London (2nd Edition)
เกมยูโรระดับกลางเบาธีมว่าด้วยการฟื้นฟูเมืองลอนดอนหลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ (Great Fire) ผลงานจากนักออกแบบ Martin Wallace ( Age of Steam กับ Brass นี้เกมกบโปรด แต่หลังๆออกมาแต่เกมอะไรก็ไม่รู้…..กลายเป็นชื่อนี้ไม่ซื้อเลยต้องรอดูยาวๆแทน) โดยในฉบับทำใหม่ได้ปรับเปลี่ยนยกเครื่องงานอาร์ท, กติกาเล็กน้อย และตัดส่วนบอร์ดกลางออกไปจนกลายเป็นการ์ดเกม ส่วนตัวคิดว่าเป็นการเอามาทำใหม่ที่ดีขึ้นในทุกทาง
แนวคิดหลักของเกมคือ Tableau Building (เกมที่มีลักษณะการวางกลุ่มของสิ่งของมาวางเรียงกันด้านหน้าผู้เล่น โดยผู้เล่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยของที่เพิ่มเข้ามามักจะเพิ่มทรัพยากรหรือแอ๊คชั่นแก่ผู้เล่น) ที่เราจะสร้างเมืองลอนดอนผ่านการ์ดในมือ แต่จุดที่สำคัญที่สุดของเกมไม่ใช่ความสวยงามของเมืองแต่ว่าเป็น…….การบริหาร ‘ความยากจน’
ระบบเกมค่อนข้างง่าย ในแต่ล่ะตาเราจะโดนบังคับจั่วการ์ดตาล่ะหนึ่งใบ จะจั่วจากกองกลางหรือจากสำรับก็ได้ จากนั้นจะต้องเลือกทำหนึ่งแอ๊คชั่นไปเรื่อยๆจนเกมจบ โดยสิ่งที่เราทำได้ก็คือ
- เล่นการ์ดจากมือ: เราจะเล่นกี่ใบจากมือก็ได้แต่ว่าจะเวลาวางต้องวางเป็นกองไว้ข้างหน้า สามารถเพิ่มจำนวนกองได้แต่ลดไม่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเวลาลงการ์ดชนิดไหนจะต้องทิ้งการ์ดสีเหมือนกันอีกใบไปยังกองกลาง บางใบอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม
- จั่ว: จั่วเข้ามือเพิ่มอีก
- ซื้อการ์ดย่านต่างๆในเมือง: ฉบับนี้ตัดเอาแผนที่ออกมาทำเป็นการ์ดแทนเป็นแบบค่อยๆเปิดมาทีล่ะสามใบ (เมื่อก่อนจะให้เอามาร์คเกอร์วางลงในแผนที่ว่าซื้อแล้ว) เวลาซื้อเราจะได้แต้มกับได้จั่วการ์ดเพิ่มกับความสามารถพิเศษนิดหน่อย
- สั่งให้การ์ดทำงาน: ก็คือสั่งในการ์ดตรงหน้าทำงานให้เรา สั่งกี่ใบก็ได้ ส่วนมากก็จะเป็นให้แต้ม ให้เงิน และช่วยกำจัด ‘คนจน’ ออกไป พอใช้เสร็จแล้วก็จะคว่ำไว้ แล้วเราก็ต้องไปเล่นการ์ดชุดใหม่ รอสั่งงานใหม่อีกที
ส่วนสำคัญของเกมนี้ก็คือตอนสั่งให้การ์ดทำงานเนี่ยล่ะ คือหลังจากที่สั่งให้เมืองทำงานแล้วเกมจะให้นับว่าเรามีกองการ์ดตรงหน้าอยู่กี่กอง (จำได้ไหมว่าเพิ่มได้ลดไม่ได้) บวกกับจำนวนการ์ดที่เหลือในมือของเรา นับได้เท่าไรเราก็จะได้ ‘คนจน’ เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น ถ้าเราวางแผนไว้ไม่ดี ยิ่งเล่นเราก็จะยิ่งอุดมไปด้วยคนยากจน และมันจะถูกนับเป็นแต้มลบตอนจบเกม ทำให้โดยไอเดียคือเราอยากจะทำให้มือว่าง และมีการ์ดตรงหน้าน้อยๆ แต่ว่าถ้ามัวแต่ทำแบบนั้นก็อาจจะไม่ชนะ บางเกมถ้าเรามีจำนวนการ์ดเยอะแต่ใช้ไม่คุ้มก็จะโดนคนจนรัวๆ แต่ถ้าพยายามจำกัดจำนวนกองการ์ดไว้น้อยเกินไปก็อาจจะต้องเสียเทิร์นมาสั่งให้การ์ดทำงานบ่อย อีกเรื่องคือเงินในเกมนี้ค่อนข้างอึดอัดเล็กๆ ทำให้หลายครั้งเราต้องยอมให้การ์ดทำงานทั้งๆที่ไม่คุ้มเพื่อจะได้มีเงินมาหมุนไปซื้อของ (กู้ระหว่างเกมได้ แต่กู้ 10 จ่าย 15…..