Indonesia - สร้าง-ส่ง-รวบ....กิจการ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Indonesia - สร้าง-ส่ง-รวบ....กิจการ

ตอนแรกเขียนไว้เป็น #thought ไว้ลง facebook แต่ยิ่งเขียนยิ่งยาว แต่ก็ไม่อยากปรับเป็น full review เท่าไรเลยออกมาเป็นบทความรีวิวที่มีทิศทางมั่วซั่วนิดนึง

Indonesia เกม economic ระดับขึ้นหิ้ง ที่พึ่งเอาพิมพ์ใหม่หลังจากขาดตลาดไปนาน ผมเองเคยทำ PnP เองกับเล่น online เมื่อประมาณสองปีที่แล้วมั้ง รอบนี้พึ่งได้ลองมาจับกระดานจริงๆครั้งแรก ขอสรุปสั้นๆก่อนไปต่อ คือผมคิดว่าเกมนี้เหมือน “เพชรที่จมอยู่ในบ่อโคลน”

“แกนเกมเรียบง่าย คือผลิตสินค้าไปขายที่เมืองผ่านเส้นทางเดินเรือ จบเกมตังเยอะสุดชนะ”

บริษัทในเกมนี้แบ่งเป็นสองแบบ อย่างแรกคือบริษัทผลิตสินค้ามี 5 ชนิดโดยทั่วไปแล้วนอกจากราคาขายที่ไม่เท่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรต่าง กับบริษัทเดินเรือที่เอาไว้เป็นตัวกลางรับส่งสินค้า

เฟสในเกมค่อนข้างคลีน พอประมูลเทิร์นเสร็จถึงตาใครมีบริษัทอะไรในมือก็ activate บริษัทนั้นให้หมด บริษัทสายผลิตก็สร้างของมาแล้วก็เอาใส่เรือลำเลียงไปส่งเข้าเมือง ขายของเสร็จได้ตัง พอได้เงินมาก็ต้องเอาไปจ่ายเจ้าของเรือเป็นค่าขนสินค้า (เราถือทั้งคู่ก็ได้) บริษัทเรือก็จะเอาเรือไปวางตามน่านน้ำขยายเส้นทางไปรับสินค้า แต่ก็ไม่อยากให้มันใกล้เมืองเกินไปเพราะจะได้ค่าต๋งน้อย เลยวางให้มันอ้อมๆหน่อย หรือบางทีก็ไม่ต่อให้แม่มเลย บังคับให้คนอื่นต้องหาทาง “ซื้อ” บริษัทเราไป เค้าจะได้เอาไปใช้งานต่อสะดวกๆ

นอกจากเมืองจะรับของได้จำกัดแล้ว เรือก็ยังขนของได้จำกัดด้วย คนเล่นก่อนจึงได้เปรียบ เกมนี้เลยประมูลกันโหดใช้ได้ เพราะถ้าส่งของทีหลังโอกาสที่เรือจะเต็มจนขนของไม่ได้ หรือว่าเมืองปลายทางรับของครบแล้วมีสูงมาก

ในแต่ล่ะตาของเกมนี้ผู้เล่นจะได้สิทธิ์ในการ upgrade technology ได้หนึ่งครั้ง แต่ล่ะอันก็เต็มไปด้วยตัวเลือกปวดใจเพราะอยากได้ทุกอย่าง แต่ดันเลือกได้แค่อันเดียว ได้แก่

  • บอกเลขประมูลเท่าไรคูณไป x เท่า : มีผลอย่างมากเวลาประมูลเทิร์นเพราะขยับตัวคูณที คนที่อยู่ระดับล่างกว่าแทบสู้ไม่ได้
  • เพิ่มสิทธิ์ในการถือบริษัทเพิ่ม : จำนวนบริษัทเยอะก็ยิ่งดีนะ เพราะเปิดได้ฟรีไม่เสียตัง
  • สิทธิ์ในการประกาศควบรวมกิจการ : หนึ่งในคีย์หลักของเกม เพราะเอาไว้ประกาศให้ บริษัทสองเจ้ารวมร่างกัน
  • ศักยภาพในการขยายพื้นที่ : ยิ่งเยอะก็ยิ่งขยายพื้นที่ให้กับบริษัทได้เร็ว
  • เพิ่มขนาดท้องเรือ : ทำให้เรือทุกลำที่เรามีขนสินค้าได้มากขึ้น

