Food Chain Magnet- ร้านอาหารครบวงจร

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Food Chain Magnet- ร้านอาหารครบวงจร

เกม Economic ยูโรระดับหนัก (แต่วิธีเล่นไม่ได้ยุ่งยากอะไร) ที่เราจะได้รับบทเป็นเจ้าของร้านอาหารจานด่วนที่ต้องดำเนินกิจการแบบครบวงจรตั้งแต่จัดจ้างคนงาน ผลิตอาหารและทำการโฆษณา (รวมถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวอย่างรับสร้างบ้าน) เกมนี้เป็นเกมจาก Splotter Spellen ค่ายเกมอินดี้ที่ออกเกมสนุกๆอย่าง Antiquity, Indonesia, The Great Zimbabwe, Roads & Boats (แต่ส่วนตัวเกลียด Roads & Boats มาก) เดิมทีค่ายนี้จะพิมพ์เกมต่อรอบ (print run) ออกมาน้อยมากเพราะตลาดเล็ก (แต่ออกมาทีก็เห็นคนแม่งซื้อกันเกลี้ยงตลอด) มี FCM นี้แหละที่ติดตลาดแบบกว้างขึ้นอย่างจริงจังจนพาให้ค่ายเริ่มยอม reprint เกมดังเก่าๆที่ขาดตลาดไปกลับมาใหม่


ลักษณะเกมคือเราจะมีแผนที่และหมู่บ้านจำนวนหนึ่งที่ถูกสุ่มขึ้นมา ผู้เล่นทำการโฆษณาอาหารทั้งห้าแบบ (โฆษณาทำได้หลายแบบ ระดับสูงยิ่งสูงก็ยิ่งปูพรมลงพื้นที่ได้เยอะ) จนกระทั้งคนในบ้านมีความต้องการอยากจะกินอาหารนั้น (แต่ล่ะบ้านก็มีส่วนผสมความอยากกินที่แตกต่างกันอันเกิดจากการโฆษณา) พอมี demand คนก็จะเริ่มมองหาร้านที่มีของตามต้องการ ใครมีครบเซ็ทก็ได้ขายไป แต่ถ้ามีกันหลายคนคนที่ราคาถูกกว่าก็จะได้ขายแทน (มีกติกาเช็คเรื่องระยะห่างอีกนิดหน่อย โดยรวมก็อยู่ใกล้กว่าจะได้เปรียบ ถ้าอยู่ไกลแต่ถ้าลดราคาลงได้เยอะพอ คนก็ย้ายไปซื้อของถูกกว่าอยู่ดี)

ตัวการเล่นเกมจะเป็นกึ่งๆ Programming แอ๊คชั่นที่จะทำล่วงหน้า คือคนงานของเราจะมาในรูปแบบการ์ด ความสามารถแต่ล่ะใบก็มีแบบเดียวตรงไปตรงมา เอาฉันทำงานก็ได้จ้างคนเพิ่ม, จะได้ทำอาหาร อะไรก็ว่าไป ในช่วงวางแผนเราก็เลือกกลุ่มคนงานที่เราอยากจะให้ทำงานมาวางคว่ำหน้าไว้แล้วเปิดพร้อมกัน อารมณ์เหมือนทำแผนการตลาดประจำวัน จากนั้นเกมจะไล่เฟสไปเรื่อยๆ ใครมีคนงานที่ทำงานในเฟสไหนก็ทำไป (เฟสก็วนๆอยู่แค่ จ้างคน/เทรนคน/ทำโฆษณา/ผลิตอาหาร/เปิดสาขาใหม่/รอลูกค้ามาซื้อของ จบตาก็จ่ายเงินเดือน) ในตอนต้นเกมเราที่เป็น CEO จะสั่งงานลูกน้องได้มากที่สุดแค่สามคนพร้อมกัน (แต่จ้างมาได้ไม่จำกัด) แต่ว่าระหว่างเล่นเราสามารถไปจ้างผู้จัดการให้ไปคุมลูกน้องอีกทีได้ ตัวผู้จัดการก็มีหลายระดับยิ่งเก่งยิ่งคุมคนได้เยอะขึ้น  ส่วนคนงานแต่ล่ะตัวก็จะมีความสามารถที่สูงขึ้นได้ผ่านการให้คนงานคนอื่นมาเทรนให้


สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจในเกมนี้ก็จะเป็นมันมีอารมณ์ของความเป็นองค์กรใหญ่ที่มีความอืดเหมือนเรือเกลือพยายามตีวงเลี้ยว คือกว่าจะขยับเปลี่ยนแผนได้ทีมันจะมีโมเม้นตั้มที่หน่วงประมาณสองถึงสามตาเป็นอย่างน้อย เพราะว่าคนงานที่เราจ้างตานี้ กว่าจะได้ใช้งานก็ตาหน้า ยิ่งถ้าเป็นนักโฆษณา (ที่เอาไว้ชวนเชื่อขายความอยากกินให้ลูกค้า) พอทำงานตาหน้าแสดงว่ากว่าลูกค้าก็จะมี Demand อยากกินก็ตาถัดไป(แปลว่าในสามตาข้างหน้าโน้นนับจากตอนที่หยิบการ์ด) หมายความว่าสำหรับผู้เล่นที่เข้าใจเกมแล้วทันทีที่อีกฝ่ายเลือกหยิบการ์ด กับการมองชนิดการ์ดที่อีกฝ่ายมีในมือ ผู้เล่นก็จะเริ่มอ่านเกมกันแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง จะเรียกว่าบนกระดานตานี้เป็นแค่ผลของการหยิบการ์ดของสามตาที่แล้วก็ไม่ผิดเท่าไร โดยมันจะค่อยๆสะท้อนผลออกมาเป็นระลอกน้ำกระทบฝั่ง ด้วยลักษณะเกมแบบนี้ลำดับ turn order ในการหยิบการ์ดจึงสำคัญมาก เพราะคนที่หยิบทีหลังจะเห็นแผนของคนก่อนหน้าแล้วตัดสินใจได้ว่าจะแก้เกมยังไง

ความสนุกของการแก้เกมมันจะอยู่ในรูปแบบประมาณ - คนหนึ่งผลิตพิซซ่าได้ ก็เลยทำโฆษณาพิซซ่าเอาไว้ก่อน แต่เราเห็นอาจจะขัดโดยการทำพิซซ่ามาแข่งตามแล้วลดราคาตัด หรือไม่ก็พิซซ่าใช่ไหมเมิงเจอกูอัดโฆษณาโค้กหน่อย กลายเป็นจะขายได้ก็ต้องมีทั้ง โค้กและพิซซ่า ซึ่งผู้เล่นคนแรกไม่มี แต่ว่าเราเตรียมตัวไว้ก่อนแล้วไง อะไรแบบนี้

ด้วยความที่ผู้เล่นทุกคนไม่มีความแตกต่างกัน จุดสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นต่างกันคือ Milestone อันเป็นโบนัสที่จะเคลมได้ก็ต่อเมื่อเคลียร์เงื่อนไขบางอย่าง แต่ส่วนมากจะเหมือนกันในแง่ ‘ทำอะไรสักอย่างเป็นคนแรก’ อย่างถ้าเราเป็นกลุ่มแรกที่ทำโฆษณา เราก็จะได้สิทธิ์ที่ว่าคนงานฝ่ายการตลาดของเราไม่ต้องจ่ายค่าจ้างอีกเลย หรือถ้าเป็นคนแรกที่เทรนคนงาน ก็จะได้สิทธิ์ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนสามคนไปทั้งเกม (เมิงไปจับเค้าเซ็นสัญญาทาสตอนไหน!!!) แต่อย่างที่บอกเรื่องโมเม้นตั้มก่อนหน้านี้ คือกว่าจะได้เคลมเราก็ต้องหยิบการ์ด(จ้างคนงาน)มาก่อนแล้วค่อยทำตามเงื่อนไข ตรงนี้ทำให้การหยิบการ์ดใบแรกๆของเกมสำคัญมากตรงที่มันจะกำหนดได้เลยว่าใครจะได้หรือไม่ได้โบนัสอันไหน


