Brass-Lancashire & Brass-Birmingham

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Brass-Lancashire & Brass-Birmingham

เกมยูโรระดับกลางหนักทั้งสองเกมนี้คือการเอาหนึ่งในเกม Economic + Network Building แถวหน้าอย่าง Brass มาปรับปรุงใหม่ด้วยการยกเครื่องงานอาร์ทและออกตัวเสริมแบบ standalone (ภาคเสริมที่ไม่จำเป็นต้องมีกล่องหลัก) ของโดยธีมของเกมอยู่ในช่วงปฎิวัติอุตสหกรรมของอังกฤษที่ผู้เล่นจะได้ตั้งโรงงานผลิตของไปขาย หรือจะสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบเพื่อให้คนอื่นไปใช้ต่อก็ได้ นี้คือเกมแห่งห่วงโซ่อุปทานที่ทุกอย่างในเกมจะเกิดจากแรงผลักดันจากผู้เล่นเท่านั้น

เนื่องจากพบว่าผมยังไม่เคยเขียนถึง Brass ตัวเก่ามาก่อน (เคยเขียนแต่ Brass VS Age of Industry) เลยขอเขียนรวมๆไปด้วยกันเลยล่ะกัน

sidenote: ถ้าคุณไม่เคยเล่น Brass และสงสัยว่าสองเกมนี้ต่างจาก Brass ตัวปกติอย่างไร

Brass คือเกมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2007 โดย Martin Wallace ต่อมาในปี 2017 ค่าย Roxley ได้เอามาทำใหม่ โดยรื้องานศิลป์ใหม่หมด ทำออกมาสองกล่องด้วยกันคือ Brass: Lancashire (ก็คือ Brass อันเดิมนั้นแหละมาเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอาร์ท กับปรับกติกาและบาลานซ์เล็กน้อย) กับ Brass: Birmingham ที่เป็นตัวเสริมแบบทำออกมาเป็นกล่องแยกอีกแผนที่หนึ่ง โดยที่แกนของระบบจะเหมือนกันแต่ว่ามีลูกเล่นส่วนตัวเป็นของตัวเอง โดยทำขายแบบ standalone ที่สามารถซื้อมากางเล่นได้เลยโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆจาก Brass: Lancashire (นึกถึง Ticket to Ride กับ Ticket to Ride: Europe ไรงี้ )

ถ้าเป็นแฟน Brass แล้วไม่ติดเรื่องว่าอยากได้งานศิลป์ใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ Brass: Lancashire ก็ได้ เพราะกติกาไม่มีอะไรต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ (แต่ถ้าซื้อเอามาเผื่อให้มันเล่นได้ 2/3 ก็สำคัญอยู่เพราะตัวใหม่มีการปรับตรงนี้ไปเยอะ) ซื้อแค่ Brass: Birmingham ก็พอ แต่ส่วนตัวผมเองจัดมาทั้งคู่เพราะชอบงานอาร์ทใหม่ กด KS มามันแถมเหรียญ Poker Chip มาด้วย สวยงามดี


ไอเดียหลักของ Brass (และ Age of Industry ซึ่งเป็น Brass ฉบับที่ปรับให้เรียบมากขึ้น) คือการทำให้ห่วงโซ่อุปทานสมบูรณ์ โดยเกมจะมี ‘โรงปั่นฝ้าย’ ที่ต้องการการส่งออกสินค้าไปยัง ‘ท่าเรือ’ แต่ว่าทั้งสองอย่างก็ต้องการวัตถุดิบอย่าง ‘ถ่านหิน’ ที่ให้พลังงานเดินเครื่องจักร และ ‘เหล็ก’ จากโรงหลอม โดยที่ทุกอย่างต้องเชื่อมต่อกันด้วย ‘เส้นทางคมนาคม’ เราให้ฐานะผู้เล่นก็จะทำการลงทุนในกิจการพวกนี้ เพื่อขับเคลื่อนอุปสงค์ อุปทานที่เกิดขึ้นในเกมผ่านการเล่นการ์ดบนมืออีกที

