Feudum

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Feudum

เกมยูโรระดับหนัก ในโลกแฟนตาซีนิดๆยุคกลางที่จะให้เรามาพัฒนาดินแดน, ขับเคลื่อนสมาคมการค้า, ต่อสู้ชิงตำแหน่งเจ้าเมือง, เดินทางทำมิชชั่นลับ ผลงานแรกของ Mark Swanson อันมีจุดเด่นที่เกม ‘ขาย’ ไว้ตอน KS คือเป็นเกมที่พร้อมนำเสนอความลุ่มลึกในระดับเดียวกับ Terra Mystica, Dominant Spacies, Caylus และ Brass (กบโปรดหมด ยกเว้น Terra Mystica ) ซึ่งพอเล่นแล้วก็พบว่า ‘ไม่ใช่ราคาคุย’


ภาพรวมของเกมนี้อาจจะอธิบายยากซักนิด เพราะมันเป็น sandbox ขนาดใหญ่ที่รวมเอากลไกเกมยูโรชิ้นใหญ่มาใส่รวมกัน ดั่งของเล่นที่รอให้ผู้เล่นเอาไปสร้างปราสาททรายได้เอง โดยชิ้นใหญ่ที่เห็นได้ชัดหน่อยคือมันเป็นเกมแบบ Majority Control (แบบหลายมิติ) ที่ใช้ระบบ Economic แบบผู้เล่นจัดการเองในการเดินเกม

ในแง่การเล่นทั่วไปแล้ว แต่ล่ะตาผู้เล่นจะเลือกการ์ดแอ๊คชั่น 4 จาก 11 ใบแล้วผลัดกันเล่นทีล่ะใบ ( เป็นระบบ programing เล็กๆ ส่วนการ์ดสามารถเอามาใช้ใหม่แต่ล่ะรอบได้ ) แต่ล่ะแอ๊คชั่นค่อนข้างคลีนไม่ซับซ้อน โดยหลักแล้วจะเป็นพาคนงานหนึ่งถึงสามตัวเดินไปบนแผนที่พร้อมกับวางแท่น influance ไปตามเมือง ตรงนี้จะเป็น mini-majority control ที่คนแรกที่วางจะได้เป็น ‘เจ้าเมือง’ คนที่มีทีหลังก็จะเป็น ‘ไพร่’ แต่ถ้าตอนหลังฝ่ายไพร่เพิ่มคนเยอะกว่าก็จะกลายเป็นเจ้าเมืองแทน ที่บอกว่ามินิก็เพราะว่าในแต่ล่ะเมืองวางได้แค่สามแท่งและจากผู้เล่นสองคนเท่านั้นเอง ลูกเล่นตอนเดินทางอีกอย่างคือ ในหลายพื้นที่มันเดินแบบปกติไม่ได้ต้องไปซื้อยานพาหนะมาใช้ มีสามแบบคือ เรือ,เรือบิน,เรือดำน้ำ แต่ล่ะอันก็เดินทางไปได้ในพื้นที่แตกต่างกันไป ทับซ้อนกันบ้าง เป็นทางเฉพาะบ้าง

ใน bgg เกมนี้ถูกโหวตให้ weight สูงถึง 4.56 (ณ ตอนที่เขียน) แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ถึงนะ คือมันเป็นเกม weight 3.5 หลายๆเกมมารวมกันใน space หนึ่งทำให้กติกามันดูเยอะเท่านั้นแหละ


ตัวคนงานจะเป็นคิวป์ขนาดใหญ่ แต่ล่ะหน้าก็จะแทนคนงานทั้งหกแบบ ได้แต่ ชาวนา, พ่อค้า, นักประดิษฐ์, อัศวิน, ขุนนาง และพระ ซึ่งแต่ล่ะตัวก็จะมีโบนัสเสริมเวลาทำแต่ล่ะแอ๊คชั่นอีกที (เป็นพระได้เดินเพิ่ม, เป็นขุนนางก็ไล่ชาวบ้านได้, เป็นอัศวินก็จะได้ influance ฟรี ไรงี้) แต่ฟังชั่นหลักที่เราจะได้ใช้บ่อยกว่า อย่างอื่นก็คือ แต่ล่ะคนงานจะช่วยเพิ่ม ‘สถานะในสมาคม’ ที่ชนิดคนงานนั้นสังกัดอยู่ให้กับเรา

