Founders of Gloomheaven

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Founders of Gloomheaven

เกมยูโรระดับกลางหนักที่จะเราไปสู่จุดกำเนิดของเมือง Gloomheaven อันเป็นที่สถานที่เดียวกับเกม Co-Op RPG ชื่อดังที่ชื่อเดียวกับตัวเมือง แต่ว่าคราวนี้เราจะรับบทเป็นเผ่าที่แตกต่างกันที่จะมาช่วยกันสร้างเมืองแห่งนี้จากพื้นดินรกร้าง ผลงานจาก Isaac Childres (Gloomhaven, Forge War)

แกนหลักของเกมนี้คือการ ‘เติมเต็ม supply chain’ – ไอเดียคือด้วยกระบวนการบางอย่าง สิ่งปลูกสร้างสำคัญในเมืองจะถูกเอาไปวางไว้บนแผนที่ ซึ่งไทล์ตึกสิ่งก่อสร้างนี้ก็จะต้องการของต่างๆกันเพื่อให้ตัวตึกสร้างเสร็จสมบูรณ์ สมมุติว่าหนึ่งในนั้นเป็น ‘อาวุธ’ ล่ะกัน ทีนี้ถ้าผู้เล่นที่มีโรงผลิตดาบต่อทางเดินมาถึงไทล์นี้ได้จะได้รับแต้มจำนวนหนึ่ง แต่ว่าตัวโรงงาน ‘อาวุธ’ เองก็ต้องการสินค้าจาก ‘โรงตีเหล็ก’ และ ‘หนังสัตว์’ ในขณะที่ โรงฟอกหนังเองก็ต้องการสินค้าจาก ‘โรงเลื้อยไม้’ และ ‘ปศุสัตว์’ โดยที่ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นจะต้องมาจากของผู้เล่นคนเดียวกัน

ไอเดียคือโรงงานปลายทางจะจ่ายแต้มมาให้จำนวนหนึ่ง เจ้าของก็จะได้กำไรบางส่วนแต่ว่าจะต้องเอาแต้มไปสั่งของจากโรงงานก่อนหน้าไปทอดๆไป


เกมนี้มีสินค้าอยู่สามระดับ ผู้เล่นจะเป็นคนผูกขาดควบคุมสินค้าระดับตั้งต้นทั้งแปดชนิดทั้งหมด ไม่มีเปลี่ยนมือระหว่างเกม ถ้าคนไหนเป็นเจ้าของโรงเลื่อยไม้ก็คือไม่ว่าจะยังไงก็ต้องซื้อไม้จากผู้เล่นคนนี้ตลอด แต่ว่าในระดับสองและระดับสามผู้เล่นจะสามารถสร้างโรงงานกันเองได้ แต่ว่าในการผลิตมันจะต้องมีสินค้าจากโรงงานตั้งต้นมาใช้เสมอ

ความน่าสนใจของสินค้าในเกมนี้จะอยู่ที่มันไม่มีเป็นชิ้นให้หยิบจับ แต่ว่าจะใช้วิธีการที่ผู้เล่นสร้างถนน (เป็นของส่วนกลางใช้ร่วมกัน) เพื่อเชื่อมต่อแหล่งผลิตกับปลายทางเข้าด้วยกันถึงแล้วก็รับแต้มเลย และหลังจากนั้นใครมาใช้โรงงานที่เราเป็นเจ้าของเราก็จะได้รับแต้มส่วนแบ่งเสมอ ความน่าสนใจอีกอย่างคือเกมนี้จะแบ่งแผนที่เป็นสามส่วน แต่ล่ะส่วนเราจะต้องสร้าง ‘สะพาน’ หรือ ‘ประตูเมือง’ ที่จะทำหน้าที่เหมือนกับถนนให้กับคนสร้างเท่านั้น ตรงนี้ทำให้เกิดเรื่องจังหวะการวางแผนเส้นทางขนส่ง และการวางไทล์ในเกมมีความสำคัญขึ้นมาก เพราะโรงงานแต่ล่ะชนิดจะกระจายอยู่ทั่วแผนที่


เกมนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบ Role Selection (แบบใน Puerto Rico) ที่ผู้เล่นจะเลือกแอคชั่นหลักมาก่อนโดยการเล่นการ์ดจากมือ จากนั้นผู้เล่นคนอื่นก็จะเลือกระหว่าง ‘ตาม’ โดยการเล่นแอคชั่นแบบเดียวกันแต่ว่าได้ความสามารถน้อยกว่าคนที่ ‘นำ’ นิดหน่อย หรือว่าจะเลือกทำแอคชั่นพื้นฐานแทนก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ในเกมนี้ได้แก่

ค้าขาย: เลือกระหว่างเอาร้านขายสินค้าพื้นฐานของเราไปวางในกระดาน หรือว่าไปขอซื้อสิทธิ์ในการใช้งานร้านขายสินค้าของคนอื่น โดยต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของโรงงาน

พัฒนา: สร้างโรงงานใหม่โดยที่โรงงานที่เราจะสร้างต้องมีเส้นทางที่สินค้าสามารถเดินทางมาถึงโรงงานได้ ถ้าสินค้าชนิดนั้นเราไม่ใช่เจ้าของก็จะต้องไปซื้อสิทธิ์ในการใช้มาก่อน (ด้วยแอคชั่นด้านบน) พอสร้างเสร็จและทุกครั้งที่มีใครมาใช้สินค้าของเรา เราก็จะต้องเอาแต้มที่ได้มาไปจ่ายเจ้าของสินค้าต้นทางเสมอ

สร้าง: สร้างสิ่งก่อสร้างส่วนตัวของเราเองได้แก่ สะพาน/ประตูเมือง ที่เอาไว้ข้ามแม่น้ำ/กำแพง และ ‘บ้าน’ ที่จะช่วยเพิ่มคนงานให้เราเอาไปทำแอคชั่นพิเศษบนบอร์ดของเรา หรือว่าตามตึกในเกม

จ้าง: ซื้อการ์ดแอคชั่นจากกองกลาง การ์ดพวกนี้ก็จะคล้ายๆกับท่าปกติแต่ว่าจะให้แอฟเฟคที่ดีกว่า

ส่วนใครไม่อยากทำตามท่าหลัก (หรือทำไม่ได้) ก็สามารถที่จะเลือกเก็บเงิน / เสียงโหวต (ยังไม่พูดถึง) / สร้างถนน / เอาคนงานไปลงทำแอคชั่น ก็ได้


ทีนี้การ์ดแอคชั่นในมือเรามีจำกัดพอใช้ไปซักพักแอคชั่นที่เราทำได้จะน้อยลงเพราะต้องทิ้งทุกครั้งที่เป็นคนนำ เกมก็จะมีอีกหนึ่งลูกเล่นที่ชื่อแอคชั่น ‘เรียกประชุม’ ที่มีผลให้เรารวบเอากองการ์ดที่ทิ้งไว้ขึ้นมือ แต่ผลของมันคือผู้เล่นคนอื่นจะได้รับ ‘income’ ด้วย (ในอีกแง่คือไม่มีใครอยากจะเล่นแอคชั่น ‘เรียกประชุม’ เอง) ผลอีกอย่างคือผู้เล่นทุกคนจะต้องมาร่วมโหวตว่าตึกไหนจะถูกสร้างเอาไว้บนกระดาน

เกมนี้จะมีการจั่วตึกไว้ให้เราโหวตครั้งล่ะสามตึก ผู้เล่นก็จะกำสัญลักษณ์ของตึกที่อยากได้ พร้อมกับโทเคนเสียงโหวตแล้วเปิดพร้อมกัน ตึกที่ได้รับเสียงโหวตเยอะสุดจะถูกเอาไปวางไว้บนกระดานโดยผู้เล่นที่ส่งคะแนนโหวตเยอะสุด การโหวตตึกนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดของเกมนี้ เพราะว่ามันคือตัวกำหนดว่า สินค้าแบบไหนจะขายได้ แล้วใครจะได้รับแต้มบ้าง แถมทำเลการวางก็ยังมีผลเพราะมันจะเป็นการกั๊กให้ผู้เล่นบางคนส่งของไม่ได้ด้วย โดยเกมนี้จะจบลงเมื่อผู้เล่นทำการสร้างตึกพิเศษครบ 6 ตึก

