Keyflower
เกมยูโรระดับกลางที่ผสมระบบการเล่นแบบ Worker Placement กับ Bidding ได้อย่างลงตัวธีมว่าด้วยการพัฒนาหมู่บ้านของเรา เกมนี้เป็นเกมในซี่รี่ย์ Key ที่ออกมาแล้วหลายเกม (แต่ส่วนมากจะหายากล่ะ) ส่วน Keyflower นี้คือชื่อเรือนะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับดอกไม้….
ไอเดียของเกมคือผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีไทล์ศาลาว่าการเล็กๆเป็นของตัวเองและจะต้องส่งคนงานไปประมูล/ทำแอ๊คชั่นในไทล์อื่นๆเพื่อเอามาพัฒนาหมู่บ้านของใครของมัน เกมนี้คนงานจะมีอยู่สี่สีแต่ล่ะสีที่ไม่มีอะไรแตกต่างกันแต่ดีซะว่ามันพูดกันคนล่ะภาษาก็แล้วกัน โดยในตอนต้นเกมผู้เล่นจะได้รับคนงานจำนวนหนึ่งแบบสุ่มมาไว้หลังฉาก
การใช้คนงานในเกมนี้มีอยู่สองแบบคือส่งไปประมูลโดยเอาตัวไปวางข้างๆไทล์ส่วนกลางที่เราอยากจะได้ แต่มีกติกาว่าจะต้องเป็นสีเดียวกันกับคนก่อนหน้าและเราต้องมีจำนวนเยอะกว่า ตรงนี้พอวนไปอีกฝ่ายเค้าจะเลือกส่งตัวมาเพิ่มหรือยอมย้ายหนีไปทำอย่างอื่นก็ได้ ตรงนี้พอตอนจบถ้าเราเยอะกว่าเราก็จะได้ไทล์มาวางไว้ที่หมู่บ้านของเรา อีกแบบคือเอาคนงานไปวางไว้บนไทล์เพื่อใช้ความสามารถประจำไทล์ (ส่วนมากจะเป็นผลิตของ) โดยจะเป็นไทล์ส่วนกลางที่กำลังประมูลอยู่หรือไทล์ที่อยู่ตามหมู่บ้านของผู้เล่นก็ได้ กิมมิคของส่วนนี้คือถ้าเป็นไทล์ที่ประมูลกันอยู่คนชนะประมูลจะได้คนงานตรงนี้ไปด้วย ส่วนตอนจบรอบเจ้าของหมู่บ้านจะได้คนงานทั้งหมดในหมู่บ้านของตัวเองเอาไปใช้ต่อ ส่วนตัวผมชอบระบบนี้นะเพราะเราจะต้องวางแผนให้ดีว่าจะใช้คนงานของเรายังไง บางทีเราอาจจะเลือกส่งคนงานที่เรามีสีน้อยไปทำแอ๊คชั่นแล้วเก็บอันที่เยอะไว้ประมูล/ใช้งาน หรือบางทีเราอาจจะต้องรีบส่งคนงานสีที่มีเยอะไปจองทีไว้ก่อนดี? (เพราะหลังจากนั้นทุกคนต้องใช้คนงานสีเหมือนกันในไทล์นั้นๆ)
ลูกเล่นเสริมจากระบบคนงานหลายสีคือเกมจะให้เราจั่วกลุ่มคนงานที่เราจะได้รับในตาหน้าไว้ให้ แต่ล่ะกลุ่มก็จะมีจำนวนคนงานไม่เท่ากัน ทำให้นอกจากเอาตัวไปทำงานแล้วเรายังต้องแบ่งคนงานไปประมูลเอาสิทธิ์ในการเลือกกลุ่มคนงานก่อนคนอื่นด้วย ถ้าความจำดีหน่อยเราก็จะสามารถแทร๊คได้ว่าคนไหนมีสีอะไรเยอะ (ยกเว้นคนงานตอนต้นเกมที่ได้รับแบบปิด)
