John Company- การค้า-เงินตรา-คอรัปชั่น

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
John Company- การค้า-เงินตรา-คอรัปชั่น

เกมแนว Sand box ที่เล่าเรื่องการดำเนินกิจการของบริษัท East India Company (บริษัทการค้าของอังกฤษ มีชื่อเล่นว่า John Company) ที่ดำเนินกิจการยาวนานกว่า 250 ปี ( คศ 1600 - 1874) ผลงานของนักออกแบบ Cole Wehrle (Pax Pamir, An Infamous Traffic, Root)

ตัว East India Company เป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานโดยผู้ถือหุ้น และมีอำนาจการดำเนินงานเป็นอิสระจากรัฐบาลอังกฤษถึงขั้นมีกองกำลังทหารเป็นของตัวเองจนนำไปสู่การยึดครองอินเดีย เราจะรับบทเป็นผู้นำตระกูลที่เข้ามาลงทุนและทำงานภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ที่เป้าหมายสำคัญไม่ใช่การนำกำไรเข้าบริษัทแต่เป็นการ ส่งคนในตระกูลไปเป็นระดับหัวหน้าแล้วให้ ‘เกษียณ’ ออกไปเสวยสุข (เพราะแต้มมาจากตรงนั้น) แต่แน่ล่ะการจะทำแบบนั้นได้ต้องมีเงิน และเงินก็มีที่มาได้มากกว่าแค่การปันผล


เกมนี้มีสัดส่วนหลายอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นเกมที่หนักที่ ‘แปลก’ ตามแบบฉบับของค่าย Sierra Madre โดยภาพรวมก็ถือเป็นเกมหนักนั้นแหละ แต่มันไม่ได้หนักในแบบยูโรหรืออเมริเทรช (รวมไปถึง wargame) แต่อย่างใด แต่เป็นเกมที่หนักจากรายละเอียดในกติกา และมีความทึบแสงที่สูง (opaque) แต่กระแสของเกมและวิธีเล่นอยู่ในระดับกลางหนัก

ทึบแสง (opaque) : เกมประเภทที่ตอนฟังกติกาแล้วมองไม่ออกว่าเล่นยังไง หรือเกมจะเดินไปทางไหน หลายเกมแม้จะเล่นจบไปแล้วรอบหนึ่งก็ยังนึกไม่ออกว่าต้องทำยังไงดี มีพื้นที่ให้สำรวจในเกมสูง

ตัวเกมดำเนินผ่านรูปแบบเกม Economic (ก็เราเป็นบริษัทขายของนิหน่า) + เจรจา (เกมนี้ถ้ามานั่งนิ่งเล่นไม่ได้ ต้องพูดตลอด) + Risk Management (อ่านว่าทอยเต๋าเยอะสัด) โดยรูปแบบแล้วคือเกมจะมีหลายแผนก แต่ล่ะแผนกก็จะมีผู้เล่นแต่ล่ะคนส่งคนไปนั่งประจำอยู่ เริ่มรอบผู้เล่นที่เป็นประธานบริษัท (ต้องเลือกตั้งมาจากผู้ถือหุ้น) จะกระจายรายได้ประจำปีไปลงตามแผนกในบริษัท เสร็จแล้วผู้เล่นที่เป็นหัวหน้าคุมแต่ล่ะแผนกก็จะเอาเงินไปจัดการตามที่ตัวเองเห็นสมควร (เป็นแอ๊คชั่นสั้นๆตามประเภทของแผนก) จบรอบก็เอาเงินรายได้มาปันผลกับเก็บไว้ใช้ต่อ ตามด้วยทอยเต๋าดูว่ามีผู้เล่นในแผนกไหน ‘เกษียณ’ ออกไปไหม ถ้ามีที่ว่าง เดี๋ยวประธาน (ที่จะถูกเลือกตั้งมาใหม่ทุกครั้งในรอบหน้า) ก็จะทำการเลื่อนตำแหน่งคนเก่าขึ้น แล้วก็หน้าใหม่มานั่งเก้าอี้แทน ก็ค่อนข้างอิงตามความจริงไม่ซับซ้อน แต่หัวใจหลักของเกมมันอยู่ที่ระบบความฮั่วกันเองเนี่ยแหละ โดยก่อนที่บริษัทจะเริ่มทำงานผู้เล่นจะมีสิทธิ์ในการลงทุนในบริษัทก่อนได้แก่:- • เข้าซื้อหุ้น: เพื่อรอรับปันผล และเพิ่มโอกาสในการเป็นประธานบริหาร • สร้างโรงงานต่อเรือ: เพื่อรอขายให้บริษัท • สร้างโรงงานผลิตสินค้า: เพื่อรอขายให้บริษัท • ส่งคนเข้าไปทำงานเป็นพนักงานระดับล่าง: เพื่อรอเวลาเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนกก • ส่งคนเข้าไปเป็นทหาร: เพื่อช่วยบริษัททำการรบ (และถือโอกาสปล้นสะดม) • ส่งคนเข้าไปเป็นกัปตันเรือ: รอซื้อเรือไปทำงานให้บริษัท


