Solarius Mission - "สลัด"อวกาศ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Solarius Mission -

เกมใหม่จากทีมนักออกแบบ La Granja หนึ่งในเกมที่ยกระบบการเล่นของหลายเกม ชนิดเขียนเครดิตให้ท้ายเล่มเป็นรายเกม มาบดเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว  รอบนี้มาพร้อม concept เดิมคือเอาหลายๆเกมมายำใหม่ โดย Solarius Mission นี้เป็นเกมระดับ mid-heavy ธีมว่าด้วยการออกเดินทางไปค้าขาย พร้อมพัฒนาดวงดาวบนอวกาศ ผลิต 1000 กล่องทั่วโลกจากค่าย Spielworxx เจ้าเดิม

Andreas “ode.” Odendahl หนึ่งในทีมนักออกแบบเกมนี้ โดน Uwe Rosenberg อวยไว้เยอะนะ ขนาดออกชื่อในเครดิต A Feast for Odin เลยว่าไอเดียการเอาไทล์มาล้อมพื้นที่แล้วได้ของเนี่ยก็เอามาจากคนนี้แหละ

เกมนี้ธีมค่อนข้าง Dry ตามแบบเกมยูโรทั่วไป concept หลักคือเราจะต้องเก็บสินค้าสี่ชนิดเอาไว้แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งก่อสร้างไปวางไว้ทั่วจักรวาล

ถึงจะจั่วหัวว่า “สลัด” แต่เกมนี้เราไม่ได้เป็นโจรสลัด หรือว่าเป็นเกม point salad แต่อย่างใด แค่มีความรู้สึก”ค่อนไปทาง” point salad เท่านั้นเอง

“Dice as Action”

ตัวเกมแบ่งออกเป็น 4 ยุค ในแต่ล่ะยุคผู้เล่นจะผลัดกันทำ action คนล่ะครั้ง วนไป 4 รอบ (เกมจะจบลงเมื่อผู้เล่นเล่นครบ 16 action)

สิ่งที่เราจะต้องทำในแต่ล่ะตาคือ (ทำตามลำดับ)

  1. หยิบเต๋าหนึ่งลูก (ณ ช่วงเวลาที่หยิบจะมีเต๋าให้เลือก 4 ลูกเสมอ)
  2. ทำ action ที่เกี่ยวกับเต๋าลูกนั้น
  3. เลือกทำ action รอง 1 ใน 6 อย่าง (supplementary action)

ลูกเต๋ามี 4 สี แต่ล่ะลูกสามารถเลือกทำความสามารถได้สองแบบ

แบบที่หนึ่ง : คือเปลี่ยนตัวเลขหน้าเต๋าไปเป็น cube สินค้าสีนั้นๆ

แบบที่สอง :ใช้ความสามารถประจำสีของเต๋า

  • เต๋าสีดำ : เปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามจำนวนแต้มเต๋า
  • เต๋าสีเหลือง : เปลี่ยนเป็นเงินตามจำนวนแต้มเต๋า
  • เต๋าสีน้ำตาล : เอาแต้มเต๋าที่มีไป upgrade ความจุตู้สินค้า
  • เต๋าสีเขียว : เอาแต้มเต๋าที่มีไป upgrade หน้าเต๋าบน player board

ถ้าคุณคิดตามซักนิดจะเห็นว่า งี้ใครๆก็หยิบแต่เต๋าแต้มสูงสิ(ฟระ)? ระบบ balance ของเกมนี้ก็คือถ้าเราหยิบเต๋าที่ให้แต้มตั้งแต่ 3 เป็นต้นไปเราจะต้องหยิบ contamination (สารปนเปื้อน) หนึ่งชิ้น ตัวสารนี้ในตอนแรกจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราเก็บเกินจำนวนที่เราสามารถเก็บได้ล่ะก็ มันจะกลายเป็นแต้มติดลบตอนจบเกม (ตอนต้นเกมเก็บได้แค่ 3 ชิ้น ซึ่งจะเต็มเร็วมาก)

ส่วนเต๋าที่แต้มน้อย เกมนี้ใช้ระบบโบนัสที่ประยุกต์มาจากระบบล้อเติมของของ Ora Labora ทุกๆตาที่เต๋ายังอยู่ในเกมเข็มจะหมุนไปเรื่อยๆ และเต๋าทุกลูกที่ยังอยู่ก็จะได้รับโบนัสเพิ่ม แต่ถ้าหยิบลูกแรกสุดที่พึ่งออกมาในตานั้นเราจะต้องจ่ายทรัพยากรแทน ตรงนี้ผมว่าสมดุลย์ดี เพราะลดดวงการจั่วเต๋าดีๆตอนต้นตาได้อีกนิดหน่อย