ลูกเล่นอีกอย่างที่ซ้อนเข้าไปในเกมคือระบบขนส่งของ ในเกมนี้ไทล์จะสามารถอัพเกรดเพื่อทำแต้มได้ (จริงๆต้องเรียกว่า ต้อง อัพเกรดมากกว่าเพราะแต้มทั้งนั้นแถมถ้าอัพเกรดแล้วจะได้ความสามารถดีขึ้นด้วย) แต่ว่าการจะอัพเกรดได้เราจะต้องขนส่งของที่จำเป็นไปยังไทล์นั้นๆในหมู่บ้านของเราเสียก่อน โดยของที่ได้จากการผลิตถ้ามาจากไทล์ส่วนกลางจะมาโผล่ที่ศาลากลางหมู่บ้าน แต่ถ้าผลิตจากหมู่บ้านเราเองก็จะกองอยู่ตรงนั้นแหละ แน่นอนว่าหนึ่งในไทล์แอ๊คชั่นที่เราจะต้องมาแย่งกันก็คือแอ๊คชั่นส่งของนั้นเอง ความซับซ้อนเล็กๆอีกอย่างคือแต่ล่ะไทล์จะมีถนนที่มีทิศทางไม่เหมือนกันการส่งของต้องเคลื่อนไปตามถนนทำให้เราต้องคิดเยอะกว่าเดิมเวลาหยิบไทล์มาวางเพราะเราอยากจะให้ไทล์ที่ผลิตของกับไทล์รับของอยู่ใกล้ๆกันจะได้ประหยัดแต้มส่งของ (ใน Key to the City : London ที่เป็นตัว ‘streamline’ ของ Keyflower จะตัดระบบถนนกับขนของออกไปทำให้เล่นง่ายขึ้นเหมาะกับผู้เล่นระดับครอบครัวมากขึ้น)
ส่วนที่ไม่ค่อยชอบเท่าไรก็คือรู้สึกว่าเกมมันชวนลีลากับ downtime เยอะไปหน่อยถ้าเล่นเกิน 4 คน ตัวเกมใช้ระบบว่าผู้เล่นแต่ล่ะคนจะประมูลโดยการเอาตัวไปวางไว้ด้านในด้านหนึงของ hex ที่เป็นของตัวเองซึ่งในความเป็นจริงถ้ามีผู้เล่นถึง 6 คนมันจะดูยากมาก (เอาจริงๆคือผมคิดว่าเกมมันทำให้เล่น 6 ด้วยเหตุผลว่ามี 6 ด้านด้วยซ้ำไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจำนวน best) กับด้วยความที่ไทล์แอ๊คชั่นมันมีทั้งในส่วนกลางและในหน้าผู้เล่นเวลาเล่นก็อาจจะต้องเสียเวลาแสกนดูเมืองชาวบ้านเป็นระยะๆ หลายครั้งพอเล่นคนเยอะแล้วจะรู้สึกว่าเกมมันน๊านนนนาน อีกอย่างคือกติกาเขียนไม่ค่อยดีเท่าไรอ่านค่อนข้างยากทั้งๆที่ตัวเกมก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรขนาดนั้น
🐸[กบโอเค] – เป็นเกมที่เล่นได้เรื่อยๆ ระบบการเล่นก็เจ๋งดีมีเอกลักษณ์โดดเด่น ไทล์ออกไม่ครบทำให้เกมไม่ซ้ำซาก แต่ว่าชอบเล่นที่ 4 คนมากกว่า 5-6 คน คือถ้าคนเยอะรู้สึกเกมมันนานแล้วก็ลีลาเยอะไปหน่อย จริงๆน่าจะไประดับ[กบชอบ]แต่ปัญหาที่ไม่ค่อยอยากกางคือรู้สึกว่าเกมเบาไปนิดแต่ดันเล่นนานไปหน่อยกับมีจังหวะ’รอ’เยอะไป เลยหล่นมาเหลือ[กบโอเค] พอใส่ตัวเสริมก็รู้สึกว่าสนุกดี แต่กลับคิดว่ากติกามันยิ่งตอกย้ำเสริมความวุ่นวายให้มากขึ้นไปนิดเทียบกับ weight ของเกม แต่รวมๆผมคิดว่าเป็นเกมที่น่าแนะนำให้เล่นกันนะสอนง่าย เล่นง่าย เกมสนุก
😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก
😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอดถ้ามีคนชวน
🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์
😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่
🖕 กบชูนิ้วกลาง - ไม่ตรงจริตเป็นอย่างมาก ชวนก็ไม่เล่น
อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)