Spirit Island- จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Spirit Island- จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ

เกมยูโรแบบช่วยกันเล่น (co-operative) ธีมแฟนตาซี ที่เราจะได้รับบทเป็นจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติที่จะต้องมาช่วยชาวพื้นเมืองขับไล่ผู้บุกรุกในยุคล่าอาณานิคม สิ่งที่ทำให้เกมนี้น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผมคือคำกล่าวอ้างที่ว่าเป็นเกมที่ไม่มีปัญหา Alpha Player และระดับที่อยู่ระดับ mid-heavy พอดีไม่เห็นมีเพื่อนจัดเลยต้องหามาลองเล่นเอง และพบว่าเกมนี้เป็นเกมยูโรช่วยกันเล่นแบบไม่มีคนทรยศ (Player vs Game) เกมแรกที่ผมเล่นแล้วรู้สึกว่าสนุกมากจริงๆ

(แต่ประสบการณ์ co-op ผมค่อนข้างจำกัดนะ เนื่องจากเลี่ยงได้เป็นเลี่ยง)

ต้องออกตัวก่อนว่าโดยพื้นฐานแล้วผมไม่ชอบเกม co-op ด้วยเหตุผลว่าส่วนมากจะเป็นการเอา puzzle หนึ่งชิ้นมาให้ผู้เล่นช่วยกันแก้ และ puzzle ที่ให้แก้ก็มักจะไม่ได้ซับซ้อนเกินความสามารถของคนหนึ่งคน ตัวอย่างชัดเจนคือเกมในตระกูล Pandemic หรือ Flash Point จะมี optimal path ที่เห็นๆอยู่แล้ว อยู่แค่ว่าใครจะคิดเสร็จก่อน พอคิดได้แล้วก็มีเหตุผลน้อยมากที่คนอื่นจะไม่ทำตาม (เพราะคำตอบดิ้นได้ไม่กี่แบบโดยที่ผลไม่ต่างกันมาก)

สำหรับวงที่ความสามารถในการคิดเร็วต่างกันมากก็มักจะมีคนคิดเสร็จเร็วคอยบงการบอกคำตอบให้คนอื่นเดินตาม (Alpha Male) ซึ่งผลคือเกมก็จะไม่ค่อยสนุกเท่าไร ทั้งคนคิดไว……(ทำไมพวกเมิงมองไม่เห็นว่ะ) กับคนคิดช้ากว่า……(รำคาญที่โดนชี้อยู่นั้น เพราะตัวเองยังตีโจทย์ไม่แตก) ทำให้สิ่งที่พวกมนุษย์คิดเร็วนิสัยดีๆทำกันคือต้องพยายาม ‘เงียบ’ เข้าไว้ หรือใช้วิธี ‘ถามหยั่ง’ ดูเพื่อชี้นำแบบไม่โจ่งแจ้ง ซึ่งผมมองว่าเป็นการ ‘ลงโทษ’ ผู้เล่นที่คิดไวกว่า (ส่วนจะมองเป็นเรื่องฝึกความอดทนก็ไม่ใช่เรื่องสำหรับผมนะ เพราะผมมาเล่นเกมไม่ได้มาเข้าค่ายฝึกผู้นำ) หรือในเกม Magic Maze ที่เพิ่มกฎครอบเอาไว้ว่าห้ามคุย ที่ยิ่งจำกัดการสื่อสารเค้าไปอีก ซึ่งผมค่อนข้างรำคาญ คือพูดง่ายๆว่าไม่ชอบเกมที่ ‘ถ้าเล่นคนเดียวชนะไปนานแล้ว เพื่อนร่วมวงมีสถานะแค่ตัวทำให้เกมยาก’ เท่าไร

เกม co-op แบบที่ผมคิดว่าเจ๋งคือเกมอย่าง Captain Sonar ที่ต่างคนต่างแบ่งกันทำหน้าที่ ส่วนใน Spirit Island แก้ปัญหา Alpha ด้วยการนำเสนอ puzzle ที่ใหญ่เกินกว่าผู้เล่นคนเดียวจะสามารถแก้ได้เอง