องค์ประกอบหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบอุปสงค์อุปทานในเกม (ระบบเศรษฐกิจในเกมนี้ขับเคลื่อนด้วยผู้เล่น 100%) คือ ‘สมาคม’ ทั้ง 6 ที่จะถูกควบคุมด้วยผู้เล่นตามแต่สถานะในสมาคมนั้น

โดยทั่วไปแล้วแต่ล่ะสมาคมจะมีตำแหน่งอยู่สามอันดับ คือหัวหน้าสมาคม, ผู้ชำนาญงาน และเด็กฝึกงาน เราจะไปอยู่ต่ำแหน่งไหนก็ขึ้นอยู่กับ ‘สถานะในสมาคม’ ที่ได้มาจากการที่เรามีคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับสมาคมนั้น กับชนิดของเมืองที่เราเป็นเจ้าเมืองอยู่ คือในมุมหนึ่งแล้วไอเดียของเกมก็คือการที่เราเดินทางไปยึคพื้นที่/อัพเกรดเมืองเนี่ย ก็เพื่อที่จะเพิ่มสถานะในสมาคม เพราะว่าเวลาถีงรอบคิดแต้มเราจะได้แต้มตามตำแหน่งที่ยืนในสมาคม (แต่เกมมันเปิดโอกาสให้เราเล่นสายอื่นด้วยนะ)


แน่นอนว่าถ้าแค่นี้เกมมันคงไม่ใช่เกมระดับหนัก ความซับซ้อนชิ้นใหญ่ของเกมนี้ก็คือการทำงานและความสัมพันธ์ของแต่ล่ะสมาคมเนี่ยล่ะ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วผู้เล่นทุกคนสามารถจะทำการค้ากับสมาคมได้เพื่อซื้อของโดยตรงตามนี้

  • สมาคมชาวนา: ส่งผลผลิตในดินแดนที่เราเป็นเจ้าเมืองไปแลกเงินกับอาหาร
  • สมาคมพ่อค้า: ซื้อสินค้า อันเป็นวิธีหลักในช่วงต้นเกมในการหาของไปใช้
  • สมาคมนักประดิษฐ์: ซื้อยานพาหนะ เอาไว้เดินทางไปโซนอื่น
  • สมาคมอัศวิน: ซื้อแท่ง influance ที่เอาไว้ใช้ยึดพื้นที่ กับจ้างสัตว์ประหลาดมาช่วยสู้
  • สมาคมขุนนาง: ซื้อตราประทับเพื่อเอาไว้อัพเกรดเมืองขั้นสูงสุด กับ เอาไว้เคลมมิชชั่นจบเกม
  • สมาคมบาทหลวง: ซื้อเครื่องประดับเพื่อเอาไว้ใช้ช่วยเพิ่มผลผลิตในเมือง

ความน่าสนใจคือเวลาผู้เล่นเอาเงินไปลงสมาคมพวกเนี่ย เงินมันจะกระจายไปให้กับผู้เล่นที่มีตำแหน่งในสมาคมนั้นๆด้วย (เลยเป็นอีกเหตุที่ต้องมาแย่งกันเพราะเป็นแหล่งรายได้ เอาไว้ซื้อของจากสมาคมอื่นมาเล่นต่ออีกที) อีกหนึ่งไฮไลท์คือผู้เล่นที่เป็นหัวหน้าสมาคมยังสามารถที่จะ ‘ผลัก’ ของในสมาคมของตัวเองไปยังสมาคมที่อยู่ถัดไป ส่วนผู้เล่นที่เป็นผู้ชำนาญงานก็สามารถที่จะ ‘ดึง’ ของจากสมาคมก่อนหน้าเข้าสมาคมตัวเองได้ด้วย เพราะเกมนี้สมาคมจะมีความสัมพันธ์กันแบบวงกลม ที่แต่ล่ะสมาคมจะต้องการของจากสมาคมก่อนหน้ามาเข้าตัวเพื่อไว้เป็นทรัพยากรเอาไว้ให้ผู้เล่นเอาไปใช้อีกที

