Pax Pamir - เกมแห่งหมีขาวและราชสีห์

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Pax Pamir - เกมแห่งหมีขาวและราชสีห์

เกมจับเอาช่วงเหตุการณ์จริงในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่จะถูกเรียกจากนักประวัติศาสตร์ภายหลังว่า The Great Game อันเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษทำการยึดอินเดียผ่านบริษัท East India Company และพยายามที่จะขยายอำนาจเข้าสู่อัฟกานิสถาน ทางฝ่ายจักวรรดิรัสเซียเห็นท่าไม่ดี จึงได้พยายามเข้ามาแทรกแซง ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นสนามประลองของสองประเทศมหาอำนาจ ออกแบบโดย Cole Wehrle (An Infamous Traffic , John Company , Root)

side note [Theme]: ถ้าดูในแผนที่ในยุคนั้นจักรวรรดิรัสเซียจะกินพื้นที่บริเวณกว้างมาก และอินเดียก็มีดินแดนกว้างไปถึงปากีสถานในปัจจุบัน (เค้าแยกประเทศกันหลังจากอังกฤษคืนเอกราชให้อินเดีย) กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่คั่นสองประเทศนี้ไว้ก็คือประเทศอย่าง ตุรกี , เปอร์เซีย และอัฟกานิสถาน

side note [Designer]: Cole Wehrle จบปริญญาเอกและเคยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 19 เรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทการค้า East India Company ของอังกฤษเลยถูกเค้าเอาความรู้ที่มีมาทำเป็นเกมแล้วถึงสามเกมได้แก่ An Infamous Traffic ที่เล่าถึงการค้าฝิ่นในจีนที่นำเข้าโดยพ่อค้าชาวอังกฤษ John Company ที่เล่าถึงการดำเนินกิจการของตัวบริษัท EIC และ Pax Pamir ที่เล่าถึงความขัดแย้งที่ EIC เข้าไปแทรกแซงต่ออัฟกานิสถานและการเข้ามาของรัสเซีย โดยใน Pax Pamir ตัวเกมออกแบบโดยอิงแนวคิดจาก Pax Porfiriana ของ Phil Eklund มาต่อยอดใส่ไอเดียเรื่องแผนที่เข้าไป ก่อนที่เกมนี้จะโดนเอาไอเดียไปต่อยอดอีกทีออกมาเป็น Pax Renaissance

side note [Review]: อันนี้ผมเขียนครอบคลุมแค่ First Edition ซึ่งตัวเกม OOP (Out Of Print - ไม่ทำการผลิตต่อแล้ว,ขาดตลาด) ไปเรียบร้อย ในส่วนกติกาของ Second Edition มันเปลี่ยนไปตรงนั้นตรงนี้นิดๆหน่อยๆหลายอย่างแต่โดยภาพรวมคือตัวเกมหลักจะไม่เปลี่ยนเยอะ แต่รูปแบบของเกมจะกระชับขึ้นเล็กน้อย ณ ตอนที่เขียนมันยังเปิด KS อยู่เลยอาจจะยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่อยๆ ราคาตัวแรกตอนนี้ก็เริ่มปรับลงเพราะข่าว KS ของตัวสอง ส่วนตัวคิดว่าถ้าสนใจก็กดตัวสองที่กำลังระดมทุนอยู่ได้เลย

เปิดเรื่องมายิ่งใหญ่ก็จริงแต่ในเกมนี้เราไม่ได้เล่นเป็นประเทศไหน แต่ว่าเราเป็นเพียงผู้นำกลุ่มคนเล็กๆในอัฟกานิสถาน ที่จะได้มีบทบาทในการเมืองระหว่างสามประเทศอันได้แก่ รัสเซีย, อังกฤษ และตัวประเทศอัฟกานิสถานเอง

แนวคิดโดยรวมของเกมนี้คือมันจะมียุคสมัยอยู่ 4 แบบที่จะเปลี่ยนไปมาทั้งเกมผ่านการเล่นของเราได้แก่ ยุคเศรษฐกิจ, ยุคทหาร, ยุคการเมือง และยุคสายลับ พอเล่นๆไปก็จะมี การ์ดปฎิวัติ (Topple) ที่สุ่มแบบกระจายๆอยู่ในกองออกมา ถ้ามีคนซื้อไปเกมก็จะเช็คว่า ‘ประเทศ’ ไหนถือว่าเจ๋งที่สุดในยุคสมัยนั้น (วัดโดยเช็คว่าชาตินั้นมีโทเคนที่เกี่ยวกับยุคนั้นๆของตัวเองเยอะกว่าของประเทศอื่นรวมกันไหม) พอเราได้ประเทศสุดเจ๋งแล้วค่อยมาดูว่า ลิ่วล้อที่ภักดีที่สุดของประเทศนั้นคือใคร คนนั้นก็ชนะ ใช่แล้ว… เราต้องเล่นเป็นลิ่วล่อรับใช้ชาติใดชาติหนึ่งนั้นแหละ

