De Vulgari Eloquentia- เดินทางสร้างภาษา

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
De Vulgari Eloquentia- เดินทางสร้างภาษา

เกมยูโรระดับกลางชื่ออ่านยากๆ ที่มาจากหนังสือชื่อเดียวกับเกมที่เขียนโดยกวีดันเต้ (Dante Alighieri) ที่อาศัยอยู่พื้นที่ที่ต่อมากลายเป็นอิตาลีในสมัยคริสตศักราช 13xx โน้น  ที่มีพร้อมกับธีมที่น่าสนใจว่าด้วยการให้เราย้อนประวัติศาสตร์มาสวมบทบาทเป็นพ่อค้าผ้าที่กำลังหงุดหงิดว่าจะเขียนสัญญาซื้อขายยังไงดีให้คนมันเข้าใจง่ายๆ ภาษาลาตินแม่มก็มีพวกพระกับชนชั้นสูงใช้กัน ส่วนภาษาพื้นบ้าน (vernacular) แต่ล่ะที่ก็ดันพูดไม่เหมือนกันอีก ในยุคนั้นดันเต้ถือว่าคูลมาก บอกช่างแม่มภาษาลาติน กูจะเขียนภาษาพื้นบ้านให้ชาวบ้านอ่านใครจะทำไม ไหนๆแล้วเราไปช่วยพัฒนาภาษากลางแบบที่ชาวบ้านคุยกันรู้เรื่องให้มันป๊อบดีกว่า ว่าแล้วเราก็จะต้องเดินทางไปทั่วแว้นแคว้นเพื่อศึกษาและช่วยพัฒนาภาษาใหม่ที่ว่านี้นั้นเอง โดยจุดเด่นของเกมคือรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านการเล่นเกมของเราได้อย่างน่าสนใจ ผลงานของ Mario Papini (Lancelot, Siena, Feudo)

อนึ่งทักษะทางประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ผมค่อนข้างต่ำเตี้ย (ว่ากันตามตรง ตอนไปหาข้อมูลเพิ่มนี้งงฉิบหาย) ถ้าตรงไหนผมเข้าใจผิดท้วงได้นะ

ไอเดียหลักๆก็คือเราจะเดินทางไปตามพื้นที่นั้นแหละ พอแวะที่ใหม่ๆก็จะได้เงินและแต้มความรู้มา ตอนเริ่มเกมเราทุกคนจะเป็นพ่อค้า แต่ว่าสามารถสละเงินทิ้งแล้วเดินทางไปเข้าวัดเพื่อบวชก็ได้ พอกลายเป็นพระแล้วก็สามารถไต่เต้าตัวเองจนกลายเป็นพระคาร์ดินัลหรือจะเป็นพระธรรมดาต่อไปก็ได้ (สรุปคือจบเกมได้ทั้งสามอาชีพ) โดยแต่ล่ะอาชีพก็มีข้อดีข้อเสีย กับวิธีที่ต้องดิ้นรนหาแรงสนับสนุนจากผู้คนที่แตกต่างกันออกไป

อย่างถ้าเป็นพ่อค้าเนี่ยเวลาเดินไปดินแดนไหนๆก็สามารถทำการค้าได้เพราะงั้งเลยจะได้เงินด้วยทุกครั้งที่ไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ในขณะที่ฝั่งนักบวชจะไม่ได้เงิน (แต่ทุกอาชีพจะได้ความรู้เหมือนกัน) การที่เงินน้อยก็จะลำบากหน่อยเพราะว่าจะเดินทาง จะขึ้นเรือมันต้องใช้เงิน แต่ว่าพ่อค้านี้ก็ใช่ว่าจะสบายนะเพราะว่าทุกรอบจะต้องคอยบริจาคเงินให้ผู้เล่นที่เป็นพระอยู่ตลอด แต่ใช่ว่าเป็นพระแล้วจะแบมือขอเงินได้สบายๆ เพราะก็ต้องเก็บสะสมเงินตราที่หาได้ยากลำบากเพื่อเอาไปซื้อตำแหน่งเป็นพระคาร์ดินัล ซึ่งเกมนี้ทั้งสามอาชีพยังแตกต่างกันว่าในตอนจบจะมียศฐาบรรดาศักดิ์ที่สามารถแลกเป็นแต้มได้ไม่เหมือนกัน

