Pax Renaissance - เงินตราขับเคลื่อนโลก

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Pax Renaissance - เงินตราขับเคลื่อนโลก

ตัวเกมจับเอาช่วงเวลาในยุคเรเนซองส์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ)ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1460 ไปจนถึง ค.ศ. 1530 กินบริเวณยุโรปไปจนถึงประเทศรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ เราคือนายธนาคารตัวเล็กๆที่คอยชักใยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ - จับคู่สตรีกับพระราชา,สบคบคิดสร้างสาธารณรัฐ, สั่งโจรสลัดไปทำลายเส้นทางสัมปทานการค้าคู่แข่ง, เข้าหาอำนาจทางสงฆ์สร้างความขัดแย้งทางศาสนา, ก่อสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่ออำนาจ ฯลฯ ทั้งหมดนี้อัดแน่นอยู่ในเวลา 90 นาทีและการ์ด 120 ใบ กล่องเกมขนาดแค่หนังสือเล่มหนา ผ่านอำนาจที่เรียกว่า ‘เงินตรา’

เป็นรีวิวที่ลบๆเขียนๆมาหลาย draft มากเพราะนึกไม่ออกว่าจะเขียนยังไงดี เป็นรีวิวที่อาจจะไม่ลงลึกเท่าไร แต่บอกเลยว่าอวยมาก

“คุณเป็นแค่นายธนาคารตัวเล็กๆที่แทบไม่มีตัวตนในแผนที่โลก”

แผนที่ของเกมจะครอบคลุมพื้นที่ยุโรป และประเทศในแทบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาและเอเชียตะวันออก ตัวแผนที่จะประกอบขึ้นจากการ์ด 10 ใบเว้นช่องว่างระหว่างการ์ดไว้ ตอนเริ่มเกมผู้เล่นจะวาง cube สีตัวเองไว้ระหว่างแผนที่อันเป็นตัวแทนของสิทธิ์ในสัมปทานการเดินเรือในเส้นทางระหว่างแผ่นที่นั้นๆ และนั้นแหละคือพวกเรานายธนาคารที่จะเป็นผู้ชักใยประวัติศาสตร์โลก

บนกระดานของเกมจะมีตัวหมากที่ใช้ตัวหมากรุกสามแบบคือตัวอัศวิน (knight) และ ป้อมปราการ (rook) อันเป็นตัวแทนของชนชั้นปกครองของเมืองในขณะนั้น หมากอีกแบบคือนักบวช (bishop) ที่ไม่อยู่บนแผนที่แต่จะเดินอยู่ในพื้นที่ของผู้เล่นแต่ล่ะคน สีของหมากแต่ล่ะอันจะแทนถึงศาสนาที่หมากแต่ล่ะตัวสังกัดอยู่ อันประกอบไปด้วย คริสต์ / โปรแตสแตนท์ / อิสลาม  ตัวหมากพวกนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าจะเคลื่อนไหวผ่านการเล่นการ์ด event ของเรา

รูปแบบการเล่นเกมคือการซื้อการ์ดจากแถวกลาง แบ่งเป็นสองแถว คือการ์ดจากฝั่งตะวันออก (มีเรื่องราวเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศในแถบเอเชียตะวันตก) กับแถวฝั่งตะวันตก (มีเรื่องราวเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศในแถบยุโรป) จากนั้นก็เล่นการ์ดและทำ action บนการ์ดเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะการณ์บนกระดานไปในทางที่เราต้องการ จนเมื่อมีผู้เล่นทำการซื้อการดาวหาง (มีสี่ใบอ้างอิงจากดาวหางที่ปรากฏในยุคนั้น) ผู้เล่นจะสามารถเลือก ‘active’ การ์ด objective 1 ใน 4 ใบ (ถ้าซื้อดาวหางเพิ่มก็เปิดเพิ่มได้) จากนั้นผู้เล่นที่สามารถทำตามเงื่อนไขของการ์ดนั้นได้ก็จะเป็นผู้ชนะ

