Root - สงครามใหญ่ในป่าเล็ก

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Root - สงครามใหญ่ในป่าเล็ก

ป่าอันกว้างใหญ่ภายใต้การปกครองของ ‘ขุนนางแมว - Marquise de Cat ‘ (แมวจริงๆนะ) จอมเผด็จการ เราจะมองเห็นโรงเลื่อยไม้และโรงงานอื่นอยู่ทั่วป่า โรงงานพวกนี้ล่ะคือแหล่งแห่งความมั่งคั่งและอำนาจของท่านขุนนาง ความสงบสุขที่อยู่เบื้องหน้าถ้าเรามองให้ลึกขึ้นไป จะเห็นแรงงานของประชากรในป่าอย่าง หนู กระต่าย หมาป่า และเหล่านก ก็กำลังทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย โอทีก็ไม่ได้ จนในที่สุดพวกเค้าบางส่วนก็ไม่คิดจะทนอีกต่อไป ออกมาร่วมมือกันก่อตั้งกลุ่ม ‘พันธมิตรแห่งป่า - Woodland Alliance’ ที่เป้าหมายคือการปลดปล่อยเหล่าพี่น้องจากการถูกกดขี่

ในขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งของป่า ‘ราชวงศ์อินทรีย์ - Eyrie Dynasties’ เหล่าผู้ปกครองเก่าแก่ที่ถูกขับไล่ออกไป ก็เริ่มคืบคลานเข้ามา หมายที่จะทวงคืนพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยครอบครอง และสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุดเพราะมีตัวเสริมอีกสองฝ่าย) คน…เออโทดทีต้อง.. ‘แรคคูณพเนจร - Vegabon’ นักเดินทางผู้โดดเดี่ยวที่พร้อมจะยื่นมือช่วยผู้ตกยาก ก็บังเอิญต้องมาตกอยู่ในวงวนของเกมการต่อสู้ของเหล่าสรรพสัตว์

เกมนี้เป็นเกมแนว Asymmetric ที่ผู้เล่นแต่ล่ะคนมีวิธีการเล่นไม่เหมือนกัน ที่เอาแนวคิดแบบ Wargame ของเกมซี่รี่ย์ COIN (เป็นเกมแนวสงครามแบ่งเป็นสี่ฝ่าย เคยเขียนถึงไว้สองเกมคือ A Distant Plain กับ Cuba Libra) มารื้อใหม่ใส่ธีมน่ารักและเพิ่มอารมณ์แบบยูโรเข้าไป ผลงานจาก Cole Wehrle (An Infamous Traffic , John Company, Pax Pamir)

เกม ‘แนว’สงคราม เป็นกลุ่มเกมที่มีรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกับ ยูโร และ อเมริเทรช - ไม่ใช่ ‘ธีม’สงครามที่แค่เล่าถึงการก่อสงครามก็เรียกเกมธีมสงครามได้ทั้งนั้น

ไอเดียโดยกว้างๆที่ถูกฝ่ายจะใช้ร่วมกันก็คือเกมจะมีพื้นที่ว่างเป็นลานกว้าง (Clearing) ที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน แต่ละลานกว้างก็จะมีชนิดของพื้นที่อยู่สามแบบได้แก่ หนู, กระต่าย, หมาป่า (ในเชิงธีมคือชนิดของประชากรที่ทำงานในพื้นที่นั้น) และเกมจะมีการ์ดที่ผู้เล่นจะจั่วมาใช้ร่วมกันอยู่กองหนึ่ง ที่มีวิธีใช้อยู่สองแบบคือทิ้งโดยใช้สัญลักษณ์ของการ์ดไปทำแอคชั่นของฝ่ายที่เราเล่น (การ์ดมีอยู่สามแบบ ใช้ไอคอนตรงกับชนิดพื้นที่ กับอีกแบบเป็นนกที่ใช้แทนไอคอนไหนก็ได้) หรือไม่ก็ ‘สร้าง’ (Craft) การ์ดออกมาแล้วเราจะได้ผลของการ์ดใบนั้น เงื่อนไขการสร้างก็แล้วแต่ฝ่ายอีกนั้นแหละแต่ส่วนมากคือต้องสร้างสิ่งปลูกสร้างของเผ่าตัวเองในลานกว้างตามที่การ์ดบอกไว้ เผ่าส่วนมากจะทำแต้มจากการสร้างสิ่งก่อสร้างในลานกว้าง แต่ว่าลานกว้างมันมีจำกัดก็เลยต้องมาต่อสู้แย่งกัน โดยเกมจะจบลงทันทีเมื่อมีผู้เล่นทำคะแนนได้ครบสามสิบแต้มก่อน

