Ground Floor (2nd edition)- จากชั้นหนึ่งสู่ตึกระฟ้า
เกมยูโรระดับกลางหนักแนว Economic ขับเคลื่อนด้วยระบบ Worker Placement ที่จะให้เราบริหารบริษัท พัฒนาเพิ่มแผนก พร้อมกับตั้งราคาสินค้าและปรับตัวตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผลงานของ David Short (Bomb Squad, Automobiles)
TLDR; ในแง่ gameplay แน่นอนว่า 2nd ดีกว่าเพราะจูนมาแล้ว แต่ถ้าคุณมี 1st edition อยู่แล้วไม่ต้องซื้อก็ได้ครับไม่ได้ต่างมากขนาดนั้น แต่ถ้ายังไม่เคยซื้อก็แนะนำว่าซื้อตัวไหนก็ได้ อันไหนราคาดีก็อันนั้นแหละ (แต่ 1st อย่าลืมหา mini expansion มันมาด้วย) ตัว 2nd ของ Spielworxx ราคาซื้อเดี่ยวๆจะค่อนข้างแพง หาตัว 1st อาจจะง่ายกว่า ส่วนงานอาร์ทก็ต้องยอมรับว่า 1st มันสวยกว่าเยอะ
เกมนี้ flow ของเกมไม่ซับซ้อนเราแค่ผลิตของมาขายแค่นั้นเอง ทรัพยากรของเราก็คือ ‘เงิน’ และ ‘ข้อมูล’ ระหว่างเกมเราก็จะผลิตของสองอย่างนี้ไปสร้าง ‘ตึก’ ที่เป็นแต้มสำคัญในเกมและยังเป็นช่องแอคชั่นพิเศษส่วนตัวของเรา ความสนุกจะเรามักจะต้องใช้ทั้งสองอย่างพร้อมกันในปริมาณเท่าๆกัน แต่การจะผลิตของแต่ล่ะอย่างได้เราก็มักจะต้องใช้ของอีกอย่างมาแลกกันไปมา (ในเชิงธีมก็คงเป็นมีเงินแยะแต่ไม่มีข้อมูลก็ทำงานไม่ได้ แต่ถ้าฉลาดแต่ไม่มีเงินหนุนหลังก็เท่านั้นแหละ :P)
คนงานของเราจะแทนที่ด้วย disc เวลา ยิ่งมีพนักงานเยอะก็จะยิ่งมี ‘เวลา’ เยอะเวลาเล่นเราก็เอา disc เวลาของเราเนี่ยล่ะไปทำแอคชั่นอีก ตอนทำแอคชั่นจะแบ่งเป็นตอน ‘วางแผน’ ที่เราจะผลัดกันเอาเวลาไปลงจองทำแอคชั่นพอครบทุกคนก็จะไล่ ‘ทำงาน’ ทีล่ะหมวด ในช่วงตอน ‘วางแผน’ นอกจากจะเอาเวลาไปลงตรงบอร์ดกลางแล้ว เราก็ยังสามารถเอาเวลามาทำแอคชั่นในบอร์ดของเราเองได้ โดยปกติผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีเหมือนกัน แต่เวลาเราไปซื้อตึกชั้นใหม่ๆมาเราจะได้แอคชั่นที่ดีกว่าเดิมมาใช้
รอบนี้ขออธิบายเกมในลักษณะ flow ล่ะกันในแต่ล่ะรอบจะประมาณนี้
‘บริษัทที่ปรึกษา’: ไอเดียของช่องนี้คือตอนลงต้องจ่ายเงินค่าลง พอจบรอบเราจะย้ายไปอีกช่องหนึ่ง แล้วคนที่อยู่มาก่อนหน้าจากรอบก่อนก็จะโดนเราจับคู่ แล้วเดินออกไปพร้อมกับรับข้อมูลมาแทน แต่ถ้าไม่มีใครมา match กับเราเราก็จะต้องกลับบ้านมือเปล่า ยิ่งมาก่อนยิ่งจ่ายแพง แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการจับคู่คุยธุรกิจมากขึ้น
