Cerebria- The Inside World - สมดุลย์แห่งอารมณ์สู่ตัวตนของเรา

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Cerebria- The Inside World - สมดุลย์แห่งอารมณ์สู่ตัวตนของเรา

เกมยูโรระดับหนักมาในธีมแฟนตาซีสีสดใสที่จะแบ่งเราออกเป็น อารมณ์บวก (Bliss) และ อารมณ์ลบ (Gloom) ที่จะมายึดครองพื้นที่ในส่วนต่างๆของจิตใจมนุษย์เจ้าของร่างเพื่อสร้าง ‘ตัวตน’ ของเราขึ้นมา (นึกถึงหนัง Inside Out ไว้) ผลงานร่วมของนักออกแบบถึง 6 คนจากค่าย Mindclash Games (Trickerion, Anachrony)

เกมนี้ลูกเล่นเยอะเลยขอให้มองส่วนใหญ่สุดก่อน ผู้เล่นจะแบ่งออกเป็นสองทีมของสองฝั่งอารมณ์ (ถ้าเล่นสี่คนก็จะเป็น 2v2) มาเล่นเกม Area Control ที่มี 10 พื้นที่แทนโซนของจิตใจ แต่ล่ะจุดก็จะมีที่เอาไว้วางการ์ด ‘อารมณ์’ ผู้เล่นสองฝ่ายก็ลงการ์ดฝ่ายตัวเองลงไปบนกระดานเพื่อชิงสิทธิ์การครอบครองพื้นที่ การ์ดแต่ล่ะใบจะแทนอารมณ์หลายแบบที่ตอนลงเล่นก็จะมีความสามารถของตัวเองด้วย

แต่ว่าจริงๆแล้วเป้าหมายหลักของเกมดันไม่ใช่การชิงพื้นที่ (อ้าว…..) เพราะเกมนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายกลาง (Common Aspiration) และเป้าหมายส่วนตัวของทีมตัวเองฝ่ายล่ะหนึ่งใบ ซึ่งเงื่อนไขจะมีรูปแบบเดียวคือ ‘มีอะไรบางอย่างบนกระดานเยอะกว่าอีกฝ่าย’ ทีนี้ผู้เล่นทั้งสองฝั่งก็จะต้องมาแข่งกันให้ชนะทั้งเงื่อนไขของตัวเอง และเงื่อนไขกลาง เพื่อที่จะได้สิทธิ์ในการเอาแท่น Identity Fragment ที่จะสร้างตัวตนให้กับจิตใจไปวางไว้เพื่อเป็นแต้มตอนจบอีกที ซึ่งทุกครั้งที่คิดแต้มเสร็จเราก็จะเปลี่ยนเป้าหมายกลางกับเป้าหมายประจำทีมใหม่ไปเรื่อยๆจนกว่าเกมจะจบ

กระดานเกมนี้ใหญ่มาก (พับ 9 ทบแน่ะ) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 5 โซนใหญ่ และพื้นที่รอยต่อระหว่างโซนอีก 5 จุด รวมเป็น 10 พื้นที่ เราก็เอาอารมณ์หลักของเราเดินไปมาพร้อมกับโปรยอารมณ์ฝั่งตัวเองไปตามพื้นที่ ตรงกลางคือจุดที่เอาไว้วางแทน Identity Fragment ที่ทีมทีทำเป้าหมายสำเร็จถึงจะได้เอาไปวาง (ก็คือแต้มนั้นแหละ)

ทีนี้ในแต่ล่ะพื้นที่เนี่ยเวลาจะวัดว่าใครครองก็จะวัดกันที่ความเข้มข้นของอารมณ์ (Intensity) โดยการ์ดอารมณ์แต่ล่ะใบของเราจะมีตัวเลขกำกับอยู่ แต่ว่าเราสามารถลงทรัพยากร (ในเกมเรียก essence) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของอารมณ์เราได้ด้วย หรือเราจะทำตัวเกเรไปเอา essence ของอีกฝ่ายออกก็ได้เพื่อลดความเข้มข้นทางอารมณ์ของเค้า ถ้าการ์ดอารมณ์ไหน essence หมดก็จะถูกเอาออกจากกระดานไป ไอเดียการต่อสู้กันในเกมนี้ก็คือตรงนี้แหละ ยึดที่ว่างวางการ์ดอารมณ์แล้วก็ เพิ่ม-ลด ความเข้มข้นของอารมณ์ของตัวเองและคนอื่น พร้อมกับหาทางใช้พลังของการ์ดอารมณ์ให้เข้าทางเรา