🐸[กบโอเค] – เป็นเกมที่ยกเอาแนวคิดการผลิต+ส่งสินค้าของ The Grate Zimbabewa มาลดทอนให้กระชับ แล้วประกอบกลไกการเดินเกมหลายอย่างเข้าไปได้น่าสนใจ ข้อดีคือในแง่แนวคิดแล้ว เกมก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา แค่สร้างอะไรไว้ซักอย่าง แล้วก็ล๊อบบี้ให้สภาเมืองสร้างของที่เราขาย แล้วก็ต่อถนนไปส่งของ ง่ายๆแค่นั้น ระบบเกมแบบ Role Selection ก็ช่วยให้ตัวเกมดำเนินไปค่อนข้างไว แล้วก็ downtime ต่ำเพราะทุกคนจะอยู่กับเกมตลอด

จุดสำคัญอย่างหนึ่งคือถึงแม้แนวคิดจะเรียบง่ายแต่เกมนี้เป็นเกมที่ unforgiven สูงและไม่มีระบบ catch up แม้แต่นิดเดียว การวางไทล์หรือการเล่นที่ผิดพลาดครั้งเดียวอาจจะให้แผนที่ทำไว้พังจนต้องเสียเวลาไปอีกเกือบครึ่งเกมเพื่อกลับลำใหม่ (ในอีกแง่คือไปเล่นเพื่อไม่ให้เป็นที่โหล่) ผู้เล่นที่เซทระบบมาดีแล้วก็จะนำไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ตามก็คือทำได้ดีที่สุดให้ไม่แต้มห่างจนเกินไป ซึ่งตรงนี้เป็นทั้งข้อดี และข้อเสียขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ฝั่งไหน (สำหรับผมเรียกข้อดี)

ข้อเสียหลักอย่างหนึ่งของเกมคือมันจะแอบมองยากนึดนึงว่าถนนมันติดกันไหม เราส่งของได้หรือยัง กับตอนได้แต้มนี้มันต้องแบ่งให้อะไรให้ใครยังไงบ้าง ซึ่งถ้าคล่องแล้วหรือว่าเข้าใจแนวคิดมันแล้วก็ไม่ได้ยากอะไร แต่หลายคนอาจจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจนิดนึง กับด้วยความที่เรามักจะไม่ได้ควบคุมสินค้าเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำ ระหว่างการเล่นการ ‘อวย’ แบบไม่ตั้งใจก็เลยเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะเลเยอร์คิดแต้มของเกมมันไม่ได้ตรงไปตรงมาเท่าไร กำไรจากการส่งสินค้าไปที่ตึกทำแต้มเองก็บางมาก ทำให้เป็นเกมที่จะแสดงความสนุกได้สูงสุดต่อเมื่อคนในวงเล่นคล่องกันหมดแล้วเท่านั้น

อีกจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าแปลกๆคือความสามารถประจำเผ่ามันไม่ค่อยเด่นเท่าไรใช้ทั้งเกมอย่างมากก็สองทีเท่านั้นเอง การ์ดแอคชั่นที่ต้องไปซื้อมาก็เช่นกัน คือกว่าจะเอาไปใช้ได้มันก็ต้องรอให้เราเป็นคนนำเองเท่านั้น เลยรู้สึกว่ามันยึกๆยักๆพอควร ตัวเกมในอารมณ์รวมมันเลยอาจจะ monotone ไปนิดเพราะ noise ในเกมมันไม่ได้มีผลแบบมีนัยยะอะไรกับการเล่นเท่าไร แต่ความรู้สึกดีที่เส้นทางที่เราวางแผนมามันส่งให้เราได้แต้มเยอะนี้มันดีมากๆ

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


 

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->