ในตอนต้นเกมผู้เล่นแต่ล่ะคนจะเลือกจิตวิญญาณมาคนล่ะตัว แต่ล่ะตัวก็จะมีจุดเด่นกับลักษณะการเล่นต่างกันไป พร้อมกับได้การ์ดพลังตั้งต้นมาอีกจำนวนหนึ่ง วิธีการเล่นที่เหลือในแต่ล่ะรอบก็จะเป็น เลือกโบนัสประจำรอบของแต่ล่ะตัวซึ่งแต่ล่ะตัวมีไม่เหมือนกันแต่ก็จะเป็นปนๆกันอยู่ระหว่าง

  • เพิ่มตัวตนของเราในกระดาน (ยิ่งเรามีตัวตนในเกาะเยอะก็จะใช้การ์ดได้เยอะและแรงขึ้น)
  • จั่วการ์ดพลังความสามารถเพิ่ม
  • เก็บการ์ดที่ใช้ไปแล้วขึ้นมือ (เพราะการ์ดแต่ล่ะรอบใช้แล้วลงกองทิ้งส่วนตัว

จากนั้นก็ให้ทุกคนใช้การ์ดที่เลือกไว้ ตามด้วยผู้บุกรุกทำงาน แล้วก็วนไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะขับไล่ผู้บุกรุกไปได้หมด หรือว่าจนกว่าผู้บุกรุกจะทำให้ดินแดน ‘เสื่อมโทรม’ (เกิดจากผู้บุกรุกโจมตีใส่ดินแดนที่ไม่มีการป้องกัน) จนหมดทางเยียวยา ระบบเกมโดยรวมค่อนข้างคลีนไม่มีอะไรซับซ้อน

จุดเด่นสำคัญของเกมนี้คือระบบการ์ดพลัง ตัวเงื่อนไขไปในแนวการ์ดเกม คือมีค่าร่าย มีระยะทำการ (นับจากตัวตนของเราอันใดอันหนึ่งในกระดาน) และมีเป้าหมาย ตัวการ์ดมีความเร็วสองแบบคือแบบที่ทำก่อนผู้บุกรุกจะทำแอ๊คชั่น กับแบบที่ทำตอนหลัง ทำให้เราต้องวางแผนการเกิดผลให้ดีเพราะสภาพกระดานอาจจะไม่ใช่แบบที่เราคิดตอนที่จะใช้พลังแบบช้าในช่วงท้ายรอบ ที่น่าสนใจคือในระหว่างเล่นเราจะมีการจั่วการ์ดพลังมาเพิ่มจากกองกลาง (เป็นแบบจั่ว 4 เลือก 1) ทำให้ในแต่ล่ะเกมเราจะมี ‘สำรับ’ ที่แตกต่างกันไป ลูกเล่นอีกอันที่คิดว่าเจ๋งดีคือระบบธาตุที่การ์ดแต่ล่ะใบจะแจกธาตุที่แตกต่างกันให้ และด้วยจำนวนธาตุที่เราเล่นในรอบนั้นก็อาจจะเสริมทำให้ความสามารถของการ์ด กับพลังประจำตัวของจิตวิญญาณเราให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย ก็เลยมีเลเยอร์ในการสร้างคอมโบเพิ่มมาอีกระดับ เพราะจิตวิญญาณแต่ล่ะตัวจะมีท่าพิเศษที่ทำงานได้จากการรวมธาตุอยู่ พวกท่าพิเศษนี้มีหลายระดับยิ่งเก็บธาตุเยอะก็ยิ่งแรง (จากนกไฟยิงตาล่ะหนึ่งง่อยๆกลายเป็นนกเพลิงเผาที่ทั้งเมืองอะไรประมาณนั้น)

