Barrage- จากน้ำสู่พลังงาน

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Barrage- จากน้ำสู่พลังงาน

🔸เกมยูโรระดับกลางหนัก ธีมในโลกคู่ขนานที่พลังงานที่ขับเคลื่อนโลกแห่งนี้คือพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน และเราคือ CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการผลิตพลังงานให้เหนือคู่แข่งคนอื่น ผลงานของ Tommaso Battista และ Simone Luciani (Newton, Lorenzo, Macopolo)

🔸 ……แต่อย่าว่างั้นงี้เลยทำไมมันไปสร้างเขื่อนที่บ้านตัวเองกันว่ะ มาแย่งกันทำไม แถมใครเป็นคนแจกสัมปทานเนี่ยโคตรมั่วซั่ว ต้องมาให้แย่งน้ำกันผลิตไฟฟ้า

📌 side note: คำว่า Barrage (เขื่อนทดน้ำ) ต่างกับ Dam (เขื่อนกักเก็บน้ำ) ตรงที่หน้าที่หลักของ Barrage คือการควบคุมปริมาณน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาต่างๆ มีประตูน้ำหลายจุดเพื่อการปรับระดับความสูงของน้ำ เอาไปใช้เพื่อการชลประทานไรงี้ รวมไปถึงมีความสูงน้อยกว่า แต่สิ่งที่เราสร้างในเกมก็คือ Dam นะ

📌 side note: ถ้าเห็นคะแนนใน BGG ต่ำเรี่ยดินเต็มไปด้วย 1 ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับความสนุกของเกม แต่เนื่องจากโดนดราม่าจากค่ายไว้เยอะ ตั้งแต่บอกว่าเกมนี้ใครคิกเกมนี้ไว้การันตีไม่มีขายแน่นอน 6 เดือน…. ซึ่งก็พังไปเพราะออกเกมช้า ตามด้วยปัญหา component มากมายทั้งกระดาษหนาไม่ตรง วงล้อที่ออกแบบมาแล้วห่วยเหี้ยๆ (แก้แล้วก็ยังห่วย) บลาๆ กล่าวโดยสรุปในแง่การจัดการ KS แล้วพังเพราะความติสและขี้โม้นั้นเอง (จริงๆมันร้อนเยอะเพราะพยายามดริฟไว้มากด้วยล่ะ แม่งโม้อะไรไว้ถึงเวลาจริงทำไม่ได้ก็บอกว่าเพราะไม่ใช่ offcial นะจ๊ะ เราไม่ได้หลอก… สาดดดดด)

🔸 ไอเดียหลักของเกมคือการควบคุมกระแสน้ำที่จะเริ่มจากภูเขาด้านบนของแผนที่และค่อยๆไหลลงมาด้านล่าง ผ่านอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำ ถ้ามีเขื่อนกั้นไว้น้ำก็จะหยุดแต่ถ้าน้ำมาเยอะก็จะล้นผ่านเขื่อนไปยังทางน้ำด้านล่างต่อไป

🔸 สิ่งที่ผู้เล่นจะได้สร้างในแผนที่มีแค่สามอย่างเท่านั้น ได้แก่ ▪️เขื่อน - มีหน้าที่ไว้กักน้ำเพื่อรอการสูบเอาไปปั่นไฟ เขื่อนสามารถอัพเกรดความสูงได้ ยิ่งสูงก็ยิ่งกักน้ำได้มากขึ้น ▪️เครื่องสูบน้ำ - เอาไว้ส่งน้ำที่เขื่อนกักไว้ไปสู่โรงไฟฟ้า (ในคู่มือเรียก Conduct แต่คิดว่าแปลแบบนี้น่าจะเห็นภาพง่ายกว่า) ▪️โรงไฟฟ้า - รับน้ำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อเอาไว้ทำแต้ม

🔸หลักการคือเขื่อนต้องเป็นของเรา (หรือของ NPC ที่สุ่มไว้ตอนต้นเกม) แต่เครื่องสูบน้ำที่ติดกับเขื่อนนี้เป็นของใครก็ได้ จะทำการย้ายน้ำมาปั่นไฟให้โรงไฟฟ้าของเรา จากนั้นก็จะปล่อยน้ำให้ไหลลงไปด้านล่างเพื่อไปหาเขื่อนอื่นที่อยู่ใต้ทางน้ำต่อไป

🔸 ในเกมจะมีอ่างเก็บน้ำอยู่สี่จุดอยู่ด้านบนของแผนที่ (มองเป็นคอลั่มก็ได้) แล้วก็ลากยาวลงมาเป็นแม่น้ำลงมาข้างล่างเรื่อยๆ โดยที่แต่ล่ะระดับความสูงก็จะมีอ่างเก็บน้ำคั่นอยู่ แต่ล่ะจุดพักน้ำจะมีที่ให้สร้างเขื่อน แต่ว่าเวลาสูบน้ำไปใช้เนี่ย ‘ท่อน้ำ’ เนี่ยมันจะโยงไปยังโรงไฟฟ้าที่อยู่แม่น้ำสายข้างๆแทนทำให้ต้องไปตั้งโรงไฟฟ้าในอีกคนล่ะแม่น้ำและเวลาปั่นไฟมวลน้ำก็จะย้ายไปที่แม่น้ำที่ติดกันแทน ที่จะไหลลงไปตรงๆ

