Paladins of the West Kingdom

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Paladins of the West Kingdom

 

▪️ณ อาณาจักรแห่งหนึ่งในยุโรป เมืองเล็กๆกำลังประสบปัญหาการรุกรานจากต่างชาติในทุกทิศทาง เราจะต้องรวบรวมชาวเมือง ก่อร้างสร้างป้อมปราการ และส่งเหล่าอัศวินออกไปป้องกันเมือง กับเกมใหม่ในซี่รี่ย์ West Kingdom ของนักออกแบบ Shem Phillips, S J Macdonald (Architects of the West Kingdom, Raiders of the North Sea )

▪️ไอเดียเกมนี้ใช้วิธีแบบ Worker Placement เริ่มเกมโดยหยิบคนงานหลายสีจากการ์ดที่สุ่มมาแล้วเอามาวางทำแอคชั่นตรงบอร์ดของตัวเอง โดยแต่ล่ะช่องก็จะต้องการจำนวนและฟิกซ์สีคนงานไม่เหมือนกัน (ในแง่นี้อยากจะเรียกว่า set collection มากกว่า WP ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้บล๊อคใครนอกจากตัวเอง อารมณ์เล่นบอร์ดตัวเองแถวๆ Orlean ) ตัวสีคนงานก็จะมีธีมพ่วงมานิดๆหน่อย แต่ตอนเล่นก็ไม่ได้ขับเน้นธีมอะไร

P1040725

▪️ไอเดียที่เหลือคือการก้มหน้าก้มตาทำแอคชั่นที่ยิ่งทำซ้ำสายเดิมๆเราก็จะได้แต้มเพิ่มขึ้น ในแง่นี้เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น Point Salad (แต่ไม่ใช่นะเพราะถ้าเดินไม่สุดจริงๆจะแทบไม่ได้แต้ม) แต่ความน่าสนใจคือการจะเดินสายหนึ่งไปเยอะๆ มันก็ต้องการให้เราเดินสายอื่นเพื่อมาเป็นความต้องการขั้นต่ำด้วย อย่างเช่นถ้าเราอยากจะสร้างป้อมปราการซึ่งช่วยให้เราได้เพิ่มแทรคการทหาร (ถ้ามีเยอะจะช่วยให้ทำแอคชั่นโจมตีผู้บุกรุกได้ดีขึ้น) สร้างอันแรกไม่เป็นไร แต่อันต่อๆไปมันต้องให้เราเดินแทรคอิทธิพลเพิ่มด้วย (ทำการใหญ่ก็ต้องมีคนเชื่อถือล่ะนะ) แต่ไอ้แทรคอิทธิพลก็วนลูปเดียวกันคือแรกๆไม่เป็นไร แต่อันต่อๆไปต้องเดินแทรคศรัทธาเพิ่ม…. สรุปคือเกมนี้มีแทรคหลักสามแทรคแล้วมันก็จะต้องการกันเองอิงแอบกันไป

▪️แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะน่าเบื่อต้องอัพมันทุกแทรคทื่อๆนะ เพราะแต่ล่ะแทรคจะมีวิธีเพิ่มค่าได้จากสองแอคชั่นเสมอ (และสองแอคชั่นก็ต้องการแทรคอื่นขั้นต่ำคนล่ะสี) ตรงนี้เลยทำให้เกมมีการตัดสินใจระหว่างการเล่นที่หลากหลายว่าในแต่ล่ะตาเราจะสามารถทำอะไรกับทรัพยากรที่มีให้หยิบได้บ้าง

P1040717

▪️เพื่อเป็นการลดดวง นอกจากการเลือกคนงานจากตรงกลางแล้วเรายังต้องเลือกการ์ดในมือด้วย คือผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีกองการ์ดเป็นหัวหน้าพาลาดินที่มีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน พร้อมทั้งมีตัวคนงานสีที่สนับสนุนความสามารถนั้นๆด้วยแถมมาด้วยแต่ล่ะตัวก็จะช่วยบูสค่าแทรคบางสีให้กับเรา ทำให้ไม่ต้องคอยอึดอัดว่าทำไมขึ้นบางแทรคไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขขั้นต่ำ

▪️ลูกเล่นสนุกๆอีกอย่างที่หยิบไอเดียมาจาก Architects แล้วมาตีความใหม่คือคนงานอาชญากรสีม่วง ซึ่งเป็นคนงานที่เก่งมากเพราะแทนคนงานสีอะไรก็ได้ แต่แลกกับการที่ทุกครั้งที่เราได้มาจะต้องจั่วการ์ดความน่าสงสัยมาด้วย ซึ่งการ์ดนี้ดีมากรับโจรมาโจรก็ให้เงินเรา แต่ว่ามันดันเป็นเงินหลวง ถ้าเงินหลวงหมดเมื่อไรจะมาเช็คว่าใครมีการ์ดนี้เยอะสุดก็จะต้องรับใบแต้มลบไป (ซึ่งเอาออกได้ไม่ยากเท่าไร)

วนๆเล่นเจ็ดรอบก็จบล่ะเกม

P1040727

[🐸 Someone I Know]

“พี่สาวแสนสวยที่สุขุมกว่าน้องสาว หน้าตาดีมารยาทงาม แต่เธอดูจะชอบนั่งเงียบๆ ใส่หูฟังอ่านหนังสืออยู่คนเดียว แม้อ่านหนังสือเรื่องเดียวกันจะสนุก แต่ไร้บทสนทนาดำเนินต่อ”……

