Madeira- เกาะแห่งไม้

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Madeira- เกาะแห่งไม้

เกมจับเอาช่วงศตวรรษที่ 15 ตอนที่โปรตุเกสกำลังอยู่ในช่วงท๊อปฟอร์มเริ่มออกเดินเรือสำรวจดินแดน (ยุคเดียวกับเกม Navegador) แต่โฟกัสของเกมนี้จะอยู่กับการพัฒนาเกาะ Madeira (ที่มีชื่อแปลว่าไม้เพราะเป็นแหล่งไม้ทำเรือ) คอยทำการถางป่าปลูกพืชจากนั้นก็ต่อเรือแล้วเอาผลผลิตไปขายตามอณานิคม รวมไปถึงต้องพัฒนาบ้านเมืองให้หน้าอยู่พร้อมกับไปเสนอหน้ารายงานความดีความชอบของตัวเองต่อหน้ากษัตริย์โปรตุเกสเป็นระยะๆ

Madeira เกมยูโรระดับหนักที่ใช้ระบบ Dice Placement ธีมว่าด้วยการพัฒนาเกาะชื่อเดียวกันของประเทศโปรตุเกส ผลงานจากทีมนักออกแบบ Panamax และ Nippon (เกมโปรดของผมทั้งสามเกมเลยทีมนี้งานดี)

ไอเดียหลักของเกมคือในแต่ล่ะรอบเราจะผลัดกันวางเต๋าไปยังพื้นที่ทำแอ๊คชั่นหกแบบคือ:

•เพิ่มคนงานในไร่ •ให้คนงานในไร่เก็บทรัพยากรที่ตัวเองยืนอยู่ •ให้คนงานในเมืองผลิตของ •ส่งเรือให้เอาของไปขายแลกเงิน •ส่งเรือไปขายของเพื่อทำแอ๊คชั่น •เปิดสมาคมการค้าเพื่อเอาไทล์ความพิเศษ

พอถึงรอบที่กำหนดก็เคลมไทล์ Objective ที่เราเก็บไว้ แค่นี้แหละวนๆกันไปจนจบเกม ไอเดียตรงนี้ค่อนข้างคลีนเข้าใจง่าย แต่ส่วนสิ่งที่ทำให้เกม ‘ยาก’ (และสนุก) มีหลายอย่างมาก เดี๋ยวค่อยๆอธิบาย


อย่างแรกคือ ‘เต๋า’ - เต๋าเกมนี้มีมูลค่า 1-3 การจะทำแอ๊คชั่นใดๆในเกมนี้เราจะต้องวางเต๋าของเราลงไปในพื้นที่แอ๊คชั่นนั้น พื้นที่วางเต๋าในเกมมีห้าที่ แต่ว่าจะแอ๊คชั่นที่ทำได้จะถูกสุ่มที่วางทุกรอบ ในห้าพื้นที่นี้จะแบ่งออกเป็น 3 โซน การจะไปทำแอ๊คชั่นในโซนไหนหน้าเต๋าเราต้องมีเลขอย่างน้อยเท่ากับเลขในโซนนั้น (ถ้าแต้มไม่พอ สามารถจ่ายของบูสหน้าเต๋าได้) แน่นอนว่าเต๋าเลขสามย่อมดีที่สุด

ความซับซ้อนในจุดนี้คือตอนต้นรอบ เต๋าจะถูกสุ่มทอยออกเป็นกลุ่มเท่าๆกัน วางเรียงตามช่อง turn order ผู้เล่นเลือกเต๋ากลุ่มไหนก็จะได้เล่นในรอบนั้นตาม turn order ที่เต๋าวางอยู่ พร้อมกับต้องหยิบ ‘ไทล์ objective’ อันเป็นแต้มหลักของเกมจากจากแถวนั้นด้วย ตรงนี้ถ้าเรามามองแยกกันจะเห็นว่าการเลือกหยิบเต๋าในเกมนี้ถึงสามเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

1 - มูลค่าของหน้าเต๋า (เลขน้อยเล่นยาก เลขเยอะก็สบาย)

2 - Turn Order (จำนวนเต๋าที่พื้นแอ๊คชั่นหนึ่งรับได้มีจำกัด เล่นก่อนได้เปรียบมาก)