ข้อเสียในเชิงการเล่นอย่างหนึ่งคือเราต้องมาคอยไล่นับมันทุกบ้าน มองมันทุกทางว่าใครจะขายของให้บ้านหลังไหนได้หรือไม่ได้ (อันเนื่องมาจากกติกาเรื่องระยะทาง) คือตัวเกมมันไม่มีวิธีคลีนๆในการดูแว๊บแล้วแรกรู้เลยว่าใครจะขายได้ต้องมาไล่นับเอา ถ้ามีหลายจุดก็จะเสียเวลานิดหน่อยจริงๆปัญหา ‘เส้นส่งของสมมุติ’ นี้ก็ถือว่ามีมานานล่ะในเกมของค่ายนี้ แต่ใน FCM ก็ถือว่าทำมาได้ดีกว่าเกมก่อนๆอย่าง Antiquity, Indonesia, The Great Zimbabwe มาเยอะอยู่

ข้อเสียที่แก้ได้ด้วยการ DIY(และเงิน) คือเกมแม่งใช้พื้นที่โต๊ะโคตรพ่อโคตรแม่เยอะสัดๆ แค่วางการ์ดแผไว้ก็เต็มโต๊ะแล้ว เพราะฉะนั้นแท่นวางการ์ดอาชีพนี้จำเป็นมากๆ (ถ้างบน้อยมีคน DIY เอากระดาษแข็งมาพับเป็นทบแล้วเอาการ์ดวางใส่ฝากล่อง เคยใช้อยู่ช่วงหนึ่งก็ดีทีเดียวนะ ถ้ามีงบหน่อยผมเห็นเจ้าในไทยทำ insert+tray มาขายราคาก็พอๆกับเมืืองนอกแต่ไม่ต้องเสียค่าส่งกับลุ้นภาษี) ไหนจะมีกอง Milestone ที่เป็นโบนัสอีกกินที่มาก (อันนี้ก็แนะนำให้ไป print แผ่นรวม milestone แล้วเคลือบไว้ ใช้ของใครของมันประหยัดที่และเวลาจัดเกมได้อีกโข ผมใช้ของ BGG Store อยู่แต่เอาจริงๆแล้วไม่ต้องซื้อหรอก DIY ดีกว่า) ถ้านึกไม่ออกว่าปกติใช้ที่ขนาดไหนก็น่าจะประมาณ เอาสำรับไพ่มาแยกใบทั้ง 52 วางกระจายกันบนโต๊ะดู (เกมมีลูกจ้าง + Milestone รวม 50 แบบ) นี้ยังไม่รวมบอร์ดกลาง กับพื้นที่สำหรับให้ผู้เล่นต้องเอาคนงานตัวเองมาวางนะ…….

จุดที่แล้วแต่จริตคนคืองานอาร์ทแนวอเมริกันยุค 50’ ที่ภาพทำตามธีมมาดีแต่ถ้าคนไม่ชอบก็น่าจะไม่ชอบเลยเพราะมันดูเชยๆประมาณนึง แต่ส่วนตัวเฉยๆเพราะค่ายนี้ก็ขึ้นชื่อในแง่ภาพประกอบไม่สวยแต่ไหนแต่ไร มาเกมนี้ก็ถือได้ว่าพัฒนามาเยอะล่ะเทียบกับเกมก่อนๆหน้า แต่งานอาร์ทอันนี้ก็มีคนชอบเยอะมากอยู่เหมือนกัน วิธีทำ player aid ที่เหมือนเมนูอาหารก็น่ารักดี เวลาเล่นจะเหมือนทุกคนเปิดเมนูรอสั่งอาหารตลอดเวลา