พูดง่ายๆจ่ายเงินเปิดการ์ดใบไหนก็เหมือนบอกให้คนอื่นรู้นั้นแหละว่า กูจะจบท่าไหน ถ้าไม่สามารถจบได้ในตานั้นก็เตรียมตัวโดนขัดขาได้เลย

คุณอาจจะชนะเกมนี้ด้วย

  • มีสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์เยอะกว่าคู่แข่ง โดยการออกเงินชักใยจับคู่ราชินีกับกษัตริย์ให้อยู่ใต้อำนาจ หรือจะใช้สงครามเพื่อช่วงชิงประเทศอื่นมาอยู่ใต้อาญัติประเทศที่เราหนุนหลังอยู่
  • มีอำนาจเหนือสาธารณรัฐและกฎหมาย เริ่มจากคุมสัมปทานการค้าทั่วราชอาญาจักร พร้อมกับกดดันสร้างคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบการปกครอง หรือจะเลือกทางยากผ่านการปฎิวัติหรือก่อสงครามก็ได้
  • ผูกขาดอำนาจทางการค้า โดยการมีสัมปทานเหนือคู่แข่งทั่วเส้นทางการค้า และเป็นผู้สนับสนุนการเดินเรือให้แก่กัปตันเรือในประวัติศาสตร์
  • เข้าทางศาสนาเพื่อเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่กับศาสนาที่แข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น ผ่านการใช้สงครามศาสนาเพื่อเปลี่ยนศาสนาประจำพื้นที
  • หรือถ้าช่วงเวลาของเกมจบลง (การ์ดหมดกอง) ผู้เล่นที่ทำการอุปถัมภ์ศิลปะในยุคมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ

“Simplicity is the ultimate sophistication”

- Leonardo da Vinci

ตัวแกนเกมค่อนข้างง่าย แต่ล่ะ action ก็ไม่เสียเวลาเท่าไร ผู้เล่นจะผลัดกันทำคนล่ะ 2 action จนจบเกม โดย action ที่ทำได้ก็คือ

  • ซื้อการ์ดเข้ามือ (ออกเงินสนับสนุนเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์)
  • เล่นการ์ดจากมือ (พร้อมเล่น one time effect ถ้ามี)
  • ขายการ์ดทิ้ง
  • เดินเรือค้าขายในเส้นทาง ตะวันตก/ตะวันออก
  • สั่งให้การ์ดฝั่ง ตะวันตก/ตะวันออก ของเราทำงาน
  • ประกาศจบเกมถ้าเราเข้าเงื่อนไขการ์ดที่ active อยู่

เริ่มเกมเราจะมีเงินจำนวนหนึ่ง ตอนซื้อการ์ดเกมใช้วิธีค่อยๆหยอดเงินบนการ์ดทีล่ะใบจนกว่าจะถึงการ์ดที่จะซื้อ ถ้าเราไปซื้อการ์ดที่มีเงินอยู่แล้วเราก็จะได้เงินมาใช้ต่อด้วย ถ้าเงินหมดเราก็ต้องขายการ์ดหรือทำท่าเดินเรือ การ์ดทุกใบจะมีสังกัดว่าจะทำงานในพื้นที่ไหน การ์ดส่วนใหญ่ตอนที่เล่นจะให้เราเอาตัวหมากไปลงบนกระดานด้วย แต่ว่าถ้ามีหมากตัวอื่นยืนเฝ้าเมืองอยู่แล้วคุณจะต้องจ่ายเงินเพื่อ‘ไล่’ (เชิงธีมคือออกเงินล๊อบบี้เจ้าของเดิมออก) เจ้าของเมืองเดิมออกไปก่อน นอกจากหมากที่เป็นชั้นชั้นปกครองที่อยู่ตามเมืองแล้วเกมยังมี ตัวสัมปทาน(ตัวเรา) และโจรสลัดที่จะวางไว้อยู่ตรงรอยต่อระหว่างแผนที่ด้วย (เกมนี้เปรียบให้เราเป็นตัวเบี้ย ‘pawn’ แต่ว่าแทนด้วย cube สี)