3 - ไทล์ Objective (แต้มหลักของเกมต้องพยายามเลือกอันที่เราสามารถเคลมแต้มได้เยอะ)

(4) - จริงๆมีอีกอันคืออาจจะได้ ‘Refresh’ ไทล์ความสามารถพิเศษได้ฟรีถ้าเลือกแถวสีตรงกัน

เอาแค่เต๋าก็เลือกยากแล้วนะ หลายๆครั้งผู้เล่นจำเป็นต้องยอมเล่นแอ๊คชั่นไม่ครบในรอบที่แล้วเพื่อผ่านมาเอา ‘สิทธิ์ในการเลือกเต๋า’ ก่อนเพราะไม่งั้งอาจจะไม่ได้หยิบไทล์ทำแต้มที่ต้องการ


อย่างที่สองคือ ‘ระบบ Action รอบสอง’ - หลังจากที่ผู้เล่นทุกคนผ่านหมดแล้วเกมจะไล่เช็คตามช่องแอ๊คชั่นที่ล่ะอัน โดยจะทำการทอยเต๋าที่มีอยู่ในช่องนั้นทั้งหมด จากนั้นผู้เล่นทุกคน ‘ที่เคยส่งเต๋าไปทำงานในช่องแอ๊คชั่นนี้’ ต้องเลือกว่าจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งไหม (ยิ่งผลรวมเต๋าที่ทอยเยอะยิ่งจ่ายน้อย) หรือว่าเลือกที่จะไม่จ่ายแต่รับ Pirate Token (แต้มลบตอนจบเกม) ไปแทน แต่ถ้าคนไหนจ่ายเงินก็จะได้ทำแอ๊คชั่นที่ระบุอยู่บนกระดานโดยความแรงของแอ๊คชั่นจะขึ้นอยู่กับว่ามีคนงานของเราในพื้นที่นั้นอยู่กี่คน เช่นเคยว่าในจุดนี้เรื่องที่ต้องคิดหลายอย่าง

1 - แอ๊คชั่น’รอง’อันนี้อยู่บนบอร์ดไม่ได้สุ่มไปมาแบบเฟสก่อนหน้า แปลว่าถ้าอยากจะใช้จะต้องวางแผนส่งคนงานมายืนแต่แรก

2 - ตรงนี้มีผลต่อน้ำหนักการตัดสินใจในการเลือกกลุ่มเต๋าตอนต้นรอบด้วย เพราะถ้าเราเน้นไปอยู่โซนที่ต้องการใช้เลขเยอะเราก็ต้องอยากจะให้น้ำหนักกับกลุ่มเต๋าที่แต้มเยอะ (แต่อาจจะได้ turn order ต่ำ / ได้ objective ไทล์ที่ไม่ถูกใจ)

3 - จำนวนผู้เล่นที่มาอยู่ที่เดียวกันถ้ามีเยอะ ‘โอกาส’ ที่จะจ่ายเงินถูกก็เพิ่มขึ้นเพราะจำนวนเต๋ามีเยอะขึ้น

4 - โดยทั่วไปผู้เล่นมักจะมีเงินไม่พอและต้องเลือกว่าจะจ่ายทำแอ๊คชั่นตรงไหนดี แถมไม่รู้ด้วยว่าไทล์ต่อไปต้องจ่ายเท่าไร (แต่ประเมินความเสี่ยงได้) แต่ที่แน่ๆคือนอกจากเตรียมคนมายืนรอแล้วก็ต้องเตรียมเงินมาจ่ายด้วย


อย่างที่สามคือ ‘ระบบ Objective’ - ในเชิงธีมคือการที่เราไป ‘เสนอหน้า’ รายงานสิ่งที่เราทำได้ดีแก่กษัตริย์ เกมนี้เราจะได้หยิบไทล์ที่ว่ามา 6 อันแล้วต้องเคลม 6 อันพอดีแต่ว่าเกมจะแบ่งให้เราทยอยหยิบทยอยเคลม ตัวเป้าหมายมีอยูห้าแบบคือ ส่งเงิน/เอาเรือไปวางไว้บนโซนที่กำหนด/มีคนงานในเมืองเยอะที่สุด/มีไทล์ความสามารถพิเศษ’ที่ยังไม่ถูกใช้’เยอะประเภท เกมนี้บังคับเคลมด้วยถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป เนื่องจากแต้มหลักมันอยู่ตรงนี้จังหวะไปเลือกเต๋าเลยต้องคิดเยอะหน่อย แถมกลุ่มเรือยังมีข้อกำหนดเรื่องรอบและโซนที่จะเคลมด้วย อย่างเช่นเรือในโซน A ถ้าเคลมรอบแรกจะได้ 6 แต่รอบสองจะได้ 3 แต่โซน B มันกลับกันไรงี้ การส่งเรือออกไปก็จะต้องคิดเรื่องนี้เผื่อไว้ด้วย