ส่วนความรู้นั้นเอาไว้เรียนรู้ภาษาพื้นบ้านตามดินแดนต่างๆ คือในแต่ล่ะดินแดนจะแบ่งออกเป็นสี แต่ล่ะสีก็แทนภาษาในพื้นที่นั้น ได้แก่ภาษาละติน (Latin), ภาษาของชาวฟอเรนซ์ (Fiorentino), ภาษาฝรั่งเศสโบราณตอนเหนือ (D’Oil ตอนหลังคำนี้ออกเสียงกลายเป็น oui ที่แปลว่าใช่ในภาษาฝรั่งเศสปัจจุบัน) และภาษาฝรั่งเศสโบราณตอนใต้ (D’Oc)

ตัวเกมจะใช้ระบบ Action Point Allowance อันเป็นระบบที่ผู้เล่นแต่ล่ะคนจะได้แต้มในแต่ล่ะตาเอาไปแบ่งทำแอคชั่นที่ชอบ ผลัดกันไปเรื่อยๆในการเดินเกม ของที่ทำได้ส่วนมากก็คือเอาไปเดินบ้าง เพิ่มสกิลความรู้บ้าง สองเรื่องนี้ไปด้วยกันเพราะถ้าเราไปถึงดินแดนภาษาต่างๆอีกสิ่งที่ทำได้คือหยิบเอาไทล์ความรู้ภาษานั้นๆมาเก็บไว้เป็นแต้ม ยิ่งฉลาดก็จะยิ่งเก็บไทล์ที่แต้มเยอะได้ ระหว่างทางเรายังสามารถแวะเข้าวัดเพื่อเปลี่ยนจ๊อบก็ได้ ตรงนี้ก็สนุกดีเพราะเราต้องเลือกว่าจะเป็นสายจับเน้นเดิน แล้วซื้อความรู้พื้นๆ หรือจะเน้นตั้งใจเรียนแล้วเอาแอคชั่นไปซื้อความรู้ชั้นสูงที่แต้มเยอะกว่าดี

ระบบที่น่าสนใจในเกมนี้คือคิวบ์อธิพลอันแทนที่เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนสายอาชีพต่างๆ (นักการเมือง, ขุนนาง, อาราม, อาลักษณ์) ที่เราสามารถจ่ายแต้มแอคชั่นไปหยิบได้ในแต่ล่ะรอบจะมีจำนวนจำกัดและเรารู้ล่วงหน้าแน่นอนว่าตาไหนจะมีอะไรบ้าง คิวบ์พวกนี้สำคัญตรงต้องเอาไปใช้แลกเป็นสถานะทางการเมืองในตอนจบเกม ตรงนี้ทำให้เราต้องวางแผนการทำแอคชั่นในเกมเยอะหน่อย ความรู้ก็ต้องเพิ่ม เดินทางก็ต้องเดิน เงินก็ต้องหา อ่านหนังสือก็ต้องทำ หยิบไทล์ความรู้ก็ต้องไป ฐานเสียงก็ต้องสร้าง แอบงีบก็ต้องทำ (เกมนี้ turn order ปรับโดยการเอาแต้มไปนอนพักเอาแรง)  พวกคิวบ์นี้น่าสนอีกอีกอย่างคือในตาหนึ่งจะมีมากสุดแค่ 7 อัน (กรณีเล่นห้าคน ถ้าคนน้อยกว่านั้นจำนวนก็น้อยตาม) ถ้าเราใช้หรือเปลี่ยนรอบการเล่นของมันจะไปกองอยู่ตาไกลๆ ทำให้ผู้เล่นสามารถประเมินล่วงหน้าได้ประมาณหนึ่งว่าในตาไหนอยากจะเอาแอคชั่นไปเดินทาง ตาไหนอยากจะเอาแอคชั่นไปซื้อคิวบ์