ความน่าสนใจที่สำคัญมากเกมนี้คือมันแทบจะไม่มีกลไกใดที่จะมาช่วยควบคุมความต้องการของตลาด มีแต่ผู้เล่นเท่านั้นที่เป็นคนกำหนด เราจะเน้นสร้างโรงปั่นฝ้ายเองแล้วรอให้คนอื่นมาสร้างท่าเรือมารองรับสินค้า หรือจะทำเองครบวงจรก็ได้ หรือจะเน้นสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบมาให้ผู้เล่นคนอื่นใช้ แต่ถ้าผลิตมาเยอะสินค้าก็จะล้นตลาดกลายเป็นของราคาถูก แต่ถ้าไม่มีใครผลิตราคาสินค้าก็จะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะของมันต้องใช้อยู่ตลอด

จุดที่นับได้ว่าโดดเด่นอีกอย่างของ Brass คือระบบ ‘สองยุค’ (Age of Industry มียุคเดียว) ที่เกมจะแบ่งออกเป็นยุคคลองที่ใช้เรือในการขนส่งและยุครถไฟที่ต้องสร้างบนราง ความน่าสนใจของระบบนี้คือการวางเส้นทางที่แตกต่างกันในแต่ล่ะยุคและการวางแผนการเล่นข้ามยุค เพราะสิ่งปลูกสร้างในยุคคลองหลังจากคิดแต้มตอนจบยุคแล้วจะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด บางคนนี้ข้ามยุคทีกระดานโล่งเลยก็มีเพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ ประหนึ่งกิจการยุคเก่าที่ไม่ยอมปรับตัว พอเทคโนโลยีใหม่มาก็ล้มหายไปหมด ถ้ายังไม่ได้สร้างเราก็จำเป็นต้องทำแอคชั่น ‘วิจัย’ เพื่อรื้อเอาไทล์ยุคเก่าออกไปก่อนถึงจะสร้างไทล์ยุคใหม่ได้ ตรงนี้ทำให้เกิดจังหวะความคิดด้วยว่าจะรีบออกของยุคล่างๆมาทำเงินก่อน หรือจะเน้นวิจัยไปทำเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทำแต้มได้สองรอบดี (เพราะตอนเปลี่ยนยุคไทล์ในบอร์ดเราไม่โดนโละไปด้วย มีแต่ในกระดานที่หายไป)

รูปแบบการเล่นเกมนี้เป็นแบบ Card Driven (คือเอาการ์ดในมือมาทำแอคชั่น) ซึ่งในเกมจะมีการ์ดอยู่สองแบบคือ แบบมีไอคอนชนิดสิ่งปลูกสร้าง และแบบชื่อเมือง ระหว่างเล่นเราก็ผลัดกันใช้การ์ดนี้ตาล่ะสองใบ ผลัดกันไปเรื่อยๆจนหมดกองครั้งที่หนึ่งจะเป็นการสิ้นสุดยุคคลองแล้วคิดแต้ม พอหมดกองครั้งที่สองก็จะคิดแต้มอีกครั้งแล้วจบเกม

สิ่งที่ทำได้ในแต่ล่ะตาก็คือ

  • สร้างตึก: ทิ้งการ์ดชื่อเมืองเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอะไรก็ได้ที่มีไอคอนอยู่ในเมืองนั้นๆ แต่ถ้าเราทิ้งการ์ดที่มีไอคอนสิ่งปลูกสร้างเราจะต้องสร้างของให้ตรงกับรูปการ์ดที่ทิ้ง แต่สร้างที่ไหนก็ได้ที่ติดกับ network ของเรา
  • สร้างเส้นทาง: ต่อเส้นทางขยาย network
  • พัฒนาเทคโนโลยี: ใช้เหล็กที่มีอยู่กระดานหรือซื้อเอาจากตลาดนอกเมืองเพื่อรื้อเอาไทล์ระดับล่างออกจากบอร์ดของเรา
  • ขาย: ทำการจับคู่โรงงานปั่นฝ้ายของเรากับท่าเรือ(ของใครก็ได้) จากนั้นเจ้าของไทล์ทั้งคู่จะได้เพิ่มรายรับตามที่ไทล์ระบุไว้
  • กู้: ลดรายรับของตัวเองในแต่ล่ะตาลงเพื่อเอาเงินสดมา