ไอเดียมันก็จะประมาณ – หัวหน้าสมาคมชาวนาเอาสินค้า (ที่ผู้เล่นส่งมาแลกอาหาร) ที่มีอยู่เยอะ ‘ผลัก’ ไปให้สมาคมพ่อค้า หรือผู้ชำนาญงานจากสมาคมนักประดิษฐ์ก็จะ ‘ดึง’ สินค้าจากพ่อค้ามาเข้าสมาคมตัวเอง แต่ของบางอย่างเวลาย้ายสมาคมสถานะจะเปลี่ยนไปเลยอย่างเช่นของจากสมาคมนักประดิษฐ์พอไปถึงสมาคมอัศวินก็จะกลายเป็นแท่ง influance แทน

ส่วนคำถามว่าทำไปทำไมก็คือเพราะทำแล้ว ‘ได้แต้ม’ นั้นเอง โดยจำนวนแต้มก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนของที่เอาไปส่ง เจ้าของสมาคมจะได้แต้มเยอะกว่า แต่ว่าตัวผู้ชำนาญงานก็จะได้จั่วการ์ดโบนัสเพิ่มแทน (มีปลีกย่อยอีกประมาณหนึ่งแต่เอาเป็นว่าประมาณนี้แหละ) ตรงนี้ก็แล้วแต่แนวทางของผู้เล่นในกลุ่มล่ะว่าของแบบไหนจะมีมากมีน้อย


ด้วยความที่เกมนี้ระบบสมาคมมันสำคัญมาก อีกเลเยอร์ก็คือเมืองระดับสูงสุด (ในเกมเรียก Feudum ตามชื่อเกม) ที่พอเราพัฒนาเมืองไปจนสุดเราจะได้เลือกว่าจะให้เมืองนี้สนับสนุนสมาคมไหนเป็นพิเศษ ถ้าเลือกแล้วเจ้าเมืองจะได้เพิ่มสถานะในสมาคมนั้นได้มากกว่าวิธีปกติสามเท่า แต่ว่าเจ้าเมืองเล็กก็มีข้อเสียคือชนิดของเมืองมันไม่นิ่งอันเกิดจากการที่เราอาจจะอยากพัฒนาเมืองเพื่อเอาแต้ม (เป็นอีกสายการเล่นในเกมคือสายนักพัฒนา) แต่ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง คือเจ้าเมืองระดับ Fuedum จะต้องแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ด้วยการ ‘ต่อสู้’

ระบบต่อสู้ในเกมจำเป็นต้องใช้การ์ดแอ๊คชั่น พอเล่นก็เทียบพลังโจมตีกับป้องกันกันง่ายๆแค่นั้น แต่เกมออกแบบให้ฝ่ายตีต้องหาพวกมาช่วยเยอะหน่อย อย่างเช่นจ้างสัตว์ประหลาดจากสมาคมอัศวิน ไม่ก็เอาอัศวินมาตีเพราะสามารถบูสพลังโจมตีได้เยอะ ไม่ก็เอาขุนนางมาไล่ไพร่ออกไปก็ได้ หรือจะมาสายพ่อค้าที่เอาเงินฟาดหัวไล่เจ้าเมืองคนเก่าออกก็ได้เหมือนกัน

แต่ประเด็นคือถ้าตีสำเร็จเราจะได้รับสิทธิ์ในการวาง disc ที่จะป้องกันแต้มลบในตอนนับคะแนนได้ แต่ว่าไอ้แต้มลบนี้มีที่ว่างสามอัน ทำให้สายครองเมืองใหญ่ต้องทำตัวเกเรหน่อย เพราะต้องตีให้ชนะอย่างน้อยสามครั้ง แถมต้องระวังสายตีคนอื่นมายึดเมืองเราอีกต่างหาก (เพราะเค้าอาจจะอยากได้เมืองไปเพิ่มสถานะในสมาคม)