🐸[กบโปรด] – ผมจัดเกมนี้มาตั้งแต่ print run แรกเพราะเดิมก็ชอบงานของค่ายนี้อยู่แล้ว (ยกเว้น Roads & Boats นี้ชูนิ้วกลาง….เอ้ยไม่เล่น) ที่พึ่งเอามาเขียนก็ไม่ใช่อะไรแค่พอดีพึ่งเอากลับมาเล่นเลยได้ถ่ายรูป

เกมนี้วิธีเล่นไม่ยากและมีความเป็นไปได้หลายทิศทางมาก แต่ก็ถือเป็นเกมโปรดที่กางได้ยากอยู่ซักหน่อย เพราะต้องให้เวลากับมันนานพอควร (ประมาณสาม-สี่ชั่วโมง แต่ถ้าคุณบอกว่าเล่นนานกว่านั้นก็……..เอาเป็นว่าไม่ต้องชวนผมล่ะกัน :P ) ด้วยความที่มันต้องคำนวนหยิบย่อยในใจหลายจุด ถ้าเจอสาย AP ก็จะลากยาวมาก หรือถ้าใหม่เกินไปโดนกดหนักก็จะไม่สนุกเท่าไร (หลายครั้งจะกางเล่นแค่ครึ่งเกมพอให้รู้ flow) แต่จริงๆถ้ามี slot เวลาประมาณนี้ยัังอยากกาง Arkwright มากกว่า แต่ FCM ก็มีข้อดีตรงที่แนะนำให้คนเล่นได้ง่ายกว่าเยอะ เพราะวิธีเล่นไม่ยาก แบ่งเฟสเข้าใจง่าย

ลักษณะเฉพาะอีกอย่างของเกมนี้ที่เหมือนกับเกม Heavy Economic ส่วนมากคือ Runaway Leader เพราะไม่มีระบบ Catch-Up มาให้คือนำแล้วนำเลย โดยเฉพาะในวงที่ีระดับความเข้าใจเกมต่างกันมาก ผู้เล่นที่มองเกมไม่ขาดจะโดนอัดจนขายของไม่ได้เลยต้องโยนอาหารทิ้งหมดก็มีอยู่บ่อย (ใช่แล้วเกมนี้ของที่ผลิตแล้วไม่มีใครกินต้องโยนทิ้งหมดทุกรอบ) จริงๆก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรคือถ้ารู้ว่าโดนตัดก็รีบปรับทันทีอีกสองตาก็จะยังตามเกมได้ แต่ส่วนมากมือใหม่จะยังรั้งๆรอๆอยู่เลยมักจะเหงายาว (เกมนี้ต้องปรับตัวให้ทันเพราะอย่างที่บอกบริษัทเรานี้อืดเป็นเรือเกลือ) ซึ่งจริงๆก็ถือเป็นข้อดีสำหรับผมนะ เกมมันต้องโหดเหี้ยม!!


อีกเรื่องที่จำเป็นมาก (ไม่ใช่ทางเลือกนะแต่เป็น ‘ต้องมี’ สำหรับคนที่เล่นเกมแนว Economic) คือเงินเหรียญที่มันวางซ้อนกันได้ จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่งบประมาณและความชอบ (แต่ต้องวางซ้อนได้ และมีหน้าเหรียญเยอะแบบหน่อยอย่างน้อยก็ซัก 4-5 แบบ) เอามาแทนแบงค์กระดาษเพราะมันลดเวลาทอนเงินได้มหาศาลมาก โดยเฉพาะใน FCM นี้ตัดเวลาในเกมไปได้ราวๆ 30 นาที (ถ้าคุณคิดว่ามันน้อย 30 นาทีนี้ก็ 16% ของเวลา 3 ชั่วโมงนะ) โดยไอเดียแล้ว Poker Chip จะดีสุดแต่ถ้าไม่อยากให้มันดูบ่อนมากเกินไปแบบผม เมื่อก่อนผมใช้เหรียญพลาสติกหน้าตาเหมือนเหรียญโรงอาหารเนี่ยล่ะใช้งานได้ดีราคาไม่แพงมาก ตอนหลังพึ่งมาเปลี่ยนไปใช้เหรียญไม้ของ MeepleSource ที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ซักพัก


😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->