ส่วนที่เป็น co-op ตัวเกมใช้วิธีเล่นแบบ ‘เล่นพร้อมกัน’ ในเกือบทุกเฟส แล้วให้ผู้เล่นพูดคุยกับจัดการออกลำดับท่าระหว่างเล่นได้ แต่ว่าในช่วงแรกของเกมที่ผู้เล่นมักจะอยู่ห่างกันคนล่ะฝากของเกาะก็จะทำให้เมื่อเรากำลังเล่น solo อยู่คนเดียว กว่าจะได้เริ่มมาร่วมกันถกว่าใครจะใช้ท่าไหนตอนไหนดีก็มักจะเริ่มที่กลางเกม (เนื่องจากความสามารถของการ์ดมักจะอิงระยะจากตัวตนของเราในเกาะ ซึ่งในช่วงแรกยังไม่กระจายตัวมาก) ด้วยความที่จิตวิญญาณของผู้เล่นมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไปการร่วมมือกันวางแผนก็ถือเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เพราะตัวผู้บุกรุกในเกมมันออกมาเรื่อยๆ

กลไกการทำงานของผู้บุกรุกในเกมก็ค่อนข้างน่าสนใจ ตรงที่เป็นแบบสุ่มเล็กน้อยแต่ว่าวางแผนได้ ในแต่ล่ะตาการ์ดชนิดพื้นที่ (มีสี่แบบ) จะถูกเปิดออกมาแล้วผู้บุกรุกจะถูกเอาตัวมาลงในพื้นที่ชนิดนั้น ส่วนผู้บุกรุกที่บุกเข้ามาตาที่แล้วก็จะสร้างบ้านในพื้นที่ตัวเอง และผู้บุกรุกที่โผล่มาสองตาก่อนนั้นก็จะเริ่มโจมตีดินแดน คือระบบการ์ดมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆทำให้เราวางแผนได้ในระดับหนึ่ง เราแค่ไม่รู้ว่าผู้บุกรุกจะ ‘งอก’ มาใหม่ที่ไหนเท่านั้นเอง (จริงๆรู้ความเป็นไปได้นิดหน่อยเพราะมันจะไม่ออกซ้ำชนิดในแต่ล่ะยุค) นอกเหนือจากผู้บุกรุกเรายังมีชาวพื้นเมืองเป็นพวกด้วย โดยจะเป็นกลุ่มแรกที่รับแรงโจมตีจากผู้บุกรุก และช่วยโจมตีกลับถ้ายังไม่ตาย แต่ถ้าผู้บุกรุกโจมตีดินแดนที่ไม่มีอะไรป้องกันดินแดนก็จะ ‘เสื่อมโทรม’ และถ้าดินแดนเสื่อมโทรมถึงระดับหนึ่งเราก็จะแพ้ไป ถ้าเสื่อมโทรมซ้ำที่เดิมจะมีการงอกไปเกิดที่ข้างๆด้วย (คล้ายกับ Outbreak ใน Pendemic)

ในการชนะของฝั่งเราก็มักจะไม่ใช่การทำลายศัตรูให้สิ้นซาก แต่จะเป็นการเพิ่มค่า ‘ความกลัว’ ที่จะเพิ่มทั้งจากการใช้การ์ด หรือทุกครั้งที่ทำลายเมืองของผู้บุกรุก ทุกครั้งที่ความกลัวเพื่มถึงระดับหนึ่งก็จะปลดล๊อกเงื่อนไขการชนะของผู้เล่นก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากทำลายให้หมดทุกอย่าง ไปเป็นแค่ไม่มีคนก็พอ ไปจนถึงแค่ไม่มีเมืองก็ชนะแล้ว และสุดท้ายถ้าทำให้กลัวได้อย่างเด็ดขาดเราก็จะชนะทันที (แต่ส่วนมากน่าจะจบก่อนนั้น)

[Update 2018-01-02] – ไปอ่านใน bgg forum เค้าคุยกันเรื่องวิธีที่นักออกแบบเลือกใช้ธีมคนพื้นเมืองในพื้นที่สมมุติกับชนชาติที่ออกล่าอาณานิคมจริงในประวัติศาสตร์แบบโลกคู่ขนานนับเป็นไอเดียการออกแบบที่ฉลาดดีในการเลี่ยงประเด็นกดขี่/ฆ่าล้างเผ่าพันธ์คนพื้นเมืองในประวัติศาสตร์จริง พอมาคิดตามก็เห็นจริงตามนั้นพอดีคนไทยอย่างเราอาจจะไม่อ่อนไหวกับเรื่องแบบนี้เท่าไร คิดว่านักออกแบบเค้าใส่ใจดีนะ

