Coconut Empire- โรงละครล้อการเมือง

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Coconut Empire- โรงละครล้อการเมือง

คือเป็นการเขียนแบบไม่ค่อยมี format เท่าไร เพราะอันที่ใช้ประจำคิดว่าไม่เหมาะกับสิ่งที่จะเขียน เรียนให้ทราบไว้ก่อนว่าอยากให้อ่านในเชิงบันทึกความเห็นส่วนตัวมากกว่าอ่านเป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งก็เหมือนอันอื่นๆล่ะนะ)

🔸ฉบับสั้นอ่านแค่นี้พอ

▪️ ในประเทศเผด็จการที่ตำแหน่งผู้นำว่างลง เราจะเป็นหนึ่งในชนชั้นนำ 6 คน มาแย่งชิงอำนาจกัน เกมจบได้หลากหลายแบบทั้งเงื่อนไขกลาง และเงื่อนไขส่วนตัวของแต่ล่ะตัวละคร หลักๆคือต้องส่งลูกน้องไปยึดพื้นที่หาเงิน จากนั้นก็เอาเงินไปซื้อทหารเพื่อยึดแย่งอำนาจในการเป็นรัฐบาล (ที่นอกจากจะเป็นเงื่อนไขการชนะแล้วยังสามารถออกกฎหมายเพื่อปรับกติกาในเกม)

▪️ เป็นเกมสไตล์ King on the hill ที่พอเห็นใครนำ เพื่อนต้องพร้อมใจกันรุมดึงมันลงมา

▪️ เกมเบา รูปสวย กติกาถือว่าซับซ้อนเกินเกมเพลย์ไปนิด

▪️ เกมเล่นเอาฮา ที่เกิดจากการวางกติกาเป็นของเล่นในกะบะทรายที่วางรอไว้ให้ผู้เล่นในวงสร้างเรื่องราวขึ้นมาโดยไม่มีใครมากำกับ

▪️ ถ้าหวังว่าเกมนี้จะหนักแน่นไปด้วยการเจรจาอันเข้มข้นพร้อมเหตุผลการเมืองและผลประโยชน์คมๆ โปรดทราบไว้ว่าขุยมะพร้าวนี้ก็เอาไว้จุดไฟได้ดี

🔸ข้อเสนอแนะเชิงผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าจำเป็นต้องปรับปรุง

▪️ จำเป็นต้องมี Player Aid ที่ชัดเจน แจกเพิ่มให้กับผู้เล่นทุกคน (พิมพ์หลังคู่มือไม่เพียงพอ) การที่ผู้เล่นต้องมาท่องจำราคาของในเกมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสะดุด (ควรมีพิมพ์เพิ่มไว้ในแผนที่ด้วย)

▪️ ไทล์สวยก็จริงแต่ความชัดเจนในการมองแว๊บแรกของชนิดที่ดินยังไม่เด่นชัดเพียงพอ ควรวาดสัญลักษณ์หรือทำขอบไทล์ที่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถแยกกันได้ไวกว่านี้

🔹 ฉบับยาวที่ไม่ต้องอ่านก็ได้

📌 เอาจริงๆก็ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ขี่สามล้อเด็กแล้วมาบ่นว่าทำไมเบาะเตี้ย หรือด่าปืนว่าห่วยเพราะหั่นผักไม่ขาดเท่าไร (เขียนเชิงเปรียบเปรย ว่าไม่น่าไปวิจารณ์ของที่ไม่ได้ทำมาขายตัวเอง ไม่ได้เลือกตัวอย่างเพื่อกระทบกระเทียบสิ่งใดที่กำลังจะกล่าวถึง) เอาเป็นว่าอ่านเป็นแค่ประสบการณ์หนึ่งล่ะกันนะ YMMV ครับ ไม่ได้เขียนเชิงรีวิวนะ แค่บันทึกความรู้สึกไว้

◾️ เป็นข้อคิดเห็นที่ส่วนตัวคิดว่าเขียนยาก เพราะไม่รู้จะเขียนยาวหรือสั้นดี โดยเหตุผลมาจากการเลือก ‘กรอบ’ ที่จะใช้มองเกมนี้ คือตามความเข้าใจผมเนี่ยเกมนี้เริ่มมาจากแนวคิดว่าอยากจะทำเกมที่จำลองบรรยากาศทางการเมืองในสถานะการณ์จำลองแล้วให้ผู้เล่นขับเคลื่อนตัวเกมไป อีกทั้งเท่าที่ทราบตัวนักออกแบบเองก็ไม่ใช่สาย ‘บอร์ดเกมเม๊อ บอร์ดเกมเมอร์’ พอมาตัวฉบับจัดพิมพ์ตัวปัจจุบันผมเองไม่แน่ใจว่า ตัวเกมนั้นวางเป้าหมายไว้แบบไหน แต่สำหรับความเห็นนี้ผมจะเลือกมองจากกรอบที่ว่าเป็น ‘คนเล่นเกมกระดานแบบยูโรที่ต้องการเหตุผลมาขบคิดในการเล่น’ ล่ะกัน ซึ่งด้วยวิธีการมองแบบนี้ ก็แน่นอนว่าจะค่อนข้างจะไม่ตรงกับสิ่งที่เกมอยากจะนำเสนอนะ

