The Golden Age

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
The Golden Age

เกมยูโรระดับกลางที่จะให้เรามานำพาชนชาติของเราเดินทางตั้งแต่ยุคเริ่มประวัติศาสตร์ไปจนสู่ยุคสมัยใหม่ ผ่านระบบการเล่นทีเรียบง่ายและจบภายในเวลา 90 นาที ผลงานของนักออกแบบ Luigi Ferrini

ธีมหลักของเกมก็คือเกมแนว Civilization ที่เน้นการขยายดินแดนยึดพื้นที่พร้อมกับทำการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยให้เราทำของที่ว่าอีกที ในเกมนี้ธีมจะมาแบบหลวมๆค่อนไปทาง abstract หน่อย (แต่ผมคิดว่ามันทำธีมมาดีมากนะ)

เกมมีสี่ยุคที่ในแต่ล่ะยุคผู้เล่นจะได้รับไทล์แผนที่คนล่ะแผ่นมาสลับกันวางเพื่อสร้างแผนที่โลกขึ้นมา พอยิ่งเล่นก็จะยิ่งมีพื้นที่ให้เดินเพิ่ม แต่ละช่องถ้าไม่ใช่ทะเลก็จะเป็นดินแดนที่มีสัญลักษณ์ทรัพยากรหลายแบบติดอยู่ ผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีเมืองอยู่คนล่ะที่พร้อมกับคนงานสามตัว ระหว่างเกมเราก็เอาพวกคนงานนี้ไปทำแอคชั่น ใช้หมดก็ผ่าน จบยุคก็คิดแต้มเท่านั้นเอง

ตัวเกมค่อนข้างง่ายในแต่ล่ะตาเราจะทำแอคชั่นอยู่แค่

สำรวจ+สร้าง: หยิบคนงานของเราเดินไปตามแผนที่ ยิ่งอัพเทคมาก็เดินได้ไกล แรกๆใช้ล้อเดินที่ล่ะช่อง หลังๆมีเกวียน มีรถไฟ ไปจนถึงขี่เครื่องบินวาร์ปซะ พอเดินเสร็จแล้วสามารถสร้างเมืองตรงที่ๆไปได้ คิวป์เมืองมีจำกัดต้องวิจัยเทคโนโลยีถึงจะได้เพิ่ม กับพอวางเมืองแล้วถ้าตรงนั้นมีสัญลักษณ์ตรงกับที่เราวิจัยไว้เราก็จะได้เงินมาใช้ (ธีมว่าเศรษฐกิจดี)

เดิน+โจมตี: ก็เหมือนเดินปกติแต่สามารถโจมตีคนอื่นได้ด้วย แต่เกมนี้การตีค่อนข้างสบายๆคนตีต้องจ่ายเงิน (ยิ่งตียิ่งแพง) จ่ายแล้วชนะเลย แต่สามารถตีได้แค่สี่ครั้งเท่านั้น คนโดนก็ไม่เสียอะไรย้ายคนงานกลับบ้านเกิดแล้วรอออกมาเดินใหม่

วิจัย: จ่ายเงินแล้วก็เปิด tech ง่ายๆเลย เกมนี้มีสายให้วิจัยอยู่สี่แบบแต่ล่ะแบบก็ช่วยเราให้แง่ต่างๆกัน แต่หลักก็คือช่วยหาเงินเวลาสร้างของแล้วเอาเงินมาวิจัยต่อนั้นแหละ ถ้าชาติไม่พัฒนาก็สู้คนอื่นไม่ได้

ที่เหลือก็แนวๆหยิบตึกพิเศษ แย่งสร้าง(ซื้อ)การ์ดสิ่งมหัศจรรย์ ฯลฯ


ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของเกมนี้คือคนที่ผ่านคนแรกจะได้เลือกด้วยว่าจบตานี้จะให้คิดแต้มหมวดไหนจากบรรดาการ์ดที่่สุ่มมาตั้งแต่ต้นเกม (อย่างเช่นจะได้ 2 แต้มต่อทุกๆสองเหมืองที่เราครอบครองไรงี้) เวลาเล่นเราเลยต้องหาจังหวะชิงผ่านแล้วไปเลือกแต้มหมวดที่เรากำลังทำได้ดี แต่ก็เสี่ยงกับการโดนตีทำให้เสียพื้นที่ตรงนั้นไป