‘ลงโฆษณา’: เกมนี้ turn order และการชิงว่าใครจะได้ขายของก่อนวัดกันที่ความนิยม เพราะงั้งเราเลยต้องสละเวลามาลงสื่อบ้าง กิมมิคตรงนี้จะเป็น majority control เล็กๆ การลงโฆษณามีสามแบบยิ่งจ่ายแพงก็ยิ่งเพิ่มลำดับได้ดี ถ้าเราลงสื่อชนิดไหนหนักกว่าคนอื่นก็จะได้โบนัสความนิยมเพิ่มด้วย ในตอนจบบริษัททุกเจ้าจะได้รับโบนัสพิเศษโดยสิทธิการเลือกจะเรียกตามความนิยม แต่คนสุดท้ายคนเดียวที่จะไม่ได้อะไร
‘สั่งผลิตของ’: เกมนี้วัถุดิบของเราเป็นกล่องไม่มีชื่อ ปกติเราสามารถใช้เวลาของเราเพื่อสั่งผลิตเองในบริษัทก็ได้ แต่ว่าต้องใช้ถึง 3 disc เวลา แต่ถ้าเรามาสั่งผลิตที่ช่องนี้เราจะใช้เวลาเดียวแต่ต้องจ่ายเงินหรือข้อมูลเพิ่ม
‘ตลาดหุ้น’ (อันนี้ของเล่นใหม่ใน 2nd ตัว 1st จะไม่มีแอคชั่นนี้) เราสามารถวางเวลาไว้ตรงนี้เพื่อลงทุนได้ ระหว่างเล่นๆไปตัวหุ้นที่เราลงไปก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ รอให้เราถอนออกมาเป็นเงิน แต่ว่าตัวคูณจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้น แต่ถ้ามีผู้เล่นแห่กันมาลงทุนเยอะเกินไปเราจะโดนบังคับขายทิ้งในราคาที่ต่ำกว่าปกติ
[caption id=”attachment_9958” align=”aligncenter” width=”5456”] ภาพรวมของเกม ด้านบนคือบอร์ดกลางที่ผู้เล่นจะเอา Disc เวลามาลงรอทำแอคชั่น[/caption]
‘โรงงาน’ เป็นการแปลงวัถุดิบรอไปขาย ความสนุกของเกมนี้จะอยู่ตรงนี้แหละ คือเกมนี้มันจะมีการ์ด ‘สภาวะทางเศรษฐกิจ’ อยู่ เราจะรู้สภาพรอบนี้กับรอบที่จะมาถึง ซึ่งมีอยู่สี่ระดับคือ ตกต่ำ-ถดถอย-มั่นคง-รุ่งเรือง ในแต่ล่ะระดับจำนวนลูกค้าที่จะมาซื้อของเรามันจะมีไม่เท่ากัน โดยที่หลังการ์ดจะบอกแค่จำนวนคร่าวๆเท่านั้นเอง อย่างในเกมห้าคน ตอนเศรษฐกิจมั่นคงจะมีคนซื้อของ 3-5 คนแต่เราจะไม่รู้ว่าเลขที่ออกมันจะเท่าไร วนกลับไปอ่านอีกทีนะ มี 5 คนแต่แม่งจะมีคนซื้อของแค่ 3 - 5 ชิ้น แปลว่าโดนปกติแล้วจะมีคนตกรถครับ! ความสนุกของเกมนี้ก็เลยเป็นเลยเป็นการตั้งราคา เกมนี้ราคาแบ่งเป็นสามระดับ คนจะซื้อระดับถูกกว่าให้หมดก่อน แต่ว่าในราคากลุ่มเดียวกันคนเค้าไม่สนส่วนต่างไม่กี่บาทนะ เค้าสนว่าบริษัทนั้นชื่อเสียงดีกว่าหรือปล่าวแทน
ตรงนี้มันเลยต้องวางแผนกันหลายอย่างว่าตั้งใจจะขายตอนไหนต้องตั้งราคาเท่าไร หรือว่าเราจะวางไว้ก่อนรอขายตาหน้าดี ถ้าตานี้ไม่มีเงินจะทำยังไง บลาๆ เพราะว่าเกมนี้มันให้เราลงแอคชั่นไว้ให้หมดก่อนแล้วค่อยมาไล่ทำงานทีล่ะแอคชั่นอีกที จังหวะการได้รับเงิน/ข้อมูลของเกมนี้เลยสำคัญมากเพราะเราจะอาจจะต้องวางแผนเอาของที่ได้ระหว่างทำแอคชั่นก่อนหน้าไปใช้ในช่องต่อไป
พอหลังจากทำการขายของเรียบร้อย เราก็จะปรับค่าจ้างพนักงานในตลาดแรงงานลง แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจมันดีไหมส่วนมากเราก็จะรอช้อนซื้อคนงานเอาตอนเศรษฐกิจตกต่ำเนี่ยล่ะ