🔹 จริงๆแล้วเป็นเกมที่ผมสนุกกับมันพอควรเลย puzzle คิดสนุก ตอนเล่นรอบแรกในครั้งแรกนี้รู้สึกว่า มาหว่ะเกมนี้ ก่อนจะพบความจริงในรอบต่อๆไปว่า Interaction เกมนี้มันต่ำเตี้ยมาก เพื่อนร่วมวงเหมือนดั่งหมอกควันที่สุ่มทอยเต๋าหยิบของส่วนกลางที่เราอยากได้ออกไปจากกระดาน ในแง่นี้อารมณ์มันค่อนข้างคล้าย Newton ที่ผมก็บอกศาลาไปด้วยเหตุผลเดียวกัน ทั้งๆที่ตอนเล่นก็สนุกดี แต่ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ไม่อยากหยิบมากาง

🔹 ส่วนที่ชอบนอกจากระบบแทรคสามสีอิงแอบแล้วก็คือ การ์ดตรงกลางที่ให้เราแย่งกันหยิบทำมาฉลาดดี คือจะมีสองแบบเป็นชาวบ้านกับผู้บุกรุก แต่ว่าแต่ล่ะใบจะสามารถซื้อได้สองแบบ คือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง กับแบบเอาความสามารถมาอยู่ยาวๆ (ไอเดียแบบใน Raiders of The North Sea) ในฝั่งผู้บุกรุกการใช้แต่ล่ะแบบก็ยังต้องการแทรคพลังที่แตกต่างกัน

P1040721

🔹 รวมๆในเชิงออกแบบแล้วรู้สึกว่ากลมกลืนกันดี ไม่มีส่วนไหนที่รู้สึกว่าโดดออกมาเกินจำเป็น และไม่มีส่วนที่รู้สึกว่ามันจะผูกกันแน่นจังวะ คือก็มีความอึดอัดดิ้นรนอยากเพิ่มโน้นนี้แต่ก็มีอิสระในการเลือกเยอะดี การออกแบบ UI ค่อนข้างดีด้วย คู่มือมีความพยายามอธิบายตลอดว่าแอคชั่นไหนมีความหมายอย่างไร (แต่ก็มีบางจุดเขียนชวนงงนิดๆตรงส่วนแทรคพลัง)

🔹 ความฉลาดของนักออกแบบคนนี้คือเอาของเก่ามาปรับใช้ใหม่เก่งมาก คือรู้นะว่าหยิบมา แต่มาทำใหม่ให้มันพื้นๆแต่รู้สึกว่าสวยตลอด กับอีกอันที่อยากให้นักออกแบบหลายคนเลียนแบบเลยคือ รียูสงานศิลป์เก่าๆมาเยอะมาก คือสร้างจักรวาลมาแล้วเล่นกับมันแบบคุ้มค่า แถมประหยัดเงินค่าวาดอีก

💭 สรุปสำหรับผมข้อเสียมีอย่างเดียวจริงๆ คือ interaction ต่ำเกินไป อย่างมากคือชะโงกแอบมองคนอื่นนิดๆว่ามาสายไหน ลงพาลาดินอะไรอยู่ แต่นอกนั้นก็สังคมก้มหน้ากันไป แต่ถ้าคุณชอบบรรยากาศแบบ Newton หรือชอบคิด puzzle ตรงหน้าตัวเองเกมนี้ก็น่าจะชอบล่ะ ตัวเกมไม่ซับซ้อนแต่คิดท่าได้เยอะอยู่ว่าจะ unlock ยังไงดี กติกาเข้าใจง่าย

P1040613P1040612P1040638P1040770

Compatible Level - เกมนี้เข้ากับคนเขียนได้ระดับไหนนะ!!

🐸 Family, อาจจะมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจกันบ้างแต่ครอบครัวคือสิ่งที่จะอยู่กับเราตลอดไป นี้คือเกมที่จะมีพื้นที่ถาวรในชั้นวางแน่นอน!! [ex. กบโปรด, กบชอบ]

🐸 Hang out friend, เพื่อนกินเที่ยว ถ้าไม่ติดธุระอันใดก็พร้อมจะออกไปพบเจอ สนุกยามได้พบเจอ แต่จะให้เจอกันบ่อยๆคงใช่ที - เกมส่วนมากมักจะสนุกในระดับที่อยากจะหยิบกางเป็นบางครั้ง สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อย แต่เราก็ไม่ได้อยากซ้ำต่อเนื่องรัวๆ [ex. กบโอเค]

🐸 Someone I know, หากบังเอิญพบเจอ ก็คงได้ทักทายไต่ถาม หากแต่ในยามปกติมิอาจนึกชื่อออก ยืนคุยก็ได้ แต่คงไม่ได้เอื่อนเอ่ยนัดกินข้าว - บางเกมเราก็ไม่ได้อยากชวนเล่น แต่ถ้าไม่มีอะไรทำแล้วมีคนชวนก็เล่นก็ได้ [ex. กบเฉย]

🐸 I Turn left, You Turn Right - เธอชอบกินเผ็ด เราชอบกินอาหารญี่ปุ่น เธอชอบคนคารมดีพาไปกินที่หรู แต่เราชอบเล่นเกมอยู่กับบ้าน แม้จะได้คุยเป็นบางคราแต่คงไม่อาจพัฒนาความสัมพันธ์ - บางเกมแม้ว่าจะดีแค่ไหน แต่รสนิยมมันไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม [ex. กบไม่เล่น]

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->