Die Macher - เกมกลคนเลือกตั้ง

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Die Macher - เกมกลคนเลือกตั้ง

Die Macher เกมตั้งแต่สมัยที่หลายคนยังไม่เกิด (1986) แต่ความสนุกยังเหนือกาลเวลา ตัวเกมว่าด้วยการเลือกตั้งในเยอรมันที่เราจะเป็นพรรคการเมืองมาออกนโยบายหาเสียงเอา สส. เข้าสภา

ไอเดียพื้นฐานคือเกมนี้คือ ‘การ์ดนโยบาย’ ที่มีอยู่ 7 แบบครอบคลุมในเรื่องการเมืองแบบกว้างๆ (อย่างเช่น พลังงาน/การศึกษา/สาธารณสุข/…) แต่ล่ะแบบก็จะมีสองหมวดย่อยคือ ‘สนับสนุน’ กับ ‘คัดค้าน’ ทีนี้ในแต่ล่ะรัฐก็จะมีการเปิดการ์ดนโยบายพวกนี้หงายไว้ เป็นตัวแทนความต้องการของประชนชนว่ารัฐนี้คนเค้าอยากได้อะไรกัน แต่ล่ะรัฐก็จะไม่เหมือนกัน (มีรัฐล่ะ 4 ใบ)

เกมจะมีการเลือกตั้ง 7 รัฐโดยเราจะเห็นแค่ 3 รัฐล่วงหน้า กับรัฐที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเท่านั้นโดยรัฐที่ยังไม่มีการเลือกตั้งความต้องการของประชาชนจะยังเปิดมาไม่หมด แต่จะที่เหลือจะค่อยๆเปิดขึ้นมาตามเวลาที่ใกล้การเลือกตั้ง สำหรับในรัฐยังไม่มีการเลือกตั้งเกมก็จะให้เราแบ่งทรัพยากรไปสร้างฐานเสียงรอการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทีนี้ผู้เล่นแต่ล่ะคนก็จะมีการ์ดนโยบายที่จะเอาไว้หาเสียงหงายอยู่ข้างหน้า อันเป็นตัวแทนของทิศทางพรรคการเมืองของเรา (นโยบายจะมีข้างหน้า 5 ใบเสมอ แล้วเราจะสามารถถือนโยบายอื่นเก็บไว้ในมือได้ 3 ไว้ใบรอเปลี่ยน) ตัวเกมจะมีจังหวะที่ให้เราจ่ายเงินเพื่อเอา cube กิจกรรมการเมืองไปวางไว้ตามรัฐ จากนั้นจะมีจังหวะที่จะให้เราเปลี่ยน cube กิจกรรมการเมืองให้กลายเป็นคะแนนโหวต (อันเป็นจุดตัดสินว่าจะได้ที่นั่งในรัฐ อันเป็นแต้มในเกมเท่าไร) ไอ้ตรงนี้แหละที่ความสัมพันธ์ในนโยบายของพรรคกับรัฐจะมีผลกับเรา ด้วยความที่แต่ล่ะรัฐมันต้องการไม่เหมือนกันแต่เรามีนโยบายแค่ชุดเดียว การจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ต้องวางแผนหน่อย (จะมองว่ากำลังเล่น Set Collection ที่เห็น set ทำแต้มล่วงหน้าก็ได้)

หนึ่ง cube กิจกรรมทางการเมืองของเราจะมีค่ากี่โหวตจะขึ้นอยู่กับว่านโยบายหาเสียงเราตรง/ขัด กับความต้องการของคนในรัฐแค่ไหน ทุกอันที่ตรงจะนับ +1 และทุกอันที่ขัดจะนับ -1 รวมกับ ‘กระแส’ ที่จะบวกหรือลบขึ้นอยู่กับทิศทางที่คนในรัฐมองพรรคของเรา โดยกระแสนี้เปลี่ยนได้จากทั้งการที่เราจ่ายเงินเพื่อเล่นการ์ด ‘ล๊อบบี้’ หรือจะเกิดจากการทำ ‘ผลโพล’ ก็ได้

ตรงส่วน ‘ผลโพล’ นี้สนุกดีเพราะในแต่ล่ะรัฐจะมีการประมูลแบบปิดทุกรอบ คนที่เสนอเงินเยอะสุดจะได้เลือกว่าจะเปิดผลการสำรวจต่อสาธารณชนไหม การ์ดผลโพลจะมี 3 พรรคที่ได้รับกระแสที่ดี อีก 2 พรรคกระแสจะตก ถ้าเลือกตีพิมพ์ก็จะเลือกให้ 2 จาก 5 พรรคได้รับผลนั้นไป แต่ถ้าไม่ตีพิมพ์เราจะได้ทอยเต๋าเพิ่มสมาชิกพรรคแทน ระบบตรงนี้จะออกแนวๆว่าถ้าชนะแล้วมีผลเสียกับเราก็เท่ากับเราได้ป้องกันคนอื่นมากดเรา แต่ถ้าชนะแล้วดีกับเราอยู่แล้วเราก็ได้แต้มแทน อันนี้ผมคิดว่าทำออกมาดีนะ