ระบบ Combat ในเกมนี้ก็ไม่ซับซ้อนอะไรแต่ทอยเต๋าสองลูก (มีเลข 0-3) ฝ่ายตีจะให้นับเลขเยอะ ส่วนฝ่ายรับใช้เลขน้อย จากนั้นก็เอาตัวของทั้งสองฝ่ายออกพร้อมกัน ง่ายๆแค่นั้นแหละ มีเงื่อนไขอีกนิดหน่อยว่าจำนวนที่เราตีได้จะเท่ากับจำนวนทหารของเราด้วย อย่างทอยได้สามแต่มีทหารหนึ่งก็ทำได้โจมตีได้แค่หนึ่งเท่านั้น ตรงนี้ทำให้เกมนี้มันไม่ใช่เกมประเภทมีตัวเยอะกว่าก็จะชนะเสมอไป เพราะมาเยอะแค่ไหนก็เก็บฝั่งตรงข้ามได้แค่สามตัว แต่ว่าถ้ามาเยอะกว่าเราจะได้สิทธิ์ในการครองพื้นที่ (Ruling) ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปตรงลานกว้างนั้นได้ สิ่งสำคัญที่พึงระลึกไว้คือ เกมนี้ไม่ใช่เกม ‘ตีกัน’ คือการตีมันเป็นส่วนหนึ่งของเกมนั้นแหละ แต่ว่าแต่ล่ะฝ่ายเองก็มีวิธีการทำแต้มในรูปแบบของตัวเอง และส่วนมากแทบจะไม่เกี่ยวกับการโจมตี

‘สร้าง’ ที่เราจะได้รับความสามารถของการ์ดนั้นมาใช้งาน[/caption]

เนื่องจากแต่ล่ะฝ่ายมันมีวิธีเล่นแตกต่างกันเลยขอย่อยไปที่ล่ะฝ่ายล่ะกัน

The Marquise de Cat - “อุตสาหกรรมและกำลังทหาร” เผ่าผู้ปกครองแห่งป่า เปิดเกมมาก็มีทหารอยู่เต็มกระดาน เผ่านี้เข้าใจง่ายสุดเพราะแต้มจะมาจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีอยู่สามแบบ เวลาเล่นก็สร้างโรงเลื่อยไม้ จากนั้นก็เอาไม้ไปสร้างตึกอื่นๆต่อ ระหว่างนั้นก็สร้างทหารมาคุ้มกันทั้งโรงงานและเส้นทางลำเลียงไม้ เป็นเผ่าที่มีทหารจำนวนมากที่สุด และความสามารถพิเศษประจำตัวคือสามารถทิ้งการ์ดเพื่อย้ายทหารที่กำลังจะตายกลับไปที่ป้อมปราการหลักด้วย เป็นเผ่าที่เล่นง่าย ตรงไปตรงมา เน้นการคุมโซนสร้างลอจิสติกไม้ซุงและใช้จำนวนคนที่เหนือกว่าเข้ายึดพื้นที่ ส่วนแต้มก็จะมาจากการสร้างโรงงานนั้นแหละ

