City of the Big Shoulders- บริหารหุ้น ฟื้นเศรษฐกิจ

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
City of the Big Shoulders- บริหารหุ้น ฟื้นเศรษฐกิจ

เกมยูโรแนว Economic เน้นการลงทุนระดับหนัก ที่จะนำเราไปฟื้นฟูเมืองชิคาโก้หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี 1871 ผ่านการเข้าซื้อหุ้นและบริหารสร้างแบรนด์สินค้าดังที่ยังคงมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของนักออกแบบ Raymond Chandler III

เหล่าผู้ค้าเนื้อแห่งโลกา บรรดาช่างทำเครื่องมือ, ทั้งชาวไร่ถือเคียวเกี่ยวพืชผล เจ้าหน้าที่เคลื่อนรถราง และเหล่านักเดินเรือ ลมฝนพัดพา, ถอยเสียงกระซิบแผ่วเบา

โอ้เมืองแห่งเหล่าผู้มีไหล่อันผายผึ่ง (City of the Big Shoulders)

ส่วนหนึ่งจากบทกวีของ Carl Sandburg (1914) ที่เขียนถึงเมืองชิคาโก้ ที่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์การสร้างเมืองมาจากการทำงานหนัก (จึงถูกเปรียบเปรยด้วยการมีร่างกายกำยำ) ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นชื่อเกมนี้ด้วย ส่วนบทกวีฉบับเต็มมีเขียนอยู่ในกล่องเกม

อนึ่ง….อภัยในความกากด้านการแปล…

◾️เกมเป็นไสตล์ที่เงินเราและเงินบริษัทแยกกันเด็ดขาด ไอเดียของเกมคือเราจะเอาเงินไปซื้อหุ้นในบริษัทใครถือหุ้นบริษัทไหนเยอะสุดก็ได้บริหารไป จากนั้นไปจ้างคนงาน ลงเครื่องจักร เพิ่มนักการตลาด และผู้จัดการมาใส่บริษัท ตามด้วยบริษัทเองก็จะไปซื้อของจากตลาดมาผลิตสินค้าไปขายเอาเงินมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นกัน รวมๆก็ประมาณนี้

◾️เกมนี้เล่นกัน 5 รอบ (หนึ่งรอบแทนสิบปีเวลาจริง) และแต่ละรอบจะแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ

◾️ซื้อขายหุ้น : ตอนนี้ผู้เล่นก็ผลัดๆวนๆกันซื้อขายหุ้น เกมนี้แบ่งหน่วยหุ้นออกเป็น 10 ส่วน (แทน 100%) ถ้าจะเปิดบริษัทใหม่ก็ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อย 30% หรือจะซื้อหุ้นเล็กก็ได้ ถ้าเราถือหุ้นเยอะกว่าเจ้าของเดิม หรือถ้าเจ้าของเดิมขายจนมีหุ้นต่ำกว่าเรา ก็ย้ายคนบริหาร แต่ที่เหี้ยคือเวลาขายนี้ทำราคาหุ้นตก ความสำคัญของตรงนี้คือในเกมนี้บริษัทจะได้เงินเข้าจากการที่ผู้เล่นซื้อหุ้นไปลงทุน ก็เล่นวนๆจนกว่าทุกคนจะผ่านหมด

◾️ทำแอคชั่น : เกมจะมีการแจกตึกฟรีให้ผู้เล่นตาล่ะสามใบเราก็เลือกมาอันหนึ่งไปวางไว้เป็นตึกส่วนตัวของเรา พอเสร็จแล้ว ผู้เล่นจะมี ‘คนงาน’ อยู่จำนวนหนึ่งก็ผลัดๆกันเอาวางทำแอคชั่น (ก็ระบบ Worker Placement นั้นแหละ) โดยทำตัวเหมือนกับเราเป็นตัวแทนของบริษัทที่เราบริหารของอยู่ แต่ล่ะแอคชั่นก็จะใช้เงินไม่เท่ากัน ตรงนี้แอคชั่นส่วนมากก็จะเป็นพวกเพิ่มศักยภาพของตัวบริษัทเองพวกจ้างคนงานมาผลิต หรือเพิ่มโบนัส เพิ่มราคาขาย