ตัวเกมยังมีระบบสนุกๆอีกหลายอย่าง อย่างเช่นการลงทุนในสื่อ ถ้าผู้เล่นควบคุมสื่อได้เยอะกว่าคนอื่น หรือว่ามีความนิยมท่วมท้นในรัฐนั้นก็จะสามารถชี้นำปรับเปลี่ยนนโยบายที่คนในรัฐต้องการให้เอื้อกับเราได้ด้วย หรือการวางแผนจับคู่เป็นพรรคร่วมในการหาเสียงของผู้เล่นสองพรรคที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีนโยบายคล้ายกันในระดับหนึ่ง หรือการที่ผู้ชนะในแต่ล่ะรัฐจะนำเอาความต้องการของคนในรัฐไปเป็นวาระแห่งชาติที่ถ้าพรรคใดมีนโยบายตรงกับวาระนี้ก็จะได้แต้มในแต่ล่ะตาเพิ่มด้วย รวมไปถึงการขอเงินสนับสนุนในตอนท้ายตาที่ถ้าเรารับเงินสมาชิคพรรคจะลด แต่ถ้าเราปฎิเสธเงินไปจะได้สมาชิกพรรคเพิ่ม

เป็นอีกเกมที่ชอบ ยังอยากเล่นอีกเรื่อยๆ ช่วงสองสามปีก่อนตอนที่ได้มาใหม่ๆเล่นกันอาทิตย์ล่ะครั้งได้นี้พึ่งมีจังหวะขุดกลับมาเล่นใหม่ ถ้าเทียบกับเกมสมัยใหม่ความสนุกก็ถือว่าอยู่อันดับต้นๆของผมเลย เวลาที่นาน 4-5 ชั่วโมงไม่ใช่ปัญหาของผมอยู่แล้ว และเท่าที่เล่นมาคนในวงก็เล่นกันสนุกลืมเวลา ตัวเกมมีอะไรให้คิดเรื่อยๆแต่ว่าเล่นจบแล้วไม่รู้สึกว่าเหนื่อยจนเล่นเกมอื่นต่อไม่ไหว เอาจริงๆก็ยังงงๆว่าเกมนี้มันเอาอะไรไปถึง weight 4 กว่าๆ Agricola ยังยากกว่าเยอะเลย (อาจจะเป็นเพราะ Player Aid ที่ใช้ทำมาดีมาก ประหยัดเวลาไล่กติกาไปได้เยอะก็เป็นได้) ตัวเกมมีระบบสนุกๆหลายอย่างจนคิดอยู่ว่าทำไมไม่มีเกมสมัยก๊อประบบมาใช้บ้าง กระดานถึงจะดูเหมือนจะงงๆเชยๆแต่ก็แสดงข้อมูลที่จำเป็นได้ชัดเจน

ตัวเกมเก่าและเลิกผลิตไปนานนนนแล้ว แต่ไม่ได้หายากอะไรถ้ามีเงินจ่าย (ใน bgg market ขายกันเป็นสิบกล่องราคา 100$-200$ ไม่รวมค่าส่งและภาษี ถ้าดูกล่องถูกๆหน่อยน่าจะเบ็ดเสร็จมาถึงมือซัก 5xxx - 7xxx) กล่องของเพื่อนที่ผมเล่นเป็นตัวพิมพ์เมื่อปี 1997 ( 20 ปีก่อน) ภาษาเยอรมัน ฉบับภาษาอังกฤษก็มีออกมาแต่ว่าไม่มีความจำเป็นต้องหาเป็นพิเศษเนื่องจากภาษาไม่มีผลในเกม (อุปกรณ์ของตัวเยอรมันก็ดีกว่าด้วย) เรื่องตลกเล็กๆคือเกมพวกประมาณนี้ในกลุ่มผมชอบหามาซ้ำๆกัน หลังจากมีคนกดกล่องแรกไปแล้วก็ไปแอบงอกกันมาอีกจนตอนนี้มีอยู่กันสามสี่กล่อง แต่ว่าเวลากางเล่นมันก็หน้าเดิมๆเนี่ยล่ะที่เล่นกัน….

อนึ่ง : เกมนี้ได้รางวัล Spiel des Jahres Recommended ในปี 1998 ด้วยนะคิดดูแล้วกันว่าเกมสำหรับ ‘ครอบครัว’ สมัยก่อนมันต่างกับตอนนี้ขนาดไหน 

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->