ที่สนุกคือหลายๆครั้งผู้เล่นสายผลิตของต้องยอมเสียสิทธิ์ upgrade ของตัวเองเพื่อ “ช่วย” เพิ่มขนาดท้องเรือให้บริษัทคู่ค้าฟรีๆ เพราะไม่งั้งจะส่งของไม่ได้

จุดเด่นจริงๆของเกมนี้ก็คือการ”ควบรวมกิจการ”

บริษัทชนิดเดียวกันในเกมสามารถถูกจับรวมเป็นบริษัทเดียวกันได้ ผู้เล่นที่มี “สิทธิ์ในการประกาศควบรวมกิจการ” ระดับสูงพอจะสามารถประกาศให้สองบริษัทรวมกัน แล้วการประมูลก็จะเกิดขึ้น ขั้นตอนนี้ผู้เล่นทุกคนที่มี “สิทธิ์ในการถือครองบริษัท”เหลือจะสามารถร่วมประมูลได้ทุกคน(พูดอีกอย่างก็คือมี slot ว่าง) หลังจบประมูลเงินก็จะถูกแบ่งไปยังเจ้าของเดิม ข้อดีของเกมนี้คือมีการการันตีราคาขั้นต่ำเท่ากับราคาทุน ทำให้ไม่มีการประมูลกดราคาขาย

จังหวะควบรวมกิจการเกมนี้สำคัญมากเพราะเป็นทั้งการ

  • “ขาย” เพื่อทำแต้ม (เกมนี้นับที่เงินอย่างเดียว มูลค่าบริษัทไม่มีความหมาย)
  • “ซื้อ” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
  • “เพิ่ม” พื้นที่ว่างเอาไว้เปิดบริษัทอื่นเพิ่ม แล้วก็
  • “ทำร้าย” ช่องทางหาเงินของผู้เล่นคนอื่น

จังหวะตรงนี้ของตัวเกมสนุกมาก(คือชอบมากกกกกกกกกกกกก) การจับจังหวะควบรวมบริษัท การเลือกขยายบริษัททำออกมาได้เรียบง่ายแต่ว่าลึก มีการขัดขา การมองเส้นทางการค้าที่สนุกมาก เป็นเกมดีๆแบบที่ถ้าพลาดก็ไส้แตก (แนวทางการส่งสินค้านี้ได้รับการพัฒนามาอีกใน The Great Zimbabwe ตามด้วย Food Chain Magnate) แต่ข้อเสียที่หนักหนาจนพูดได้เลยว่า“ห่วยแตก” (ในมุมมองสำหรับฉบับเอามาทำใหม่) คือการใช้ component กับการขาดการประยุกต์ใช้ user interface ตามแบบบอร์ดเกมสมัยใหม่

“Gameplay ขั้นเทพ แต่ในฐานะเกม Reprint แล้วถือว่าสอบตก”

ขอย้ำจุดประสงค์ในการบ่นอีกที ประเด็นคือเกมนี้เป็นฉบับพิมพ์ใหม่หลังผ่านไปหลายปี สมควรเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการ “พัฒนา”ให้ดียิ่งขึ้น

อย่างแรก: ที่เห็นตั้งแต่ทำออกมาครั้งแรก คือพื้นที่วางไทล์การผลิตสินค้ามีขนาดไม่เท่ากัน เล็กบ้างใหญ่บ้างตามรูปทรงพื้นที่ ปัญหาคือหลายๆที่ช่องที่ว่าดันเล็กกว่าไทล์ ทำให้เวลาวางต้องเบียดๆกันจนล้นทับกันมั่วไปหมด คือไม่จำเป็นต้องให้แผ่นที่มัน “สมจริง” ขนาดนั้นก็ได้ป่ะ?

อย่างที่สอง: คือไทล์เรือทำมาใหญ่ไปไหน (อันเก่าเป็นเป็น token เรือไม้อันเล็กๆ) พอวางในน่านน้ำบางพื้นที่แค่อันเดียวแล้วมัน “ล้น” หว่ะครับ แล้วเกมนี้น่านน้ำนึงมันวางเรือได้หลายลำ กูต้องมาดูอีกว่าไอ้ที่วางตรงนี้อยู่ตรงน่านน้ำไหนเพราะหลายๆครั้งมันจะเกยๆกัน พูดประโยคเดิม คือไม่จำเป็นต้องให้แผ่นที่มัน “สมจริง” ขนาดนั้นก็ได้ป่ะ?