ถ้ามองในมุมกลับกันก็คือ เราต้องเลือกชาติที่เราจะรับใช้ซะก่อน (เปลี่ยนไปมาได้ระหว่างเกม) จากนั้นเราก็ต้องหาทางช่วยชาติที่เราเชียร์ให้ควบคุมสภาพกระดานให้เหมาะกับยุคสมัย (หรือเปลี่ยนยุคสมัยให้เข้ากับชาติที่เรารับใช้) แล้วก็รอจังหวะให้การ์ดปฎิวัติออกมาให้ซื้อ แต่จะมัวแต่อวยชาติก็ไม่ได้เพราะว่าคนอื่นก็สามารถเลือกที่รับใช้ชาติเดียวกับเราได้เช่นกัน เลยต้องแข่งกันทำให้ชาติที่เราเลือกเห็นว่าเราก็เป็นระดับลูกสมุนมือขวานะเออ (โดยการไปลอบฆ่าบุลคนสำคัญบ้าง รับจ๊อบสืบราชการลับให้บ้าง หาการ์ดที่สนับสนุนชาติเดียวกันบ้าง)


ไอเดียหลักของเกมคือระบบ Tableau Building (แนวคิดการเล่นเกมที่ผู้เล่นเอาการ์ดหรือไทล์มาวางไว้ข้างหน้าเพื่อขยายขอบเขตการทำแอคชั่นของตัวเอง) ที่ผู้เล่นจะผลัดกันทำแอคชั่นคนล่ะสองครั้งวนไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีผู้ชนะ และแอคชั่นก็มีแค่ ซื้อการ์ดจากตลาด (ใช้ระบบหยอดเงินตามระยะการ์ดที่ข้ามแบบใน Century : Spice Road แต่เกมนี้มีการ์ดให้สองแถว) เล่นการ์ดจากมือ แล้วก็ทำแอคชั่นของการ์ดที่เรามี

การ์ดแต่ล่ะใบจะมีหมวด (ทหาร,สายลับ,เศรษฐกิจ,การเมือง) และศักยภาพ (แทนด้วยดาว) แตกต่างกัน เวลาเราเล่นการ์ดสังกัดไหนเราก็จะได้เอา คิวบ์หรือแท่งของชาติที่เรารับใช้ไปวางไว้บนแผนที่ จำคิวบ์ในแผนที่จะแทนเผ่าของผู้เล่นที่จะเอาไว้ค่อยบอกว่าเรา (และประเทศของเรา) กำลังยึดพื้นที่นั้นอยู่ไหม คิวบ์สายลับจะอยู่บนการ์ดเอาไว้เคลื่อนย้ายไปทำงานงานอื่นๆให้เรา ส่วนแท่งที่วางในพื้นที่จะเป็นทหาร ในขณะที่แท่งที่วางระหว่างพื้นที่จะแทนถนนของชาตินั้น ดาวของการ์ดแต่ล่ะหมวดก็เอาไว้บอกว่าการ์ดนั้นจะทำแอคชั่นได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงเอาไว้กำหนดจำนวนการ์ดที่เรามีได้ (ถ้ามีหมวดการเมืองเยอะ) ไปจนถึงป้องกันเงินของเราจากการถูกเรียกเก็บภาษีจากผู้เล่นคนอื่น (หมวดเศรษฐกิจ)

การ์ดในเกมจะมีสังกัดพื้นที่ (มีอยู่ 6 เมืองในเกม) การจะเล่นการ์ดพื้นที่นั้นๆเราต้องจ่ายเงินให้กับผู้เล่นคนอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ทำให้การเข้าไปเล่นในพื้นที่ที่มีเจ้าของพื้นที่อยู่ก็อาจจะยากซักหน่อย แต่จุดที่น่าสนใจของเกมนี้คือ คุณสามารถ ‘เจรจากันได้’ อย่างเช่นแทนที่เค้าจะต้องจ่าย 6 รูปีคุณก็บอกว่าเราเก็บแค่ 1 รูปีก็ได้ แต่นายต้องไม่ตีเรานะ (แต่เกมนี้สัญญาไม่มีการผูกมัด) เลเยอร์ความร่วมมือหลวมๆระยะสั้นก็ช่วยทำให้เกิดสภาวะทางการเมืองระหว่างผู้เล่นได้ดีพอควร


