Ceylon- รวยระรินหอมกลิ่นใบชา

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Ceylon- รวยระรินหอมกลิ่นใบชา

เกมแนวยูโรระดับกลางเบา ภาพสวย ธีมว่าด้วยการเพาะปลูกชาซีลอนในเกาะศรีลังกาโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาเพราะว่ากาแฟอันเป็นพืชหลักโดนเชื้อราเล่นงานจนเพาะปลูกไม่ได้ ผลงานของนักออกแบบคู่สามีภรรยา Chris Zinsli และ Suzanne Zinsli (Cobras, Tessen)

ไอเดียหลักของเกมคือผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีคนงานหนึ่งตัวเดินทางไปมาในแผนที่ส่วนกลางเพื่อปลูกไร่ชา โดยพื้นที่จะมีกิมมิคเล็กๆนิดนึงคือมีความสูงสามระดับ เวลาเราเก็บเกี่ยวใบชาก็จะได้ใบชามาสามแบบขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่ ลูกเล่นของเกมนี้คือเราเก็บของจากไร่ใครก็ได้ไม่แย่งกัน แต่ว่าเจ้าของไร่จะได้แต้มนะ พอเราได้ใบชามาเก็บไว้ก็เอาไปส่งตามใบออร์เดอร์กลาง ไอเดียหลักของเกมก็มีเท่านี้แหละ เข้าใจง่าย

การ์ดในเกมจะแบ่งออกเป็นสองส่วน เวลาเล่นเราจะต้องเลือกให้ตัวเราเองทำด้านใดด้านหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นในวงจะได้ทำอีกด้าน แกนหลักที่เป็นจุดเด่นจริงๆของเกมคือระบบ Role Selection อันเป็นระบบที่คนนำจะเลือกมาหนึ่งแอคชั่นจากนั้นผู้เล่นที่เหลือจะทำตาม (แบบ Peurto Rico, Empires of The Void II) แต่เกมนี้ปรับไอเดียตรงนี้มาเป็น ในการ์ดหนึ่งใบจะมีแอคชั่นสองแบบอยู่คนล่ะด้านของการ์ด เวลาคนนำเลือกแอคชั่นก็จะหมุนไปด้านใดด้านหนึ่ง คนนำก็จะได้ทำแอคชั่นนั้นส่วนคนอื่นๆได้ทำอีกแอคชั่นหนึ่ง (หรือเลือกที่จะทำแอคชั่นกลางเป็นการเดินคนงานหรือเลือกรับเงินก็ได้)

ส่วนระบบรองๆที่มากระชับการเล่นของเกมมีหลายอย่าง อย่างการที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ส่วนแต่ล่ะส่วนก็สามารถเลือกทำแอคชั่นเพื่อจ้างนักวิจัยมาช่วยเพิ่มความสามารถระหว่างเล่นและแต้มตอนจบให้เรา (เพราะตอนจบจะมีการนับแต้มว่าใครปลูกไร่ชาเยอะสุด และจะนับเฉพาะไร่ที่เราส่วนที่เราจ้างนักวิจัยไว้เท่านั้น) หรือไอเดียแต้มลบถ้าเกิดเราปลูกไร่ชาน้อย รวมถึงยิ่งเราปลูกไร่ชาเยอะเราก็จะมีพื้นที่ว่างเอาไว้วางไทล์สัญญาซื้อขายเพิ่ม (สะสมไว้ทำแต้มตอนจบอีกที)

🐸[กบเฉย] – ตัวเกมมีไอเดียแนว Area Control ที่แอบทับซ้อนกันหลายแง่มุม คือเราอยากจะยึดพื้นที่กระจายตัวไปทั้งสี่ส่วนให้มากที่สุด เพราะมีผลต่อแต้มตอนจบ ไปพร้อมๆกับจัดวางตำแหน่งไร่ชาของเราให้ครบสามระดับความสูง (จะได้มีชาไปส่งออก) แต่หลายๆครั้งมันก็ทำไม่ได้หรอกต้องยอมๆเก็บเกี่ยวจากไร่คนอื่นบ้าง (แต่ต้องแจกแต้มนะ)

ความน่าสนในแง่การคิดอีกอย่างคือต้องเลือกระหว่างจะ follow ตามคนนำหรือจะเลือกเดินคนงานดี คือบางทีก็อยากจะทำมันทุกอย่าง แต่หลายครั้งก็ไม่รู้จะทำอะไรต้องหยิบเงินเหงาๆไปก็มี ความฉลาดระบบคิดแต้มในเกมมีหลายหมวด และใช้วิธีหาอันดับที่ 1,2,3,4 แทนไม่ใช่แบบทำถึงเกณฑ์ ทำให้ผู้เล่นต้องมีการแอบแข่งขันกันในหลายมิติก็ถือว่าทำออกมาได้ดี

ที่ผมไม่ชอบไม่ใช่เพราะความเบา แต่เป็นความผิดที่ผิดทางของระบบ Role Selection ที่เป็นแกนขับเคลื่อนหลักของเกม ที่ทำให้จังหวะ (pacing) ของเกมไม่ค่อยสนุกเท่าไร คือเกมเบาระดับนี้ผมชอบที่จะให้จังหวะการเลือกแอคชั่นมันเป็นขยักเดียวมากกว่าที่จะต้องมานั่งคิดว่าถ้าเราทำแบบนี้คนอื่นจะได้ทำแบบไหน เอาจริงๆคือตอนฟังกฎนี้ผมว้าวมากคิดว่าเจ๋งดีหว่ะ Role Selection แบบเลือกได้สองบท เกมนี้คูลแน่นอน แต่พอเล่นจริงกลับกลายเป็นส่วนเกินซะงั้งเพราะยึกยักเกินไป นอกจากจะต้องมาคิดว่าเราจะทำอะไรแล้วคนอื่นจะได้อะไรแล้ว ด้วยธรรมชาติของการจั่วการ์ดทำให้เราไม่สามารถควบคุมได้อีกว่าเราจะได้ทำแอคชั่นที่เราอยากทำหรือปล่าวอีกต่างหาก ทำให้จังหวะความคิดเราสะดุดบ่อย คิดว่าทำแบบพื้นๆไปเลยเกมน่าจะลื่นกว่านี้เยอะ

รวมๆก็ถือเป็นเกมแนวครอบครัวที่เล่นเพลินๆ เป็นการเอาระบบเกมที่มีอยู่แล้วมาปรับสัดส่วนผสมกันได้ดี (ยกเว้น Role Selection ที่ส่วนตัวคิดว่ามันเยอะกว่า weight เกมโดยรวมไปหน่อย …. ประมาณว่าใส่หนักมือไปนิด) แต่พอดีเกมมันเบาซึ่งไม่ตรงแนวผมเท่าไรอยู่แล้ว ยิ่งเจอระบบที่ทำให้กระบวนความคิดสะดุดบ่อยตอนคิดการ์ดเลยให้ได้ประมาณนี้แหละ

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->