Eyrie Dynasties - “สภาอินทรีย์ ระบบ ระเบียบ แม่นยำ” ความน่าสนใจของเผ่านี้คือการเล่นแบบ Programming ที่ในแต่ล่ะตาเราจะต้องค่อยๆเพิ่มการ์ดสัตว์เข้าไปในช่องแอคชั่นสี่แบบ (เพิ่มทหาร->เดินทาง->โจมตี->สร้าง) ยิ่งใส่การ์ดเยอะเราก็จะยิ่งได้ทำแอคชั่นเยอะ แต่เงื่อนไขคือเราจะต้องทำแอคชั่นนั้นๆในพื้นที่ที่ตรงกับการ์ดที่เราใส่ไว้เท่านั้น และทันทีที่ทำไม่ได้เราจะต้องรื้อการ์ดทิ้งทั้งหมดแถมเสียแต้มอีกต่างหากทำให้เราถูกบังคับไปสร้างเครื่องจักรทำแอคชั่นใหม่ตั้งแต่ต้น (ตามธีมคือผู้นำอย่างเราไม่มีศักยภาพพอ ทำให้โดนคนในสภาไล่ออกมา แถมเสียแต้มเพราะทำเผ่านกเสียชื่อเสียงอีกต่างหาก) ข้อได้เปรียบคือจำนวนแอคชั่นต่อรอบที่เยอะกว่าคนอื่น แต่ก็แลกมาด้วยการที่เราต้องบริหารจัดการให้ดี แต้มของฝ่ายนี้จะมาจากการปล่อยสิ่งก่อสร้างทิ้งเอาไว้บนกระดาน ความแกร่งประจำตัวคือชนะ tie break พื้นที่เสมอ

Woodland Alliance - “กองโจร ตั้งด่านรีดไถ และซุ่มโจมตี” เผ่านี้คือเหล่าสัตว์ที่โดนกดขี่จนต้องออกมาต่อสู้ แนวคิดจะเป็นการเล่นแบบกองโจร โดยจะต้องเริ่มจากการวางโทเคน ความเห็นใจ (sympathy) ไว้ในป่าแล้วกระจายตัวไปเรื่อยๆ ผลของมันคือจะทำให้คนที่เดินเข้ามาในพื้นที่นี้จะต้องจ่ายการ์ดในมือให้กับเรา ยิ่งกระจายได้มากก็จะยิ่งได้แต้ม เมื่อมีทรัพยากรมากพอเราก็จะสร้างฐานและเริ่มผลิตทหารออกมา ข้อจำกัดคือจำนวนที่น้อยกว่าฝ่ายอื่นแต่ทดแทนด้วยความสามารถใช้เลขเต๋าเลขเยอะถ้าเป็นฝ่ายตั้งรับ ความน่ากลัวอีกอย่างของฝ่ายนี้คือถ้ารวมการ์ดได้มากพอก็จะสามารถก่อกบฎ (Revolt) ในลานกว้างที่ผลของมันคือฝ่ายตรงข้ามจะต้องเอาโทเคนของตัวเองออกให้หมด แล้วฝ่ายเราจะได้ตั้งฐานทัพพร้อมที่จะเริ่มบุกโจมตี