กิมมิคน่าสนใจอีกอย่างของเกมนี้คือถ้าคนงานคนไหนของเรา ‘เมา’ อยู่พลังป้องกันจะเหลือ 0 ทำให้โดนตีหัวง่ายมาก เพราะตอนจบแต่ล่ะรอบคนงานต้องมีอาหารกิน โดยจ่ายเป็นข้าวก็ได้ ไวน์ก็ได้ ถ้าให้ไวน์จะอิ่มไปสองตาแลกกับการที่ ‘เมา’ ทำให้โดนตีง่ายขึ้น ลูกเล่นอีกอย่างคือเราสามารถเอาไวน์ที่เรามีไปทำแอ๊คชั่น ‘มอมเหล้า’ เพื่อที่จะสวมรอยไปบริหารสมาคมของผู้เล่นคนอื่นเป็นการชั่วคราวได้ด้วย (มีประโยชน์เวลาของในสมาคมเราไม่พอแล้วผู้เล่นคนอื่นไม่ยอมเอาของเข้าซักที)

เรื่องลูกเล่นการกินนี้ยังไปช่วยเสริมระบบเศรษฐกิจในเกมด้วย เพราะการมีอาหารกินทุกตาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่งั้งจะต้องถูกบังคับให้ถอนตัวคนงานออก ผู้เล่นบางคนอาจจะใช้วิธีซื้อตรงจากสมาคมพ่อค้า แต่ว่าสินค้ามีจำกัด หรือจะใช้วิธีเดินไปหยิบจากแผนที่ (คนงานในเกมเดินไปหยิบของตามเมืองได้)แต่ว่ามันก็ออกมาค่อนข้างสุ่ม ตรงนี้ผู้เล่นบางส่วนอาจจะเลือกพัฒนาเมืองให้อยู่ในระดับ ‘ฟาร์ม’ เพื่อผลิตสินค้าไปแลกอาหารกับสมาคมการชาวนา แล้วเริ่มทำการ ‘ผลัก’ สินค้าต้นน้ำเข้าสู่ระบบ (และทำแต้ม) โดยให้สมาคมพ่อค้าเอาไปใช้ต่อ

ความซับซ้อนที่ถักทอกลับมาคือคนงานเรามีได้แค่สามตัวจากทั้งหมดหกแบบ คนงานที่เราเลือกก็จะมองว่าเป็นสายการเล่นแบบหนึ่งไปในตัวก็ได้ ซึ่งแต่ล่ะตัวพอมาจับทีมกันในจังหวะที่แตกต่างกันก็จะช่วยให้เกิดสายการเล่นในแบบที่แตกต่างกันออกไปอีก

🐸[กบโปรด] – เป็นเกมแนว Love or Hate (ไม่ก็ประมาณ ‘ก็ดีนะ แต่เล่นเกมอื่นดีกว่า’) เลยต้องออกตัวก่อนว่าเกมนี้เป็นเกมที่มีข้อเสียใหญ่ๆให้ติมากมาย แต่ก็เป็นเกมที่ผมเล่นแล้ว ‘ติด’ ต้องกลับเอาท่ามาคิดใหม่ทุกครั้งที่เล่นจบ (ก็อย่างที่ทราบกันว่าเรทติ้งนี้วัดจากอารมณ์อยากเล่นส่วนตัว ควรหาข้อมูลประกอบเพิ่มเติม)

ถ้าเกมยูโรกบโปรดอื่นๆคือม้าแข่งที่ถูกฝึกมาอย่างดีมุ่งเข้าสู่เป้าหมายอย่างแนวแน่ เกมนี้ก็เหมือนม้าป่าที่ฟอร์มยังดิบ ไร้ซึ่งความเชื่อง พุ่งทะยานไปในทุ่งกว้าง

ถ้าให้กล่าวแบบรวบรัด ข้อดีมากของเกมนี้คือการที่สามารถเอาระบบการเล่นเด่นๆของเกมยูโรหลายเกมมากมาใส่แล้วผูกเข้าไปเป็นเกมได้อย่างดีเยี่ยม แต่ข้อเสียกับข้อดีมันดันเป็นเรื่องเดียวกันคือมันใส่มาให้เยอะ เลยกลายเป็นกติกาและความซับซ้อนที่งอกหลายอย่างไม่อาจจะขับให้ส่วนไหนเด่นออกมาได้ซักอย่าง