พวกการ์ดอารมณ์ที่เราลงๆไปเกมจะเรียกว่า ‘อารมณ์ระดับอ่อน’ (mild emotion - เหงา/ช่างคุย/อิจฉา/กล้าหาญ/….) ส่วนผู้เล่นอย่างเราก็จะได้ควบคุมตัวละครหลักที่เรียกว่า ‘อารมณ์รุนแรง’ (strong emotion) ซึ่งมีอยู่ 8 แบบได้แก่ ความรัก, ความสุข, ความเห็นอกเห็นใจ, ความสามัคคี ส่วนฝั่งอารมณ์ลบก็จะเป็น ความเกลียด, ความทุกข์ยาก, ความมุ่งร้าย, ความวิตกกังวล ผู้เล่นแต่ล่ะคนก็จะควบคุมตัวละครหลักนี้แหละเดินไปเดินมาในพื้นที่ของจิตใจเราเพราะการที่เราจะเอาการ์ดลงหรือไปเพิ่มลดความเข้มข้นของอารมณ์เนี่ยมันต้องติดกับจุดที่ตัวละครของเรายืนอยู่

จุดเด่นสำคัญของเกมนี้คือความหลายหลายในการเล่นที่ไปได้เยอะทางมาก - เริ่มจากตัวละครหลักของเราสามารถอัพเกรดความสามารถได้ อย่างเช่นเดินได้ไกลขั้น ทำลาย Intensity ฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายขึ้น ยังไม่รวมว่าแต่ล่ะตัวมีความสามารถเฉพาะทางของตัวเอง รวมไปถึง player board ของแต่ล่ะตัวที่แตกต่างกัน

ความหลากหลายอีกอย่างคือการ์ดอารมณ์เนี่ยเราจะต้องจัด deck เอง โดยที่แต่ล่ะฝ่ายจะมีอารมณ์ระดับอ่อนมาให้ 16 แบบแบบล่ะ 2 ใบ (มีสองชุด ทีมเดียวกันไม่ต้องแย่งกัน) เราก็จะเลือกมาจัด deck โดยเลือกมา 16 ใบเพื่อสร้าง deck ที่มีแนวทางของตัวเองได้ แต่ถ้าขี้เกียจเกมก็มี pre-set ของเหมาะกับแต่ล่ะอารมณ์หลักให้ (คือบางคนอาจจะมองว่ามันวุ่นวายเยอะไป แต่บางคนก็น่าจะชอบเพราะหลากหลายดี)

ลูกเล่นอีกขั้นคือหากการ์ดอารมณ์ในสนามของเรามีความเข้มข้นสูงพอเราก็จะสามารถพัฒนา (Empower) มันไปสู่การ์ดอารมณ์ระดับสูงขึ้นได้อีกอย่าง ความกลัว (Fear) จะกลายเป็น เสียขวัญ (Panic) ซึ่งอารมณ์ระดับที่สูงขึ้นความสามารถก็ดีขึ้นด้วย อย่างเช่น Fear นี้ฝ่ายตรงข้ามต้องจ่ายทรัพยากรเพิ่มถ้าลงในพื้นที่ติดกับ Fear แต่ถ้ายกระดับเป็น Panic ผลของมันก็จะแผ่ขยายไปทั่วกระดานเลยทีเดียว

🐸[กบชอบ]

เป็นเกมที่หน้าปกกับธีมเป็นเกมสดใสแต่ข้างหน้าแล้วเกมดันเป็นหนักที่อาจจะไม่ค่อยแมสเท่าไร ไอเดียไม่ซับซ้อนอะไรแค่ไปยึดพื้นที่ทำ Objective แต่ว่ามีกติกาที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก ทำให้สัดส่วน Learning Curve ต่อ Playtime ค่อนข้างสูงเพราะเกมมัน Opaque หนักพอควร (ทึบแสง-เกมที่ฟังกฎแล้วมองไม่ออกว่าเกมมันเล่นยังไง) ตัวเกมเน้น Tactical (วางแผนหน้างาน) ค่อนข้างสูงต้องแก้ปัญหากันรอบต่อรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขการทำแต้มจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่จำนวนแอคชั่นมีไม่เยอะทำให้การเล่นต้องเกาะติดสถานะการณ์ตลอด