อย่างที่สี่คือ ‘Upkeep และ Pirate Token’ - พูดรวมๆเลยล่ะกัน คือตอนจบรอบเราต้องจ่ายข้าวเลี้ยงคนงานของเราด้วยยิ่งส่งออกไปเยอะก็ต้องกินข้าวเยอะ ถ้าจ่ายไม่ได้ก็รับ Pirate Token ไป และเรือทุกลำที่สร้างออกมาแล้วก็ต้องจ่ายไม้เพื่อบำรุงรักษาเหมือนกัน ไอ้ไม้นี้ก็จุกจิกเล็กน้อยตรงที่หยิบมาตรงๆจากกองกลางไม่ได้ ต้องมาจากตัวเรา หรือว่าจากพื้นที่ที่มีคนงานของเรายืนตัดไม้รออยู่เท่านั้นด้วย(แต่ไม้มีจำกัดนะถางป่าไปเรื่อยๆจะกลายเป็นไร่ปลูกพืชผักแทน) จ่ายไม่ได้ก็รับ Pirate Token ไปอีกเช่นเคย ทีนี้ไอ้ Pirate Token มันคืออะไร? มันคือแต้มลบตอนจบเกมถ้าคุณมีเยอะที่สุดเป็นลำดับที่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ครับ โดยลดเยอะสุดมูลค่าประมาณ Objective 1 อัน ก็คือไม่มากไม่น้อย หรือพูดอีกอย่างคือมีเท่าไรก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าให้มีเยอะสุดเท่านั้นเอง (แต่ระหว่างเกมก็มีวิธีลดหลายทาง แล้วก็ผู้เล่นสามารถจบเกมโดยเคลียร์ได้หมดโดยไม่ลำบากจนเกินไป)


เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคือตัวเกมมันไม่ได้หนักอย่างที่คิด โอเคตัวระบบการเล่นมันมีความเกี่ยวเนื่องกันไปเรื่อย ต้องคิดต่อเนื่องกันไป แต่สุดท้ายแล้วเกมนี้มันเป็นเกม ทำ objective นะ (เพราะแต้มเกือบทั้งหมดจะมาจากตรงนี้) ปกติผมจะย้ำทุกครั้งที่สอนเลยว่าให้มองก่อนว่าจะเคลมอะไร ก็ลงไปตามนั้นแหละ penalty อย่าง Pirate Token นี้ตราบใดที่ไม่เยอะเกินจำเป็นก็ไม่ต้องสนใจเลยมันเป็นแค่ ‘currency’ หนึ่งในเกมเท่านั้นเอง คือเท่าที่เจอมารู้สึกคนส่วนมากกลัวกับบทลงโทษตรงนี้เยอะเกินจำเป็น กับพยายามทำมูฟให้ได้ของเยอะๆแต่ดันทำ objective ไม่สำเร็จ

เกมนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่ผมยังไม่ได้อธิบาย แต่คิดว่าแค่นี้น่าจะได้ภาพรวมของเกมนี้ล่ะโดยสรุปคือผมชอบเกมนี้นะ เล่นแล้วมีอะไรให้คิดตลอดเวลา มีจังหวะตัดกันระหว่างผู้เล่นตลอด ระบบเกมกับ Player Aid ทำมาดีมากขนาดไม่ได้กางมาปีกว่าๆเอา Player Aid มาไล่ๆแป๊บนึงเล่นได้ล่ะ ถึงแกนจะเป็นระบบ Objective ส่วนตัวแต่ว่าวิธีในการ Complete objective มีได้หลายทางมาก ไม่จำกัดว่าต้องทำท่าเดิมๆซ้ำๆ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->