Irish Gauge
▪️เกมสาย Cube Rail เล่นง่ายใช้เวลาไม่นาน ที่จะให้ผู้เล่นมาลงทุนในกิจการรถไฟ เดิมเป็นเกมทำมือแต่ว่าค่าย Capstone Games ไปซื้อสิทธิ์มาทำใหม่ พัฒนางานผลิตและงานศิลป์ใหม่หมด ออกแบบโดย Tom Russell
📌 sidenote: ระบบ Cube Rail เป็นแนวการเล่นที่มีจุดร่วมหลักคือ มีบริษัทรถไฟหลายเจ้าดำเนินกิจการโดยการให้ผู้เล่นวาง ‘ราง’ ไปบนแผนที่เสมือนว่าได้เดินรถมาถึงจุดนั้นแล้ว โดยรางนั้นไม่ใช่ไทล์ แต่ว่าเป็น cube สีของบริษัทนั้นๆ (เป็นที่มาคำว่า Cube Rail) จุดเด่นของวิธีนี้คือ cube ที่วางติดกันจะถือว่าเชื่อมต่อกันโดยทันที โดยไม่ต้องลากเส้นรางให้ต่อกันวกวนแบบเกมสไตล์ Tile Laying ตามปกติ
▪️ลักษณะเด่นอื่นคือแต่ล่ะบริษัทจะมีจำนวนรางจำกัด และมีจำนวนหุ้นน้อย ( แค่ 2-4 ใบ) ไอเดียเกมคือจะให้ต่อรางไปตามจุดทำเงิน (มักจะเป็นเมือง) และทำแอคชั่นปันผลเพื่อแบ่งเงินระหว่างผู้ถือหุ้น ตัวเกมมักจะมีชุดกติกาที่สั้น จำนวนแอคชั่นที่น้อย ดวงต่ำ (จนถึงไม่มี) และใช้เวลาในการเล่นราว 60 นาที
▪️เกมเด่น (ที่มักได้ยินชื่อบ่อย เนื่องจากมีการผลิตแบบ mass) ของตระกูลนี้คือ Chicago Express และ American Rails แต่เกมระบบนี้ส่วนมากมักจะถูกผลิตโดย Winsome Games ในรูปแบบเกมทำมือขายเฉพาะในงาน Essen ปีละครั้ง และต้องสั่งจองล่วงหน้า แต่ก็มีหลายตัวที่ทางค่ายขายสิทธิ์ให้เจ้าอื่นไปตีพิมพ์แบบมืออาชีพ (อย่าง Irish Gauge ที่กำลังเขียนถึงนี้แหละ )
▪️ไอเดียเกมก็ตามขนบ Cube Rail ตามปกติ ถ้าเล่น Chicago Express หรือ American Rails มาก่อนก็จะตามได้ทันที แต่เอาจริงๆชุดกติกาก็สั้นมากแค่สองหน้ากระดาษ A4 (คือคู่มือมันเป็นกระดาษแผ่นเดียวจริงๆนะ ไม่ใช่แผ่นสรุป) สอนง่ายกว่าเกม gateway หลายเกม ตาหนึ่งๆผู้เล่นก็เลือกทำระหว่างแอคชั่น 4 อย่างไปมาเท่านั้นเอง ได้แก่
○ วางราง (ที่เป็นโทเคนไม้)
○ หยิบหุ้นของบริษัทมาประมูล
○ วางคิวป์สีการลงทุนเอาไว้ที่เมืองที่ต้องการ
○ ปันผล
▪️ไอเดียคือเราถือหุ้นเจ้าไหนไว้ก็อยากจะวางรางเจ้านั้นให้เดินไปถึงเมืองในแผนที่ เพราะยิ่งเชื่อมต่อกับเมืองเยอะเวลาปันผลก็จะได้เงินเยอะ ถ้าบริษัทไหนมีผู้ถือหุ้นหลายคนก็เท่ากับมีคนมาช่วยทำให้กิจการรุ่งเรื่องขึ้น แต่คนมาช่วยหารตังก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ความสนุกและสาระสำคัญหลักของเกมสไตล์นี้เลยอยู่ที่การให้น้ำหนักว่าจะทำแอคชั่นแบบไหนเราถึงจะคุ้ม และแบบไหนควรปล่อยไว้จะได้กินแรงคนอื่นดี เพราะแอคชั่นเรามีจำกัด จำเป็นต้องมองและดู turn order ให้ดีว่าทิศทางเกมจะเป็นแบบที่เราต้องการไหม