อีกอย่างที่เราทำได้คือ ‘รวบการ์ดสองใบทำแอคชั่นเดียว’ เพื่อที่จะสามารถสร้างอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ (แต่ต้องวางได้ตามกฎปกตินะ)

จะเห็นว่าโดยวิธีเล่นแล้วเกมนี้ทำอยู่ไม่กี่อย่าง แค่ กู้-สร้าง-ส่ง เท่านั้นเอง โดยไอเดียที่ขับเคลื่อนเกมนี้คือการหาทาง ‘พลิก’ ไทล์ โดยการหาทางให้สินค้าของโรงงานเราหมดไป (ในเชิงธีมคือการดำเนินกิจการจนครบถ้วนและได้กำไรแล้ว)

สิ่งก่อสร้างส่วนมากจะต้องการถ่านหินหรือเหล็ก (แต่แน่นอนว่าทุกอย่างต้องใช้เงินด้วย) โดยเหล็กนั้นหยิบจากที่ไหนก็ได้ในกระดานแต่ว่าถ่านหินต้องขนส่งผ่านเส้นทางคมนาคม (ของใครก็ได้) ถ้าเราไม่สามารถลำเลียงของมาถึงจุดที่เราจะสร้างได้ก็จะไม่สามารถสร้างไทล์นั้นๆได้ ในเชิงธีมคือถ่านหินต้องขนส่งเป็นตันๆ เลยต้องผ่านเรือ ผ่านรถไฟ ในขณะที่เหล็กใช้ปริมาณไม่มากเท่าใช้ทางธรรมดาก็ขนส่งได้ โดยของที่หยิบจากโรงงานของผู้กันเองจะฟรีเสมอ ถ้าในแผนที่ไม่มีแต่ว่าเส้นทางเราต่อกับท่าเรือก็จะสามารถสั่งซื้อจากตลาดนอกเมืองได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องจ่ายเงิน และยิ่งซื้อของจะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ

เวลาที่เราสร้างโรงงานสองอย่างนี้เราจะได้คิวป์สินค้ามาวางไว้บนไทล์ ถ้า ‘บังเอิญ’ ตลาดต่างเมืองสินค้านั้นมีที่ว่างอยู่ (เกิดจากผู้เล่นไปซื้อสินค้ามา) สินค้าของเราก็จะไหลไปสู่ตลาดนอกเมืองพร้อมกับให้เงินสดมา ทีนี้ระหว่างเล่นผู้เล่นจะถูกบังคับให้ซื้อของในเมืองก่อน ถ้าเป็นถ่านหินจะต้องหยิบจากเส้นทางที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น (เหล็กเอาจากไหนก็ได้) ทันทีที่สินค้าหมดจากไทล์เราก็จะได้พลิกไทล์ เป็นผลให้เราได้รับมีรายรับเพิ่ม และจะได้แต้มในตอนจบยุค ส่วนท่าเรือก็ต้องรอโรงปั่นฝ้ายมาทำสัญญาขายของถึงจะได้พลิก (บางคนเน้นผลิต บางคนเน้นเปิดท่ารอ บางคนก็เน้นครบวงจร)

