King's Dilemma - ศาสตร์ราชันย์ที่นำมาสู่การตั้งคำถามต่อตัวเอง

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
King's Dilemma - ศาสตร์ราชันย์ที่นำมาสู่การตั้งคำถามต่อตัวเอง

เกมแนว Interactive Narrative (เรียกว่า choose your own adventure ฉบับให้ผู้เล่นมาร่วมกันโหวตละกัน) แบบ Legacy ที่เราจะได้เป็นผู้นำตระกูลขุนนางมาชักใยทิศทางการปกครองบนเหตุการณ์ที่เกิดขี้นในอณาจักร Ankist เป็นเวลาหลายร้อยปีผ่านหลายช่วงอายุคน

▪️ ตัวเกมได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Kennerspiel des Jahres (ถ้วยดำ) ผลงานของ Hjalmar Hach (Dragon Castle, Photosynthesis) และ Lorenzo Silva (Potion Explosion, Railroad Ink)


📌 ข้อเขียนนี้มีการเปิดเผยเรื่องบางส่วนของเกม (น้อยมากๆ - minor spoil) แต่ไม่มีผลกระทบต่อประสบการณ์การเล่น , ข้อเขียนนี้เขียนหลังจากเล่นจบแล้ว

💬 “ความอดอยากแพร่ไปทั่ว กำลังคนอันมีน้อยนิดของเราควรจะไปปกป้องขุนนางท้องถิ่นหรือควรจะนำไปตรวจตราบ้านเมืองให้ประชาชนได้อุ่นใจ?”

💬 “ไอ้เจ้าพวกคนจนกลุ่มนี้ สีผิวแปลกพิกล หากพวกมันนำซึ่งโรคระบาดจะทำการเช่นไร? ข้าเห็นสมควรว่าควรแยกพวกมันออกไปให้ห่างจากตัวเมืองแล้วปล่อยให้ตายเสียจะดีกว่า”

💬 “ตำราอันสูงค่าในหมู่บ้านชายขอบ องค์ราชันย์ให้ความสนใจยิ่ง หากแต่พวกนั้นปฏิเสธที่จะมอบให้ เราจะปล่อยไว้หรือส่งทหารเข้าไปเผาหมู่บ้านเสียให้สิ้น?”

💬 “คนเหล่าไร้ค่าพวกนี้ หากได้สละชีพเพื่อวิทยาการอันยิ่งใหญ่ย่อมเป็นประโยชน์แต่บ้านเมือง พวกท่านไม่เห็นด้วยกับข้าหรือ? จะรักษาชีวิตของเจ้าคนพวกนี้ไปเพื่อสิ่งใด?”

💬 “วัฒนธรรมของพวกคนเหนือนี้ช่างหยาบกระด้างนัก หากปล่อยไว้ปวงประชาเรามิกลายเป็นคนเถื่อนกันหมดหรือ? ข้าเห็นควรว่าเราจำต้องสกัดกั้นธรรมเนียมไร้อารยะนี้”

alt tag


▪️ เกมจะเริ่มจากผู้เล่นที่ต้องสวมบทบาทเป็นหัวหน้าตระกูลที่มีพื้นฐานและแนวคิดที่แตกต่างกันสิบสองบ้าน (ควรเล่นแก๊งเดียวกันหมด 5 คนแต่ว่าเกมสามารถ drop in , drop out หรือเพิ่มคนมาแจมเป็นครั้งๆไปได้) ในแต่ละรอบการเล่นของเกม (ประมาณ 14 ครั้ง) จะแทนถึงช่วงหนึ่งรัชสมัยของกษัตริย์

▪️ ในรัชสมัยหนึ่งก็จะมีเหตุการณ์มาให้เล่นประมาณเจ็ดถึงสิบใบแต่ละใบก็จะเป็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น การเลือกมีแค่ใช่หรือไม่ใช่ พวกเราเหล่าขุนนางก็จะมาร่วมลงคะแนน (และซื้อเสียงโน้มน้าวคนอื่น) เพื่อเลือกทิศทางของคำตอบกัน โดยทีการโหวตจะทำผ่าน Power Token