ระบบเงินในเกมเป็นแบบกึ่งปิด คือในระหว่างเล่นจะมีเงินเกือบคงที่แล้วเปลี่ยนมือไปมาระหว่างผู้เล่นแต่ว่าจะมีเพิ่มเข้ามาบ้างเป็นระยะผ่านการ์ดบางใบ ถ้าเราใช้จ่ายเงินเยอะคนอื่นก็จะมีเงินใช้มากตาม ตรงนี้จะไปช่วยเสริมกับการ์ดหมวดการเมืองที่ผู้เล่นที่มีคิวบ์ของตัวเองเยอะสุดในเมืองนั้นสามารถเรียกเก็บภาษีเป็นเงินจากผู้เล่นคนอื่น หรือจากการ์ดในตลาดที่อยู่เมืองเดียวกับตัวเองได้ด้วย (สามารถป้องกันเงินบางส่วนได้จากการที่มีดาวบนการ์ดหมวดเศรษฐกิจเยอะพอ)

ลำดับต่อมาคือคุณมีแค่เงินยังไม่พอ เพราะการ์ดแต่ล่ะใบมันจะมีสังกัดความรักชาติ (Patriots) ไม่เหมือนกัน ถ้าคุณเล่นการ์ดที่ประเทศไม่ตรงกับที่ถืออยู่ คุณก็จะต้องย้ายสังกัดทันที แต่ปัญหาอื่นก็คือคุณจะต้องทิ้งการ์ดอื่นๆที่มีสังกัดประเทศไม่ตรงกับของคุณด้วย ตรงนี้เลยมีเลเยอร์น่าสนใจอีกหลายอย่าง เพราะบางครั้งการเปลี่ยนไปรับใช้ชาติอื่นที่กำลังมีโอกาสชนะก็น่าสนใจดี แต่ว่าคุณก็จะมีคู่แข่งเยอะขึ้น ทั้งเรื่องการแย่งการ์ดและเรื่องการแข่งกันเป็นลูกน้องอันดับหนึ่ง ส่วนการไปเล่นชาติที่รองลงมาเราก็จะต้องพยายามให้ชาตินั้นชนะในหมวดอื่นแล้วหาทางเปลี่ยนยุคให้เข้ากันแทน

ลูกเล่นอื่นในเกมมีค่อนข้างเยอะ แต่โดยรวมไอคอนเกมจะใช้ซ้ำๆกัน เข้าใจไม่ยาก อีกหมวดที่อยากจะพูดถึงคือระบบสายลับ ซึ่งมันก็คือคิวบ์ธรรมดาเนี่ยล่ะ แต่ว่าจะอยู่บนการ์ดของผู้เล่นแทนที่จะเป็นในแผนที่ ตัวสายลับนี้ทำได้หลายอย่าง อย่างแรกคือเคลื่อนตัวไปมาตามแถวการ์ดไปยังผู้เล่นคนอื่นได้ พอไปถึงเราจะสามารถเลือกให้สายลับเราทำงานกับชาติอื่นที่เราไม่ได้รับใช้อยู่ได้ด้วย หรือจะทำการลอบสังหารการ์ดใบอื่นแล้วรับรางวัลเป็นความเชื่อใจจากชาติตรงข้ามก็ได้เหมือนกัน (ไปติดสินบนแล้วหยิบการ์ดเค้ามาดื้อๆเลยก็ได้ แต่จ่ายแพง)

ในฝั่งเศรษฐกิจหลักก็คือถนนที่แต่ล่ะชาติเอาไปใช้เดินทางในพื้นที่ต่างๆ ไอเดียคือทหารเนี่ยต้องเดินผ่านถนน แต่ถ้าไม่มีถนนก็ต้องจ่ายเงินเอา ตรงนี้นอกจากจะเอาไว้จำกัดการเดินทางแล้วทำให้เกิดปัญหาฝั่งบริหารทรัพยากรด้วย เพราะว่ามันใช้โทเคนชนิดเดียวกับทหาร ซึ่งมีจำนวนจำกัด อันนี้ก็ต้องไปบริหารกันให้ดีเพราะคนที่ใช้อาจจะไม่ได้มีแค่เรา