ความสนุกอีกอย่างคือทันทีที่ตลาดถ่านหินหรือเหล็กมันขึ้นสูงมาก แม้กระทั้งในตลาดต่างเมืองก็ยังไม่มีคิวบ์สินค้าเหลือเราสามารถที่จะสร้างเหมืองของเราไปทับเหมืองชาวบ้านได้ด้วย (แต่เงื่อนไขคือต้องหมดบอร์ดจริงๆและเทคโนโลยีเราสูงกว่า) ตรงนี้ก็คือเป็นอีกจังหวะที่ผู้เล่นมือเก่าเล็งไว้ตลอดเพราะนอกจากจะทำให้แต้มอีกฝ่ายหายไปแล้ว ยังได้ทำแต้มเองพร้อมกับได้เงินสดจำนวนมากกลับมาด้วย (จากการขายให้ตลาดนอกเมือง)

ถ้าสังเกตุหน่อยจะเห็นว่า Brass เป็นเกมที่มีจุด Tactical (วางแผนหน้างาน) ค่อนข้างสูง (แต่ทิ้งแผนระยะยาวไม่ได้นะต้องอ่านเกมคนอื่นตลอด) สิ่งที่ขับเน้นการวางแผนในเกมนี้เด่นขึ้นมาอีกอย่างก็คือระบบ Turn Order

เกมนี้จะนับว่าในตานั้นๆผู้เล่นใช้เงินไปเท่าไร Turn order ตาหน้าก็จัดเอาตามความป๋า คือป๋ามากเล่นที่หลังไปนะ จ่ายน้อยกว่าได้เล่นก่อน ตรงนี้ทำให้ผู้เล่นต้องวางแผนการใช้เงินให้ดี คือบางทีรู้ว่าโหล่แน่ๆก็จ่ายมันแพงๆไปเลยทีเดียว หรือถ้าอยากเล่นก่อนบางคนให้ได้ก็ต้องเล่นท่าที่เงินน้อยกว่าจะได้เล่นก่อนหน้าหน้าไรงี้

แต้มอีกอย่างในเกมจะมาจากการสร้างเส้นทาง คือในตอนคิดแต้มเนี่ยมันจะดูว่าเมืองที่เส้นทางเราเชื่อมต่ออยู่มันเจริญมากไหม (ดูจากจำนวนไทล์ที่พลิกแล้ว) เราก็จะได้แต้มเท่านั้น ผู้เล่นบางคนก็จัดเป็นสายเลย คือเน้นสร้างทางช่วยให้เศรษฐกิจให้พูดเล่นคนอื่นส่งของกันง่าย แต่ว่าเราเองก็ได้แต้มจากการที่เมืองเจริญด้วย


ใน Brass: Birmingham ส่วนที่ปรับเปลี่ยนไปก็คือ การเพิ่มสินค้ามาอีกหนึ่งชนิด (ธีมเป็นแค่ลังสินค้าไม่ได้ระบุชนิด) และเปลี่ยนจากท่าเรือออกไป แล้วเพิ่มโรงกลั่นเหล้าเข้ามา (ธีมทางประวัติศาสตร์คือสมัยนั้นน้ำสะอาดหายาก เบียร์มักจะเป็นน้ำที่ค่อนข้างการันตีได้ว่าสะอาด) แล้วก็โรงปั้นเครื่องดินเผา (เอามาแทน ‘เรือ’ ไทล์พิเศษแต้มเยอะมากของ Lancashire แต่อันนี้กลายสภาพเป็นสินค้าที่ต้องส่งด้วย ไม่พลิกฟรี) โดยแกนแล้วเกมไม่เปลี่ยนมากแต่ลูกเล่นที่เสริมมาคือจะมีท่าส่งออกอยู่ตามขอบแผนที่ แต่ล่ะเกมจะมีการสุ่มไว้ตั้งแต่ต้นเกมว่าท่านี้จะรับของชนิดไหนบ้าง เวลาจะส่งของแทนที่จะต้องจับคู่กับท่าเรือตามแบบ Lancashire ก็จะให้ไปจับคู่กับท่าสินค้าติดบอร์ดแทน