🐸[กบโปรด] – ในฐานะเกม Co-op แล้วเกมนี้ผมถือว่าประทับใจมากๆ เป็นเกมที่ puzzle ยากแบบได้ใช้สมองจริงๆ ซ้อนด้วยข้อจำกัดจากตัวเลือกที่หลากหลายของผู้เล่นแต่ล่ะคน เวลาเล่นจบแล้วรู้สึกเหนื่อยแต่อิ่ม เป็นเกม co-op ที่มีสัดส่วนความเป็น solo มาเจือเยอะพอควร (โหมด solo เลยก็มีนะ) คือส่วนมากแค่จัดการตรงหน้าตัวเองก็เหนื่อยล่ะกว่าจะแบ่งพลังชีวิตไปคุยกับคนอื่นว่าอยากให้ช่วยอะไรไหมก็ต้องใช้เวลาซักพัก แต่ผลของการร่วมกันทำท่ามักจะรู้สึกดี ชอบที่มันมีความเป็น Team Play แบบทำเรื่องของตัวเองให้เก่งแล้วมาช่วยเพื่อนเสริมทีมให้เกร่ง กับตรงที่ตัวละครของเรามีการพัฒนาไปเรื่อยๆจากจิตวิญญาณง่อยๆมาเป็นออกคอมโบธาตุกวาดทีเกลี้ยงในตอนท้าย แถมท่าก็มีเอกลัษณ์สูง ความรู้สึกสิ้นหวังที่โดนทำลายพื้นที่ก็ทำออกมาดี คือไม่รู้สึกว่ากำลังหยิบ cube เข้าออก แต่ว่าอินไปกับธีม ในแง่กลไกรวมของเกมก็ถือว่าเรียบมากถ้าไม่นับเรื่องการ์ดพลังพิเศษแล้วกติกาน่าจะซับซ้อนพอๆกับ Pendemic เท่านั้นเอง

Replayablility ของตัวเกมก็ถือว่าสูงเพราะจำนวนจิตวิญญาณที่มีกับการ์ดที่เข้ามือแบบกึ่งสุ่มทำให้แต่ล่ะเกมเล่นไม่เหมือนกัน (ตัวหลักมี 8 ถ้าซื้อตัวเสริมกับโปรโมจะมีอีก 4) แถมมีโหมดเพิ่มความสามารถให้กับผู้บุกรุกเป็นชนชาติต่างๆที่ทำให้เกมยากขึ้น โดยในแต่ล่ะชาติก็ยังมีหลายระดับความยากให้เลือกอีก ซึ่งเท่าที่เล่นมาถ้าเล่นชนะแล้วครั้งหนึ่งครั้งต่อๆไปก็ค่อยๆเพิ่มความยากเลยดีกว่าเพราะถ้าเล่นเป็นแล้วโอกาสแพ้ก็ค่อนข้างยากอยู่ (แต่ช่วงเวลาระหว่างเล่นยังสนุกอยู่นะ) ข้อเสียที่ไม่ชอบนิดหน่อยคือรู้สึกว่ารูลยังเรียงลำดับข้อมูลไม่ดีเท่าไร มีจุดที่อ่านแล้วไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่ online FAQ ทำออกมาดีมาก ข้อเสียนิดๆคือตอนจบมันค่อนข้าง anti-climax นิดหน่อยเพราะรู้อยู่แล้วว่าตาสุดท้ายจะชนะหรือแพ้ ไม่ต้องเล่นก็ได้ กับ insert ทำมาสวยดีแต่ดันใส่ซองแล้วใส่กลับไม่ได้ -_- อีกอันที่ไม่ค่อยเก็ทคือทำไมทำ player aid มาอันนิดเดียว…..ประหยัดเกิ๊น

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอดถ้ามีคนชวน

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบชูนิ้วกลาง - ไม่ตรงจริตเป็นอย่างมาก ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->