▪️ ผู้เล่นจะไม่รู้ว่าผลของเหตุการณ์นั้นๆจะเป็นอย่างไรกันแน่ แต่เกมก็จะมีผลล่วงหน้าให้คร่าวๆหน่อยๆ อย่างเช่นถ้าทำแบบนี้มันจะส่งผลดี/ผลเสียกับทรัพยากรชนิดไหน แต่ไม่รู้ว่าเท่าไร การเลือกบางครั้งก็จะนำไปสู่การเปิดซองจดหมายที่นำไปสู่เนื้อเรื่องและเหตุการณ์ใหม่ๆในเกม (มีอยู่ 70 ซอง) แต่ละการเลือกก็จะมีการบรรยายเหตุการณ์กำกับว่าการเลือกของเราส่งผลอย่างไรต่ออาณาจักร

▪️ ในมิติเชิงเกมแล้วชนิดการเพิ่มลดของทรัพยากรเนี่ยล่ะที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของพวกเรา เพราะว่าการดึงทิศทางให้ไปยังจุดที่ต้องการนั้นมีผลต่อคะแนนลับที่สุ่มแจกมาตอนสิ้นรัชสมัย

▪️ แต่ผมจะบอกว่า ถ้าคุณสนใจแต้มในเกมนี้มากเกินไป เกมมันจะกร่อยมาก (ขออนุญาตเรียกว่าเกมโหวตดาษๆแบนๆ เอาไปเผาทิ้งเถอะเสียเวลาฉิบหาย) เพราะสิ่งที่ทำให้เกมนี้สนุกคือการสวมบทบาท

▪️ ความเลกาซี่ของเกมนอกจากเส้นเรื่องแล้วอีกอย่างก็เป็นระบบชื่อเสียงทั้งด้านดีและแย่ที่จะติดตัวข้ามรุ่นไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลต่ออำนาจการโหวตรวมไปถีงช่วยให้เราจำแล้วเอามาคุยเล่นกันว่า ไอ้ตอนโน้นตระกูลเมิงทำเรื่องแบบนี้ไว้ไง!!

▪️ หนึ่งในเส้นเรื่องหลัก(จากหก) จะเรื่องเล่าถึงความขาดแคลนอาหารในอาณาจักรที่นำไปสู่การหาแหล่งอาหารทดแทน ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นและกระทบกระทั้งระหว่างประชาชนด้วยกัน รวมไปถีงรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันบางอย่างทำให้แทบจะเกิดการจลาจลอยู่เนื่องๆ

alt tag


🔹 คุ้นๆไหม? ด้วยความที่ผมเขียนหลบหน่อยๆไม่อยากเปิดมากทำให้อาจจะสื่อไม่ตรงนัก แต่ในโลกจริงเราสามารถสวมทับความขัดแย้งนี้ได้หลายมิติ ทั้งความเลื่อมล้ำของคนมีอันจะกินและชาวนาผู้ยากไร้ ความเห็นต่างของผู้คน ความขัดแย้งที่ไม่มีอะไรไปมากกว่าสีผิวที่แตกต่างกัน สภาจะสั่งให้ลงโทษผู้ ‘ต้องสงสัย’ ที่กระทำการป่าเถื่อนทำร้ายร่างกายกันเพราะความแตกต่างนี้หรือไม่?

🔹 แต่คิดให้ดี นี้คือโลกจำลองยุคกลางที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน จะปล่อยไปเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หรือจะลงโทษเสียให้เป็นเยี่ยงอย่าง เล่า? เราจะเอาสามัญสำนึกจากช่วงเวลานี้ไปใช้ได้หรือ?

🔹 คำถามในเกมนั้นมักจะมาพร้อมกับความคิดในใจว่า “ถ้าหากมันเป็นเรื่องจริง เราจะตัดสินใจอย่างนี้ได้หรือ?”


👁‍🗨 เป็นเกมที่ไม่อยากเทียบเป็นเรทเท่าไรเพราะมันให้ประสบการณ์คนละแบบกับการเล่นเกมกระดานที่ผมเล่นตามปกติ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเกมที่สนุกดี เหมาะสำหรับกลุ่มที่เข้าใจการบริหาร mind set ของความเป็นเกมที่เราอยากได้ชัยชนะจากเป้าหมายส่วนตัว, การสวมบทบาทในโลกจำลอง และการคิดต่อในเชิงจริยธรรมในโลกจริง แต่ถ้าสมดุลย์ตรงนี้ไม่ดีล่ะก็ เกมนี้จะกร่อยมาก ตอนเล่นหลายครั้งก็ต้องยั้งตัวเองไว้บนน้ำแข็งแผ่นบางๆที่ถ้าเล่นเป็นเกมมากไปเกมจะไม่สนุกเท่าไร อีกอย่าเพราะมันสุ่มเยอะด้วยควบคุมทิศทางไม่ได้เท่าไร ต้องปล่อยตัวไปตามเรื่องของมัน