ทรัพยากรโบนัสที่เราจะ ได้/เสีย จากการหยิบเต๋าคือ เงิน และ น้ำมัน เงินจะเอาไว้เพิ่มมูลค่าหน้าเต๋าที่หยิบมา ส่วนน้ำมันเอาไว้ใช้เพิ่มระยะทางในการเดินทางของยาน

อีกเรื่องคือเต๋า action ในเกมนี้เป็นแบบ custom จะมีหน้า 1/2/3/ดาว/ดาว/ดาว+1 ส่วนที่เป็นดาวจะขึ้นอยู่กับว่าเต๋าลูกที่เราหยิบเรา upgrade มาระดับไหนก็แทนที่ดาวด้วยแต้มนั้นของเรา

“Toooooo many things to do , soooooo little actions”

แผนที่ในเกมจะเป็นจักรวาลที่ประกอบจาก sector ทรง 6 เหลี่ยมล้อมเป็นวงกลมเหมือนกันทุกรอบ (จะมีการหมุนกับสลับตำแหน่งกันนิดหน่อย ที่ต่างกันจริงๆจะเป็นการสุ่มดาวเคราะห์ตอนเริ่มเกมมากกว่า) ผู้เล่นทุกคนจะเริ่มที่ sector กลาง

Action รอง (supplementary action) ในเกมนี้จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นการเพิ่มระยะทางการเดินยาน / จั่วการ์ด / เล่นการ์ด ตัวการ์ดจะมีสองฝั่งเราต้องเลือกระหว่างจะเล่นด้านที่เสริมความสามารถพิเศษหรือว่าด้านส่งของ

อีกกลุ่มที่นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเกม (แต่ในรูลเรียก action เสริม) จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเดินยานของเรา (เดินได้ไกลเท่ากับเครื่องยนต์ที่มี)แล้ว หลังจากนั้นเราจะสามารถ…

สร้างสถานีอวกาศ : สถานีอวกาศ (space station) สร้างได้ 4 อัน สร้างเยอะก็ได้แต้ม แถมด้วยความสามารถของตัวสถานี (เป็นการ์ดที่ผู้เล่นทุกคนมีเหมือนกันตั้งแต่เริ่มเกมคนล่ะ 6 ใบ) กิมมิคที่น่าสนใจในส่วนนี้ของเกมจะอยู่ที่ อันต่อไปราคาจะแพงด้วยเรื่อยๆ แต่ว่าผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายสีไหนถูกสีไหนแพง การ์ดแต่ล่ะใบก็จะระบุไว้แล้วว่าต้องใช้สินค้าสีอะไรในการจ่าย (แต่จำนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับว่าสร้างช้าเร็วแค่ไหน) อีกหนึ่งความสำคัญของตัวสถานีอวกาศก็คือมันช่วยเพิ่มช่องเก็บ contamination (ที่เป็นแต้มลบถ้ามีเยอะเกินไป) ให้เราด้วย

ทำ mission  ส่งของ :ถ้าเรามีการ์ด mission ลงเอาไว้  พอยานไปจอดหยุดติดกับสถานีการค้า (เป็นช่องพิเศษที่มีอยู่ sector ล่ะ 1 ช่อง) และมีสินค้าพอ เราก็จะสามารถเคลมการ์ดได้ เป็นแต้มตอนจบเกม ความต้องการสินค้ามีสองแบบคือนับแค่มูลค่าสี และ แบบที่ระบุชัดว่าต้องเอาสินค้ามาจาก คอลั่มที่กำหนดเท่านั้น (แปลว่าต้องใช้เต๋าสีน้ำตาล upgrade เพิ่มจำนวนคลังเก็บของ ของสีนั้นๆไว้ก่อน)

บุกเบิกดาวดวงใหม่ : ถ้าเราไปจอดที่ดาว (มีสี่สี สีตรงกับสีเต๋า) ถ้าดาวดวงนั้นยังไม่ถูกหงายเราสามารถเปิดไทล์มาดูแล้วเลือกระหว่างเก็บดาวไว้กับตัวรอเคลียร์เงื่อนไขทำแต้ม หรือเปลี่ยนเป็นcubeสินค้า เงื่อนไขของการเคลียร์ดาวที่เก็บไว้เป็นแบบสุ่ม(เราไม่รู้จนกว่าจะเปิด แต่ถ้าเปิดแล้วคิดว่าทำไม่ได้เราก็สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าแทนได้) แต่ว่าจะแบ่งเป็นสี่หมวดตามสีดาว เงื่อนไขจะเหมือนกับความสามารถสีเต๋าพอดีคือ จ่ายเงิน/จ่ายน้ำมัน/upgrade หน้าเต๋าถึงจำนวนที่กำหนด/upgrade ตู้เก็บสินค้าถึงจำนวนที่กำหนด แต่ถ้าตอนจบเคลียร์ไม่ได้ก็จะกลายเป็นแต้มลบแทน