‘สร้างตึก’ อันนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา เพราะว่านี้คือแต้มหลักของเราและแต่ล่ะตึกยังมีแผนกที่จะช่วยให้เรามีแอคชั่นที่พิเศษกว่าคนอื่น (แผนกผลิตแบบพิเศษจะใช้แค่หนึ่ง disc เวลา แทนที่จะเป็นสาม disc เวลาในการผลิตวัถุดิบงี้ ดีกว่าสามเท่าเลยนะ) ตึกที่ว่ามีจำกัดและค่อยๆมีให้หยิบเพิ่มตามรอบของเกมที่ผ่านไป จุดสำคัญคือยิ่งสร้างตึกหลังๆก็จะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยเราเลยต้องวางแผนกับหาจังหวะออกตึกให้ดี กิมมิคน่ารักๆของเกมนี้เราจะเอาไทล์ไปวางเสียบบนบอร์ดแล้วแล้วมันจะดูเป็นทรงสามมิติ
ที่เหลือก็พวกแอคชั่นเล็กๆน้อยที่เราสามารถทำบนบอร์ดของเราเองได้ แต่ล่ะคนจะมีห้องพื้นฐานเหมือนกัน 6 แบบ แต่ว่าสามารถอัพเกรดได้อีกหนึงระดับ แอคชั่นจะเป็นพวกเทรนพนักงานใหม่ เข้าห้องประชุมเปิด facebook แล้วได้ข้อมูลมาฟรีๆ (แต่เทียบเป็นเวลาที่ลงไปแล้วไม่คุ้มเท่าไร) ผลิตของ ลงวิจัยโดยการเปลี่ยนวัถุดิบเป็นข้อมูล ไรงี้
🐸[กบโปรด] – เอาจริงๆแล้วเป็นเกมที่พูดได้ว่าค่อนข้างซ้ำซากนิดนึงคือวนลูปทำแอคชั่นเดิมๆแนวทางเดิมๆ แต่เราต้องไปวัดเรื่องแผนหน้างานว่าใครทำอะไร เราจะขายอะไรได้ ผู้เล่นคนอื่นจะทำให้แผนเราเปลี่ยนไปแค่ไหน เอาจริงๆแล้วเกมกบโปรดส่วนมากก็แบบนี้แหละ ฮาๆ
สิ่งที่ทำให้ผมชอบคือเกมมันแน่น ไม่ซับซ้อน แต่ meaty (เนื้อๆ หนักแน่น ตบกันหนักหน่วง) เนี่ยล่ะ สัดส่วนฝั่ง long term จะเป็นการคิดท่ามาจากบ้านนิดนึง ส่วนทำจริงได้ไหมก็ต้องดูหน้างานเยอะหน่อยเพราะผู้เล่นกับลำดับการออกการ์ดเศรษฐกิจมีผลเยอะ
ในแง่คุณค่าในการเล่นซ้ำผมคิดว่าเยอะนะ ผมซื้อตั้งแต่เกมออกตอนช่วงปี 2012 - 2013 ก็ยังเป็นเกมที่หยิบมากางได้เรื่อยๆ (ยกประโยชน์ให้กติกาที่จำง่าย) เพราะต่อให้ตั้งใจทำท่าเดิมๆแต่รูปเกมมันไม่เหมือนเดิมขนาดนั้น ต้องแก้ปัญหาหน้างานเยอะอยู่ดี อย่างข้อมูลบางเกมก็หาง่ายเพราะทุกคนพร้อมใจกันมาลงแอคชั่นกลาง แต่ถ้าเกมไหนมีคนเล่นสายออกห้องประชุมส่วนตัวล่ะ การใช้ช่องแอคชั่นกลางมาหาข้อมูลก็เริ่มไม่แน่นอนล่ะเพราะคนมาจับคู่น้อยลง หรือบางคนใช้กลยุทธ์ปั้มสินค้าจำนวนมากแล้วไปทุ่มขาย แต่ถ้าเศรษฐกิจมันออกมาดีๆต่อกันคนอื่นก็รอขายแบบตั้งราคาสูงได้ กลายเป็นกลยุทธ์นี้อาจจะไม่ work ในรอบนั้น
