Teotihuacan- City of Gods เมืองแห่งทวยเทพ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Teotihuacan- City of Gods เมืองแห่งทวยเทพ

เกมยูโรระดับกลางหนักชื่ออ่านย๊ากยาก ที่จะพาเราย้อนเวลาไปสร้างวิหารแห่งทวยเทพของชาวแอซเท็กในทวีปอเมริกากลาง ผลงานของ Daniele Tascini (Tzolk’in, The Voyages of Marco Polo - รอบก่อน Tzolk’in เล่นเป็นชาวมายันก็อาศัยอยู่ใกล้ๆกันนั้นแหละ) และ Dávid Turczi (Anachrony, Dice Settlers, Cerebria, Petrichor)

เนื่องจากเป็นเกมยูโรธีมแห้งๆเลยอาจจะอธิบายให้เห็นภาพยากนิดนึง ไอเดียหลักของเกมนี้ก็คือเอาคนงานไปเก็บของไปแลกนั้นนี้โน้นตามแบบฉบับยูโรทั่วไป โดยช่องแอคชั่นของเกมจะมีการสุ่มวางเรียงเป็นวงกลม จากนั้นเราก็จะเอาคนงานที่เป็นลูกเต๋า (ซึ่งไม่ได้เอาไว้ทอย) เดินวนไปรอบๆเพื่อทำแอคชั่น (มีแปดช่องแอคชั่น เวลาเดินเราขยับได้ 1-3 ช่อง)

หนึ่งในลูกเล่นสำคัญของเกมนี้คือ เวลาที่เราเอาลูกเต๋าไปลงทำแอคชั่นเราจะต้องจ่ายโกโก้ (เป็นเงินตราหลักในเกมนี้) ตามจำนวนสีของคนที่อยู่ก่อนหน้า หมายความถ้าช่องในป๊อบมากๆเราก็ต้องเตรียมโกโก้ไว้เยอะหน่อย หรือเราจะเลือกที่จะไม่ทำแอคชั่นแต่เปลี่ยนเป็นเก็บโกโก้เท่ากับจำนวนคนที่มีอยู่แทนก็ได้ พอเราทำแอคชั่นเสร็จแล้วเราก็จะได้ปรับคนหน้าเต๋าคนงานเพิ่ม (นัยว่าเก่งขึ้น)

ซึ่งความเก่งนี้ก็นับเป็นลูกเล่นสำคัญในเกม เพราะช่องแอคชั่นส่วนมากโดยเฉพาะอันที่ใช้เก็บทรัพยากรนั้นเราจะได้ของมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าตรงช่องแอคชั่นนั้นเรามีลูกเต๋ากี่ลูก และลูกที่แต้มน้อยที่สุดมีมูลค่าเท่าไร ยิ่งมีจำนวนคนงานเยอะและมีเลขมากก็จะยิ่งได้ของเยอะขึ้น (ถ้าเคยเล่น Marco Polo มาก็จะคุ้นกับไอเดียใช้หน้าเต๋าและจำนวนแบบนี้) ตรงนี้ทำให้เราต้องวางแผนวางคนงานเดินวนเก็บเลเวล กับหยุดรอหาจังหวะรอทำแอคชั่นนิดนึง แต่เนื่องจากเกือบทุกแอคชั่นเวลาทำแล้วคนงานจะต้องเพิ่มหน้าเต๋า ถ้าหน้าเต๋ามันวิ่งถึงเลขหกเมื่อไรมันจะโดนรีเซ็ทไปที่เลขหนึ่ง จากนั้นเราจะได้โบนัสบางอย่าง พร้อมกับเลื่อนแทรคที่จะทำให้เกมจบไปข้างหน้า

ที่เหลือก็จะเป็นสาระพัดการเอาของที่เก็บไว้มาใช้ ซึ่งมีหลายทางให้ทำมาก อันแรกที่ถ้าเล่น Tzolk’in มาก็จะคุ้นเคยกันดีนั้นคือเดินขึ้นแทรควิหาร ซึ่งมีอยู่สามแทรคแต่ล่ะแทรคก็จะให้โบนัสพิเศษที่แตกต่างกัน รวมไปถึงโบนัสตอนจบเกมแบบแต้มเยอะหน่อยที่ช่วยในการวางแผนระยะยาวสำหรับเรา