◾️จากกรอบที่เลือก สิ่งที่ผมประทับใจในเกมนี้มีเพียงงานศิลป์ที่สวยงาม คู่มืออธิบายค่อนข้างดีโดยที่สัดส่วนของมุกตลกและบรรยากาศมีพอเหมาะโดยที่ไม่ทำให้กติกาอ่านยาก ส่วนคุณภาพและราคาไม่ได้มีผลต่อความเห็นนี้ (ในแง่คุณภาพผู้ผลิตแจ้งไว้ตั้งแต่ตอนระดมทุน ส่วนราคาเนื่องจากยอดพิมพ์น้อย กับผมคุ้นเคยกับเกมสไตล์บูติกดี เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็น ) มีเพียงแต่ความเห็นต่อตัวเกมเพียงอย่างเดียว ถึงจะเต็มไปด้วยข้อคิดเห็นที่ไม่ใช่เชิงชื่นชม แต่ก็ไม่ได้เขียนมาเพื่อด่านะ แค่อยากแสดงความเห็นจากกรอบและอคติอันไม่เป็นกลางที่ผมมี โปรดสะดุดคิดตามซักนิดหากนึกแย้ง

◾️กล่าวโดยสรุป ในฐานะเกมที่ทำมาเพื่อความสนุกแล้วผมคิดว่าเกมนี้ไม่สามารถตอบสนองในส่วนนี้แก่ผมได้เลย ในฐานะเกมเบา เกมนี้กติกาเยอะเกินไป ในฐานะเกมคิด กติกาที่เยอะแยะของตัวเกมไม่ได้นำเสนอความคิดที่ลุ่มลึกที่มากพอ ซึงจริงๆก็พยายามลองมองจากกรอบกะบะทรายแล้วล่ะ แต่รู้สึกว่าแม้จะมองจากมุมนั้น ของเล่นที่มีก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินเรื่องราว

🔹โดยสาเหตุมาจาก เป้าหมายที่เลื่อนลอย และระบบการเล่นที่ไม่ได้สร้างน้ำหนักในการตัดสินใจ

▪️ คือด้วยความที่แนวการเล่นปกติของผมเนี่ยจะชอบเล่นเกมยูโรเป็นหลัก ซึ่งมักจะชนะกันด้วยแต้มหรือเงื่อนไขบางอย่าง แต่ที่แน่นอนคือเราเล่นเพื่อให้เป็นที่หนึ่ง หรืออย่างน้อยก็มุ่งไปสู่การเป็นที่หนึ่ง แต่เกมนี้พยายามใส่แนวคิดว่า เดี๋ยวตอนจบจะมีการเลือกลำดับชนชั้นได้ด้วยนะ (ก็คือที่สอง สาม สี่ ห้า หก นั้นแหละ) คือเกมมันเป็นแค่ sandbox ที่มีกติกาบางอย่าง แต่ไม่สามารถขับเน้นหรือผลักดันในคนเล่น ‘กระหาย’ ที่จะเป็นหนึ่ง ต้องมาต่อสู้ เจรจาเพื่อให้ได้อำนาจมา กลายเป็นเกมที่อยากจะเกรียนเพื่อนไปเรื่อยมากกว่าในความเห็นของผม

▪️ อย่างที่กล่าวไปคือสำหรับผมเกมมันเหมือนกับกะบะทรายที่ให้คนเล่นมาเล่นละครกัน ใน ‘เกม’ นี้ก็ไม่มีแนวคิดเรื่อง victory path อะไรเลย ไม่มีกลไกส่วนใดของเกมที่ทำการ ‘กำกับ’ หรือสร้างสถานะการณ์ให้ผู้เล่นต้องเข้าไปมีส่วนรวม อย่างหลายเกมอาจจะมี event หรือ scoring round ให้วางแผน แต่เกมนี้ไม่มี มันคือเกมแบบ king on the hill ใครจะนำก็ต้องไปลากมันลงมา โดยไม่มี tooling อื่นใดนอกจากเจรจา