ข้อเสียอาจจะเป็นความรู้สึกเหมือนจะซ้ำๆของเกมนี้เนี่ยแหละ noise มันน้อยไปนิด แต่ล่ะคนก็มุ่งทำได้อยู่ไม่กี่ทรง ถึงจะมีการ์ด event ที่ทำให้ตอน setup เกมมันมีกติกาบางแอคชั่นเปลี่ยนไปนิดๆหน่อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทรงเกมมันเปลี่ยนมาก คือมันมีตึกยุคสุดท้ายแบบที่ทุกคนอยากซื้อแน่ๆอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แค่จะออกตึกยุคสองแบบไหนเท่านั้นเอง กับการเล่นแบบ gamble ที่หวังว่าเราจะขายของได้นี้ถ้าพลาดติดๆกันนี้คือจบเลยขาดทุนบาน (ตรงนี้แอคชั่นตลาดหุ้นของตัว 2nd ที่เพิ่มเข้ามาก็มาลดข้อเสียเรื่องความไม่แน่นอนของตลาดตรงนี้ไป ช่วยให้เราสามารถวางแผนการหาเงินได้มากขึ้น) แต่เอาจริงๆแล้วจุดนี้ก็ไม่ค่อยจะเป็นปัญหาอะไรกับผมเท่าไรนะ เพราะชอบส่วน tactical ของเกมที่ต้องวางแผนว่าจะจัดการทำแอคชั่นตรงหน้าอย่างไร
ในแง่งานศิลป์ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบของ 2nd เท่าไร ทำสีกับรูปร่างเงิน/ข้อมูล ใกล้กันไปนิดเลยอาจจะมองพลาดกันได้บ่อยๆ เอาจริงๆเพราะ 1st ของ TMG มันทำมาสวยสดใสด้วยแหละเลยยิ่งเสริมความแห้งแล้งของ 2nd เข้าไปอีก
เกมนี้ผมสั่ง 2nd edition มาด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าส่วนที่เพิ่มมานิดๆหน่อยจะช่วยให้เกมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างทั้งๆที่มีตัวแรกอยู่แล้ว เทียบกับตัว 1st edition ถ้าพูดโดยรวมๆแล้วน่าจะพูดได้ว่าแทบไม่ต่าง แต่ในหลายๆแง่แล้วช่องแอคชั่นตลาดหุ้นนี้ก็นับว่าช่วยให้เกมกระชับแล้วก็ลื่นไหลขึ้นจนน่าตกใจ เพราะช่วยให้เราวางแผนผลิตเงินในกรณีที่เราอดขายของได้สะดวกขึ้น กับช่วยเปิดโอกาสในการเล่นกับออกจังหวะเกมได้หลายแบบ จุดเล็กๆน้อยๆที่ปรับมาก็ทำให้เกมกระชับขึ้นเล็กน้อย
แต่รวมๆคือถ้ามี 1st edition อยู่แล้วก็ไม่ต้องไปตามหามาตัวใหม่ก็ได้ ไม่จำเป็นขนาดนั้น ส่วนคนที่ยังไม่มีแล้วสนใจ ถ้าเอาแค่ในเชิง gameplay ก็แนะนำว่าหาตัวไหนได้แล้วราคาโอเคก็ตัวนั้นได้เลย แต่เรื่องความสมบูรณ์ด้านการเล่นของมาทีหลังมันจูนมาแล้วถึงจะไม่เยอะแต่ดีกว่าก็คือดีกว่านั้นแหละ ผมเองมีอยู่แล้วสองกล่องก็ไม่รู้จะเก็บตัว 1st edition ไว้ทำไมเหมือนกัน ก็คงต้องปล่อยไป เพราะส่วนตัวแล้วสุดท้ายก็ต้องเลือก gameplay ก่อน (หวังว่า TMG คงไม่หักหลังผมโดยการซื้อกลับไปทำตัว Deluxe มาใหม่…. นี้ยังแค้นตอน Gentes ไม่หาย)
😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก
😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด
🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์
😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่
🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น
อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)