ดอกเบี้ยแพงตามสไตล์ Martin Wallace) ดวงของการจั่วการ์ดที่ไม่เข้าทางก็มีอยู่ประปรายแต่ก็ค่อนข้างจัดการได้ การจัดความสมดุลย์ของพวกนี้ถือเป็นความสนุกของเกมนี้
ความสนุกของระบบคนจนก็คือ ในตอนจบทุกคนจะได้คัดเอาคนจนออกเท่ากับจำนวนคนจนของผู้เล่นที่มีน้อยที่สุด (เท่ากับคนที่มีคนจนน้อยสุดจะไม่เหลือคนจนตรงหน้า) จากนั้นจำนวนคนจนที่ว่าก็จะกลายเป็นแต้มลบ ตรงนี้สนุกดีตรงที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องมีคนจนสะอาดเกลี้ยงตลอดเวลา แค่มีจำนวนให้ใกล้เคียงคนอื่นๆก็พอแล้ว
🐸[กบชอบ] – ผมชอบเกมนี้ในฐานะเป็นฟิลเล่อร์ที่เล่นเพลินดี คุณภาพอุปกรณ์ก็ดีมาก งานอาร์ทแบบภาพวาดก็แปลกตาดี ดูสบายตา เหมือนได้กินทับทิมกรอบน้ำกะทิสีสันสวยงาม เบาสบายมีอะไรให้เคี้ยว สมัยตอนที่พึ่งเล่นบอร์ดเกมได้ไม่นานผมก็รู้สึกว่า London (1st edition) มันมีภาพของเกมกระดานแต่ดันใช้เวลาในการเล่นไม่นาน ทำให้รู้สึกว่ามันถูกหยิบเอามากางยาก (คือเวลากางเกมเป็นบอร์ดผมก็อยากเล่นนานหน่อย) แต่อันใหม่พอมาเป็นการ์ดเกมเต็มตัวแล้ว ความรู้สึกว่าสามารถมันถูกหยิบเอามาเล่นในฐานะเกมฆ่าเวลาได้ง่ายขึ้น มีดวง มีจังหวะการตัดสินใจว่าจะเล่นใบไหนเพราะใบที่ถูกทิ้งมันจะไปอยู่กองกลาง เดี๋ยวคนอื่นได้ไป จะสั่งงานจังหวะแบบไหนถึงจะกำไรสูงสุด
ด้วยความที่เกมมันเป็นแนว ‘สร้างพุลมาระเบิดแล้ววนกลับไปสร้างใหม่’ บางคนก็อาจจะไม่ชอบเพราะของที่สร้างไปมันไม่วนกลับมาให้ใช้ซ้ำ (ยกเว้นการ์ดบางใบ) แต่ผมไม่มีปัญหาอะไรกับตรงนี้นะ อีกเรื่องคือมันไม่มีสายอะไรจริงจังเพราะต้องเล่นเอาตามหน้างาน ระบบเกมโดยรวมค่อนข้างคลีน เล่นง่ายสอนง่าย แต่ส่วนตัวคิดว่าสี่คนอาจจะมีจังหวะรอที่นานไปนิด สามคนกำลังสวย ที่ติเล็กๆก็จะเป็นตัวหนังสือความสามารถบนการ์ดที่ค่อนข้างเล็ก ผู้เล่นที่สายตาไม่ค่อยดีอาจจะมีปัญหานิดหน่อย
😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก
😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด
🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์
😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่
🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น
อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)