The Colonists - เมืองใหญ่เริ่มจากสองไร่นา

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
The Colonists - เมืองใหญ่เริ่มจากสองไร่นา

เกมนี้เป็นแนว resource conversion + engine building ธีมว่าด้วยการบริหารพัฒนาเมืองในยุคอณานิคม เราเป็นผู้ว่าเมืองที่ต้องพัฒนาเมืองโดยการ จัดหาคน สร้างตึก สร้างงาน เพื่อให้เมืองของเราเจริญรุ่งเรื่อง ผมได้มาแบบฟลุ๊คๆเพราะฝากเพื่อนหิ้วจาก Essen16 ได้ (ตอนนี้ที่ขายๆกันมีแต่ essen copy แต่อีกซักพักน่าจะเริ่มเข้าระบบกระจายสินค้าปกติล่ะ)

“คล้าย Ora et Labora ฉบับใช้บอร์ดกลางทำ action”

ตัวเกมจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ player board ส่วนตัวไว้วางสิ่งปลูกสร้างของเรา กับพื้นที่กลางที่ประกอบขึ้นจากไทล์ action หกเหลี่ยมจำนวนหนึ่งวางติดๆกัน

action ในเกมคือการที่ผู้เล่นขยับคนงานในบอร์ดกลางเดินไปไทล์หกเหลี่ยมที่อยู่ติดกันจากนั้นทำ action ในช่องนั้นๆ ถ้าเดินผ่านคนงานคนอื่นจะต้องเสียค่าเดินผ่าน ในเกมจะมีไทล์ที่เรียกว่าตลาดอยู่ 2 จุดให้ผู้เล่นสามารถเอาคนงานวาร์ปไปลงที่ตลาดได้เสมอ (ลองนึกภาพ Istanbul ที่ไทล์เป็นหกเหลี่ยมแล้วมีไทล์น้ำพุให้วาร์ปกลับ 2 ที่ดูนะประมาณนั้นแหละ)

ผู้เล่นจะผลัดกันทำ 3 action ติดกัน (ในเกมเรียกว่าครึ่งปี ทำสลับกันเป็น ฤดูร้อน ฤดูหนาว พอครบสองฤดูจะนับเป็น 1ปี) ไปเรื่อยๆจนจบเกม

ตัว action  ไม่ซับซ้อน มอง icon ที่ไทล์แล้วเข้าใจได้ทันที ส่วนมากจะเป็น

  • ได้รับวัตถุดิบ (ไม้/ดินเหนียว/แร่/ข้าว/เสื้อผ้า/เครื่องมือ)
  • ปรับปรุงวัตถุดิบไปเป็นระดับสูงขึ้น (ไม้แผ่น/อิฐ/ถ่านหิน/เหล็ก)
  • เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นสิ่งก่อสร้าง
  • อื่นๆจะเป็นพวกจั่วการ์ด เล่นการ์ด ฯลฯ

พอจบแต่ล่ะปี(ผ่านไปแล้วคนล่ะ 3+3 = 6 action) starting player จะเอาไทล์ action 3 อันที่เปิดรอไว้ทั้งแต่ต้นปีมาวางต่อบนบอร์ดกลาง (ได้เลือกตำแหน่งวางเองด้วยนะ) ไทล์จะเพิ่มเข้าทุกปี ทำให้ยิ่งเล่น บอร์ดกลางก็ใหญ่ขึ้น action ก็เพิ่มมากขึ้น แล้วก็ทำให้เดินยากขึ้นเพราะเกมบังคับให้หยุดทำ action ทุกครั้งที่เดิน ผู้เล่นต้องวางแผนการเดินตัวคนงานให้ดี จะได้เดินแล้วคุ้ม (ในแง่มุมนี้จะบอกว่าคล้าย Agricola ที่มี round card เปิดเพิ่ม action ทุกตาก็ถือว่าใกล้เคียง)

พอเราเล่นครบ 5 ปีก็จะจบ 1 ยุค(era) ในเกมนี้เราสามารถเลือกยุค(era)ที่จะเริ่ม/จบเกมเองได้ ในเกมแบ่งออกเป็น 4 ยุค (I II III IV)แต่ล่ะยุคก็จะมีไทล์/สิ่งก่อสร้างต่างๆกันไป ยุคท้ายๆก็จะมีของดีขึ้นมาเรื่อยๆ พอเล่นถึงยุคที่เรากำหนดให้เป็นยุคสุดท้ายแล้วแต้มก็จะมาจากสิ่งก่อสร้าง กับคนงานที่ทำงานในตึก (คนว่างงานไม่ได้แต้ม)

“นึกอะไรไม่ออกเก็บของไว้ก่อนใช้กับเกมนี้ไม่ได้”

เวลาเล่นเกมอย่าง Agricola / Le Harve เราจะมี mindset ประมาณว่านึกอะไรไม่ออกเก็บของกองใหญ่ๆไว้ก่อนแล้วหาทางใช้ทีหลัง แต่ระบบที่น่าสนใจของเกมนี้คือระบบคลังเก็บของ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด โดยทุกๆไทล์สินค้าที่เราหยิบมาจะต้องวางไว้ในที่เก็บของเท่านั้น ถ้าที่เก็บไม่พอก็จะต้องโยนทิ้ง เพราะงั้งการเล่นแบบนึกอะไรไม่ออกเก็บๆของกองๆไว้จึงใช้กับเกมนี้ไม่ได้