▪️สีสันหลักที่ทำให้เกมนี้ฉีกจาก Cube Rail อื่นคือ ‘ดวง’ ที่ในเกมจะมีสิ่งที่เรียกว่า โทเคนการลงทุนอยู่สามสี มีจำนวนเท่ากัน ในระหว่างเล่นเราก็จะได้เลือกเอาคิวป์สีนี้ไปวางตามเมือง เมื่อใดก็ตามที่มีคนเลือกแอคชั่นปันผลก็จะจั่วเอาคิวป์สีที่เหลือในถุงออกมา ถ้ามีสีไหนบริษัทที่ดำเนินกิจการสร้างเส้นทางกับเมืองนั้นก็จะได้เงินด้วย (แต่ถ้าไม่มีก็จะไม่ได้อะไรเลย) ความน่าสนใจของระบบนี้คือมันเป็นดวงแบบคาดเดาได้ เพราะจำนวนคิวป์จะถูกหยิบออกไปเรื่อยๆและสามารถดูได้ตลอด และเมื่อปันผลจนคิวป์หมดก็จะจบเกม (ราวๆ 6-7 ครั้ง)
[🐸 Hang out friend, จิบกาแฟยามบ่ายคุยเรื่องการลงทุนกับอาจารย์เศรษฐศาสตร์] -
ช่วงเวลานึกครึ้มอยากจะคิดเลขแบบจริงจังนิดๆแต่ยังคงบรรยากาศสบายๆเหมือนอ่านหนังสือวิจัยใต้ร่มไม้ เพื่อนคนนี้ก็พร้อมจะพาเราไปอยู่เสมอ
🔹ผมมองเกมนี้ในฐานะ Thinky filler นะไม่ใช่เกมมื้อหลัก แต่ก็เป็นเกมสลับฉากที่ดีเลย ( Thinky filler - เกมแบบใช้สมองที่เล่นจบก็ไม่รู้สึกหนักปวดหัว ใช้เวลาเล่นราว 30-60 นาทีและกติกาไม่ซับซ้อน) ซึ่งในกรอบนี้เกมค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะกติกาน้อยและคลีน สอนง่าย กางง่าย คนเล่นใหม่ก็ยังสามารถตามเกมได้ไม่ยาก มีคุยพอขำๆ แต่ว่าเกมกลับได้เกมที่ลึก โดยที่เราไม่รู้สึกว่าต้องเหนื่อยคิดมูฟมากมาย
👁🗨 จุดสำคัญสไตล์ love it or hate it คือเกมนี้เหี้ยมกว่าที่คุณเห็น มันเป็นเกมสไตล์ snow ball เงินต่อเงินที่คนนำมันจะนำเรื่อยๆ และคนที่เล่นพลาดก็จะจมแบบกลับตัวยากซักหน่อย ข้อดีของเกมนี้คือถ้าไม่คิดอะไรมากกว่าคุณจะรู้ตัวก็จบเกมโน้นเลย (อารมณ์ Power Grid น่ะ คือถ้าบวกเลขเป็นจะรู้ว่าแพ้ แต่มันไม่มีความรู้สึก Negative บี้ตามหลัง) หมายความว่าตอนเล่นนั้นจะทำอะไรก็ต้องคิดเยอะหน่อย แต่ข้อดีก็คือมันจบไวด้วยล่ะ
🔹จุดที่คนอาจจะไม่ชอบในเกมสไตล์ Cube Rails ที่ผมเล่นมาหลายเกมคือมันมักจะเป็นเกม Luckless ที่พอเล่น ซ้ำบ่อยจะรู้สึกว่ามูลค่าของในเกมจะนิ่งจนน่าเบื่อ แต่ในเกมนี้ผมชอบสีสันในการสุ่มของมันนะ เพราะมันให้ความรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมมันได้ระดับหนึ่งผ่านการดึงคิวป์ออกมา และแต่ล่ะเกมก็จะมีการสุ่มเมืองที่เกิดเล็กน้อยทำให้แต่ล่ะเกมไม่ซ้ำซากกันเกินไป
🔸จุดที่คนอาจจะไม่ชอบอีกอย่างคือในบางจังหวะพอบวกเลขแล้วคุณอาจจะรู้สึกเหมือนโดนบังคับทำ optimal move บ่อย แต่หลายครั้งมันก็มักจะเป็นผลจากการเล่นรอบก่อนๆหน้านั้นแหละ ด้วยความที่พื้นที่ในการดิ้นหรือความให้อภัยต่อการเล่นพลาดค่อนข้างต่ำ ถ้าจังหวะไม่ดั่งใจมากก็อาจจะรู้สึกว่าขาดอิสระจนไม่สนุกก็ได้ (แต่หลายครั้งถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ก็ยินดีด้วย เพราะมักจะแปลว่าคนข้างหน้าเล่นเก่งและคุณมีทักษะมากพอที่จะรับรู้ว่าคุณกำลังโดนบีบ)