ด้วยความที่เกมนี้เป็นเกมเจรจา สิ่งที่เรามักจะเจออยู่บ่อยๆเวลาเล่นเกมแบบนี้ก็คือ ‘สัญญาปากเปล่า’ ระหว่างผู้เล่น แต่เกมนี้เพิ่มระบบ ‘สัญญา’ (Promise) เข้าไปในเกมเลยโดยเราสามารถเสนอคิวป์สีของเราให้ผู้เล่นคนอื่นระหว่างเจรจาได้ ตัวสัญญานี้จะเป็นแต้มลบตอนจบเกม แต่สามารถซื้อคืนได้ อีกส่วนที่ทำให้ระบบสัญญาหน้าสนใจก็คือเวลาประธานจะเลือกใครมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกที่ว่าง (มักเกิดจากการเกษียณไม่ก็เพราะทำงานพลาดเลยโดนเด้ง) ถ้าประธานยกเอาตัวคนงานของตัวเองข้ามหน้าข้ามตาผู้เล่นคนอื่น ประธานก็จะต้อง ‘แจก’ คิวป์สัญญาให้กับผู้เล่นคนอื่นที่เสียโอกาสด้วย

แผนกในเกมจะประกอบไปด้วย (เกมจะให้ไล่ทำแต่ล่ะแผนกตามลำดับ)

แผนกจัดซื้อเรือ: เอาเงินที่ได้รับมาไปเลือกซื้อเรือ เรือจากบางโรงงานจะมีผู้เล่นลงทุนทำอู่ต่อเรือเอาไว้อยู่ถ้ามีผลทำให้ราคาเรือถูกลง(เกมบังคับให้ซื้อของถูกก่อนเสมอ) ถ้าเราซื้อเรือจากอู่ของผู้เล่น ผู้เล่นเจ้าของอู่ก็จะรับเงินด้วย ส่วนเรือที่ซื้อจะถูกส่งไปให้ ‘แผนกการค้า’ รอไปจัดสรรต่อ

แผนกจัดซื้อสินค้า: เราเป็นบริษัทการค้านอกจากเรือแล้วเราก็ต้องจัดหาสินค้าไปด้วย สินค้าในเกมนี้จะเหมือนกันหมด ส่วนหลักการก็ประมาณเดียวกับเรือเลย เจ้าของโรงงานก็ได้เงินจากสินค้าที่บริษัทซื้อไป

กิจการทหาร: แผนกนี้จะจัดซื้อยุทโธปกรณ์เข้ากองทัพ เวลาซื้อก็ซื้อจากโรงงานชุดเดียวกับสินค้านั้นแหละเงินก็ไหลเข้าเจ้าของโรงงานเหมือนกัน ต่างกันแค่ถ้าแผนกนี้ซื้อจะเรียกปืน จากนั้นเจ้าของแผนกนี้จะทำการจัดส่งปืนที่พึ่งซื้อมา รวมไปถึงนายทหาร (เป็นคิวป์ของผู้เล่นที่ส่งมาสมัครไว้ในรอบที่แล้ว) ไปประจำตามท่าเรือของบริษัท (มีสามท่า ทำงานเหมือนกันหมด)