Vagabond - “แรคคูณโดดเดี่ยว หากไม่ใช่เพื่อน ก็เป็นตัวป่วน” เป็นฝ่ายที่น่าจะมีวิธีเล่นที่หลากหลายมากที่สุดในเกม ความโดดเด่นของฝ่ายนี้คือ มีอยู่แค่ตัวเดียวทั้งเกม แถมเล่นไม่เหมือนคนอื่นในเกมเลย ไอเดียคือเราจะเดินทางไปทั่วแผนที่เพื่อมอบการ์ดของเราให้กับผู้เล่นคนอื่นแลกกับไอเทมที่ผู้เล่นคนอื่นสร้างมา (การ์ดหลายใบสร้างแล้วจะได้แต้ม แล้วก็จะมีไอเทมมาให้ด้วย แต่ว่าคนที่ใช้งานได้มีแค่แรคคูน) พอคนอื่นได้การ์ดไปเราก็จะได้แต้มและสถานะความเป็นมิตรกับเราก็จะเพิ่มขึ้น จำนวนและชนิดของแอคชั่นที่เราใช้ได้ก็จะขึ้นอยู่กับไอเทมที่เรามี (ตอนเริ่มเกมเราสามารถเลือกความสามารถพิเศษกับไอเทมตั้งต้นด้วยนะ ตรงนี้จะช่วยให้เรากำหนดสายที่กะจะเล่นในรอบนั้นๆได้ด้วย)

ระหว่างทางก็สามารถเลือกที่จะทำภาระกิจ (Quest) โดยต้องไปตามที่ๆการ์ดบอกและใช้ไอเทมที่เราเก็บมาเพื่อเคลมทำแต้ม หรือจะทำตัวเป็นพระเอกไปร่วมรบกับฝ่ายที่เราเป็นมิตรได้ด้วย แต่ความน่าสนใจอีกอย่างคือฝ่ายนี้สามารถขอประกาศรวมตัวกับผู้เล่นที่แต้มน้อยสุด ณ ตอนนั้นได้ด้วย ชนะด้วยกันแพ้ด้วยกัน

ไหนๆแล้วพ่วงตัวเสริมไปด้วยเลยล่ะกัน จะเพิ่มมาอีกสองฝ่าย ทำให้เล่นได้ถึง 6 คน กับสามารถมีคนเล่นเป็นแรคคูณได้สองคน แล้วก็มีแมวหุ่นไม้ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติที่เอาไว้ให้ผู้เล่นช่วยกันสู้แบบทีม หรือจะเล่นแบบโซโล่ก็ได้

Riverfolk Company - “นากนักธุรกิจ งานของเราคือการบริการ” ฝ่ายการค้าที่เน้นการบริหาร ‘เงิน’ ไอเดียคือฝ่ายนี้จะสามารถขายการ์ดในมือ, ให้ยืมทหารไปรบแบบรับจ้าง หรือใช้เช่าเรือก็ได้ เพราะเป็นเผ่าเดียวที่สามารถเดินทางบนน้ำได้ ความน่าสนใจก็คือฝ่ายนี้จะตั้งราคาค่าบริการเองได้ ผู้เล่นที่จะใช้ก็จะต้องจ่ายทหารของตัวเองแทนเงิน แล้วเราก็จะเอา ‘เงิน’ (ก็คือทหารของคนอื่นนั้นแหละ) นี้ไปแปลงเป็นแต้มกับแอคชั่นของเราอีกที ความน่าสนใจเลยอยู่ที่การหาจุดสมดุลย์ในการกำหนดสัดส่วนราคาค่าบริการ และการหาจังหวะครองพื้นที่เพื่อสร้างสถานนีการค้าของตัวเองเพื่อทำแต้ม ในขณะที่ฝ่ายอื่นก็ต้องมองหาสัดส่วนการยืมทหารฝ่ายนี้ไปใช้ กับการกำจัดทหารฝ่ายนี้ออกไปบ้างเพื่อไม่ให้ตัวนากมาแว้งกัดเราทีหลัง เป็นอีกเผ่าที่ใช้ฝีปากเยอะเหมาะกับสาย politic