ข้อดีสำคัญของช่วงนี้คือ ตัวบริษัทนั้นต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของตึกที่เป็นผู้เล่น ถ้าเราใช้ตึกตัวเองเงินก็จะมาหาเรา ถ้าไปใช้ตึกผู้เล่นคนอื่นเงินก็จะไปหาผู้เล่นคนอื่น (ซึ่งเงินในบริษัทไม่มีค่าตอนจบเกม นับแต่เงินในมือผู้เล่น) สรุปก็คือเป็นช่วงเพิ่มแต้มจากการรับจ้างนั้นเอง

◾️ บริษัทดำเนินการ : ตรงนี้จะเป็นช่วงที่แต่ละบริษัทจะทำการจ่ายตลาดไปซื้อคิวป์สินค้ามาใส่โรงงานตัวเอง โรงงานแต่ล่ะอันก็ต้องการทรัพยากรที่แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งเราอาจจะผลิตของที่ต้องการไม่ได้เพราะวัตถุดิบไม่พอ แต่เอาเข้าจริงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เพราะเกมมีระบบแลกของกับตลาดกลางอยู่ เสร็จแล้วจะได้ผลผลิตมาเอาไปขายในตลาด

ระบบตลาดในเกมจะมีของอยู่สี่หมวดสินค้า บริษัทก็ต้องเอาไปขายให้ตรงหมวดซึ่งเราจะมี demand เป็นช่องว่างๆแบบกึ่งสุ่ม ทีนี้พอขายได้เงินมา ในฐานะประธานก็ต้องเลือกว่าจะเก็บเงินไว้กับบริษัทหรือจะจ่ายปันผล ถ้าจ่ายก็เอาเงินที่ได้มาหารสิบแล้วก็แจกไปตามคนที่ถือหุ้นอยู่ และถ้ารายได้ทำมาดีก็จะทำให้หุ้นบริษัทนั้นแพงขึ้น

ความน่าสนใจอีกอย่างคือบริษัทจะเล่นตามลำดับค่า ‘ชื่อเสียง’ ของบริษัท ซึ่งเป็นอีกแทรคที่ต้องไปเล่นในเฟสก่อนหน้า ข้อดีคือเล่นก่อนก็จะได้ขายก่อนบริษัทอื่นที่ขายในตลาดเดียวกัน กับอาจจะช่วยให้เราหยิบของที่เราต้องการได้ก่อน

◾️เกมก็วนๆไปงี้จบเกมเอาหุ้นมาคูณเป็นเงิน แล้วก็วัดกันใครรวยสุด

🐸 [กบชอบ]

🔹ส่วนตัวแล้วผมติดตามเกมนี้มานานมาก ตั้งแต่นักออกแบบเอา prototype มาลงใน BoardGameGeek ตอนปี 2016 (เคยเอามาเขียนลงเพจด้วย) เรียนตามตรงว่าตั้งแต่เล่นบอร์ดเกมมาไอ้เกมแบบที่เรารู้สึก hype ทั้งแต่ยังไม่วางขายนี้เกมนี้คือเกมแรก เพราะนักออกแบบอาจหาญบอกว่าจะนำระบบเกมของ Arkwright และ 18XX มารวมร่างกัน คือเกมนี้ผมติดตามข่าวจริงจังมาก รอว่าเมื่อไรมันจะออกมาขาย

🔹 ปกติผมเป็นคนชอบเกม Economic แบบที่เปิดบริษัทมาบริหารอยู่แล้ว และเกมนี้ก็นำเอาไอเดียของสองเกมที่ผมชอบมากๆ (เรทกบโปรดทั้งคู่) อย่าง 18XX system และ Arkwright มารวมกันได้อย่างพอเหมาะ คือมีเกือบทุกสิ่งอย่างที่ผมชอบในเกมแบบนี้มาใส่ในกล่องเดียว เหตุผลเดียวแต่เกมนี้ไม่ได้อยู่ในกบโปรดสำหรับผมคือเกมนี้เครื่องปรุงที่เรียกว่าความ ‘เหี้ยม’