🔸จุดติเล็กน้อยคือแม้เกมจะใส่ข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างไว้บนกระดาน(ซึ่งดีมาก) แต่ว่าดันไม่ได้ใส่ remainder ว่าในเกมมันทำแอคชั่นอะไรได้บ้าง ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ซักนิดเพราะคู่มือเกมมันแค่กระดาษแผ่นเดียว แค่แบบเสียดายนิดๆ เพราะใช้พื้นที่กระดานได้เกือบ perfect ล่ะ
💭 ถ้าเทียบกับ Chicago Express ส่วนตัวผมชอบเกมนี้มากกว่าตรงที่ใน CE จังหวะปันผลมันควบคุมไม่ค่อยได้ กับเกมนั้นไม่มีดวงเลย ทำให้ค่อนข้างอ่อนไหวเวลาเล่นอยู่ผิดวง แต่เกมนี้ไอ้ความที่มันมีสีสันของการสุ่มปันผลก็ทำให้มันกลายเป็นเกมลงทุนที่ต้องใช้ความคิดที่ยังรักษาความผ่อนคลายแบบเกมเล่นชั่วโมงเดียวได้เป็นอย่างดี
💭 ถ้าเคยเล่น Chicago Express กับ American Rails มาก่อน เกมนี้ก็ยังมีความแตกต่างมากเกินพอที่จะทำให้น่าลองเล่น หรือถ้าเคยเล่นประมาณ Mini Rails มาก่อนแล้วอยากได้อะไรที่ step up ขึ้นมา เกมนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน กับมาคิดๆแล้วเกมสไตล์นี้ ก็อาจะเหมาะเอาไว้แข่งเป็นกิจกรรมนักเรียน นักศึกษาเหมือนกันนะ เพราะแห้งพอที่จะต้องใช้สมองคิดแต่ก็มีสีสันมากพอที่จะให้ความรู้สึกว่ากำลังเล่นเกมอยู่ เกมนี้ค่าย Capstone ดูจะหมายมั่นทำเป็นซี่รี่ย์มาขาย อิงจากราคาแล้วก็คงตามซื้อเกมเรื่อยๆนะ (เป็นเหยื่อการตลาด ซึ่งเอาจริงๆเกมแบบนี้มีกล่องเดียวก็พอแล้วแหละ)
Compatible Level - เกมนี้เข้ากับคนเขียนได้ระดับไหนนะ!!
🐸 Family, อาจจะมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจกันบ้างแต่ครอบครัวคือสิ่งที่จะอยู่กับเราตลอดไป นี้คือเกมที่จะมีพื้นที่ถาวรในชั้นวางแน่นอน!! แม้บางเกมจะเปรียบดั่งคุณปู่ใจดีที่ได้เจอกันแค่ปีล่ะครั้ง แต่อันดับในใจนั้นคือความสนุกในช่วงเวลาที่เล่น หาใช่การได้เล่นซ้ำไม่รู้เบื่อเพียงอย่างเดียว [ex. กบโปรด, กบชอบ]
🐸 Hang out friend, เพื่อนกินเที่ยว ถ้าไม่ติดธุระอันใดก็พร้อมจะออกไปพบเจอ สนุกยามได้พบปะ แต่จะให้เจอกันบ่อยๆคงใช่ที - เกมสนุกที่อยากเล่นในระดับที่อยากจะหยิบกางเป็นบางครั้ง สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยตามจังหวะและโอกาส แต่เราก็ไม่ได้อยากซ้ำต่อเนื่องรัวๆ [ex. กบโอเค]
🐸 Someone I know, หากบังเอิญพบเจอ ก็คงได้ทักทายไต่ถาม หากแต่ในยามปกติมิอาจนึกชื่อออก ยืนคุยก็ได้ แต่คงไม่ได้เอื่อนเอ่ยนัดกินข้าว - บางเกมเราก็ไม่ได้อยากชวนเล่น แต่ถ้าไม่มีอะไรทำแล้วมีคนชวนก็เล่นก็ได้ [ex. กบเฉย]
🐸 I Turn left, You Turn Right - เธอชอบกินเผ็ด เราชอบกินอาหารญี่ปุ่น เธอชอบคนคารมดีพาไปกินที่หรู แต่เราชอบเล่นเกมอยู่กับบ้าน แม้จะได้คุยเป็นบางคราแต่คงไม่อาจพัฒนาความสัมพันธ์ - บางเกมแม้ว่าจะดีแค่ไหน แต่ถ้ารสนิยมมันไปด้วยกันไม่ได้ก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม [ex. กบไม่เล่น]