“Component ไม่น่าประทับใจ”

ก่อนอ่านต่อต้องย้ำก่อนว่าเกมนี้เกมดี แต่ปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้เลยของเกมนี้คือ component ที่เทียบกับราคาแล้วถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง……….โอเคผมทราบดีว่านี้คือเกมของ Spielworxx ค่ายเล็กๆที่ทำเกมแค่ 1000 กล่อง (ซึ่งผมก็ซื้อเกมค่ายนี้ประจำอ่ะนะ ค่อนข้างเข้าใจอยู่แล้ว)

อย่างแรกที่เห็นชัดๆคือ disc ให้มาผิด size จากขนาด 14mm  เป็น 1.4mm!!! (ต่างกัน 10 เท่า)  เล่นไปสองรอบผมทำหายไปเรียบร้อยสองอันเพราะเล็กจัด  โอเคทางโน้นบอกจะส่ง replacement disc ที่ถูกขนาดมาแทนให้ (เรื่องแบบนี้พลาดกันได้ไม่ว่ากัน) แต่ดันบอกว่า disc ที่บอกจำนวนเงินกับน้ำมัน ทำมาถูก size แล้ว ไอ้อันโคตรเล็กนั้นอ่ะนะ? ผมเลยแก้ปัญหาโดยการไปหาซื้อ disc ขนาด 8mm มาแทน (ผมฝากเพื่อนซื้อจากลานละเล่น แต่ส่วนตัวคิดว่าราคาต่อเม็ดแพงไปหน่อย หรือหาใน aliexpress เห็นมีขายเหมือนกัน) รูป disc 8 mm ที่ซื้อมาเปลี่ยนดูได้จากรูป cover อันแรกสุด

อย่างที่สองคือลูกเต๋า คือราคาขนาดนี้ มันควรจะทำ custom dice ได้แล้วหรือปล่าว? เต๋าไม้ติดสติกเกอร์เนี่ยนะ!!ถึงจะไม่ได้จับบ่อยๆให้มันถลอกง่าย แต่เล่นไปซักพักเริ่มแอบเห็นอาการที่ขอบสติกเกอร์เริ่มมีการยุ้ยเล็กน้อยจากเหงื่อ คือคงยุ้ยไม่เยอะไปกว่านี้เท่าไร แต่เห็นแล้วหงุดหงิดเล็กน้อย

อย่างที่สามคือวงล้อหมุนเติมของ ที่เราต้องมาติดกาวเอง…….. กาว!! คือทำไมไม่เอาตราไก่มาให้เหมือนเกมอื่นๆว่ะ!! ตอนที่เล่นก็เลยไม่ติดกาวแต่ใช้วิธีเอามือหมุนขยับวงล้อเอง

คือบอกตามตรงว่าสามเรื่องนี้ถ้าเป็นค่ายอินดี้ที่เล็กกว่านี้ ทำแค่ 200-300 กล่องจะไม่บ่น (เพราะผมซื้อ CliniC ราคาแพงกว่านี้แต่ของแย่กว่านี้มาแล้ว แต่อันนั้นมันเกมทำมือ) แถมดันเป็นค่ายที่ออกเกมมาแล้วหลายเกม จริงๆปัญหาทำนองนี้ก็มีมาตั้งแต่เกม Dilluvia Project ล่ะ

เอาจริงๆปัญหาที่พูดมาถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร พอดีมีหลายประเด็นหน่อยเลยดูเหมือนเยอะ

“Tight Puzzle ,  Fun”

เป็นเกมแนวที่ต้องทำหลายๆอย่างที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไรเลยชี้ให้เห็นภาพรวมยาก เกมยังไปไม่ถึงระดับ point salad เพราะถ้าขยับมั่วๆจะไม่ได้แต้มอะไร ต้องวางแผนการทำ action เยอะหน่อย

เรื่องรูลก็ตามที่เห็นฝรั่งบ่นๆกันเยอะ คือจัดระเบียบเรียบเรียงเนื้อหาไม่ค่อยดี เวลาอยากรู้อะไรเปิดหายากมาก มันเป็นรูลแบบที่ถ้าไม่เอา component มากางตรงหน้านี้แทบไม่รู้เรื่องเลยว่าเกมมันเล่นยังไง ทั้งๆที่เกมมันไม่ได้ซับซ้อนอะไร กติกาย่อยๆที่ควรจะมีใน player aid ดันไม่ใส่ทำให้ลืมบ่อยๆ บางอย่างก็เขียนให้ชวนงงโดยไม่จำเป็น  ส่วนสัญลักษณ์บนการ์ดนี้ส่วนมากดูแล้วไม่เก็ทต้องเปิดคู่มือตลอด