ลูกเล่นที่เพิ่มเข้ามาคือเวลาจะขายของเนี่ยต้องมีเบียร์ให้กินด้วยไม่งั้งขายไม่ได้ ในแง่ function แล้วโรงกลั่นเหล้าก็เลยทำงานคล้ายๆท่าเรือที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ส่งออกได้ ความน่าสนใจคือไอ้ท่าสินค้าเนี่ยชนิดของสินค้าที่มันรับจะสุ่มต่ำแหน่งทุกเกม (ที่ว่างก็) มี ทำให้คุณค่าของแต่ล่ะพื้นที่ในเกมไม่ซ้ำเดิม (ใน Lancashire จะเหมือนเดิมทุกรอบเพราะมีสินค้าอยู่แบบเดียว)

ที่เหลือส่วนมากจะเป็นการปรับราคาสินค้าและผลตอบแทนเวลาพลิก รวมไปถึงการปรับตัวเลขเล็กๆน้อยๆหลายจุด ส่วนตัวแล้วผมชอบทุกอย่างที่เพิ่มขึ้นมามากๆรู้สึกว่าทำให้เกมนี้ขยายความสนุกของ Brass ตัวเดิมในทุกมิติในอีกอย่างละนิดอย่างล่ะหน่อย (แต่ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเล่นตัวเก่ามาเยอะแล้วก็ได้)

🐸[กบโปรด] – Brass: Lancashire นี้คือเกมที่ผมอวยไส้แตกมากตั้งแต่ยังเป็นงาน Brass ที่งานอาร์ทเชยๆ อยากจะบอกให้ทุกคนที่ชอบเกมแนวยูโรอย่างน้อยก็ควรจะลองเล่นซักหน่อย ยิ่ง Brass: Birmingham นี้ทำออกมาดีมากๆจนแทบจะเรียกได้ว่าพา Brass ไปอีกขั้น (ตัวเดิมก็ยังเจ๋งอยู่นะ) สรุปว่าผมชอบมากทั้งคู่ ตัว KS นี้กด refresh รอจนได้ Backer No. 21 ซึ้งก็ไม่มีความหมายอะไร แค่อยากจะบอกว่านับเวลารอ KS เปิดเลยทีเดียว

สิ่งที่ทำให้ Brass น่าสนใจมากสำหรับผมคือระบบอุปสงค์อุปทานที่ผู้เล่นสร้างกันเอง แต่ว่าไม่ ‘แห้ง’ไร้เรื่องราวแบบใน Container (เกมนั้น [กบเฉย]) อย่างวันก่อนผมเล่น Birmingham สามรอบติด รอบแรกนี้คนออกโรงกลั่นเหล้าแพงๆตั้งแต่แรก ช่วยให้ผู้เล่นอื่นส่งของกันสบายๆ การเงินรุ่งเรือง อีกเกมมีแต่คนสร้างถนนกันจนทับโรงงานกันเพราะเหมืองถ่านหินผลิตแทบไม่พอใช้ เจ้าของเหมืองนี้ยิ้มนับเงินเพราะรายรับสูงไม่ต้องกู้ อีกเกมนี้กั๊กไม่ยอมสร้างทาง สร้างของ ทุกคนต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว โดยที่ทุกเกมผู้เล่นเป็นคนสร้างสถานะการณ์กันเอง ไม่มีการ์ด Event หรืออะไรทั้งนั้น

ในส่วนที่ Birmingham ต่างจาก Lancashire คือคุณค่าของตำแหน่งเมืองไม่ตายตัว ใน Lancashire จะเป็นเกมที่มีความเป็นสไตล์ ‘รู้มุม’ มากกว่าเพราะแผนที่มันตายตัว อย่างไม่ควรสร้าง X ตรงเมือง Y เพราะคนต่อไปจะทำ Z ได้ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ดีเพราะผู้เล่นมือเก่าจะแข่งกันกั๊กเส้นทางและสินค้าเอาไว้ได้ ในขณะที่ Birmingham ด้วยความที่แผนที่มันดิ้นได้นิดหน่อยพวกท่ารู้มุมก็ยังมีบ้างแต่จะไม่เยอะเท่าเพราะชนิดของที่ส่งได้มันย้ายไปทุกเกม แล้วก็มีโบนัสเสริมด้วยเวลาส่งของไปขายผ่านท่าสินค้าที่แตกต่างกัน (ส่งตรงนี้ได้เงินเพิ่ม ส่งอีกที่ได้แต้มเพิ่มไรงี้)