เนื่องจากเกมนี้การ์ดจะมีฝั่งตะวันตกกับตะวันออก เวลาเล่นเราก็จะต้องวางไว้ให้อยู่ถูกฝั่งตรงหน้าเรา พอสั่งทำ action เราจะได้ทำ action หนึ่งอย่างบนการ์ดทุกใบ (การ์ดหนึ่งใบมีได้หลายคำสั่งแต่เราต้องเลือกทำแค่อย่างเดียว)ในฝั่งที่เราเลือก เพราะฉะนั้นการเลือกซื้อการ์ดนอกจากจะต้องคิดว่ามันทำอะไรได้แล้ว การที่มันสังกัดทิศไหนก็สำคัญไม่แพ้กัน (เวลา activate จะได้คุ้ม) ความสามารถการ์ดจะเป็นการ ทำลาย/ไล่/หาเงิน/เปลี่ยนระบบการปกครอง หรือกระทั้งส่งพระในศาสนาต่างๆไปยืนบนการ์ดเพื่อล๊อบบี้ให้การ์ดนั้นๆไม่สามารถใช้ความสามารถได้

“All war is deception”

- Sun Tzu

เกมมีสิ่งที่เรียกว่า one shot effect ที่จะเกิดได้แค่ครั้งเดียวตอนที่เราจะเล่นการ์ด ความสามารถหลักคือการทำให้เกิด ‘สงคราม’

  • การปฎิวัติโดยชนชั้นล่าง : หมากชนชั้นล่างที่เคยถูก ‘ไล่’ ออกจากพื้นที่รวมถึงโจรสลัดที่อยู่รอบอณาจักรจะทำการต่อสู้กับชนชั้นปกครองในพื้นที่นั้น
  • สมคบคิด : หมากชนชั้นปกครองที่เคยถูก ‘ไล่’ ออกจากพื้นที่รวมถึงโจรสลัดที่อยู่รอบอณาจักรจะทำการต่อสู้กับชนชั้นปกครองในพื้นที่นั้น หากทำสำเร็จพื้นที่นั้นจะกลายเป็นเขต ‘ไร้ศาสนา’
  • สงครามศาสนา : ชนชั้นปกครองในศาสนาที่ระบุไว้บนการ์ดทำการต่อสู้กับชนปกครองต่างศาสนาในพื้นที่นั้น หากทำสำเร็จพื้นที่นั้นจะกลายเป็นเขต ‘ศาสนา’ ของศาสนานั้น

อีกอันเป็น action บนการ์ดแต่ว่ายกมาพ่วงด้วยเพราะทำงานคล้ายๆกันคือ

  • เดินทัพ : เงื่อนไขแรกสุดคือเราต้องมีกษัตริย์อยู่ภายใต้การบงการของเราซะก่อน จากนั้นเราจะสามารถใช้ชนชั้นปกครองสายขุนศึก (ม้า) ไปตีเมืองข้างเคียง

ผลของการก่อสงคราม เกมจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า regime change (เปลี่ยนระบบการปกครอง) เราในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังจะได้รับการ์ดกษัตริย์ของอณาจักรนั้นมาไว้กับตัว (เป็นหนึ่งในเงื่อนไขชนะแบบ ‘จักรพรรดิ’) แถมด้วยสิทธิ์ในการวางสัมปทานในอณาจักรนั้น แต่ถ้าเราทำการเปลี่ยนระบบการปกครองกับกษัตริย์ของเรา อณาจักรนั้นจะกลายสภาพเป็น ‘สาธารณรัฐ’ แทน (อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขชนะแบบ ‘ถือกำเนิดใหม่’)

อย่าลืมว่าคุณไม่ได้ครอบครองอะไรในกระดาน ทุกอย่างล้วนทำเพื่อให้สถานะการณ์มันเข้าทางคุณเท่านั้น