Lizard Cult - “กิ้งก่าเจ้าลัทธิ หากเจ้าถูกทอดทิ้ง เทพแห่งมังกรจะอ้าแขนรับ” ฝ่ายแห่งการสมคบคิด เน้นทำแอคชั่นขยายลัทธิเพื่อทำแต้ม ความน่าสนใจคือถ้ามีเผ่านี้อยู่ทุกครั้งที่ผู้เล่นทิ้งการ์ดมันจะต้องมาพักไว้ที่เราก่อน (เรียก Lost Souls) พอมาตาเราค่อยดูว่าสัตว์ชนิดไหนถูกใช้งานเยอะสุดเราก็จะสามารถทำท่าพิเศษในลานกว้างของสัตว์ชนิดนั้นได้ หลักๆก็คือการสร้าง ‘สวน’ (Garden) อันเป็นโบสถ์แห่งลัทธิ เพื่อเอาไว้ให้เราออกคอนเสิร์ต เอ้ย แสดงเทศนาให้จับใจสาวกกลายเป็นแต้มอีกทีหนึ่ง เป็นสายที่เล่นยากแล้วก็เกะกะคนอื่นเป็นอย่างมาก เพราะโบสถ์นี้สร้างง่ายแล้วกินที่เร็วมาก (ช่วงเวลาทุกข์ยากก็งี้ ศาสนาแบ่งบาน) แต่ตัวฝ่ายนี้เองกลับมีเงื่อนไขในการไปตีคนอื่นที่ยุ่งยากพอควร เพราะการจะเคลื่อนทหารไปได้ต้องไปยังลานกว้างของสัตว์ที่ถูกใช้งานเยอะสุดเท่านั้น

🐸[กบชอบ] เอาจริงๆก็เป็นเกมที่ไม่ติดกบโปรดด้วยเหตุผลว่ามันเบาไปหน่อย (ผมชอบเกมที่เครียดกว่านี้อีกนิด เป็นการตกรอบแบบฉิวเฉียดจริงๆ) กับรู้สึกว่า Learning Curve มันเยอะไปนิดสำหรับ weight ประมาณนี้ แต่ในแง่มุมอื่นๆแล้วน่าประทับใจมาก

สิ่งที่ผมประทับใจคือมันย่อยเอา Wargame (ย้ำอีกทีว่ากำลังพูดถึง Genre ไม่ใช่ Theme) แบบ COIN Series มาตีความแล้วเอามาเล่าใหม่พร้อมใสธีมน่ารักสดใสในแบบที่ผู้เล่นระดับแมสขึ้นเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ผู้เล่นแต่ล่ะฝ่ายมีวิธีการเล่นที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ระบบต่อสู้ก็กระชับมากไม่ลีลาเยอะมีโมเม้นดวงๆอยู่บ้างแต่ไม่กากแบบแค่มีพวกเยอะก็ถือว่าวิน คือเกมมันจับกลุ่มคนเล่นเกมตีๆกัน หรือฝั่งยูโร ไปจนถึงระดับครอบครัวที่เล่นอะไรซับซ้อนหน่อยได้ (อาจจะซักแถวๆ Terraforming Mars) แม้กระทั้งผู้เล่นที่อาจจะไม่ชอบเกม direct conflict (มีการปะทะกันโดยตรง) เท่าไรได้สบายๆ ข้อดีอีกอย่างคือกติกาของแต่ล่ะฝ่ายมีเขียนอยู่ชัดเจนบนบอร์ดผู้เล่นของฝ่ายนั้นๆ (อีกอย่างที่คนเล่น Wargame มาแล้วจะคุ้นเคยกันดีกับไทล์แนว chit สี่เหลี่ยม)

ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ ‘แน่นและเร็ว’ คือ 90 นาทีก็เล่นจบล่ะถ้าเล่นเป็นหมด แต่ล่ะฝ่ายก็แตกกันอย่างสิ้นเชิงรองรับผู้เล่นหลากหลายสไตล์ (ผมลองทุกเผ่าล่ะสนุกทุกอัน) อย่างเช่นถ้ามีเพื่อนสายไม่ชอบตีกันตรงๆก็ให้เล่นไปแรคคูณเดินทางไปทำเควสกับแจกการ์ดหรือจะเล่นเป็นตัวนากเน้นสร้างบริการแบบรีดไถเพื่อนก็ได้ กับระหว่างเกมก็จะมีการพูดคุยกันตลอดเวลา วิธีการใช้การ์ดแบบที่มี ดอกไพ่ (suit) ของการ์ดแตกต่างกันแล้วเอาไปใช้กับแต่ล่ะฝ่ายทำออกมาน่าสนใจดี ไม่ว่าจะเล่นฝ่ายไหนจั่วการ์ดชนิดไหนก็มีวิธีการการใช้งานการ์ดในแบบของฝ่ายนั้นๆเสมอ

ระบบพลิกเกมที่น่าสนอย่างหนึ่งของเกมคือมันจะมีการ์ดแบบที่ให้เราเปลี่ยนเงื่อนไขการชนะแบบ 30 แต้มไปเป็นยึดลานกว้างชนิดใดชนิดหนึ่งครบสามที่ (จากสี่) แล้วยื้อให้อยู่จนวนกลับมาหาเราอีกรอบแทนได้ ความน่าสนใจคือเราต้องยอมโยนทิ้งวิธีชนะแต้มไปทันที คือชอบตรงที่มันไม่ได้ทิ้งให้คนที่ตามต้องนั่งมองคนอื่นทำแต้มไปเรื่อยๆเท่าไร พอเปลี่ยนแล้วจะตื่นเต้นเลยเพราะทุกคนจะเริ่มมามะรุมตะตุ้มกับเราพร้อมๆกับพยายามขัดไม่ให้คนที่แต้มกำลังนำสามารถทำแต้มเพิ่มได้ เพราะข้อดีเรื่องระบบแต้มของเกมที่อีกอย่างคือมันมีแต่บวกไปข้างหน้าเรื่อยๆไม่มีลดทำให้เกมจบลงอย่างไม่ยืดเยื้อ (ยกเว้นฝ่ายอินทรีย์)

ส่วนที่ติดจริงๆก็คือ Learning Curve ของเกมเนี่ยล่ะ เกมนี้สามารถเรียนรู้เผ่าของตัวเองได้รวดเร็วก็จริง แต่กุญแจสำคัญที่จะทำให้เกมสนุกก็คือการที่เราจะต้องรู้ว่า ‘คนอื่นทำอะไรได้’ ตรงนี้เอาจริงๆเล่นรอบเดียวก็พอจะเก็ทกันล่ะ แต่ข้อเสียของเกมแนวนี้คือสอนนานพอควรเพราะต้องสอนแยกย่อยกันทีล่ะฝ่าย ถ้ามีผู้เล่นใหม่ก็ต้องไกด์วิธีเล่นฝ่ายอื่นให้เค้ารู้อีก คืออย่างเกมที่แต่ล่ะฝ่ายมีความสามารถแตกต่างกันเราก็มักจะบอกส่วนที่ต่างนิดหน่อยใช่มะ แต่เกมนี้มันต้องอธิบายทั้งหมดเลยเพราะมันเล่นกันคนล่ะแบบ (ในอีกแง่ข้อดีอย่างหนึ่งของเกมนี้คือทุกอย่างที่ผู้เล่นคนนั้นจำเป็นต้องรู้จะอยู่บนบอร์ดผู้เล่นเผ่านั้นหมดแล้ว)

เกมนี้เวลาเล่นแต่ล่ะครั้งถ้ามีคนไม่เคยเล่นเกมก็จะแอบนานนิดหน่อย ทั้งๆที่จริงๆพอไปรอบสองแล้วจะเล่นได้ไวมากเพราะค่อนข้างตรงไปตรงมา ซึ่งความตรงไปตรงมานี้ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียไปพร้อมกัน เพราะบางเผ่าวิธีเล่นมันจะจำกัดนิดนึงดิ้นได้ไม่กี่แบบทำให้บางจังหวะตอนเล่นบางทีจะรู้สึกเหมือนโดนบังคับทำมูฟ มากกว่าจะได้คิดเอง (แต่เกมนี้ข้อดีคือมีพื้นที่ให้คนเล่นเจรจากันพอควร ตรงนี้เลยทำให้บรรยากาศโดยร่วมไม่นิ่งมาก)