ในแง่การทหารเกมนี้จะใช้แนวคิดแค่ว่าเอาทหารมาแลกกันหนึ่งต่อหนึ่งธรรมดาไม่ซับซ้อน แต่ว่าเช่นเคยว่ามันไม่ใช่ทหารของผู้เล่น แต่เป็นของชาติทั้งสามแทน แต่ถ้าเราเคลียร์ทหารฝ่ายตรงข้ามหมดแล้วเราก็จะสามารถกำจัดคิวบ์ของผู้เล่นฝั่งตรงข้าม หรือถนนของชาติอื่นได้ด้วย หรือถ้าเรามีสายลับอยู่เราก็อาจจะเลือกที่จะยิงคิวบ์ผู้เล่นก่อนทหารได้ด้วย

และสิ่งที่พูดมาทั้งหมด (และยังไม่ครบเลย) เกิดขึ้นผ่านการ์ดแค่ไม่กี่สิบใบต่อเกม แอคชั่นสิบแบบ และรูลแค่ประมาณ 3 หน้า A4 เท่านั้นเอง

เกมมีตัวเสริมชื่อ Khyber Knives (โดนเอาไปรวมด้วยกันใน Second Edition เรียบร้อย) ที่เพิ่มการ์ดแนวๆ Event มาเพิ่ม แล้วก็การ์ดแบบพิเศษสำหรับผู้เล่นที่เป็นเจ้าเมือง รวมไปถึงการ์ดที่ช่วยเสริมความสามารถของการ์ดเดิมๆให้ดีขึ้น ส่วนตัวคิดว่ามันทำให้เกมวุ่นวายขึ้นนิดหน่อย (ต้องอ่านการ์ดเพิ่มเวลามันเปิดมา จากเดิมมองแค่ไอคอนแอคชั่นก็พอแล้ว) แต่ก็ช่วยให้เกมมีมิติเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก (ถึงไม่มีตัวเสริม เล่นแค่ตัวหลักก็สนุกอยู่นะ)

🐸[กบโปรด] – เกมนี้เป็นเกมที่ผมคิดว่าเจ๋งมากอีกเกมหนึ่ง แต่ก็เป็นความชอบเฉพาะตัวที่อาจจะหาคนชอบเหมือนกันยากซักหน่อย (อันเป็นปกติของเกมค่ายนี้) ผมชอบตรงมันมีมิติการเล่นที่หลากหลายแล้วเรื่องราวที่เกมเล่าเยอะ เป็นเกมแบบที่คุณอาจจะทำอะไรมั่วๆไปซักหน่อยแล้วก็จะเจออารมณ์แบบว่า อ่ะ ทำแบบนี้ก็มีโอกาสจะวินได้นิน่า คือมันเป็นเกมใช้ความคิดแบบที่โชคชะตาของคุณอยู่ในมือคนอื่น (และคนอื่นอยู่ในมือคุณ) แบบแปลกๆ (ส่วนตัวคิดว่ามันเรียลแบบแปลกๆเลยชอบ) ตัวเกมค่อนข้างสับสับอลหม่านพอควร เพราะยุคสมัยในเกมนั้นเปลี่ยนได้ง่ายมาก เล่นการ์ดใบเดียวยุคก็เปลี่ยนล่ะ จังหวะที่เราจะชนะเกมตอนที่เกิดปฎิวัตินอกจากต้องวางแผนมาดีแล้วยังต้องลุ้นอีกว่าจะไม่โดนคนอื่นเปลี่ยนยุคสมัยไปซะก่อน เพราะอย่างเรามาสายทหารสุดแกร่งอยู่ดีๆ พอเปลี่ยนมาเป็นยุคเศรษฐกิจคนเค้าต้องการถนนกัน เราเลยกลายเป็นชาติง่อยๆไปซะงั้ง

ส่วนที่ชอบมากๆคือคุณต้องไม่ต้องเก็ทข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของตัวเกมคุณก็สามารถ ‘อิน’ ได้ทันที (อย่างน้อยก็สำหรับผมนะ) คืออย่างใน Pax Renaissance กับ Pax porfiriana ส่วนตัวคิดว่าคนที่ไม่เก็ทโครงสร้างของประวัติศาสตร์และการเมืองในช่วงนั้นเล่นแล้วจะงงๆว่าระบบมันทำมาเพื่ออะไร