แผนกการค้า: แผนกนี้ก็เริ่มมาจะถามบรรดากัปตัน (เป็นคิวป์ของผู้เล่นที่ส่งมาสมัครไว้ในรอบที่แล้ว) ว่าอยากออกเรือไหม ถ้าจะออกก็ต้องให้ครอบครัวไปซื้อเรือมา เสร็จแล้วก็จะจัดสรรเรือและสินค้าที่สองแผนกก่อนหน้าจัดซื้อไว้ให้ส่งไปตามท่าเรือทั้งสามเพื่อรอการขาย

เมืองท่าทั้งสาม (เบงกอล, มาดราส, บอมเบย์): แผนกนี้ทำหน้าที่ได้สามอย่าง คือ เดินทัพ: เอาทหาร+ปืนที่มีไปเข้ายึดดินแดนของอินเดีย (ทอยเต๋าเท่ากับจำนวนทหาร/ปืน) ถ้าสำเร็จเราจะไปจัดตั้งแผนกใหม่เพิ่มที่ดินแดนนั้น และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมรบจะได้รับเงินจากการปล้นสะดม

เปิดเส้นทางการค้า: ดึงดินแดนของอินเดียเข้ามาทำการค้าด้วย (ทอยเต๋าได้เท่ากับจำนวนเงินที่จ่าย)

ล่องเรือ: ส่งเรือไปทำการค้ากับดินแดนที่เราติดต่อไว้ (ทอยเต๋าได้เท่ากับจำนวนเงินที่จ่าย)

ระบบการทอยเต๋าเช็คจะเป็นแบบทอยจำนวนเท่าไรไม่สน สนแค่เลขต่ำสุดเลขเดียว ถ้าได้ 1-2 คือผ่าน 3-4 ไม่มีอะไร 5-6 ถือว่าดำเนินการผิดพลาดต้องโดนไล่ออก ถ้าอยากจะให้สำเร็จก็เลยต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเพิ่มโอกาส แต่ล่ะแบบก็มีกติกาลดจำนวนเต๋าที่ทอยได้ต่างกันนิดหน่อย ทำแบบนี้กับทั้งสามท่าเรือ บางเกมจะมี event ที่เราได้เริ่มทำการค้ากับจีน (แรกๆก็ใบชา หลังๆก็ฝิ่น :P) เราก็จะมีท่าเรือเพิ่มขึ้นอีกอัน หรือบางครั้งไปยึดดินแดนอื่นสำเร็จก็จะแผนกเพิ่มในดินแดนนั้นให้ทำอะไรอีกนิดหน่อย

พอผ่านตรงนี้ไปก็จะมีเอาเงินได้จากการค้าขาย ไปจ่ายค่าใช้จ่ายพวกเรือค่าบำรุงทหารกับอาวุธตามด้วยการปันผล เงินที่เหลือก็เอาไปใช้รอบหน้า


ส่วนที่ดวง (แต่จริงๆมันค่อนข้างคาดเดาได้ประมาณหนึ่งแต่มันมองออกยากถ้าไม่เก็ท) คือ event ที่จะเปิดตอนจบรอบ – เกมจะมีมาร์คเกอร์เป็นรูปช้างที่จะเดินหน้าไปตามรูปแบบแบบหนึ่งแต่จะเดินมากน้อยขึ้นอยู่กับเลขในการ์ด ที่ไหนที่ช้างไปเหยียบจะมีการทอยเต๋าเพื่อดู event ซึ่งมีทั้งเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง (ถ้าจากดีเป็นแย่แล้วเราขายของไป เราจะต้องพังเรือทิ้ง), ดินแดนนี้ไปตีดินแดนอื่นมาเป็นเมืองขึ้น, ประกาศเอกราชจากดินแดนอื่นหรือบริษัทของเรา ฯลฯ ทำให้เกมนี้เน้นแก้ปัญหาตรงหน้าเป็นหลัก  ตามด้วยวิธีการทำแต้มหลักของเรานั้นคือการ ‘เกษียณ’ เกมจะไล่ทอยเต๋าเพื่อเช็คว่าเราสามารถเกษียณได้ไหมโดยหัวหน้าแผนกระดับล่างจะต้องทอยให้ได้ 6 (16%) เท่านั้น ส่วนหัวหน้าระดับสูงจะต้องทอย 5-6 (33%) และประธานบริษัทจะต้องทอย 4-6 (50%) ถ้าทอยได้เราก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะหลบออกไปที่การ์ดรางวัล (Prize) ใบไหน การ์ดนี้เกมจะสุ่มออกมาตั้งแต่ต้นเกม แต่ล่ะอันมีค่าใช้จ่ายในการเข้าไม่เท่ากัน บางอันก็มีความสามารถด้วย โดยอันนี้คือแต้มหลักของเกมเลย ตามด้วยผู้เล่นจะมาร่วมกันโหวตว่าจะให้กฎหมายที่มีผลทั้งเกมบน event ให้ผ่านหรือไม่ผ่าน (เสียงในการโหวตจะมาจากอำนาจทางการเมืองที่เกิดจากการครอบครองโรงงานและอู่ต่อเรือ) พอจบตรงนี้เราก็จะเริ่มรอบใหม่