อีกเรื่องคือกติกาที่เข้าใจง่ายก็จริงแต่ดันมักจะมีส่วนที่ลืมอยู่เสมอ (ใน bgg นี้ถึงกับมีคนตั้งกระทู้ถามว่าทำไมถึงมีคนถามปัญหาเยอะจังฟระ ทางผู้ผลิตนี้ถึงกับเขียน note เพิ่มในกติกา 2nd print ว่าให้แปลตามที่เขียนอย่ามโนเองเพราะมันจะทำให้ผิด… ฮา) ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะวิธีการเขียนกติกาสไตล์ Wargame ที่เป็น bullet point referance โยงกันไปมาด้วยส่วนหนึ่งทำให้คนพลาดกันง่าย คือกติกาหลายอย่างมันสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ถ้าเล่นเผ่าอื่น แต่ว่ามันจะไม่เขียนเรื่องนี้ตรงๆในกติกาส่วนนั้น เราต้องไปอ่านเพิ่มในความสามารถของฝ่ายนั้นๆเองไรงี้ สำหรับผู้เล่นที่ไม่เคยอ่านรูลสไตล์นี้มาก็อาจจะต้องแอบปวดหัวกันนึดนึง…… อันหนึ่งที่ถามกันรัวๆคือ ไทล์เวลาโดน ‘remove’ จากแผนที่มันจะไปไหน คำตอบคือกลับบอร์ดการเล่นเรา เพราะถ้าจะให้เอาออกจากเกมไปเลยมันจะบอกว่าให้ put back to game box ไรงี้

ข้อสังเกตุนิดนึง คิดว่าแนวทาง 2 รูลบุ๊คนี้ค่อนข้างน่าสนใจนะ คือเค้าจะมีเล่มอ่านง่ายๆอันหนึ่งที่บอกกติกาแทบจะครบถ้วนพร้อมเล่นได้เลย แล้วมันจะมีจุดยากๆนิดนึงเก็บไว้ให้เราเปิดเล่มหลักที่มีการอธิบายละเอียดยิบอยู่ แต่เราจะอ่านแต่เล่มหลักอย่างเดียวก็ได้สำหรับสายชอบอ่านละเอียดๆก่อนค่อยเล่น ส่วนตัวคิดว่าทำออกมาดีนะ แล้วก็เกมมี Tutorial แบบจับมือเล่นอยู่สองตา แบบมันจะให้เราเซ็ทตามแล้วให้แต่ล่ะคนอ่านบทกับขยับๆตามที่มีบอกเลย(ทั้งๆที่ยังเล่นไม่เป็นนั้นแหละ) วนไปสองรอบ พอจบแล้วก็ลุยต่อได้ อันนี้ก็น่าจะเหมาะกับผู้เล่นส่วนมากมั้งที่เล่าให้ฟังเยอะเดี๊ยวหลับ ไปลุยเกมแล้วอ่านบอร์ดเอาหน้างานเลย

ผมคิดว่าเกมนี้เป็นเกมที่สวยทั้งงานอาร์ท, วิธีเล่น และการออกแบบกลไก อยากให้ลองเล่นกันดู อาจจะไม่ใช่เกมกบโปรด แต่ก็ชอบมากนะ (อนึ่ง…ส่วนตัวแล้วผมเป็นติ่ง Cole Wehrle ประมาณหนึ่ง คือเล่นเกมของนายคนนี้แล้วชอบทุกเกม…. จะว่าไปก็ซื้อแล้วก็เขียนถึงครบทุกเกมเลยนะ)

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->