อย่างที่สาม: คือวิธีที่เกมใช้บอกระดับเมืองทำมาเป็นเม็ดแก้วสีๆ คือมันสวยอ่ะใช่ แต่มันไม่ functional ต้องมาดูอีกว่าเมืองสีไหนรับของได้เท่าไร คือตอนนี้มันยุคไหนแล้ว……

อย่างที่สี่: ชิ้นไม้บอกสินค้าอันใหญ่โคตรพ่อที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้นี้เอามาทำไมว่ะครับ?

คืองี้ระบบการส่งสินค้าในเกมจะเริ่มจาก

  1. พลิกไทล์ production เพื่อบอกว่าผลิตแล้ว
  2. เอา token ไม้ (ชิ้นใหญ่โคตรพ่อ) ไปวางไว้ตามเรือที่เราใช้ในการเดินสินค้า
  3. พอส่งไปถึงเมืองปลายทางก็ต้องวางสินค้าไว้เพื่อให้รู้ว่าเมืองนี้รับสินค้าเต็มโควต้าหรือยัง
  4. วนกลับไปข้อ 1 จนกว่าจะส่งไม่ได้

ถ้าดูในรูปคุณจะเห็นเลยนะว่ามัน”โคตร….รก”!! ดูไม่ออกเลยว่าจะส่งของได้อีกกี่ชิ้นเรือลำไหนเป็นของใคร(เพราะโดนไม้บัง) แล้วจุดที่จะบอกว่าเมืองรับสินค้าได้แค่ไหน(เพราะเมืองรับสินค้าได้จำกัด)ก็ไม่มีนะ ต้องวางไม้กองไว้แถวๆนั้นแหละ……..

“บ่นไปงั้ง ชวนก็เล่นนะ…..เกมสนุกเลยใจง่ายนิดนึง”

ที่บ่นแบบขัดใจเยอะๆนี้เพราะผมเล่นตัว PnP ที่ทำแผนที่สะอาดตา มีตารางพิมพ์บนกระดานสวยงามด้วยว่าเมืองนี้รับของชนิดไหนไปแล้วกี่ชิ้น เรือส่งไปแล้วแค่ไหน แล้วจาก design นั้นผมเห็นเลยว่าเกมมันมีศักยภาพที่จะต่อยอดให้มันใช้งานได้ง่ายกว่านี้อีกหลายเท่า กระดาน PnP ทำมาดีมากแบบที่คุณไม่ต้องใช้ token ไม้สีหรือทรงที่แตกต่างกันเลยใช้แค่ token กลางๆแบบเดียววางให้ตรงช่องสีบนแผนที่เท่านั้นเอง แก้ปัญหาได้ง่ายแล้วก็ฉลาดมาก

กลายเป็นต้นทุนเพิ่มมาเยอะแยะเพราะ token ไม้ชิ้นใหญ่ๆที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย สู้ไปออกแบบ graphic ใหม่ให้มันดีกว่านี้จะดีมาก คือตัวอย่างดีๆมีเยอะแยะไม่ยอมเอามาใช้ เอางบไปลงผิดที่มากๆ

ถ้าคุณนับว่าการมางมๆกองชิ้นไม้ที่กองๆกันว่าตรงไหนส่งได้ไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกม ก็ถือว่าเป็นโชคดีของคุณเลย เพราะได้สนุกสองเด้ง (พอดีไม่ใช่สำหรับผมอ่ะนะ คือมันไม่ใช่การหามองรางหาทางแบบ Age Of Steam นะ อันนี้มันบังกันรกมาก)

คือผมชอบมากนะเกมนี้ชวนเมื่อไรก็เล่นแน่ๆความสนุกระดับเหรียญทองแต่เจอ”วิธีการใช้” component ที่ออกแบบมาระดับทีมชาติไทยจะไปบอลโลกนี้ทำเอาความสนุกโดนบดบังไปเยอะ แนะนำให้หา cube อื่นกับโหลดกระดาน redesign จาก bgg มาใช้แทน

อยากจะได้เพชรก็ต้องยอมเปื้อนโคลนกันหน่อย

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->