สัดส่วนดวงของเกมนี้ ตอนเล่นครั้งแรกจะรู้สึกเหมือนว่าเยอะไปนิดสำหรับ weight เกม แต่พอเล่นรอบต่อๆมาแล้วพบว่าไม่ได้เยอะขนาดนั้น ค่อนข้างบริหารได้ จะมีแต่การ์ดที่จั่วมาอาจจะต้องลุ้นหน่อยว่าได้สีตรงกับที่เรามีพอดีไหม  กับเรื่องดาวที่เรารู้แค่คร่าวๆว่า mission ของดาวนั้นคืออะไร แต่ไม่รู้ว่าตัวเลขแป๊ะๆคือเท่าไร แต่ถ้าเราเล่นเต๋าสายไหนเยอะ เราก็มักจะสามารถเคลียร์ mission ของดาวสีนั้นได้อยู่แล้ว

ดวงในส่วนของเต๋าที่ออกมาถูกทำให้ balance ด้วยระยะเวลารอ ความยืดหยุ่นระหว่างการเล่นสูง ผู้เล่นสามารถฟอกสีเต๋าได้เองหนึ่งครั้งต่อยุคโดยแลกกับการหยิบสารปนเปื้อนมาเก็บไว้ ถ้าหน้าเต๋ามีแต้มน้อยไปก็ยังสามารถจ่ายเงินเพิ่มหน้าเต๋าได้ ทรัพยากรก็สามารถแลกเปลี่ยนไปมาได้เรื่อยๆ (แต่ต้องแลกแบบขาดทุนนะ) ส่วนการ์ดความสามารถเท่าที่เล่นยังไม่เจออันที่รู้สึกว่าโกง

ดวง (อีกแล้ว) ในส่วนที่ไม่ค่อยชอบเท่าไรคือ สถานีการค้าที่เรามีแต้มเพิ่มถ้าเราไปสร้างของติดกับพื้นที่ตรงนั้น ที่ไม่ชอบคือไทล์ที่กำหนดว่าสถานีใน sector ไหนมีโบนัสนั้นเปิดแบบสุ่มโดยไม่รู้ล่วงหน้า พูดง่ายๆคือมี 4 sector ที่ได้โบนัสแบบนี้ อีก 2 sector จะไม่ได้ และเราไม่รู้ล่วงหน้า เพราะมันค่อยๆเปิด

เกมนี้วิธีการทำแต้มค่อนข้างหลากหลาย(มากกกกก)แต่ไม่มีสายเฉพาะ คือในระดับนึงเราจำเป็นต้องทำท่าระดับพื้นฐานของแต่ล่ะสายอยู่แล้ว แต่เกมจะให้รางวัลเพิ่มถ้าเราเริ่ม “ไปต่อ” ในแต่ล่ะสาย เวลาเล่นจะค่อนข้างผสมๆกัน ไม่มีความเป็น engine building แต่ว่าความสามารถที่เรา upgrade มาจะส่งเสริมให้เราเล่นง่ายขึ้น ส่วนที่ชอบอีกอย่างก็คือเลเยอร์ของการ up tech ค่อนข้างน่าสนใจดี

ความรู้สึกกว้างๆเหมือนกำลังเล่น Bora Bora ในแบบที่ไม่ต้องไล่ทำ mini game หลายๆ phase แล้วก็มีพื้นที่ให้ออกท่าเยอะหน่อย (คือมันไม่ได้คล้ายอะไรขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าเป็นเกมแบบ action น้อยๆ ต้องใช้พวก action หลัก/เสริมให้คุ้ม กับมีดวงเต๋านิดหน่อย แล้วเราไม่ต้องวางแผนการใช้เต๋าเพื่อตัดคนอื่น) ในแง่การเล่น ตัวเกมจะเรียบกว่า Bora Bora

ตัวเกมจะให้ผู้เล่นจมอยู่กับตัวเองเยอะหน่อย player interaction ค่อนข้างต่ำแต่ไม่ถึงกับโดดเดี่ยว ความสนุกในการสำรวจหาท่าเล่นมีเยอะพอควร ไอ้อารมณ์ “เอาเต๋าที่กูเล็งไว้ไปทำมายยยยย” ก็เจอได้บ่อยๆ เกมไม่อยู่กับตัว รอบนี้ไม่มีแมวนะฮะ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->