เริ่มที่จุด Love or Hate ก่อน – ในหลายๆแง่ๆแล้ว ผมคิดว่าเกมนี้ค่อนข้างใกล้เคียงเกมของ Vital Lacerda อย่าง Vinhos ซึ่งถ้าอ่านข้อเขียนของผมมาบ้างจะทราบว่าผมไม่ชอบเกมของนายคนนี้ซักเกม ตรงที่เกมมันประกอบจากโมดูลหลายๆส่วนที่ไม่เกี่ยวกันเท่าไรเอามาผูกกันแน่นๆ ( Interlock สูง – อย่าง Lisboa นี้เกลียดเหี้ยๆ ) อีกนัยหนึ่งคือมันก็คือเกมประเภท ‘เกมที่ถูกทำให้ยาก เพียงเพื่อที่มันจะได้ยาก’ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากแนวคิดปกติของผมที่ชอบเกมคลีนๆ แต่สำหรับ Feudum แล้วผมกลับชอบ เพราะแต่ล่ะโมดูลมันเกี่ยวโยงกันแบบหลวมๆไม่บังคับเรา อยากทำอะไรก็ทำ สายการเล่นก็แม่งโคตรเยอะ (จนอาจจะเยอะเกินไปสำหรับคนที่ไม่ชอบ) แต่ว่าไอ้โมดูลพวกนี้มันกลับกำหนดสภาพการเล่นของเกมได้น่าสนใจ เหมือนกับจำนวนเหล็ก/ถ่านหิน/โรงผ้า/ท่าเรือ ใน Brass ที่ผู้เล่นเป็นคนกำหนดเองว่าเกมจะเดินไปทางไหน

ด้วยความที่มันมีพื้นที่ให้ลองเล่นเยอะ กับไดนามิคที่สูงทำให้ผมชอบเกมนี้นะ ส่วนข้อเสียก็คือมัน ‘เยอะ’ นั้นแหละ (นี้ยังเหลือกลไกรองอีกหลายอย่างเลยนะที่ไม่ได้บอก และ FAQ เกมนี้ยาวถึง 14 หน้า A4) พูดอีกนัยหนึ่งคือ สัดส่วนของ complexity ที่เพิ่มขึ้นมาไม่ช่วยเพิ่ม depth ให้กับเกมได้ดีพอ แล้วเกมนี้ก็ไม่ได้สนใจเรื่อง streamline แม้แต่นิดเดียว

เกมนี้เป็นเกมที่ Opaque (ทึบแสง) สูงต้องเล่นซักสองสามรอบถึงจะมองภาพรวมของเกมออก แต่กติกาอ่านไม่ยากนะ คือในแต่ล่ะแอ๊คชั่นมันจะคลีนมาก เดิน, ลงตัว, มูฟ, เล่นซ้ำ อะไรแบบนั้น ตอน score แต้มก็ง่ายอีกแค่ ‘ผลัก’, ‘ดึง’ ของให้เต็ม ไม่ก็ไปยึดแล้วอัพเกรดเมือง ก็ได้แต้มล่ะ แต่พอเอามาประกอบกันเป็นเกมแล้วจะงงชีวิตมากกว่าไปทางไหนดี (เพราะจะไปไหนก็ได้) เท่าที่สอนมาจะเหมือนกันหมดคือจบเกมแล้วยังถามกฎเล็กๆน้อยๆบางส่วนอยู่เลย ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร ในแง่นี้ข้อเสียคือคนสอนต้องอดทนเยอะหน่อย โดยเกมนี้จะใช้เวลาสอนเกือบชั่วโมงนึง (ไม่ได้สอนเกมแล้วเหนื่อยขนาดนี้มานานมาก) คนเล่นก็เช่นกันต้องเป็นสายที่อดทนฟังกฎแล้วก็ยอมคลำเกมมั่วๆไปอีกราวๆชั่วโมงกว่าจะพอเก็ทว่าเกมมันทำงานยังไง