ระบบการเดินทางก็ไม่ซับซ้อนอะไรก็จ่ายแต้มแล้วเดินไปช่องติดกันธรรมดาๆ ถ้าอยากเดินไกลก็ต้องจ่ายเงิน แต่ก็ทำให้เกมนี้น่าสนใจหลายอย่างเพราะระบบไปด้วยกันได้ดีมากนั้นคือเราไม่อยากเดินทางไปพื้นที่เดิม เพราะทุกครั้งที่เดินทางไปที่ใหม่เราจะได้ความรู้กับเงินมา แถมทุกครั้งที่เราเคลื่อนตัวก็มีผลต่อชนิดของไทล์ความรู้ที่เก็บได้ (จะศึกษาภาษาไหนเราต้องอยู่ในพื้นที่สีนั้นๆ) เกมยังมีไทล์โบนัสสำหรับผู้เล่นคนแรกที่ไปถึง ที่เราเห็นล่วงหน้าว่าตาไหนมันจะไปโผล่ที่ไหนอีก ยังไม่รวมว่ายังมีแทรคแต้มบางอันที่จะเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อเราไปอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดในรอบที่กำหนดด้วยนะ

🐸[กบชอบ] – ผมชอบตรงที่เกมมันเล่นง่าย เป็นยูโรบ้านๆแต่ว่าเรื่องราวในธีมเกมแล้วก็เรื่องราวตอนเล่นเกมมันสนุกดี เป็นเกมที่มีโมเม้นความอินในบทอาชีพเยอะอยู่ อย่างตอนแรกเป็นพ่อค้ากันแล้วมีคนบวชพระ ที่นี้ไอ้หลวงพี่นี้ก็พูดแต่ ‘ขอตังโหน๋ย’ อยู่ทุกตาจนสายพ่อค้าบอกไม่บริจาคแม่มล่ะ เป็นพระด้วยดีกว่า ไปๆมาๆกลายเป็นพระทั้งวง พอมาเป็นพระก็เจอปัญหาใหม่คือต้องมาแย่งคิวบ์กันเองเพราะสายพระต้องใช้เยอะไรงี้ ความประทับใจเลยอยู่ตรงที่ ‘เรื่องราว’ มันชัดดี ถึงจะไม่ค่อยลงล๊อกเท่าไรว่าเราจะเดินทางไปๆมาๆทำไมฟระตอนจบก็ไม่เห็นจะได้สร้างภาษาใหม่ๆอะไร แค่เดินอัพแทรคเก็บแต้มเท่านั้นนิหว่า

ข้อเสียโดยรวมก็ไม่มีอะไรมาก คือก็อยู่ที่งานอาร์ทมันพื้นๆ อุปกรณ์ก็ธรรมดา อันเป็นปกติของยูโรทั่วไปเลยไม่รู้จะติอะไร แต่ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเล่นเกมนี้ 5 คนเท่าไร เพราะด้วยระบบเกมแบบนี้ที่ตอนตาคนอื่นไม่มีอะไรทำ มันทำให้รู้สึกว่า ระยะเวลารอหรือ downtime มันเยอะไปหน่อย ข้อเสียอื่นๆคือพวก aid กติกามันไม่ค่อยดีเท่าไร คือเกมมันจะมีบางจุดที่มีสิ่งก่อสร้างที่เราจะเปลี่ยนอาชีพ หรือว่าเอาไว้ซื้อคิวบ์แบบไม่ต้องจ่ายตัง หรือเอาคิวบ์มาแลกแต้มแต่มันดันไม่มีตรงไหนเขียนบอกให้กระดาน ทำให้แอบหงุดหงิดเล็กๆที่ต้องมาอธิบายเหมือนกัน

ข้อสังเกตุอีกอย่างคือมันเป็นเกมที่ไม่เหมาะกับเอามากางเล่นติดกัน แต่เหมาะมากสำหรับอยู่ๆหยิบมากางแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เป็นความสนุกแบบนานๆเล่นทีที่เพลินดี

เกมนี้เป็นเกมเก่าที่ไม่ได้เล่นมาหลายปีล่ะ แต่อยู่ๆก็อยากเอามาปัดฝุ่นเล่นใหม่ เกม oop ไปนานแต่ว่าไม่ใช่เกมดังอะไรน่าจะหาได้ไม่ยากนะราคาใน bgg market ก็ถูกมาก

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->