note: จริงๆเกมใช้คำว่า Attrition ซึ่งไม่ได้แปลว่า ‘เกษียณ’ (retire) แต่เป็นคำที่ปกติจะใช้ตอนในเชิงการปรับโครงสร้างโดยลดจำนวนพนักงาน แต่รู้สึกว่ามันอธิบายให้ลงกับธีมโดยการพูดสั้นๆยากนิดนึงเลยเอาเป็น ‘เกษียณ’ ล่ะกัน

![alt tag](/assets/boardgames/etc/john-company-aobchay.jpg


เกมนี้เล่นไปแล้วจะนึกถึงระบบอุปถัมภ์แบบในบ้านเรา ตัวอย่างเช่นเราไปตั้งโรงงาน แล้วก็หาทางล๊อบบี้ประธานให้ส่งเราไปคุมแผนกจัดซื้อหน่อย เราจะได้จัดซื้อของจากโรงงานตัวเอง (ได้เงินเข้ากระเป๋า) โดยสัญญาว่าเดี๋ยวของที่ได้เนี่ย ตัวเราที่อยู่ในแผนกการค้าจะส่งสินค้าไปให้ท่าเรือที่ประธานกำลังคุมอยู่ เพื่อที่ประธานจะได้เอาไปทำเงินต่อ (การเป็นเจ้าของท่าเรือถ้าส่งสินค้าสำเร็จคนคุมจะได้เงินด้วย) อะไรประมาณเนี่ย คือเกมมันต้องคุยต้องอวยกันเป็นระบบ ดีลที่ไม่ค่อย make sense ก็มักจะไม่ค่อยมีเพราะมีระบบ ‘สัญญา’ มาค้ำ และด้วยความที่แต่ละแผนกต้องใช้เงินในการดำเนินงาน (และผลประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งที่จะหาเงินเข้ากระเป๋า) การเจรจาของบประมาณจากประธานก็สำคัญ เพราะแต่ล่ะแผนกก็ต้องการความร่วมมือจากแผนกอื่นๆด้วย แล้ววิธีดึงเงินออกจากบริษัทมาเข้าตัวมันก็มีหลายทาง คือจะเรียกว่าโกงก็ไม่ใช่นะ แต่เป็นการจากหาประโยชน์จากระบบเครือญาติมากกว่า ตรงนี้มันเลยทำให้บรรยากาศของเกมน่าสนใจขึ้นไปอีก

🐸[กบชอบ] – เกมนี้ต้องการแนวคิดการเล่นแบบที่ต้องสวมบทบาทนิดๆ เหมือนมาอยู่ในโลกจำลองดูเรื่องราวไปเรื่อยๆหน่อยๆ คือคิดเป็นเกมสุดตัวมากๆไม่ได้ ไม่งั้งอาจจะเซงกับความไม่เป็นใจของหน้าเต๋าได้ ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็นระบบเต๋า event ที่อาจจะคาดเดาได้ยากซักหน่อยจนเหมือนกับว่ามันมั่วมาก (แต่อย่างที่บอกมันมีความเป็นไปได้ของมันอยู่ไม่ได้มั่วขนาดนั้น นักออกแบบเองก็เขียนบทความประกอบเกี่ยวกับเรื่องดวงในเกมนี้ไว้ในคู่มือด้วย) กับเห้ยกูทำงานมาแทบตายดันเกษียณออกไปไม่ได้เพราะทอยเต๋าไม่ได้เนี่ยนะ!!! ตรงนี้ก็มองได้ว่าเป็นข้อเสีย หรือว่ามันเป็นธีมก็ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเรื่องที่โอเคนะเพราะถ้าอินไปกับเรื่องราวแล้วก็จะสนุกกับมันได้เยอะทีเดียว เป็นเกมที่เล่นแล้วรู้สึกได้เลยว่าธีมมันล้นออกมาจากกระดานโดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์แฟนซี