โดยระบบแล้วผมคิดว่าความเจ๋งมันอยู่ที่ระบบตอนแยกกันโดดแล้วไม่ค่อยมีอะไรมาก ก็แค่สร้างอะไรให้เยอะๆตามแบบฉบับเกมมีเยอะก็วิน แต่พอมันประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วทุกอย่างมันเกี่ยวโยงกันได้อย่างซับซ้อนและลงตัวมาก (และไม่ล็อกกันหนาแน่น จนไม่รู้จะไปเริ่มที่ไหนแบบเกมของ Vital Lacerda) เพราะเราไม่ได้แค่ต้องแข่งกับชาติอื่น แต่ต้องแข่งกับผู้เล่นอื่นที่อยู่ชาติเดียวกับเรา อารมณ์การขัดแข้งขัดขาแบบที่ยังต้องฝืนช่วยๆกันนี้ก็สนุกดี มิติการแข่งกันหลายชั้นพร้อมๆกันของเกมนี้เลยค่อนข้างถูกใจผม

ส่วนที่ทำให้ผมชอบอีกอย่างสำหรับเกมค่ายนี้คือ ‘ตัวเกม’ ที่ใหญ่ล้นกล่องไปหลายเท่าตัว (และใหญ่กว่าเกมกล่องใหญ่จริงๆหลายเกม) และส่วนมากจะขับเคลื่อนด้วยการ์ดเป็นหลัก ระบบไม่ซับซ้อนแต่ว่าสามารถนำเสนอเรื่องราวการเมืองและตัวเกม majority control และการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นแบบหลากหลายเลเยอร์ ได้อย่างน่าสนใจ ในแง่ความคลีนแล้วค่อนข้างคลีนกว่า Pax Renaissance ที่ Phil Eklund เอาไปปรับต่อเยอะอยู่ รูลก็อ่านง่ายกว่า (แต่ก็ยังแอบมีจุดงงๆตรงนั้นตรงนี้นิดหน่อย อันเกิดจากวิธีการอธิบายอนาโตมี่การ์ดในคู่มือทำไม่ค่อยดี)

ถ้าบอกว่าไม่ชอบอะไรก็น่าจะเป็นข้อจำกัดของทางค่ายเองที่ทำให้เกมต้องถูกบีบอัดอยู่ในกล่องเล็กๆ พอเอาการ์ดใส่ซองแล้วใส่กลับแล้วปิดฝาไม่สนิท ตรงนี้ส่วนตัวค่อนข้างหงุดหงิดพอควร กับข้อดีและข้อเสียของเกมแนวนี้คือ living rule อันเป็นระบบที่นักออกแบบจะคอยปรับแก้กติกาของตัวเองอยู่เป็นระยะๆ คือจะใช้รูลเป็นเล่มมาเล่นก็ได้นั้นแหละ แต่รูลที่ update แล้วมักจะสนุกกว่า แต่ว่าพอเราจะพิมพ์เป็นกระดาษออกมามันก็ใหญ่เกินกว่าจะเอาไปใส่ไว้ในกล่อง พอไม่ได้เล่นนานๆก็ลืม (อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทางนักออกแบบเผยว่าขอเอาเกมแยกมาทำเอง คือเพื่อที่จะมีอิสระในกำหนดวัสดุอุปกรณ์ของเกมเอง)

จุดที่น่าหงุดหงิดตามสไตล์เกมแบบนี้คือมันชอบมีกติกาเล็กๆน้อยกับกติกาพิเศษหยิบย่อยที่ชอบเกี่ยวโยงกันแบบแปลกๆ ที่ทำให้เราชอบลืมอยู่บ่อยๆตลอด ควรมี Player aid ติดตัวไว้เสมอ กับส่วนตัวแม้ผมจะชอบเกมนี้มาก แต่มันก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มพอดูนะ (เช่นเดียวกับเกมอื่นๆของค่ายนี้ และของนักออกแบบคนนี้)

อีกจุดที่คิดว่าคนอาจจะมองข้ามกันไปคือเกมนี้ระยะเวลาการเล่นค่อนข้างกะยากซักหน่อย บางจังหวะอยู่ดีๆ 30-45 นาทีจบก็มี แต่บางเกมก็ลากยาวกันไป 2 ชั่วโมงกว่า แต่ถ้าเล่นพร้อมตัวเสริมเกมจะบังคับให้ใช้กติกาที่ต้องเล่นการ์ดปฎิวัติครบทุกใบ แล้วใช้วิธีนับคะแนนในแต่ล่ะรอบปฎิวัติแทน ระยะเวลาในการเล่นก็จะนิ่งขึ้น (กติกานี้มีเขียนไว้เป็นตัวเลือกในเกมหลักอยู่แล้ว)

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


[Thought เป็นหมวดว่าด้วยความคิดเห็นสั้นๆเกี่ยวกับเกม ยังไม่เป็นรีวิวเต็มตัว]

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->