Pax Pamir- 2nd Edition

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Pax Pamir- 2nd Edition

🔸ในยุคสมัยที่ทางอังกฤษมาเข้ายึดครองอินเดียผ่านบริษัท East India Company เป็นที่เรียบร้อยและเริ่มมองที่ขยายอำนาจออกไปทางตะวันออกกลาง ทางจักรวรรดิรัสเซียเห็นท่าไม่ดีก็เลยพยายามแผ่อำนาจของตัวเองมาทางพื้นที่แถบนี้บ้าง ซึ่งพื้นที่ตรงกลางระหว่างสองขั่วอำนาจนี้ก็คืออัฟกานิสถานนั้นเอง โดยช่วงเวลานี้ถูกขนานนามว่า The Great Game (ซึ่งมันก็ดูเชิงกันไปงั้นไม่ได้สู้กันเป็นสงครามจริงๆ)

🔸เกมนี้เคยเขียนถึงไปแล้วตั้งแต่เป็นเกมกล่องเล็กๆของค่าย Sierra Madre Games แต่ต่อมา Cole Wehrle (Root, John Company, An Infamous Traffic) ซึ่งเป็นนักออกแบบมีความคิดอยากจะปรับปรุงเกมเดิมขึ้นมาใหม่ แต่ค่าย SMG ยังวุ่นๆอยู่ ก็เลยขอเจ้าของค่ายออกมาทำเองโดยเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ซะเลย เพื่อที่จะได้ใส่ของที่ตัวเองต้องการลงไปได้โดยไม่ต้องติดข้อจำกัดในการผลิต (ค่าย SMG จะทำเกมแค่สองขนาดกล่อง และข้อจำกัดที่ ‘ท้าทาย’ ความสร้างสรรค์นักออกแบบพอควร…. ตรงที่ กล่องมีพื้นที่น้อย และอุปกรณ์จำกัดนั้นแหละ)

📌 side note: ตรงนี้มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าสถานการณ์นี้จบลงเมื่อมีการเซ็นสัญญาแบ่งเขตแดนระหว่างจักรวรรดิรัสเซียและอัฟกานิสถานในชื่อ Pamir Boundary Commission Protocols ซึ่ง Pamir ที่ถูกใช้เป็นชื่อเกมนั้นคือชื่อภูเขาในเอเชียกลางที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเทือกเขาเอฟเวอร์เรส ที่ยาวไปจรดภูเขาคุนหลุนที่ชาวหนังจีนกำลังภายในคุ้นเคยกันดี……. (ซึ่งจริงๆไม่รู้จะเขียนบอกทำไม…ฮา)

🔸เวลาเล่นเราก็จะเล่นเป็นหัวหน้าชนชั้นนำในอัฟกานิสถานในช่วงที่จักรวรรดิซิกข์ (Durrani Empire) กำลังล่มสลาย เราก็ต้องคอยเลือกเข้าทางหนึ่งในขั่วอำนาจทั่งสามเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มีทั้งกลุ่มที่เลือกขับไล่เหล่าคนต่างชาติออกไปจากแผ่นดินอัฟกานิสถาน หรือรวมมือกับต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ของตน จุดเด่นคือเราสามารถย้ายฝั่งได้ตลอดขึ้นอยู่กับความได้เปรียบตามสถานการณ์

🔸ไอเดียหลักของเกมนี้ง่ายมาก คือในตาหนึ่งเราจะได้เล่นสองแอคชั่น ซึ่งส่วนมากจะเป็นซื้อการ์ดจากตลาดกลาง แล้วก็เล่นการ์ดทำความสามารถ หรือเราจะเลือกทำแอคชั่นบนการ์ดที่เราเล่นไปแล้วก็ได้ ความสามารถตอนลงมักจะเป็นแค่การเอาคนงานของเราไปลงในพื้นที่ที่กำหนด หรือไม่ก็เป็นการสร้างกองกำลังให้กับชาติที่เราร่วมมือด้วยอยู่

🔸เกมไม่มีระบบซับซ้อนแต่ผูกโยงให้เชื่อมกันหลวมๆผ่านเงินซึ่งเป็นระบบกึ่งปิดที่มีเงินจำกัดมาก หากผู้เล่นคนไหนจะเล่นการ์ดที่ตรงกับชื่อเมืองที่ผู้เล่นคนอื่นครอบครอง (มีคนงานเยอะสุดในพื้นที่) ก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าเมืองไป ส่วนสายลับจะเป็นคนงานที่วางอยู่บนการ์ดของผู้เล่น แล้วก็เดินไปมาบนการ์ดคนอื่นได้ด้วย ถ้าไปอยู่บนการ์ดใบไหนถ้าใครจะเล่นการ์ดนั้นก็ต้องจ่ายเงินให้กับเรา เพราะว่าการ์ดโดนเราจับเป็นตัวประกันไว้