👁‍🗨 คือมันเป็นเกมประเภทที่ฟิลลิ่งจะค่อนข้างราบเรียบ ถึงแม้แต่ล่ะบริษัทจะมีเอกลักษณ์ในการพัฒนาแต่ความรู้สึกในการพัฒนาตัวบริษัทไม่ได้รุนแรงออกท่ามาก เป็นแนวมองว่าตัวไหนทำเงินก็ไปซื้อหุ้นตัวนั้น ไม่ค่อยได้เทขายหุ้นเพื่อทำร้ายใครแต่เป็นการขายเพื่อเอาเงินไปลงทุนที่ใหม่มากกว่า หลักๆคือเกมไม่มีการตัดสินค้าโหดๆ ทำให้ยากมากที่บริษัทไหนจะต้องเลือกไม่จ่ายปันผลให้หุ้นตก ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นคนชอบเกมตัดกันก็อาจจะไม่ชอบเกมนี้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนสายสันติก็อาจจะมองว่าเป็นข้อดี แต่ถ้าคุณไม่ชอบเกมสไตล์นี้จะรู้สึกว่าเกมมันน่าเบื่อมาก ไม่เหมาะกับคนสายที่ไม่ชอบเล่นเกมเหมือนทำงาน (แต่มันเป็นสไตล์กบๆอ่ะนะ YMMV ครับ)

🔸จุดที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไรคือมูลค่าของเงินในช่วงต้นเกมกับท้ายเกม มันค่อนข้างเหวี่ยงพอควร ตอนแรกนี้เงินจะซื้อของไม่ค่อยมี แต่พอท้ายเกมนี้บริษัทจะรวยแบบรวยเหี้ยๆกวาดซื้อได้หมดตลาดเลย ซึ่งตรงนี้เล่นแล้วรู้สึกเกมมันจะหลวมไปหน่อย

🔸จุดที่ต่อเนื่องจากตะกี้คือเกมนี้จะมีตัวเลือกในเก็บเงินไว้กับบริษัทคือไม่ปันผลแต่เก็บเงินไว้ใช้ซื้อของในรอบต่อไป แต่มันกลับเป็นตัวเลือกที่แทบจะไม่ได้ใช้ (ใน 18XX จะโดนบังคับทำเป็นระยะ) เพราะว่าสภาพตลาดในเกมค่อนข้างหลวมมากพอที่จะไม่เจอสถานะการณ์ที่สินค้าขายไม่ได้

🔸จุดต่อมาคือคู่มือที่แม้จะเขียนมาเข้าใจค่อนข้างง่าย เฟสชัดเจน (ยิ่งผมเล่นทั้ง 18XX / Arkwright มาแล้วยิ่งง่ายเลย) แต่ยังแบ่งจุดสำคัญไม่ค่อยดี กลายเป็นว่าพอสงสัยรูลตรงไหนแม่งดันหาไม่เจอ ซึ่งงงฉิบหายเพราะจำได้ว่าเคยอ่านเจอนิหว่า แต่ไม่รู้ทำไมเปิดตรงเฟสนั้นดันไม่เจอ แต่ดันไปโผล่ที่อื่นไรงี้ แต่พวกนี้มีไม่ค่อยเยอะเท่าไร ถ้าตอนเล่นโหลดรูลใน bgg จะดีกว่าเพราะออกมา rev 12 ล่ะ ณ ตอนที่เขียน