อีกอันดูจะเป็นจุดที่ดูเด่นทางสายตาที่สุดในเกม (แต่ไม่ได้ระบบหลักแต่อย่างใด) คือการหยิบไทล์ไม้ไปวางซ้อนต่อเป็นพีระมิดซึ่งตรงนี้จะมีมินิเกมอยู่นิดๆคือไอ้ไทล์เนี่ยมันจะมีสัญลักษณ์อยู่สี่มุม เราก็ต้องหมุนๆเล็งมุมมันนิดหน่อยเพราะพอเราวางไปเกมให้จะเช็คว่าด้านล่างมันวางทับรูปตรงกันไหม ทุกอันที่ตรงก็จะเราก็จะได้แต้มพิเศษนอกเหนือจากการวางปกติที่จะได้อยู่แล้วเพิ่มอีก บางอันถ้าทับตรงรูปก็จะได้ขึ้นแทรควิหารด้วย (สร้างพีระมิดครบก็จบเกมเหมือนกันนะ)

เกมนี้ Noise ที่สุ่มมาระหว่างเกมอีกอย่างก็คือไทล์พิเศษที่จะออกมาให้เราไปเดินเก็บเวลาทำแอคชั่นหรือตอนเดินแทรควิหารถึงระดับที่กำหนด พวกนี้ก็จะให้ความสามารถพิเศษเล็กๆน้อยๆหลายอย่าง หรือถ้าเราอยากจะทำตัวเป็นอินเดียน่าโจน (เอาจริงๆผมไม่รู้เหมือนกันว่าเชิงธีมเกมมันตีความว่าไง) มันก็จะมีไทล์หน้ากากให้เราเก็บ ซึ่งยิ่งเก็บเยอะชุดเราก็จะได้แต้มพิเศษเพิ่มตอนจบแต่ล่ะยุค (แต้มเยอะจนเรียกได้ว่าเป็นการเล่นอีกสายหนึ่งเลย)

ระบบอื่นที่น่าสนใจในเกมนี้คือระบบล๊อกคนงาน คือเวลาเราเอาคนงานไปลงทำแอคชั่นเนี่ยมันจะมีตัวเลือกอีกอย่างคือไม่ทำแอคชั่นมันล่ะแต่ขอไปอวยเทพขึ้นแทรคแทน ข้อดีคือเราไม่ต้องจ่ายโกโก้ แต่ข้อเสียคือคนงานเราจะโดนล็อกเอาไว้หยิบออกไม่ได้จนกว่าจะมีคนอื่นมาเตะเราออกไป ไม่ต้องยอมเสียเทิร์นตัวเอง หรือจ่ายโกโก้เพื่อปลดคนงานเราออกมา ตรงนี้มันน่าสนใจตรงที่เราวิ่งวนกันเป็นวงกลมทำแอคชั่นแบบเดียวกันก็จริงแต่ผู้เล่นก็มีทางเลือกให้ทำหลากหลายมากไม่โดนบังคับให้ทำแบบเดียวกัน

🐸 [กบชอบ]

ผมชอบตรงที่แกนเดินเกมมันเข้าใจง่ายมีหลายทางให้เลือกทำ แล้ว downtime มันต่ำดี วิธีคิดที่เหมือนจะไม่มีอะไรหวือหวาแต่จริงๆแล้วการที่มีผู้เล่นคนอื่นไปยืนต่ำแหน่งที่แตกต่างกัน กับไทล์โบนัสที่สุ่มออกมาเรื่อยๆก็มีผลกับแผนระยะสั้นของเราตลอด เกมค่อนข้างเปิดพอควรจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น Point Salad แต่ทิศทางการสร้าง Engine ทำแต้มจะค่อนข้างแน่นอน

เอาจริงๆแล้วผมไม่ค่อยโดน Tzolk’in มากเท่าไรเพราะไม่ชอบระบบที่ต้องจ่ายข้าวโพดไปข้ามหัวคนอื่นจะได้อยู่หัวแถวไปรับของดีๆเท่าไร เพราะถ้าคนอื่นดันถอนตัวออกไปก่อนเราก็จะอดโดดข้ามไปซะงั้งทำให้ต้องไปรอตั้งแต่หัวแถวแทน (เอาจริงๆที่ไม่ชอบเพราะมันต้องคิดแผนใหม่กระทันหันไป ที่ไม่ชอบอีกอย่างใน Tzolk’in คือไทล์ตึกมันเปลี่ยนไวไปหน่อย) พอมาเกมนี้มันทำให้ตรงนี้หลวมแล้วกว้างขึ้นโดยเปลี่ยนเป็นเลือกทำแอคชั่นก็ได้หรือจะเปลี่ยนไปเอาโกโก้ก็ได้มันเลยกลายเป็นเกมฟีลกู๊ดพอควร เพราะคนเล่นรู้สึกว่า ‘ได้’ อะไรตลอดเวลา แล้วไปบี้กันทำ engine แทน (ถึงปกติผมจะชอบเกมมีแต้มลบไล่หลัง แต่ว่าไม่ค่อยชอบเกมแบบที่ต้องเปลี่ยนแผนแบบหักมุมโหดๆกระทันหันเท่าไร)