🔸แอคชั่นบนการ์ดทั้งเกมมีก็มีแค่ 6 แบบได้แก่

  • สร้าง: สำหรับให้เจ้าเมืองได้เอากองกำลังของชาติที่ตัวเองเริ่มมืออยู่เอามาลงในกระดาน
  • ภาษี: เอาไว้หยิบเงินจากตลาด หรือถ้าเราเป็นเจ้าเมืองก็สามารถไถเงินจากผู้เล่นคนอื่นที่มีการ์ดเมืองเดียวกับเราได้ด้วย
  • ของขวัญ: จ่ายเงินเพื่อเพิ่มค่าความภักดีในชาติที่เราร่วมมืออยู่
  • เดินทัพ: สั่งให้ทหาร หรือสายลับเดินทาง
  • ทรยศ: สั่งให้สายลับกำจัดการ์ดที่ตัวเองยืนอยู่
  • ต่อสู้: สั่งให้ทหารหรือสายลับโจมตีฝ่ายตรงข้าม

เออ เกมมันมีระบบแค่นี้แหละ กติกาย่อนิดหน่อยจบในกระดาษ A4 แผ่นเดียว คุณค่าในการเล่นซ้ำของเกมนี้เกิดจากการที่การ์ดไม่ซ้ำกันเลยและจะถูกเอาออกมาใช้ทั้งเกมแค่บางส่วน รวมถึงการ์ดแต่ล่ะใบก็จะเพิ่มทรัพยากรให้กับคนเล่นแตกต่างกันไป กับมีพวกใบแหกกฎจำนวนหนึ่ง

🔸ไอเดียที่ผูกระบบเกมเข้าด้วยกันอีกชั้นคือแต่ล่ะชนชาติสามารถร่วมมือกับผู้เล่นได้หลายคน แต่ตอนคิดคะแนนบรรดาทีมเดียวกันก็ต้องแข่งกันเอง ซึ่งเกมจะวัดจากการที่มีการ์ดที่รับใช้ชาตินั้นโดยตรงเยอะแค่ไหน รวมไปถึงของขวัญที่เคยให้ไว้ และเคยส่งสารลับไปสังหารคนสำคัญที่ชาติที่เราสังกัดอยู่บ่อยหรือปล่าว แต่ถ้าระหว่างเล่นเกมเราไปลงการ์ดที่สังกัดชาติอื่น เกมจะให้เราต้องทิ้งทุกสิ่งที่เกี่ยวกับชาติเดิม แล้วเปลี่ยนไปรับใช้ชาติใหม่แทน (ซึ่งเกิดบ่อยกว่าที่คุณคิด :P)

🐸 [กบโปรด]

🔹ถ้าถามว่าเทียบกันแล้วตัวแรกกับตัวเก่าอันไหนสนุกกว่า ก็พบว่าตอบยากพอควร เพราะแม้ว่าตัวใหม่จะปรับกติกาให้ง่ายขึ้นจนกลายเป็นเกมที่สามารถกางได้บ่อยกว่า แต่ผมก็ยังกลับชอบความรู้สึก ‘ซับซ้อนในหลายมิติ’ ของภาคเก่ามากกว่านิดหน่อย แต่มันก็ยังเป็นเกมที่ อัดความซับซ้อนอย่างแยบยลผ่านกลไกเรียบง่ายที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกันแน่น เป็นเกมมูฟไม่เยอะแต่มาก แต่ให้น้ำหนักในการตัดสินใจอันเกิดจากทรัพยากรจำกัดที่ผมชอบมากเกมหนี่ง

🔹จุดแตกต่างสำคัญในแง่ระบบของสองฉบับคือระบบ ‘ยุคสมัย’ ที่ในฉบับใหม่การที่ชาติไหนจะชนะ สิ่งที่ชาตินั้นต้องทำก็คือสร้างถนนและทหารให้เยอะกว่าคนอื่นก็พอ จากนั้นค่อยไปดูว่าใครเป็นลูกน้องลำดับที่ 1,2,3 ของชาตินั้น ถ้าไม่มีชาติไหนชนะกันเด็ดขาดก็จะวัดจากจำนวนตัวของผู้เล่นในกระดานแทน (นัยว่าถ้าอำนาจต่างชาติสมดุลย์ ใครเจ๋งก็ต้องวัดกันทีจำนวนเส้นสายทั่วไปแทน)