💬 ในมุมส่วนตัวแล้วผมชอบ Arkwright ที่นอกจากเราจะได้บริหารคนงานและโรงงานของเราแล้ว เรายังต้องคอยกังวลว่าสินค้าที่เรามีอยู่อาจจะไม่ได้ขาย เพราะถ้าขายไม่ได้เราจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าแรง รวมไปถึงกลยุทธ์ทางการตั้งราคา ซึ่งใน CotBS นั้นขาดส่วนนี้ไป คือมันก็มีเรื่องขายได้น้อยแหละ แต่ว่ามันไม่เครียดเท่าเพราะไม่ต้องมีลูกน้องมายืนรอรับเงินเดือน

💬 ในขณะเดียวกันถ้าเทียบกับ 18XX system ที่มีการซื้อขายหุ้นบริษัทไปมา เกมนี้เครื่องจักรทำเงินไม่สามารถซื้อขายไปมาระหว่างบริษัทได้ คืออย่างใน 18XX เนี่ยพอเราต่อรางก็ต้องไปซื้อรถไฟไปวิ่งทำเงิน ซึ่งตัวรถสามารถโยกย้ายไปมาระหว่างบริษัทได้ ตัวรถมีหลายความสามารถ และมันสามารถ ‘ตกยุค’ จนใช้การไม่ได้ พอขาดส่วนนี้ไปคุณค่าในการซื้อหุ้นบริษัทอื่นมาบริหารกำหนดทิศทางแทนก็หดหายไปพอควร เพราะเกมไม่ได้เปิดช่องทางให้เราถ่ายทรัพย์สินออก แล้วขายหุ้นทิ้งทุบราคาพร้อมโยนขี้ให้คนอื่นไปบริหารต่อ

💬 แต่ในหลายแง่แล้วเกมนี้ก็ไม่อาจจะไปนับญาติกับเกมแนว 18XX ได้นะ คือฟีลลิ่งได้แต่ยังแตกต่างกันมากเกินไปอยู่ ถ้าอยากลอง Intro to 18XX system จริงๆลองเล่น 18Liliput ก็อาจจะเหมาะกว่า (มี 18Chesapeake ที่กำลังจะออกก็น่าสนใจอยู่) ถ้าสนใจแนวลงทุนในหุ้นอย่างเดียวไม่วางรางก็มีเกม Rolling Stock ที่น่าจะกำลังมี KS แต่ว่ามีไฟล์ PnP ให้โหลดอยู่นะ

📌 อนึ่งสำคัญมากสำหรับเกมแบบนี้ ถ้าใช้แบงค์กระดาษไม่แนะนำให้เล่นครับ เสียเวลาทอนเงิน แนะนำ Poker Chip แบบวางซ้อนกันได้เท่านั้น ถ้าหน้าเหรียญไม่พอค่อยใช้แบงค์กับเงินเลขใหญ่ๆ

💬 ถึงแม้จะเป็นเกมนานพอควร (ราว 2.5-3 ชั่วโมงถ้าเล่นเป็นหมด) แต่ก็นับได้ว่าเป็น ‘จานเล็ก’ สำหรับคนที่ชอบหรือสนใจอยากลองเกมอย่าง Arkwright / 18XX ในเวลาที่จำกัดและตอนจบเล่นไม่เหนื่อยเกินไป กติกาโดยรวมถือว่าเข้าใจง่ายและสอนไม่นาน ส่วนหนึ่งเพราะรอบการเล่นที่ไม่เยอะ ด้วยความที่แอคชั่นน้อยการเลือกตัดสินใจลงทุนพัฒนาบริษัทเลยมีตัวเลือกที่มีน้ำหนัก และเราไม่ต้องลุ้นจนตัวโก่งว่าจะโดนใครแทงด้านหลัง เน้นทำตัวสบายๆหอบเงินไปลงทุนบริษัทที่ดูแล้วมีแววจะเพิ่มมูลค่าหุ้นได้ดี พร้อมกับหาทางสูบเงินออกจากบริษัทที่เราบริหารอยู่แทน … แต่ถ้าคุณไม่ชอบเกมประเภทนั่งนับเงินเอื่อยๆไม่หวือหวาก็ผ่านไปได้ครับ เพราะเกมมันก็เฉพาะกลุ่มอยู่พอควร

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


 

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->