CliniC - โรงพยาบาลหน้าเงิน
CliniC เป็นเกมยูโรหนัก ธีมเกี่ยวกับโรงพยาบาลจากนักออกแบบ Alban Viard (Tramways / Small City / TownCenter) ที่ผมเป็นแอบเป็นติ่งอยู่ ไอเดียหลักของเกมคือการจับคู่คนไข้(มีหลายหลายระดับอาการ) กับหมอ (มีหลายระดับความรู้) ไปจับคู่กันในห้องรักษาโรคที่ตรงกับที่คนไข้ได้รับการ admit มา ความสนุกและซับซ้อนของเกมจะอยู่ที่หนทางของการทำให้มันจับคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพเนี่ยล่ะ
ในเกมจะให้เราสร้างตึกโดยการไทล์เรียงต่อกันเป็นผังของโรงพยาบาลในแต่ล่ะชั้น โดยที่แต่ล่ะชั้นจะเชื่อมต่อกันในแบบ 3D (อย่างเช่นมุมด้านหนึ่งของชั้นหนึ่งจะถือว่าติดกับมุมเดียวกันของชั้นสอง) ข้อจำกัดในการสร้างมีหลายอย่างแต่ที่สำคัญคือการจัดวางพื้นที่ให้ดี เพราะในเกมนี้หมอ,พยาบาลและคนไข้ จะต้องค่อยๆเดินผ่านห้องไปทีล่ะช่องไปจนถึงที่ๆต้องการ ปัญหาคือ ทุกๆช่องที่เดินจะเป็นแต้มลบในตอนจบเกม (ในธีมแทนที่ด้วยระบบเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ยิ่งเดินเยอะแสดงว่าบริหารจัดการไม่ดี) ตัวเกมก็ให้ตัวเลือกเสริมมาหลายทางเช่นจะเพิ่มประตู / เพิ่มลานจอดเฮลิคอปเตอร์ / ติดตั้งลิฟ แต่ว่าจำนวน action ในเกมของเรามีจำกัดเพราะต้องแบ่งไปจ้างคน กับใช้ดึงคนไข้เข้ามาด้วย
ระบบรักษาคนไข้ในเกมไม่ยุ่งยากแค่พาไปเดินเจอกันให้ถูกที่ก็พอ คนไข้ยิ่งใกล้ตายก็ยิ่งได้ค่ารักษาเยอะ แต่ปัญหาคือทุกๆตอนจบรอบหมอในเกมของเราจะ ‘โดนลดความสามารถในการรักษาลง’ (ธีมคือตามโรคไม่ทัน/ทำงานหนักจนล้า ) ทำให้รักษาคนไข้ระดับยากได้ยากขึ้น ปัญหานี้แก้ได้โดยการจ้างพยาบาลมาช่วยงาน โดยทุกๆส่วนต่างความยากของคนไข้กับหมอก็เอาจำนวนพยาบาลเท่านั้นคนมาช่วยดูแล
ไอเดียที่ผมคิดว่าเจ๋งดีของเกมนี้คือทุกคนในเกมจะมาพร้อมกับรถ (cube สีดำในรูป) เราจะต้องหาทางจัดวางที่จอดรถให้กับทุกคน แต่ว่าที่จอดรถในเกมเป็นแค่ลานกว้างไม่ได้เป็นตึก ด้วยความที่พื้นที่มีจำกัดและรถจะขัดขวางการสร้างเพิ่มในแนวนอนยิ่งทำให้เราต้องบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี คนไข้ก็อยากได้ แต่คนไข้เยอะก็ต้องใช้หมอเยอะ หมอเยอะแต่ระดับความสามารถไม่พอก็ต้องมีพยาบาล และนั้นหมายถึงจำนวนรถที่จอดกันแน่นเอี๊ยด
ตลกร้ายในเกมนี้คือ “เราต้องรีบดึงคนไข้มาหาเราตั้งแต่ยังป่วยน้อย แล้วเลี้ยงไข้ให้ป่วยหนัก จะได้รักษาแพงๆ” โดยเราต้องวางแผน ‘บ่ม’ ให้มีคนไข้อาการหนักมารักษาอย่างเป็นระบบ (supply chain) เพราะถ้าป่วยระยะแรกได้เงินน้อย แต่ถ้าเอาป่วยหนักมาพร้อมๆกันจะรักษาไม่ทัน คนไข้ตายแต้มติดลบอีก
เกมนี้เราไม่จำเป็นต้องสนด้วยว่าคนไข้จะเข้ามาต่อคิวมารักษาโรคอะไรเพราะเราสามารถใช้พ้อยท์(ต้องลงทุนสร้างมา)ไปดึงคนมาให้ตรงกับแผนกที่เรามีแทนได้ ก็จะออกมาเป็น….“เห้ยมีคนใกล้ตาย(ได้เงินเยอะ)มารักษาโรคตาหว่ะ แต่เราเดินไปบอก เฮ้…นายมา รพ. เราแล้วเข้าแผนกโรคหัวใจดีกว่านะ” ส่วนแต้มในเกมนี้จะต้องแบ่งเงินที่ได้รับในรอบนั้นๆเท่านั้นมาซื้อแต้ม
ปัญหาหลักๆของเกมนี้ ถ้าไม่นับเรื่องอุปกรณ์ (ซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม เหตุผลอยู่อีกย่อหน้านึง) ก็น่าจะเป็นเรื่องของกติกา ที่เขียนแล้ววกไปวนมาชวนงง ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ กับไปถามคนใน BGG เยอะอยู่ อาจจะเป็นเพราะคนออกแบบเป็นคนฝรั่งเศษที่ภาษาอังกฤษยังไม่ชัดเจนมากก็เป็นได้ กับตัวเสริมที่รู้สึกว่าเหมือนเน้นออกไอเดียที่ยังเทสไม่เยอะพอมาใส่ๆ ไม่เน้นเรื่องประสบการณ์การเล่นให้มันแข่งขันกันเท่าไร อีกข้อสังเกตุคือเกมมันคิดเยอะก็จริง แต่ผมคิดว่า weight มันไม่ได้เยอะขนาด 4+ มั้ง (ส่วนตัวให้ประมาณ 3 กลางๆ) แต่ก็เข้าใจว่าคนงงเรื่อง 3D space กันเยอะ
เกมนี้เป็นเกมแบบ self-publish ไทล์ตัดด้วยมือ มีอยู่ประมาณ 5-600 ชุด (เท่าที่ทราบอยู่เมืองไทยน่าจะหลักสิบ) ผมซื้อตรงจากนักออกแบบตอนมันออกเลย ราคารวมส่งถือว่าแพงมากเทียบกับคุณภาพวัสดุที่ได้ คือตอนจะซื้อลังเลอยู่นานแต่ความที่มันโปรยไว้ว่า Aag of Steam in 3D กับ lot ที่ผมซื้อมันทำมาแค่ 200 กว่าชุด ผมเลยยอมจ่ายแบบงงๆ ซื้อในแง่ลองสนับสนุนศิลปินอินดี้ดูซะหน่อย (ตอนนั้นเค้าออกมาแค่แผนที่ AoS กับ TownCenter) ตอนเห็นครั้งแรกทำใจพอควรเพราะกล่องเกมมาแบบยังกะกล่องพิซซ่าเลย แต่พอได้เล่นแล้วก็กลายเป็นติ่งทันที เห็นเค้าบอกว่าอีกซัก 1-2 ปีจะเอากลับมาทำใหม่เป็นแบบดีๆล่ะ ใครไม่รีบก็เล่นเกมอื่นรอไปก่อน