ข้อเสียแบบกากบัดซบ ชนิดที่แนะนำให้โหลดไฟล์ PnP มาใช้ทันทีไม่งั้งจะเกลียดเกมนี้แน่ๆ ก็คือเกมนี้เวลาเราเป็นเจ้าเมืองที่ไหนแล้วเราจะได้รับแต้มในสมาคมใช่มะ? แล้วทีนี้ปัญหาคือเวลาสัดส่วนที่คนเป็นเจ้าเมืองเปลี่ยนไปเราต้องมาเสียเวลานับทั้งแผนที่อีกรอบว่าตอนนี้ใครเป็นหัวหน้าสมาคมกันแน่ ซึ่งตรงนี้โคตรจะเสียเวลา และสุขภาพจิต แต่ถ้าเอาไฟล์ใน Bgg มาใช้ (มีอยู่สองสามเจ้า ใช้อันไหนแล้วแต่ชอบ) จะช่วยให้เราคอยแทรคแต้มพวกนี้แบบเวลาจริง ช่วยลดปัญหาและประหยัดเวลาไปเยอะมาก น่าจะเซฟไปซักชั่วโมง (เชื่อผมเถอะว่าเสียเวลา แถมทำเกมสะดุดเหี้ยๆ) ไอเดียตรงนี้ของเกมจะคล้ายๆระบบนับอาหารหา Dominance ในเกม Dominant Species นั้นแหละแต่อันนี้มันมองยากกว่า

ความบัดซับอย่างต่อมาของเกมนี้คือ การใช้งานอาร์ทในแผนที่ – คือเกมนี้มีทางเดินอยู่สี่แบบคือ ถนน สำหรับการเดินปกติ, คลื่นสำหรับเรือ, นกสำหรับเรือบิน, ฟองอากาศสำหรับเรือดำน้ำ ปัญหาคือไอ้ทางเดินพิเศษนี้แม่งมองโคตรรรรรรรรรรร ยาก ยิ่งสำหรับเกมแรกที่มัวแต่กำลังมึนกฎอยู่นี้เดินกันแทบไม่เป็น เพราะหลายๆทางมันวางซ้อนๆกัน โดยเฉพาะเรือกับเรือดำน้ำ

เรื่องอาร์ทอีกอย่างคือเกมนี้มีอยู่ 6 โซนที่แตกต่างกัน (มีผลสำหรับสายเจ้าเมือง) เส้นแบ่งทำมาค่อนข้างเหี้ยทีเดียวมีอยู่คู่หนึ่งคือโซนเกาะกับโซนทะเลที่ดันเป็นเกาะเหมือนกันนั้นแหละ แต่ว่าขนาดไม่เท่ากัน…… อีกจุดคือเกมนี้จะมีการเติมของตามยุค มันจะมีลูกเล่นทำเป็นตัวอักษรทิศทางแต่ว่าเขียนไว้แบบโคตรจะเล็กแล้วดันโดนไทล์เมืองวางทับอีก เวลาจะเติมก็เลยต้องคอยเลื่อนไทล์ดูว่าต้องเติมของไหมไรงี้ ปัญหาคือมันติสไปนั้นแหละ functional แผนที่ไม่ดีเลย แต่ว่า icon ส่วนของการ์ดกับการอธิบายความสามารถสมาคมบนกระดานทำได้ดีนะ ไม่มีปัญหาอะไร


ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะถามว่า ด่าเยอะขนาดนี้ยังโปรดได้ไง?

คือโดยรวม Feudum เป็นเกมที่ความต้องการขั้นต่ำคือคนเล่นเกมที่ต้องมีประสบการณ์ในเกมยูโรเยอะซักหน่อย กับความอดทนที่จะเล่นเกมซักสองสามรอบก่อนจะตัดสินใจว่าเกมนี้มันใช่หรือไม่ใช่ ผู้เล่นยูโรสายคำนวนแม่นๆก็อาจจะไม่ชอบเท่าไร เหมาะกับคนเล่นแนวเลือกสายแล้วทำอะไรคลุมเครือไปข้างหน้ามากกว่า ซึ่งสำหรับผมแล้วเกมนี้ยิ่งเล่นยิ่งพบว่ามันมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะมาก แต่ล่ะมูฟมี trade off ที่น่าสนใจเสมอ จริงๆตอนแรกให้แค่ชอบ แต่พอเล่นรอบสอง สามแล้วกลายเป็นชอบมาก เลยให้โปรดไปล่ะกัน เพราะรู้สึกว่าเกมมันเติบโตในตัวเราขึ้นได้เรื่อยๆ

ส่วนตัวเสริมคิดว่าไม่จำเป็นนะเพราะเพิ่มอะไรมานิดน้อยมาก กับผู้เล่น 6 คน เหมาะสำหรับซื้อมาให้ครบๆมากว่า แต่ว่าเอาแค่ที่มาในกล่องหลักก็เล่นซ้ำได้เยอะเว่อร์แล้ว

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->