Le Havre

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Le Havre

 ◾️ ผมพึ่งมีโอกาสกลับมาหยิบ Le Harvre มาเล่นเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากเว้น (อ่านว่าหลบเลี่ยง….) มาหลายปีมาก ด้วยเหตุผลเรียบๆว่าเป็นเกมแนวที่ไม่ชอบเท่าไร (ฮา) ชื่อสไตล์อย่างไม่เป็นทางการของเกมแนวนี้คือ ‘Resources Conversion’ อันเป็นเกมสไตล์ที่ผู้เล่นจะสะสมของไว้แล้วตัวของเนี่ยจะสามารถอัพเกรดสถานะตัวเองให้ดีขึ้น (อย่างดินเหนียวกลายเป็นอิฐ) แล้วก็จะมีช่องทางให้เอาสินค้ามารวมตัวกันเพื่อ ‘แปลง’ ไปเป็นอย่างอื่นต่อ (อย่างเอาเบียร์กับไวน์รวมกันจะกลายเป็นแต้ม แต่เบียร์เกิดจากการเอาข้าวรวมกับยีส และบลาๆ) ตัวอย่างเกมสไตล์นี้ก็ได้แก่ Ora et Labora, The Colonists , Oh My Goods!, Road & Boat ฯลฯ

📌รอบนี้อยากลองเปลี่ยนสไตล์เขียนนิดหน่อย คือมีเกมที่อยู่ในสภาพ ‘ขี้เกียจเขียน’ ใน stock ผมเยอะมาก แล้วโดยวิธีปกติผมจะพยายามใช้เวลาในการจาระไนคาเรกเตอร์ของเกมออกมาจากมุมกลางๆก่อน แล้วค่อยอธิบายว่าผมชอบหรือไม่ชอบตรงไหน ก็คือพยายามแยก fact กับ opinion ออกจากกันนั้นแหละ ซึ่งผมก็ยังชอบเขียนแบบนั้นอยู่นะ แต่ว่าบางเกมก็แค่อยากเขียนถึงเฉยๆ พอรู้สึกว่าต้องเขียนจากหลายๆแง่มุมแล้วบางครั้งก็ทำให้เขียนไม่ค่อยสนุก กับหลังๆรู้สึกว่าการต้องมานั่งให้เรทเกมมันค่อนข้างชี้นำความรู้สึกทางการเขียนและคนอ่านไปจากที่ตั้งใจไว้เหมือนกันนะ ไม่ค่อยชอบความรู้สึกที่ระดับความชอบของเรามีผลกับความรู้สึกคนเท่าไร ผมสนใจในแง่ความเห็นที่แตกต่างกันจากข้อเท็จจริงของตัวเกมมากกว่า

◾️ ใน Le Havre ตานึงทำได้แค่อย่างเดียวระหว่างหยิบสินค้าที่กองสะสมอยู่ที่ส่วนกลาง หรือเอาคนงานของเราที่มีอยู่ตัวเดียวไปลงตามตึกที่ผู้เล่นจะค่อยๆซื้อมาระหว่างเล่น ความสนุกในการตัดสินใจคือพอเล่นๆไปของส่วนกลางมันจะกองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องคิดว่าจะหยิบดี หรือจะเอาแอคชั่นไปแปลงทรัพยากรดี

◾️ จุดน่าสนใจของเกมนี้คือของมันจะใช้ได้หลายแบบ อย่างปลากับเนื้อสามารถเปลี่ยนเป็น ‘อาหาร’ เอาไว้จ่ายเวลาใช้ตึกของผู้เล่นอื่น หรือ ‘ไม้’ กับ ‘ถ่านหิน’ ที่จะเปลี่ยนเป็น ‘พลังงาน’ เอาไว้จ่ายเวลาอยากจะแปลงทรัพยากร (เอาปลาไปเผาต้องมีพลังงาน ไรงี้) วิธีเล่นเกมนี้ นอกจากรอผลิตทรัพยากรไปใช้ก็เลยมีวิธีการเอาของไปแก้ขัดหลายแบบ

◾️ ด้วยความที่ทรัพยากรในเกมมีหลายแบบอีกกลยุทธ์ในการออกแบบของเกมนี้คือแต่ล่ะไทล์จะมีสองหน้าแตกต่างกัน ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็คือสินค้าแบบที่ ‘อัพเกรดแล้ว’ นั้นแหละอย่างด้านหน้าเป็นปลาที่แลกข้าวได้หนึ่งหน่วยอีกด้านก็จะเป็น ปลารมควันที่แลกเข้าได้ถึงสามหน่วยและขายได้แพงกว่า ตรงนี้ผู้เล่นก็จะเป็นต้องระมัดระวังในการเล่นนิดนึงเพราะแค่พลิกเปลี่ยนด้านไปมูลค่าของก็แตกต่างกันเยอะพอดู