เกมยังมีกิมมิคเล็กๆอีกหลายอย่างที่ผมยังไม่ได้บอกเพราะกลัวจะหลุดโฟกัส อย่างระบบ Intention ซึ่งเป็นแต้มอีกแบบนอกจากการคุมพื้นที่บอร์ด แต่จะเป็นการมุ่งทำเป้าหมายพื้นๆระหว่างเล่นแทน อย่างได้แต้มทุกครั้งที่ไปลดอารมณ์คนอื่น ได้แต้มทุกครั้งที่เราอัพเกรดความสามารถเต็มแถว ถ้าทำได้หลายหมวดในรอบเดียวก็จะได้แต้มโบนัสเพิ่ม ข้อดีคือมีสายให้ทำเพิ่ม ข้อเสียคือต้องคิดเยอะขึ้นอีกมากเพราะการจะเรียงให้มันทำได้แต้มเยอะๆต้องวางแผนมาดีพอควร

เกมนี้เล่นกันเป็นทีม 2v2 ก็จริง แต่เราสามารถเล่นคนเดียวในทีมแล้วคุมสองตัวก็ได้ (แต่เกมก็มีอีกตัวเลือกที่เอาไว้ให้เราคุมแค่ตัวเดียวแต่ได้ทรัพยากรเยอะขึ้น) ถ้าออกตัวเสริมก็จะเพิ่มฝ่ายที่สามมาให้ ฝ่ายที่เพิ่มมาจะเป็นอารมณ์ที่เป็นกลาง ที่เป้าหมายคือการจัดสมดุลย์ของทั่งสองฝั่งเกมก็จะกลายเป็น 2v2v2 แทนแต่ไม่แนะนำให้เล่น 6 คนนะ รอนานจนไร้สาระเลย แนะนำให้เล่นเป็น 1v1v1 ดีกว่าถ้าจะเล่นสามทีม

ปัญหาหนึ่งของเกมนี้คือความเป็น Co-op ของมันมีพื้นที่ให้ผู้เล่นสาย Alpha ออกความคิดได้เยอะไปหน่อย โดยเฉพาะในกรณีที่ทักษะการวิเคราะห์เกมต่างกันมาก เนื่องจากเกมนี้ Learning Curve สูง ลำดับการเล่นมีผลเยอะ ผู้เล่นครั้งแรกแบบที่ยังเล่นเกมมาน้อยจะเจอปัญหาพอควร (แต่ผู้เล่นที่ผ่านเกมยูโรมาเยอะแล้วจะมีปัญหาในการเรียนรู้น้อยกว่าเพราะไอเดียเกมมันใช้แนวคิดพื้นฐานทั่วไป) เพราะเกมนี้ Effctive Move ค่อนข้างชัดเจน ถ้าคิดเองไม่ทันนี้อาจจะโดนทักมูฟได้บ่อยๆกลายเป็นโดน Alpha ได้

จุดก่ำกึ่งสำหรับเล่นเกมครั้งแรกๆตอนที่ยังไม่ค่อยเก็ทว่าการ์ดมันทำงานยังไงจะมีจังหวะออกท่าที่ค่อนข้างเซอร์ไพรซ์เยอะ เพราะเราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายทำอะไรได้ เนื่องจากเกมมันทั้งความสามารถส่วนตัวของตัวละครเองและความสามารถของการ์ดที่ลงเล่น คือถ้าไม่เล่นบ่อยจนรู้จักการ์ดทั้งสองฝั่งแล้วเกมก็จะออกแนวยุ่งเหยิงไปนิด กับตัวเกมค่อนข้างเน้นการเล่นฝั่ง tactical (แผนระยะสั้น) สูงโดยที่ควบคุมอะไรระยะยาวมากไม่ได้ ทำให้ผู้เล่นที่ชอบวางแผนยาวๆก็อาจจะไม่ชอบเกมนี้เท่าไร อีกประเด็นหนึ่งคือตอนเล่นรู้สึกหลายครั้งมันมี effective move ชัดไปหน่อยจนเหมือนไม่ได้ได้คิดเองเพราะตัวเลือกมันชัดเจนประมาณหนึ่ง