กติกาตอนอ่านก็งงๆหน่อยตามประสาเกมจากค่ายนี้ นี้เป็นเกมแรกที่ผมต้อง mock up เล่นเป็นสี่คนไปครึ่งเกมกว่าจะพอเข้าใจว่าเกมมันทำงานยังไง (คือกติกามันไม่ได้ยากมาก แต่อ่านแล้วงงว่ามันจะเล่นยังไงเพราะภาพประกอบแทบไม่มี) แต่พอเล่นจริงครั้งแรกก็งงอยู่ดีเพราะธรรมชาติของการเจรจาระหว่างคนจริงๆมันสนุกกว่าเยอะ พอเข้าใจแล้วเกมมันก็เดินค่อนข้างตรงไปตรงมา (มีคนกระจายเงิน มีคนซื้อของ มีคนกระจายของ) ข้อดีของเกมนี้คือสอนง่าย มีจุดแบบที่ไม่ต้องอธิบายจนกว่าจะถึงเวลาเยอะ (ตีว่าสองรอบแรกให้เดินมั่วๆหน่อยก็ยังได้) แต่จุดที่หงุดหงิดคือต้องเปิดคู่มือบ่อยเหมือนกันว่าเวลาทอยอะไรมันเช็คอะไร แล้วโดนลดจากอะไร แล้วก็บรรดา event ที่พอเกิดขึ้นแล้วมันต้องปรับอะไรบ้าง ตรงนี้มีรายละเอียดตรงนั้นตรงนี้หลายอันเลยรู้สึกสะดุดๆตลอด (แต่ก็อาจจะเป็นเพราะเกมแรกด้วยล่ะ) อีกจุดที่ไม่ชอบนิดหน่อยคือเงินมาเป็น disc พลาสติกที่ไม่มีหน้าต้องมาจำเลขเอาเอง แต่พอดีมีเหรียญกลางส่วนตัวแล้วเลยเฉยๆ กับกระดานมันเล็กไปหน่อย แต่ก็ตามขนาดกล่อง แล้วข้อมูลมันก็ครบถ้วนดี เหมือนจะรกแต่พอเล่นเป็นแล้วก็พบว่าเรียงกันได้สวยงามสะอาดตาดี

อย่างที่บอกว่ามันเป็นเกมเจรจา เกมนี้สำหรับคนที่ไม่พูดจาแล้วน่าจะบอกได้ทันทีว่ามันเป็นเกมกากๆที่ไม่เหมาะกับคุณเท่าไร แต่สำหรับผมแล้วคิดว่าเกมที่สนุกๆที่ให้บรรยากากาศแปลกใหม่ที่จับเอาการบริหารธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่, คอรัปชั่น และการเจรจามาได้อย่างน่าสนใจ

ตัวเกมมีหลายโหมดให้เลือกมีแบบ fullgame ที่จำลองเหตุการณ์ที่สิทธิ์ผูกขาดของ EIC ถูกยกเลิกทำให้ผู้เล่นสามารถจัดตั้งบริษัทไปทำการค้ากับอินเดียได้โดยตรงเองด้วย (และต้องหาเงินมาจ่ายปันผลผู้ลงทุนที่เป็นผู้เล่นรายอื่นด้วย) ส่วนตัวยังไม่ได้ลองคิดว่าน่าจะสนุกดี แต่ก็คงทำให้เกมมันลากยาวขึ้นโดยที่ต้องอ่านกติกามากขึ้น คิดว่าน่าจะเหมาะกับกลุ่มที่เล่นแบบธรรมดามาจนคล่องแล้ว (ซักสองสามรอบ) ส่วนแบบสั้นที่เหมาะกับเอาไว้สอนก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเกมเต็มก็น่าจะบวกไปอีกซัก 90 นาทีได้

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->