ยกเว้น Pax Pamir)

P1050778


Compatible Level - เกมนี้เข้ากับคนเขียนได้ระดับไหนนะ!!

🐸 Family, อาจจะมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจกันบ้างแต่ครอบครัวคือสิ่งที่จะอยู่กับเราตลอดไป นี้คือเกมที่จะมีพื้นที่ถาวรในชั้นวางแน่นอน!! แม้บางเกมจะเปรียบดั่งคุณปู่ใจดีที่ได้เจอกันแค่ปีล่ะครั้ง แต่อันดับในใจนั้นคือความสนุกในช่วงเวลาที่เล่น หาใช่การได้เล่นซ้ำไม่รู้เบื่อเพียงอย่างเดียว [ex. กบโปรด, กบชอบ]

🐸 Hang out friend, เพื่อนกินเที่ยว ถ้าไม่ติดธุระอันใดก็พร้อมจะออกไปพบเจอ สนุกยามได้พบปะ แต่จะให้เจอกันบ่อยๆคงใช่ที - เกมสนุกที่อยากเล่นในระดับที่อยากจะหยิบกางเป็นบางครั้ง สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยตามจังหวะและโอกาส แต่เราก็ไม่ได้อยากซ้ำต่อเนื่องรัวๆ [ex. กบโอเค]

🐸 Someone I know, หากบังเอิญพบเจอ ก็คงได้ทักทายไต่ถาม หากแต่ในยามปกติมิอาจนึกชื่อออก ยืนคุยก็ได้ แต่คงไม่ได้เอื่อนเอ่ยนัดกินข้าว - บางเกมเราก็ไม่ได้อยากชวนเล่น แต่ถ้าไม่มีอะไรทำแล้วมีคนชวนก็เล่นก็ได้ [ex. กบเฉย]

🐸 I Turn left, You Turn Right - เธอชอบกินเผ็ด เราชอบกินอาหารญี่ปุ่น เธอชอบคนคารมดีพาไปกินที่หรู แต่เราชอบเล่นเกมอยู่กับบ้าน แม้จะได้คุยเป็นบางคราแต่คงไม่อาจพัฒนาความสัมพันธ์ - บางเกมแม้ว่าจะดีแค่ไหน แต่ถ้ารสนิยมมันไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม [ex. กบไม่เล่น]

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->