🔹แต่ในฉบับเก่านั้นเกมกลับซับซ้อนกว่าเพราะว่าการที่ชาติไหนจะชนะต้องเริ่มจากดูว่า ณ ตอนนั้น ‘ยุคสมัย’ เป็นแบบไหนจากสี่แบบ แต่ล่ะแบบก็จะวัดจำนวนไม่เหมือนกัน อย่างถ้าเป็นยุคทหารก็วัดกันแค่ทหาร ยุคสายลับก็วัดกันแค่จำนวนสายลับ นั้นคือการหาทางเปลี่ยนยุคสมัยให้เข้ากับด้านที่ชาติเราแกร่งกว่าคือจุดสำคัญของฉบับเก่า (ซึ่งลึกกว่าแต่ว่าต้องคอยแอบนับตลอด) แต่ในฉบับใหม่จะเน้นความมั่นคงโดยภาพรวมของแต่ล่ะชาติมากกว่า และลดความสำคัญของระบบ ‘ยุคสมัย’ ไปเป็นเหลือแค่เล่นแอคชั่นฟรีเพียงอย่างเดียว

🔹ซึ่งก็ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนที่แย่แต่อย่างใด เพราะว่ามันก็นำเสนออารมณ์ของการย้ายข้างทางการเมืองและสามารถสร้างเรื่องราวได้ดีเช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าผมคิดถึงระบบการเล่นของฉบับเดิมไม่น้อย (แม้กติกาจะรุงรังตรงนั้นตรงนี้มากกว่านิดหน่อย) ตรงนี้ทำให้สองเกมนี้ แม้จะเหมือนกันมากที่พยายามเล่าเรื่องแบบเดียวกัน แต่ก็ยังมีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างมากพอที่จะสามารถผลัดกันหยิบยกมาเล่นโดยตัวมันเอง

alt tag

📌 side note: ฉบับแรกเมื่อรวมตัวเสริม Khyber Knives มาแล้วซึ่งตัวเสริมนั้นเพิ่มความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกจนสอนมือใหม่ยากนิดนึง (แต่สนุก) ส่วนในฉบับใหม่ยกมาและปรับให้เข้ากับเกมเป็นชิ้นเดียวกันแต่แรกแล้วลดความซับซ้อนลง แต่โดยสุดท้ายแล้วฉบับใหม่ก็เล่นง่ายกว่าแม้จะเทียบกับตัวหลักของฉบับแรกอย่างเดียว

👁‍🗨 จุดสังเกตุคือตัวเกมไม่เหมาะกับผู้เล่นสายคิดแผนยาวๆ เพราะเป็นเกมเน้นการวางแผนหน้างานโดยอิงจากการ์ดในตลาด แต่ก็ไม่มีที่ว่างให้การเล่นแบบหยิบการ์ดมั่วๆซักเท่าไร เพราะจำนวนแอคชั่นมีจำกัด และด้วยความที่การ์ดเป็นแบบสุ่มการที่ของที่มีให้ซื้ออาจจะไม่สบกับสถานการณ์เราก็มี ถ้าไม่ได้เตรียม mind set มาเล่นเกมกึ่งๆ sand box ก็อาจจะไม่ชอบเกมนี้นัก (แต่เท่าที่เล่นมาคนที่เล่นเก่งกว่าก็มักจะชนะนะ เพราะแผนระยะกลางของเกมนี้สำคัญมาก)

🔹ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเกมตระกูล Pax เข้าถึงได้ง่ายขึ้นพอควรเมื่อเทียบกับฉบับเก่า กติกาคลีน เข้าใจง่าย จากเดิมที่ฉบับแรกก็ง่ายอยู่แล้วเทียบกับบรรดา Pax อันอื่น อันนี้สอนง่ายกว่าเกมยูโรกลางๆทั่วไปหลายเกมด้วยซ้ำ แถมไม่จำเป็นต้องมี front load รายละเอียดในแง่ธีมเชิงลึกเหมือนเกม Pax อื่น แต่พอเล่นแล้วเราก็ยังไม่พ้นที่จะเกิดความเสี้ยนไปเปิด google หา wiki เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกมเล่าถึงอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นเสน่ห์สำหรับเกม Pax Series (และสารพัดเกมของค่าย SMG) สำหรับผมนะ

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->