ลูกเล่นที่เกมนี้เอามาใช้คือผู้เล่นจะมีที่เก็บของสามแบบได้แก่ Storage / Warehouse / Buffer

  • Buffer ไว้เก็บของที่สิ่งก่อสร้างของเราพึ่งผลิตไว้
  • Warehouse คือคลังเก็บของรอใช้
  • Storage คือคลังเก็บของพร้อมใช้

ระหว่างเกมเราสามารถเพิ่มความจุของ warehouse / storage ได้

เกมนี้เราสามารถสลับของระหว่าง warehouse กับ storage ได้เสมอ แต่ของจาก buffer เอาออกมาใส่ warehouse/storage แล้วเอากลับไปไม่ได้ คีย์คือในระหว่างการทำ action เราจะใช้ของได้แค่จากใน storage เท่านั้น หมายความว่าก่อนที่เราจะทำ action อะไรนั้นเราต้องจัดเตรียมของที่เราต้องการจะใช้ไว้ใน storage ก่อน ด้วยระบบเกมที่พื้นที่เก็บของมีน้อย การบริหารจัดการ ลำดับการเก็บ/การใช้ของจึงสำคัญมาก

“เราต้องสร้าง supply chain จากล่างขึ้นบนไปเรื่อยๆ”

ความซับซ้อนของเกมจะเริ่มกันที่ตึกที่เราสามารถสร้างได้ ตัวเกมเปิดให้เราเล่นได้หลายวิธี ไม่มีสายแน่ชัดซะทีเดียวผู้เล่นแต่ล่ะคนสามารถมีแนวทางเดินเกมที่ต่างกันไปได้

ในเกมมีตึกอยู่สองแบบคือตึกที่อยู่อาศัยเอาไว้ผลิตคนงาน กับตึกสิ่งก่อสร้างที่ต้องเอาคนงานมาทำงาน(แน่นอนว่าถ้าไม่มีคนงานมาอยู่ก็ใช้ความสามารถไม่ได้) ความสนุกของเกมนี้คือตึกยิ่งเก่งก็ยิ่งต้องใช้คนงานที่ระดับสูงขึ้น(มีสามระดับ) คนงานระดับสูงขึ้นก็ต้องจ่ายค่าดูแลตอนสิ้นปีเยอะขึ้น (คนงานระดับล่างสุดไม่ต้องเสียค่าดูแลรายปี)

ตัวเกมจะเป็นแนวที่เราต้องค่อยๆสร้าง supply layer ล่างมารองรับ layer บน ซ้อนทับไปเรื่อยๆ อย่างเช่นตัวคนงานระดับสองต้องหาข้าวมาเลี้ยงทุกสิ้นปี (คนงานระดับแรกไม่ต้องเสียอะไร) เราก็ต้องเลือกว่าจะลงทุนสร้างตึกผลิตข้าว หรือจะอาศัยเดินไปเก็บเอาระหว่างเล่น(แต่เสียพื้นที่เก็บของ) แล้วเวลาสร้างจะเน้นของถูกจำนวนมาก หรือ upgrade ตึกให้ดีขึ้นจะได้ประหยัดพื้นที่ดี (แต่ต้องเตรียมคนงานระดับสูงมาคุมงาน)

เกมนี้มีพื้นที่วางตึกจำกัด ถ้าบริหารจำนวนตึกไม่ดีจะเจอปัญหาที่เต็ม ซึ่งมีทางออกสองแบบคือ up tech เพื่อขยายพื้นที่กับทุบตึกเก่าทิ้ง การทุบตึกนอกจากจะต้องเสียความสามารถของตึกเก่าไปแล้วยังต้องเสียค่าทุบทิ้งอีกซึ่งไม่น้อยเลย

alt tag

“เป็นเกมที่สนุก พร้อมเล่นแน่นอน ถ้ามีเวลาพอ”

ตัวเกมใช้เวลาเล่นแบบ full game แบบ 3 คนตั้งแต่ยุค I จนถึง IV ในกลุ่มที่ไม่มีคน AP เริ่มตั้งแต่สอนใช้เวลาราว 5 ชม (ก่อนหน้านี้ 4 คนมี AP กันนิดหน่อย ไปจบยุค II ที่ 4 ชม แต่จริงๆถ้าเล่นรอบสอง สามปกติก็ไวเองแหละ) ส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับระยะเวลา แต่ต้องยอมรับว่ามันทำให้ตัวเกมมีโอกาสกางได้ยากหน่อย (ส่วนตัวคิดว่า ยุค นึงน่าจะประมาณ 20-25นาทีต่อผู้เล่น 1 คน)