Noise อีกอันที่น่าสนใจคือไทล์ความสามารถพิเศษที่เราต้องไปทำแอคชั่นวิจัยมาก่อน เกมจะสุ่มมา 6 แบบ ซึ่งส่วนมากจะบอกว่าทุกครั้งที่เราไปทำแอคชั่นในไทล์ไหนจะได้โบนัสอะไรเพิ่ม ผมชอบตรงที่มันเปิดให้เราอยากจะทำอะไรเพิ่มจากการเล่นปกติ และข้อดีคือมันทำได้ทุกคนไม่ใช่แบบเป็นตึกพิเศษเล่นได้คนเดียว แต่คนที่รีบวิจัยก่อนจะได้โบนัสเล็กๆว่าทุกครั้งที่มีคนมาวิจัยโบนัสอันเดียวกับเรา เราจะได้แต้มพิเศษด้วย

ส่วนที่รู้สึกสะดุดๆ (ไม่ถึงกับเรียกว่าไม่ชอบ แค่ขัดใจนิดๆ) น่าจะเป็นไอ้ตัวพีระมิดเนี่ยล่ะ ตอนแรกนีกว่าจะมีอะไรให้เล่นกับมันเยอะกว่านี้ ที่ไหนได้กลับเป็นจุดที่เสียเวลาแล้วก็สะดุดบ่อยที่สุดในเกม เพราะมันจะมีคนคอยหยิบไทล์มาหมุนไปหมุนมาดูว่าลงล๊อกแล้วจะได้กี่แต้ม วางแล้วจะได้โบนัสเดินแทรคไหมไรงี้ เอาจริงๆมันก็ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น แค่พอดีส่วนอื่นมันสมูทต่อเนื่องกันดี พออยู่ๆโดนเบรคจังหวะมันเลยชวนจิ๊ปากนิดๆ

ส่วนที่น่าติมากน่าจะเป็น UI (User Interface - พวกไอคอนสัญลักษณ์ที่เกมใช้สื่อสารกับเรา) ที่เหมือนลืมทำมาหลายจุดที่มีผลทำให้ UX (User Experience - ว่าด้วยประสบการณ์ของผู้เล่น ) เราไม่สมูทอย่างที่ควรเป็น

เอาง่ายๆคือไม่มีที่วางลูกเต๋า…. พอไม่มีแล้วมันเลยต้องวางกองๆอยู่บนช่องแอคชั่น แล้วกลายเป็นบังว่าไอ้ช่องนั้นมันทำอะไรได้ (ส่วนมากต้องมองบ่อยเพราะมันเป็นตารางไว้แลกของ) ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะพื้นที่ในกระดานดันมีอยู่เหลือเฝือแต่ไม่ยอมใช้ หรือเรื่องง่ายๆอย่าง Player Aid นี้ดันไม่มี!!! ไอ้ไม่มีนี้ไม่เท่าไร แต่ดันไม่พิมพ์ลงไปบนกระดานด้วน เลยกลายเป็นพวกแอคชั่นเล็กๆหลายอย่างนี้คนเล่นใหม่พากันลืมบ่อยๆ มีผลทำให้เกมแรกมันดูซับซ้อนเกินจำเป็นทั้งๆที่ตัวเกมก็ไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้น

เรื่องพิลึกๆอีกอย่างคือทรัพยากรบางอย่างมันจะใช้วิธีเขียนเลขกำกับ แต่บางอย่างดันใช้วิธีวาดไอคอนตามจำนวนชิ้นแทน อย่างเช่นช่องที่ได้รับ 5 โกโก้ 4 ไม้ มันดันเขียนเลย 5 พร้อมกับโกโก้ ตามด้วยวาดท่อนไม้มาสี่ท่อน….. ก็เป็นอะไรที่ชวนสะดุดนิดๆ

โดยรวมก็เกมนี้ก็เป็นเกมยูโรแน่นๆ ที่บดเอากลิ่นอายแบบ Tzolk’in กับ Maco Polo เข้าด้วยกันแล้วใส่เอกลัษณ์ของตัวเองไปได้อย่างน่าสนใจ เป็นเกมที่ยังคงกลิ่นของตัวนักออกแบบเอาไว้อยู่โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนหยิบเกมเก่ามาทำใหม่ อยากแนะนำให้ลองเล่นกันดูครับ :)

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->