◾️ เกมนี้ออกมาตอน 2008 ต่อจาก Agricola ที่มาตอน 2007 เลยคงทำให้ Uwe Rosenberg ยังสลัด ‘ความอดยาก’ กับแนวคิด ‘เครื่องจักรผลิตอาหาร’ ที่แทบไม่เจอในเกมหลังๆของเค้าออกไปไม่หมด ในเกมนี้ทุกครั้งที่ผู้เล่นในวงทำแอคชั่นครบ 7 ครั้ง ผู้เล่นจะต้องจ่ายอาหารจำนวนหนึ่ง โดยที่ประมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ความยากของเกมนี้คือที่บอกว่า 7 ครั้งนี้คือเวลาที่ผู้เล่นคนหนึ่งใช้คำแอคชั่นก็นับ 1 ครั้งแล้ว

◾️ แปลว่าเวลาเล่นเกมนี้มันจะมีผู้เล่นคนหนึ่งที่ได้ทำแอคชั่นน้อยกว่าคนอื่นเสมอในรอบนั้นๆ กลายเป็นทำแอคชั่นเดียวก็แดกข้าว แป๊บๆแดก วนกันไป ถ้าข้าวไม่พอจ่ายไม่เป็นไรมีใบกู้ให้ (แล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกรอบแปลว่าถ้าหาข้าวมาไม่ได้ก็จะวนลูปเดิมแถมหนักกว่า ข้าวก็ต้องจ่าย ดอกเบี้ยก็ต้องเสีย) ด้วยความที่เกมมันหาข้าวง่ายจะเล่นแบบหากินไปเรื่อยก็ได้ หรือจะสร้างเรือ อันเป็นเครื่องจักรที่ช่วยให้เราหาข้าวฟรีๆต่อรอบ และยังเอาไปทำแอคชั่นส่งออกสินค้าไปแปลงเป็นเงินได้ด้วย บางคนก็เล่นแค่สายนี้แหละผลิตของรอขายอย่างเดียว ทำให้เกมนี้มันเป็นเกมที่มีสายการเล่นเยอะแถมด้วยมีความยืดหยุ่นและคุณค่าในการเล่นซ้ำสูงมากเกมหนึ่ง ทั้งๆที่ noise จากตึกหลักสุ่มมาต่ำมาก และมีตึกพิเศษที่สุ่มเข้ามาในเกมต่อรอบก็ไม่กี่ใบ แถมกั๊กไม่ได้อีกเพราะตึกของเราก็จริงแต่คนอื่นมาใช้ได้

👁‍🗨ความน่ารำคาญ (ที่เป็นจุดเด่น และอาจจะเป็นความท้าทาย รวมไปถึงจุดที่ทำให้ไม่ค่อยอยากเล่นเกมนี้อย่างผม) คือพอมีคนใช้ตึกไหนอยู่เราจะไปใช้ตึกนั้นไม่ได้ แล้วด้วยความที่แอคชั่นน้อยและถ้าเราวางแผนจะใช้ตึกนั้นเผื่อผลิตของหรือทำแอคชั่น เราก็ต้องรอจนกว่าเพื่อนจะตัดสินใจย้ายออก ซึ่งมันอาจจะไม่ทำก็ได้ เพราะว่ามัวแต่เก็บของกองใหญ่ตรงกลางอยู่ แต่สำหรับเราบางครั้งจะอยู่ในมู๊ดแบบถ้าไม่ได้ทำนี้ตายแน่ไม่มีข้าวกิน ต้องมากู้อีก ก็ค่อนข้างหงุดหงิดพอควร

💭เป็นเกมสไตล์ที่คนที่ชอบก็มักจะชอบฉิบหายเลย ส่วนคนไม่คลิกอย่างผมนี้มักจะไม่ค่อยกลับมาเล่นซักเท่าไร มีที่เล่นแล้วรู้สึกสนุกจริงๆน่าจะเป็น The Colonists ที่รู้สึกว่าทำมากำลังพอดีๆ ใครชอบสไตล์ที่คิดท่ามาจากบ้านเยอะหน่อยแต่เปลี่ยนแผนกลางเกมง่าย กับความเพลินในการโยนทรัพยากรเปลี่ยนไปมาก็น่าลองครับ

💭ถ้าถามว่าทำไมส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบสไตล์นี้ (IMHO, YMMV) คือผมรู้สึกมันยึกๆยักๆ ต้องแบ่งเซลล์สมองว่าเดี๋ยวเก็บเท่านี้ก่อน บางส่วนพักแยกไว้ตรงนี้รอเปลี่ยน กับเดี๋ยวไปเอาของต้นทางอีกชิ้นเตรียมรอรวมตรงโน้น อะไรแบบนั้น คือชอบแบบง่ายๆทื่ออย่างโอเคเก็บของครบตามจำนวนล่ะเดี๋ยวเอาไปแลกอะไรซักอย่างมากกว่า ส่วนแต่ล่ะชิ้นจะได้ยากได้ง่ายก็ว่ากันไป แต่ไม่ชอบให้ของมันเปลี่ยนสถานะอ่ะ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->