▪️สิ่งที่ต้องทำคือทำแอคชั่นที่ไร้ความหมายกระเด้งไปมาจนกว่าเกมจะไปสู่จุดที่เรียกว่าเข้าเงื่อนไขจบเกม การเป็นนายกแล้วเลือกกฎหมายเองก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เล่นสามารถเข้าใกล้ชัยชนะได้แต่อย่างใด เป็นเพียง ‘มุกตลก’ ที่ใส่มาเพื่อให้บทละครนี้มีเหตุการณ์อยู่บ้าง จบเกมไม่มีความทรงจำหรือ impact ให้เล่าขานต่อแต่อย่างใด

▪️ไม่สมดุลย์ในเชิงเกม คือในเกมนี้มีทางได้รายได้แบบพื้นฐานอยู่แบบเดียวคือการเดินไปซื้อที่ดินที่มีอยู่สามแบบ ความเรียบของส่วนนี้คือทั้งสามอย่างมีอัตตราการคืนทุนเรทเดียวกันนั้นคือรอสามตา คือมันจะมีที่ดินราคา 3/5/15 ที่ให้เงินเราตาล่ะ 1/2/5 แถมซื้อไปก็อาจจะโดนเพื่อนมาตีแย่งที่ดินได้ ทีนี้คำถามคือแล้วมิติในเชิงความคิดมันอยู่ไหน? จ่าย 15 แต่อาจจะไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้นะ ความพิลึกของแนวคิดนี้ในเชิงเกมคือดันมีตัวละครหนึ่งต้องซื้อเหมืองสามอัน รวมเป็นเงิน 45 นี้ต้องรออีกกี่ตากัน? แล้วใครมันจะไปซื้อ(ว่ะ?) โอเคในเชิงอุดมคติคือผู้เล่นน่าจะต้องสร้างเงื่อนไขเจรจาหาเงินมาซื้อ หรือไปชนะทางอื่น แต่ส่วนตัวผมคิดว่ามันตื้นเกินไปหน่อย

▪️หรือกระทั้งการต่อสู้โดยใช้การ์ดตัวเลข 1-4 มารวมพลังชนะกัน เป็นระบบที่ใครเล่น Scythe จะเข้าใจเพราะทำงานแบบเดียวกัน แต่ที่ต่างคือการ์ดเลขหนึ่งในเกมนี้ขยะชัดๆ (ในเชิงเกมเพื่อเอาชนะ) เพราะเราไม่มีวิธีการ ‘บูส’ พลังโจมตีของเรา นอกจากจะไปอ้อนวอนเจรจาให้เพื่อนข้างเคียงช่วยส่งพลังมาให้หน่อย หรืออย่างใน Scythe เองการ์ดพลังนั้นเป็นแค่กิมมิคเสริมเพราะมีสิ่งที่เรามองเห็นได้อยู่แล้วอย่างแทรค Power ที่ถ้าใช้มันจะลดลง แต่เกมนี้วัดกันแค่การ์ดในมือ

▪️ในฐานะ ‘เกม’ จากกรอบของเกมที่ผมใช้แล้วสิ่งที่ทำให้เกมนี้ไม่เหมาะกับผมมากที่สุดก็เห็นจะเป็นแนวคิดเรื่องการมีอยู่ของลำดับที่ (ลำดับชนชั้นในเกม) ที่ไม่ได้มีตัวชี้วัดอื่นใดนอกจาก ‘เออๆเพื่อนช่วยเลือกเราเป็นอันดับนี้หน่อยสิ จะจบเกมแล้วขอเราได้อันดับดีกว่าอีกคนก็พอนะ’ ที่ไม่มีความหมายอะไรเลยในเชิงความเกม จากมุมมองของผมแล้วมันก็เลยกลายเป็นเกมแห่งการเล่นละคร อ้อนวอนเพื่อนไปเรื่อย โดยที่คิดไม่ออกว่ามันจะขับไอเดียเรื่อง ‘อำนาจ’ มาได้ยังไง

💬 ในมุมมองส่วนตัวแล้วถ้าเป็นเกมที่เป็น sandbox แบบเอาคนลงมาเจรจากันแล้วอยากจะต่อรอง เรียกร้องขอสินบน ฯลฯ แล้วอยากให้ลองไปดู John Company เพราะเป็นเกมที่เล่นแล้วผู้เล่นสามารถโดนดูดเข้าไปใน ‘ความสมเหตุสมผล’ ของแต่ล่ะดีลได้อย่างง่ายดาย เพราะผู้เล่นแม้จะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ว่าในแต่ล่ะจังหวะนั้นตัวเองก็ต้องคอยขับเคลื่อนบริษัทขนาดใหญ่ที่ตัวเองมีตำแหน่งหน้าที่การบริหารอยู่

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->