ข้อเสีย? พูดตามตรงผมรู้สึกเหมือนกับว่าถูกบังคับให้ต้องขุดหาข้อเสียมาติอยู่เหมือนกัน เพราะแทบไม่รู้สึกว่ามี ส่วนที่คิดว่ามีจริงๆก็คือสีการ์ดที่บอกเมืองนี้อยู่ในบริเวณไหน เฉดมันไม่ตรงกับในกระดานเท่าไร แล้วในกระดานสีมันก็ใกล้กันเกินไปเลยมองยากหน่อย (การ์ดสีเหลืองมัสตาร์ตสดใส แต่ในบอร์ดดันตุ่นเป็นส้มรัสท์งี้ แถมดันวางติดๆกับเมืองสีแดงไวน์ ที่แอบใกล้ๆกันเวลามองแสงมืดๆ) อีกเรื่องคือเวลา setup มันต้องเรียงไทล์ชิ้นเล็กๆจำนวนเยอะอยู่ ก็ทำให้เสียเวลานิดหน่อย

ด้วยความที่เกมมันต้องสร้างของตามการ์ดที่จั่วมาก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าดวงมันมีส่วน แต่เท่าที่เล่นมาผมแทบไม่เจอสถานะการณ์ที่ว่าแพ้เพราะการ์ดไม่ดี เพราะทุกการ์ดมันมีวิธีใช้เสมอ การ์ดที่ไม่ตรงใจเราก็แค่เอาไปทิ้งเพื่อทำแอคชั่นอื่นเท่านั้นเอง (เกมนี้ทุกแอคชั่นต้องทิ้งการ์ดเสมอ) และความสนุกของการได้บริหารการ์ดในมือให้เข้ากับแผนการของเราก็ถือเป็นส่วนที่ทำให้ Brass สนุกเช่นกัน ส่วนใน Lancashire ดวงจะมาในรูปของการเปิดไทล์นิดหน่อยในการขายผ้าฝ้ายไปอินเดีย ถ้ามีผู้เล่นส่งไปเยอะจะทำให้คนท้ายๆอาจจะขายไม่ได้ (เป็นตัวเลือกอีกแบบสำหรับการขายโดยไม่จับคู่กับท่าเรือในกระดาน) ในขณะที่ Birmingham จะใช้วิธีผู้เล่นคนแรกที่ส่งไปที่ท่าสินค้าคนแรกจะมีเบียร์ฟรีให้ ส่วนส่งทีหลังต้องผลิตเบียร์เองจึงไม่มีดวงมาเกี่ยวตอนขาย

ถ้าซื้อแค่กล่องเดียวส่วนตัวแล้วค่อนข้างแนะนำ Birmingham เป็นพิเศษในแง่ที่ว่ามันคือการเก็บข้อมูลเกือบสิบปีของเกมเดิมมาพัฒนา Brass มาอีกขั้น ถ้าให้เห็นภาพก็ประมาณ Ticket to Ride มาเป็น Ticket to Ride: Europe คือคงแกนเดิมไว้แต่เพิ่มลูกเล่นและปรับส่วนต่างๆมาได้อย่างลงตัว โดยที่ตัวดั้งเดิมก็ยังมีคุณค่าในการเล่นสูงอยู่เช่นเดิม

ปกติผมไม่ค่อย ‘ขาย’ เท่าไร แต่บอกได้เลยว่านี้เป็นเกมที่ผมอวยไส้แตกมาก อย่าถามว่าควรซื้อไหมเพราะมันเป็นเรื่องของคุณ แต่ผมแนะนำมากๆว่านี้คือเกมที่สายยูโรควรได้ลองเล่นซักครั้ง

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->