[caption id=”attachment_7054” align=”aligncenter” width=”5456”]DSC03721.jpg หน้าเราจะประมาณนี้ ตรงกลางคือรูปนายธนาคารตามประวัติศาสตร์ การ์ดที่ลงเล่นจากมือจะไปอยู่ด้านซ้ายหรือขวาขึ้นอยู่กับพื่้นที่ของการ์ดนั้น เกมนี้มีหมากบิช็อป อันเป็นตัวแทนของนักบวชในแต่ล่ะศาสนา หมากพวกนี้จะเดินอยู่บนบอร์ดผู้เล่น ยืนอยู่ที่ไหน function บนการ์ดนั้นจะไม่ทำงาน (โดนพระล๊อบบี้ไว้)[/caption]

“I saw the angle in the marble and carved until I set him free”

- Michelangelo

ผมชอบเกมนี้มาก ในแง่การออกแบบแล้วมีเยอะสิ่งอย่างที่ไม่คิดว่ามันจะเอามายัดใส่กล่องเล็กๆแค่นี้ได้ กติกาเหมือนจะวุ่นวายแต่พอได้เล่นแล้วซักรอบจะแบบ โอ้ว เข้ คิดได้ไงว่ะ ตลอดเวลา เพราะมันเข้าใจง่ายและ ‘ธีม’ แน่นโคตรๆ favor text ก็ไม่ใช่แค่ประโยคสองประโยคแบบที่เกมอื่นเค้าทำกัน อันนี้มาแบบเนื้อหาประวัติศาสตร์เน้นๆ คือมันเป็นเกมที่เล่นแล้วอยากจะเปิด wiki ตลอดเวลาว่ามันเกี่ยวกับอะไรมั้งว่ะ

เกม series Pax นี้ออกมา 3 เกม ผมเคยเล่นแค่ Pax Porfiriana ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจในเม็กซิโกในช่วงที่ผู้นำเผด็จการกำลังลงจากอำนาจ เกมสนุกดีแต่ไม่ค่อยอินมาก คือแบบไอ้ฮานเซนนาโด้ นี้มันอะไร ตัวนั้นตัวนี้ออกมาแล้วยังไงหว่า แล้วพี่อเมริกามายุ่งกับตรงนั้นทำไม ความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เชิงการเมืองสมัยนั้นผมไม่ค่อยอินเท่าไร (คือจริงๆมันก็ลึกแหละ ผมเองก็ไป google อ่านมาเพิ่มเหมือนกัน อ่านเพลินพอควร แต่พอดีไม่อินไม่รู้ทำไม แต่ถ้ามองในแง่ตัวเกมแล้วผมชอบนะสนุกดี แต่มันอธิบายให้คนที่ไม่ได้อ่านรูลมาคิดตามยาก) แต่ใน Pax Renaissance นี้เข้าใจง่ายกว่าเยอะเพราะตัวแทนของชนชั้นอำนาจ มันเป็นแบบที่เข้าใจตามง่าย (กษัตริย์ / ขุนนาง / ชนชั้นล่าง) พวกเหตุการณ์สถานที่ถ้าเล่นเกมยูโรมาเยอะหน่อยจะแบบ อ้อไอ้เมืองนั้น ไอ้ตัวนี้ มันอยู่ตรงนี้นี่เองงงงงง เพราะยุคนี้โดนเอาไปทำธีมในบอร์ดเกมเยอะพอดู

[Update] – หลังจากเขียนรีวิวไปซักไปก็มีโอกาสได้เล่น Pax Pamir ที่เป็นต้นแบบของเกมนี้อีกทีพบว่าสนุกมากๆเช่นกันแต่เกมจับเอา scale เล็กกว่าและซับซ้อนน้อยกว่า อาจจะเหมาะกับการเอามาแนะนำผู้เล่นใหม่ จับเอาช่วงที่อังกฤษกับรัซเซียพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในอัฟกานิสถาน (The Great Game)

ในเชิงธีมที่ส่วนตัวรู้สึกไม่ลงล๊อคนิดหน่อยคือตัวพวกเราที่เป็นแค่เจ้าของธนาคารมันจะมีอำนาจไปชี้โบ๊ชี้เบ๊ชาวบ้านขนาดนี้เลยเหรอว่ะ? ถ้าเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่สมัยนี้ก็ยังพอจะเก็ทบ้าง แต่ถ้ามองในมุมเกมก็ถือว่าโอเคพอไปกันได้ กับกติกาของ Phil Eklund ที่แม่งเยอะฉิบหาย รูล 20 กว่าหน้าตัวเล็กๆอ่านยากๆ  คือผมใช้เวลานานพอควรเลยล่ะกว่าจะย่อยระบบตรงนั้นตรงนี้ออกมาจนเข้าใจได้ (แต่ใช้เวลาน้อยกว่าตอนอ่าน Bios : Megafuna นะ ) แต่ว่าพอเริ่มเล่น กับพอเก็ทธีมของแต่ล่ะ action แล้วมันจะรู้สึกไหลลื่นมาก คือเกมจริงๆอ่ะมันไม่ยาก แต่กติกาย่อยมันมีหลายที่อ่านแล้วโอกาสหลุดจะมีสูงพอควรเพราะท่ามันจะคล้ายๆกันแต่รายละเอียดจะต่างกันตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย

เกมนี้ footnote บาน (เช่นเคย) แต่อ่านแล้วสนุกดีช่วยให้อินขึ้นเยอะ ข้อเสียนึดนึงสำหรับผมคือศัพท์ยากพอควรอ่านแล้วเก็ทแค่ประมาณ 70% แต่ก็พอเข้าใจนะ

จุดสำคัญที่อาจจะเป็นข้อเสียหรือไม่ก็ได้ คือเกมมันไม่ได้มีวิธีการเล่นให้ชนะเป็นแนวทางจ๋าๆ แบบเกมยูโรทั่วไป คือตอนเล่นคุณต้องเล่นแบบให้ชนะนั้นแหละ แต่ทุกอย่างมันต้องขึ้นอยู่กับจังหวะการ์ดที่ออกด้วย (การ์ดเกมนี้ใช้ไม่หมดด้วยสุ่มมาแค่จำนวนหนึ่งตามจำนวนผู้เล่น) จะใช้คำว่าเกมมัน ‘ดวง’ ก็คงไม่ผิดนัก แนวคิดสำคัญสำหรับเกมนี้ (และเกมอื่นๆของ Phil Eklund) ก็คือการทำตัวให้ลื่นไหลแล้วจมไปกับ ‘ประสบการณ์’ มองตัวเองในบทบาทที่ได้รับแล้วสร้าง ‘เรื่องเล่า’ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ชัยชนะของตัวเองผ่านประวัติศาสตร์ยุโรปที่แตกต่างกันไประหว่างการเล่น

ส่วนตัวคิดว่าเกมนี้อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับผู้เล่นตลาด mass เท่าไร คือเกมอ่ะมันไม่ได้ยากอะไร แต่เกมมันค่อนข้าง’เฉพาะตัว’ในแบบที่หาคนอินตามยากพอควร  ถ้าไม่เข้าใจในธีมกับแนวคิดแล้วจะเหมือนหมากในกระดานมันขยับมั่วๆทำไรไม่ได้เลย จบเกมแรกแบบไม่รู้อะไรเลยถือว่า ‘ปกติ’

เกมนี้ให้อารมณ์เกมที่ใหญ่กว่ากล่องและอุปกรณ์อย่างน้อย 6 เท่าเลยล่ะ จองที่ Top Ten ปี 2017 ผมไว้เลย


เกมนี้ชอบขนาดไปทำ player aid ให้เลยนะ Pax Renaissance : Player aid with iconography


สนใจแนะนำสั่งซื้อเอาตรงๆจากเวบ www.sierra-madre-games.eu ได้เลย (ตามร้านไม่น่าเอาเกมของนักออกแบบคนนี้มามั้ง?) ราคารวมค่าส่ง ประมาณ 12xx แต่ผมสั่งตัวเสริมไปด้วยเป็นการ์ดอีก 60 ใบ เพราะราคามันไม่แพง เบ็ดเสร็จเกมนี้ประมาณ 17xx สั่งจากเยอรมันอาทิตย์เดียวก็ถึงแล้ว ผมสั่งมาสองทีไม่เจอภาษีนะ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->