จุดที่รู้สึกตะหงิดๆอีกอย่างคือเกมมันจบค่อนข้างไว แต่ปัญหาคือเกมมันอธิบายกติกานานไง แล้วตอนจบเกมหลายคนยังงงชีวิตอยู่เลย คนเลยแบบมักจะรู้สึกเหมือนเกมไม่สนุกเท่ากับที่ลงทุนฟังกติกามาเยอะแยะ ปัญหาจริงๆของเกมนี้เลยเป็นที่กว่าจะหาผู้เล่นที่เล่นซ้ำบ่อยพอจนสู้กันสนุกนี้หายากเหลือเกิน เพราะเกมมันจะสนุกสุดตอนที่ทุกคนเล่นเป็นหมดแล้วเท่านั้น (ปัญหาคล้ายๆ Feudum เหมือนกันนะ) ความรู้สึกเซงๆของเกมนี้เลยเป็นโอกาสที่จะได้เล่นกระดานสนุกๆฟาดฟันกันมันส์ๆก็เลยน้อยหน่อย แล้วพอเล่นเป็นทีมไอ้อารมณ์คิดครึ่งเดียวแล้วอีกครึ่งให้คนอื่นเดินมันก็ค่อนข้างรู้สึกอิหลักอิเหลื่อนิดหน่อยถ้าความคุ้นเคยกับเกมต่างกันเยอะ

จุดที่รู้สึกบอกไม่ถูกคือ Tempo การคิดแต้มของเกม คือเกมนี้จะมีแหล่งพลังงานอยู่ตรงกลางอยู่ 5 หลุมระหว่างเล่นเราก็จะคอยดูดพลังตรงนี้มาใช้ แล้วเกมจะเช็คว่าเราทำเป้าหมายเอาตอนที่มีหลุมใดหลุมหนึ่งว่างหมด โอเค…ระหว่างเล่นเราก็มักจะทำให้หลายๆหลุมมันเหลือน้อยใช่มะ ทีนี้พอเราคิดแต้มครั้งหนึ่งแล้วการคิดแต้มครั้งต่อไปก็แทบจะเกิดขึ้นในรอบถัดไปทันทีเพราะพลังงานมันเหลือน้อยล่ะ กลายเป็นเราแทบไม่มีเวลาปรับตัวกับสถานะการณ์เลยเพราะมันจะคิดแต้มกันรัวๆ ตรงนี้มันเลยรู้สึกจังหวะมันไม่ค่อยสมูทเท่าไร เหมือนได้หรืออดได้แต้มแบบงงๆ มากกว่าจะเพราะว่าวางแผนมาดี

ที่ไม่ชอบอีกอย่างคือ Icon ไม่ค่อยสื่อเท่าไร ต้องพึ่งคู่มือตลอด ทำให้เกม fiddly เกินจำเป็น ซึ่งความบัดซบคือดันให้โพยมาแค่ 2 เล่ม แต่ผู้เล่น 4 คนจะอยากเปิดอ่านพร้อมกันตลอด (ซึ่งแก้โดยการพิมพ์ player aid มาเพิ่ม) แต่ก็ยังคิดอยู่ดีว่าสัญลักษณ์มันน่าจะดีกว่านี้

ตัวโมเดลที่ลงสีมาแล้วส่วนตัวผมคิดว่าสวยมาก (โอเคอาจจะไม่เนี๊ยบ มีเลอะด้วย แต่สำหรับคนทาสีไม่เป็นแบบผมเทียบค่าทำสีแล้วตัวเลือกนี้ perfect มาก) แต่คิดว่าจริงๆเอาแบบ standy กระดาษก็โอเคละนะ ไม่จำเป็นต้องซีเรียสมากเพราะว่ามันไม่ได้มีผลกับการเล่นอะไร (ไม่เหมือน Anachrony ของค่ายนี้ที่หุ่นนี้รู้สึก The Must เพราะมีผลกับบรรยากาศเยอะมาก)

รวมๆแล้วเป็นเกมที่สนุก คิดเยอะ มีท่าให้เล่นหลายแบบแต่ติดตรง Learning Curve ที่สูงมาก กับมองแบบกลางๆแล้วเป็นความหลายหลายที่พูดยากว่าคุ้มแก่การลงทุนศึกษาขนาดนั้นไหม คือชอบเกมนะแต่อยากเล่นกับคนที่คล่องๆ (และเป็นสายคิดเร็ว) มากกว่า เลยอาจจะทำให้กางยากกว่าเกมอื่นของค่ายนี้เยอะอยู่ (Trickerion, Anachrony)

เอาจริงๆผมชอบเกมนี้ในฐานะเกมสองคน 1v1 แบบแต่ล่ะทีมคุมสองตัวละครมากที่สุด (แต่ผมยังไม่เคยเล่นกับ Bot นะ) เพราะถ้ามองในแง่นี้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกเกมแนว Area Control ที่ลึกและสู้กันสนุกมากสำหรับผู้เล่นสองคน

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->