ตัวเกมออกแบบมาให้เราเลือกยุคที่จะเริ่ม และยุคที่จะจบได้ ตัว designer เองบอกว่าปกติยุค I เอาไว้สอน เวลาเล่นจริงเริ่มที่ยุค II ได้เลย (ประหยัดเวลาไปร่วม ชม) ระบบข้ามยุคก็น่าสนใจดีคือให้เราเอาไทล์ action ยุคที่ข้ามไปมาผลัดกันวางสร้างแผนที่ จากนั้นเกมจะให้แต้มเรามาซื้อของ/สิ่งก่อสร้างในยุคที่เราข้ามไป แต่กว่าจะข้ามได้ก็ต้องเล่นเป็นอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่เคยเล่นไม่เป็นก็ไม่รู้ว่าต้องซื้อตึกอะไร ด้วยความที่ตึกแต่ล่ะยุคไม่เหมือนกัน กลยุทธ์ของการเล่นที่มียุคจบแตกต่างกันก็ต้องเล่นคนล่ะแบบด้วย

ตัวเกมมีความรู้สึกในการเล่นที่แปลก ตัวเกมยืดระยะทำ engine ไว้ให้ผู้เล่นนานมากเมื่อเทียบกับเกมแนวเดียวกัน เป็นความรู้สึกที่พูดยากคือช้าแต่ไม่อืดอาดและไม่ยึกยัก มันดูค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่มีช่วงระเบิดพลังทำคอมโบ  แต่ก็จบได้แบบพอดีๆ ไอ้ 5 ชมนี้ก็คือถ้าไม่มีคนทักก็ไม่รู้ตัวนะเพราะเพลินมาก ทั้งๆที่ปกติเกมแนว  resource conversion นี้ผมจะเกลียดมาก (Le Harve / Roads and Boats)

เหตุผลที่เป็นแบบนี้คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เราโดนบังคับให้ทำ action จากการเดินตัวไปช่องติดๆกันทำให้เรา “ฟุ้งซ่าน” มากไม่ได้เพราะโดนจำกัดตัวเลือกเอาไว้ ส่วนการทำ 3 action ก็ไม่มากไม่น้อยไปพอคิดเสร็จก็มักจะวนกลับมาตาเราพอดี

ในเกมนี้ไทล์ตลาดจะพิเศษหน่อยตรงทุกๆปีจะเปิดการ์ดที่บอกว่าไทล์ตลาดมี action อะไรบ้าง มี 3 อย่างผู้เล่นสามารถเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งตรงนี้คิดว่าดีเพราะช่องตลาดเป็นช่องที่ผู้เล่นต้องวาร์ปกลับมาบ่อยมากเพราะพอท้ายเกมแผนที่เริ่มใหญ่ถ้าต้องไล่เดินตามสเต็ป แถมต้องทำ action รายทางไปด้วยนี้ คิดหนักปวดหัวแน่นอน

ตัวเกมมี Tech tree พิเศษ 9 อันแต่จะสุ่มเข้าเกมมาแค่ 4 อัน (จะจัดเป็นตึกพิเศษ ในเกมเรียกว่า embassy) แต่ล่ะอันก็มีธีมความสามารถกับระดับให้ upgrade ต่างกันไป ด้วยความที่พึ่งบ่น A Feast of Odin มา เกมนี้มีการจั่วการ์ดสิ่งก่อสร้างพิเศษด้วย แต่ว่าความสามารถทำออกมาก็สมดุลย์ดี ได้ใช้ตลอด คุ้มค่าแก่การไปลุ้นจั่ว

ที่รู้สึกไม่ค่อยชอบนิดหน่อยคือไทล์ action มันเล็กไปนิด ทำ icon ราคาอยู่ตรงกลางมองเห็นง่าย แต่ตรงที่บอกว่าจะสร้างอะไรได้ดันอยู่ตรงขอบปริ่มๆมองยากไปนิด ช่วงท้ายๆเกมเวลาอยากจะสร้างตีกอะไรซักอย่างต้อยคอยกวาดตาดูอยู่เรื่อยๆว่าไอ้ไทล์สร้างตึกนี้มันอยู่ตรงไหนอยู่บ่อยๆ เพราะตึกหลายๆอันต้อง upgrade มาจากตึกระดับล่างๆก่อน

คือเกมมันสนุกนะแต่ในเวลาเท่ากันดันจบเกม mid-heavy อื่นที่สนุกพอๆกันได้สองเกม ถ้าไปเทียบกับเกม Civ  อื่นความรู้สึก Epic ก็ยังไม่เท่าอาจจะเพราะธีมสเกลเล็กไปหน่อย แต่ถ้ามีผู้เล่นสายไม่ AP อีกสองคนกับเวลาพอแล้วล่ะก็พร้อมจะเอาเกมนี้มากางอีกแน่นอน (ใครอยากได้เกมสองคน เล่นแนวสร้างๆไปเรื่อยๆเกมนี้น่าจะโดน)

disclaimer เกมนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนสมัยมหาลัยที่เป็นหุ้นส่วนร้าน Meeple and More หิ้วมาให้จาก Essen16 ตัวเกมผมเป็นคนจ่ายเงินเอง และไม่ได้รับเงินจากใครมาเขียน (ฝากเค้าถือมาเลยแอบช่วย Ads นิสนึง)

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->