ไอเดียที่น่าสนใจอีกอย่างคือเกมจะให้การ์ดผู้นำเรามาสี่ยุคสี่ใบ ตอนต้นยุคก็จะให้โอกาสเราเปลี่ยนทีนึง แต่เราจะไม่เปลี่ยนแต่ว่าใช้ตัวผู้นำเดิมยาวๆก็ได้ ตรงนี้ก็จะทำให้แผนการเล่นระยะไกลของแต่ล่ะคนไม่เหมือนกันเพราะมีแนวทางโบนัสล่วงหน้าให้เห็นตั้งแต่ต้นเกม

🐸 [กบชอบ]

ผมชอบตรงที่มันเป็นยูโรที่ ‘ง่าย’ โดยที่ยังสามารถสร้างความรู้สึกว่าเรากำลังเล่นเกมแนว Civilization ได้อย่างน่าสนใจ คือโดยพื้นฐานแล้วผมเป็นคนที่ชอบเล่นเกมแนวนี้ (รวมไปถึง 4X) เป็นพิเศษเวลาเจอเกมธีมแนวๆนี้จะชอบมาก แต่ส่วนมากเกมนี้ถ้าเล่นไม่นานมักจะ ‘ไม่สนุก’ เพราะด้วยเวลาที่สั้นเกินไปเกมมันเลยต้องทำมาย่อๆพยายามเก็บทุกอย่างแล้วก็มักจะทำให้ทุกอย่างมันตื้นเขินไปหมด หลายเกมก็ตื้นจนไม่เหลืออะไรเลยแบบไม่รู้จะจับธีมนี้มาทำไม อย่าง Sid Meier’s Civilization: A New Dawn ก็ถือว่าย่อมาได้น่าสนใจ แต่ด้วยสัดส่วนเวลาแล้วมันยังให้ความรู้สึกว่ายังวางตำแหน่งตัวเองขาดๆเกินๆไปนิด แต่เกมนี้ย่อยมากำลังดีโดยที่ยังไม่ลดทอนธีมจนเกินไป

ความประทับใจหลักก็เลยหนักไปทางการออกแบบพอควรเพราะชอบในความฉลาดที่ย่อเกมมาแบบเล่นไม่ยากแต่ยังสามารถสร้างความรู้สึกว่าได้พัฒนาอะไร (ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะมีแผนที่ให้เดิน) กิมมิคที่โยง tech tree ให้เข้ากับตัวเกมได้กำลังดี แต่ไม่ใช่ว่าตัวเกมไม่สนุกนะ เล่นที่ไรก็ยังรู้สึกเพลินแต่ไม่ได้กางบ่อยเพราะเบาไปหน่อย

ข้อเสียถ้าไม่นับเรื่องงานศิลป์ที่ค่อนข้างแล้วแต่รสนิยมแล้ว (ปกติเราก็ไม่ควรคาดหวังอะไรเยอะกับเกมยูโรอยู่แล้วล่ะนะ) ก็ไม่มีอะไรจะบ่นเป็นพิเศษ

ถึงจะไม่ใช่เกมที่จะกางกันบ่อยๆ สล็อทเกมนี้ส่วนตัวมองเป็นเกมกลางๆติดตัวไว้เล่นตอนนึกอะไรไม่ออกได้ดีมากเกมหนึ่ง เพราะสอนง่าย เล่นง่าย ถ้าสนใจแนวๆย่อระบบแนวนี้มาสวยๆอีกเกมที่แนะนำคือ March of Ants

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


[Thought เป็นหมวดว่าด้วยความคิดเห็นสั้นๆเกี่ยวกับเกม ยังไม่เป็นรีวิวเต็มตัว]

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->