Struggle of Empires - สงคราม อำนาจ การเมือง
วันก่อนพึ่งได้เล่น Struggle of Empires ของเฮีย Martin Wallace (ทีเด็ดของเฮียสำหรับผมคือ Age of Steam / Steam / Brass / Age of Industry ) เกมออกมาตั้งแต่ปี 2004 จริงๆเกือบจะได้เล่นเกมนี้ทีนึงเมื่อสองสามปีก่อน แต่ว่าพึ่งได้มาเล่นจริงๆก็ไม่นานมานี้นี้เอง
How things goes
ตัวเกมว่าด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันของประเทศมหาอำนาจในยุโรป โดยเราก็รับบทเป็นประเทศพี่เบิ้มๆนี้แหละมาไล่ล่ายึดดินแดนทำคะแนนกัน กติกาตัวเกมจริงๆแล้วไม่ได้ซับซ้อนอ่านแค่ 4-5 หน้าก็เล่นได้แล้วระบบก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา ยกเว้นพวกกิมมิคเพื่อความอินธีมสมัยนั้นนิดๆหน่อย
แต่ด้วยความที่เป็นเกมของเฮียคนนี้ รูลบู๊คเลยออกมาเชี้ยมาก เพราะเป็นขาวดำล้วน ไม่มีรูป ไม่มีตัวอย่าง ที่เหี้ยจริงๆคือ จัดการแบ่งโครงสร้างกติกาไม่ค่อยดี ไม่มีเน้นสี ย่อหน้าอ่านยากๆ ถ้าสงสัยตรงไหนก็ไล่อ่านไปเหอะ หลายๆที่แทนที่จะทำเป็นตารางก็ไม่ทำ ยังไม่รวมเรื่องกติกาจุกจิกตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย
ถ้าผ่านตรงนั้นมาได้ (คือจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรบ่นเว่อร์ๆไปงั้ง) ก็อย่างที่บอกตัวเกมไม่ได้ซับซ้อนอะไรเป็น area control ที่ตรงไปตรงมา เริ่มเกมจะมี control token ทั้งแบบของผู้เล่นกับแบบที่ไม่มีเจ้าของรอให้เราไปยึดกระจายๆอยู่ทั่วแผนที่ ระหว่างเกมเราก็จะไปยึดอันว่างๆหรือยึดอันที่มีเจ้าของอยู่แล้วก็ได้ พอจบรอบใหญ่ก็ในแต่ล่ะรอบใครมีจำนวน control token เยอะก็ได้แต้มไป
ทีเด็ดของเกมนี้คือระบบทีม ซึ่งถ้าอยู่ทีมเดียวกันจะตีกันไม่ได้ กับสามารถส่งทหารไปช่วยสู้ได้ (แน่นอนว่าโลกไม่ได้สวยงามขนาดนั้นเพื่อนร่วมทีมจะส่งไปช่วยหรือไม่ช่วยก็ได้ แต่ว่าในสงครามแห่งอำนาจเราสามารถมอบเงินเพื่อ “จูงใจ” ให้เพื่อนมาช่วยเราได้เสมอ) โดยก่อนที่เราจะเริ่มรอบใหญ่ซึ่งมี 3 รอบเราจะต้องมาประมูลกันว่าใครจะอยู่ทีมไหน
ระบบการประมูลคือคนเริ่มจะตั้งราคาประมูลพร้อมกับหยิบผู้เล่นสองคนที่ยังไม่ได้มีทีมเอามาวางไว้ในช่องทีม A ทีม B ถ้ามีใครไม่พอใจก็จะเพิ่มราคาใหม่ที่สูงกว่าเดิมพร้อมกับจับคู่ใหม่มาวาง ด้วยความที่สภาพในแผนที่แตกต่างกันในแต่ละรอบการเลือกจัดทีมเพื่อเอื้อประโยชน์ของตัวเองจึงดุเดือดเอามากๆ!!
ระบบ combat มีลูกเล่นหลายจุดแต่ไม่ซับซ้อนอะไรหลักๆคือเอา จำนวนทหาร + ผลต่างของเต๋าหน้า 6 สองลูก + bonus ใครเยอะกว่าก็ชนะเอา control token ของไปวางแทนฝ่ายที่แพ้
มีลูกเล่นเสริมนิดหน่อยคือถ้าใครทอยแล้วผลรวมได้ 7 ล่ะก็ต้องเสียทหาร 1 ตัวด้วย และฝ่ายแพ้ก็ไม่ได้เสียอะไรมากมายแค่ทหาร 1 ตัวสามารถสร้างมาตีคืนได้ไม่ยาก
ความสนุกอีกอย่างของเกมนี้คือทุกครั้งที่คุณเงินไม่พอคุณสามารถกู้เงินได้เสมอแลกกับการหยิบ unrest token มา (ปวงประชาไม่พอใจจะถลุงเงินในประเทศไปทำอะไรกันเยอะแยะ) หรือตอนทหารตายก็ต้องหยิบด้วย (รบแพ้มี คนตาย คนก็ไม่พอใจ)
ตอนจบเกมผู้เล่นที่มี unrest token เกิน 20 จะถือว่าแพ้ทันที และถ้ายังไม่เกินผู้เล่นสองคนที่มี unrest token เยอะสุดก็จะต้องเสียแต้มด้วย ด้วยระบบ economic ของเกมที่ค่อนข้างอึดอัดเงินไม่ค่อยพอใช้ การจะกู้เอาเงินมาใช้ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังเอาเรื่องอยู่
Final thoughts
เกมนี้เป็นอีกเกมที่เล่นแล้วรู้สึกว่าเจ๋ง หนักแน่น มีความลึกเยอะ ข้อเสียหลักๆก็มีแค่กติกาเล็กๆตรงนั้นตรงนี้กับรูลที่เขียนไม่ค่อยดี แน่นอนว่าเกมแนวประทะกันตรงๆ direct conflict ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ สำหรับผมแล้วโชคดีได้เล่นเกมนี้ในวงที่เล่นแล้วสนุกเพราะ
- คนในวงบวกเลขเป็น
- ผลจากการที่บวกเลขเป็นทำให้ เวลาตี/โดนตี เข้าใจถึงเหตุผล เล่นแล้วเข้าใจว่ามันตามเกม เล่นเพื่อแต้ม/board position ไม่ใช่ตีเอามันส์
- ไม่มี king make ไม่มีดราม่า
ปกติแล้วผมมักไม่ค่อยชอบเกมทอยเต๋าที่ไม่มีระบบช่วยลดดวงหน้าเต๋าเท่าไร (จริงๆเกมนี้ก็มีนะผ่านระบบขอให้ทีมเดียวกันช่วย) แต่เกมนี้ถือว่ายกเว้นเพราะว่าสนุก (มีข้อแม้ว่าคนเล่นในวงต้องโอเค) :)