👁‍🗨 เรื่องตลก (ร้าย) ก็คือ ตอนเล่นเกมนี้จบก็มานั่งคุยตามฉากต่างๆในเกมที่เราจำได้กัน ก็มองย้อนไปพร้อมกับพูดว่า เออ พวกเราแม่งก็ทำตัวเหมือนกับผู้มีอำนาจแถวๆนี้เลยนิหว่า

🔸 จุดที่อาจจะไม่ตรงใจนักก็คงเป็นปัญหาจากระบบการเล่นเองที่การ์ดมันจะเป็นกองกลางที่จะค่อยๆงอกเพิ่มขึ้นมาอันไหนใช้แล้วก็เอาไปทิ้ง แต่ว่ามันสุ่มๆกันออก ทำให้บางทีลำดับเรื่องมันกระโดดไปมา หรือมีพวกคำถามแบบงั้นๆออกมาเป็นระยะๆ จังหวะเนื้อเรื่องเองตอนยืดก็ยืนฉิบ พอจะจบเส้นเรื่องแม่งห้วนๆเฉยไรงี้

🔸 อีกอย่างคือไอเดียทรัพยากรมันจบรอบต่อรอบ ทำให้หลายครั้งเราก็โหวตเพราะมันจะได้ดึงแต้มมาทางเรา แต่จริงๆเราก็ไม่ได้อินกับการตัดสินใจนั้นๆเท่าไร เพราะว่ามันไม่ได้มีผลข้ามไปเกมต่อไป แบบรุ่นพ่อนี้เงินท้องพระคลังเกลี้ยงเลยแต่มารุ่นลูกเกมมันรีเซ็ทมาแบบเดิม ก็อ้าวก็สบายดีนิ ตรงนี้ในแง่การเล่าเรื่องข้ามเวลามันก็จางไปหน่อย

alt tag


💭 จริงๆไอเดียระบบเกมนี้น่าจะเอาไปต่อยอดเป็นพวกเกมการศึกษาในสภาวะจำลองได้อยู่นะ สามารถเอาไปทำต่อยอดได้หลายท่าเลย

🔹 กับเกมนี้มีข้อดีอย่างหนึ่งล่ะ คือมันเป็น Zoomable เกม เล่น online ได้ 100% เพราะแค่มีหยิบการ์ดมาอ่านเท่านั้นเอง พวกแทรคทรัพยากรก็มีคนทำ google sheet ให้เล่นด้วยกันได้ โดยรวมถือว่าสะดวกมากครับ แล้วก็การ setup ทำได้ไวมาก เพราะมีแค่แทรคทรัพยากรแล้วก็พร้อมเล่นเลย เปิดการ์ดโหวตๆๆ จบเกม


▪️ ถ้าหาแก๊งเล่นประจำได้ 12-15 session แล้วมีคนอ่านภาษาคล่องหนึ่งคน อยากได้เกมแนวพูดคุยสวมบทบาทก็แนะนำครับ สนุกดี แต่ถ้ากะเล่นเป็นเกมโหวตขำๆนี้ข้ามได้เลยเพราะไม่สนุกแน่ๆ อารมณ์ว่าควร roleplay/gameplay ซัก 70/30 ไรงี้

▪️ สปอลย์ไว้ก่อน เพราะรู้สึกว่ามีผลกับการเล่นมากแบบเล่นจบแล้วว่าอ้าว……… ว่าถ้าเล่นเกมนี้ครั้งแรกๆคุณจะรู้สึกว่าการได้คะแนนชื่อเสีย(ง)สีดำนั้นดูไม่ดีเลย แต่โปรดเชื่อเถอะว่ามีไว้บ้างก็ไม่เสียหาย แค่ไม่ควรอยู่กับคนเดียวเยอะๆตั้งแต่แรกเพราะจะทำให้เสียพลังโหวตมากเกินไป แต่ถ้าขาวมากไปเกมมันเอียงไปแบบไม่ค่อยสนุกเลย

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->