🔸 การเลือกแอคชั่นจะใช้ระบบ worker placement ที่ผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีคนงานจำนวนเท่ากันไปลงแย่งกันทำช่องแอคชั่นกลาง แต่จุดที่จะขับเคลื่อนเกมจริงๆคือกิมมิคหลักที่เป็นวงล้อเวลา ที่เวลาเราเลือกที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างอันไหน เราจะต้องวางไทล์สิ่งก่อสร้างนั้นพร้อมกับ ‘หุ่นยนต์’ ซึ่งก็คือทรัพยากรไว้สร้างตึกนั้นแหละ แต่ว่าใช้แล้วไม่หายไปไหน และทุกครั้งที่มีการสร้างสิ่งก่อสร้างวงล้อนี้ก็จะเลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ เมื่อวนครบรอบเราถึงจะได้ไทล์ และหุ่นยนต์ก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่

🔸 คีย์ของเกมก็เลยอยู่ที่การบริหารทรัพยากรผ่านวงล้อเนี่ยแหละทั้งหุ่นยนต์และไทล์ที่เอาไว้สร้างเพราะมีแค่อย่างล่ะไทล์ Noise ของเกมก็เลยจะอยู่ที่ระหว่างเล่นก็จะมีไทล์พิเศษที่พ่วงความสามารถเสริมให้ไปหยิบเพิ่ม ในแง่การบริหารของตรงนี้อารมณ์มันคล้ายๆวงล้อเวลาใน Tzolkin นิดนึง แต่มูลค่าของมันไม่เพิ่มตามเวลาที่รอ แต่เราต้องพยายามสร้างเพื่อให้ของมันดันออกมา หรือไปลงช่องแอคชั่นที่เอาไว้เลื่อนวงล้อ (แต่เสียคนงาน) เพราะการไปหาเพิ่มนี้ค่อนข้างแพงมาก

🔸 เนื่องจากแผนที่ในเกมเป็นแบบ fixed แตกต่างแค่การสุ่มของเขื่อนส่วนกลางเล็กน้อยตอนเริ่มเกม แต่เกมอัด Noise มาในรูปแบบสารพัดโมดูลย่อย หนึ่งในตัวหลักที่ใช้ขับเคลื่อนเกมคือ Contract ที่สุ่มมาให้เลือกหยิบ โดยเงื่อนไขการเคลียร์จะมีอย่างเดียวคือต้องผลิตไฟฟ้าให้ถึงที่ไทล์กำหนด จากนั้นก็ได้โบนัสว่ากันไป และผู้เล่นที่บอร์ดประจำตัวต่างกันเล็กน้อย แต่ว่าจะมี ‘ความสามารถเสริม’ ในแง่ความสุ่มของเกมนี้ตอนเล่นชวนให้นึกถึง Lorenzo นิดๆ

🐸 [โปรด]

ในแง่หนึ่งผมคิดว่าเกมนี้เป็นเกมที่ตกจากกบโปรดไปนิดหน่อย เพราะติดตรงรู้สึกว่าความ ‘อยาก’ ยังไม่พุ่งขนาดนั้นด้วยเหตุผลเดียวคือเกมนี้ไม่มี ‘สาย’ (ผมเป็นคนชอบเกมที่มีท่าชัดหน่อย) แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นตัวเกมก็สนุกมากมีลำดับความคิดที่น่าสนใจ เป็นเกมเอียงไปทางหนัก แต่เล่นแล้วไม่มึนเพราะ flow ค่อนข้างคลีน

🔹 ถ้าให้พูดถึงบรรยากาศรวมๆผมนึกถึงเกม Worker Placement ที่มีแผนที่นิ่ง มีช่องแอคชั่นแบบเดิม แต่มีการสุ่มเล็กน้อยแบบใน Russian Railroad, ระบบการบริหารทรัพยากรแบบ Tzolkin รวมไปถึง ‘ตลาดล่วงหน้าแบบกึ่งสุ่ม’ แบบการ์ดใน Lorenzo (คือเรารู้ล่วงหน้าว่ายุคไหนจะมีไทล์หน้าตาประมาณไหนสุ่มออกมา) แต่ตัวเกมมันมีเอกลัษณ์ของมันดีนะ ระบบ Wheel บริหารทรัพยากรที่เป็นจุดเด่นความเจ๋งมันคือไม่ใช่พระเอกจ๋าแต่มันแนบเนียนไปกับระบบอื่นแล้วขับเคลื่อนไปด้วยกันสวยดี

🔹 การตัดกัน และความยาก (รวมไปถึงความสนุก) ของเกมนี้คือระบบทางน้ำผู้เล่นต้องวางแผนและกะจังหวะรอบการเล่นให้ดี อย่างเล่นเราอาจจะอยากรีบปั่นไปก่อน เพราะรู้ว่าถ้าผู้เล่นอีกคนปั่นไฟมวลน้ำจะมาทางเราให้เอามาใช้ต่อ หรือบางครั้งเราเลือกที่จะยอมปั่นไฟน้อยในตานี้เพื่อที่จะเล่นก่อนในรอบต่อไปจะได้ ‘ขโมย’ น้ำจากเขื่อนผู้เล่นคนอื่น รวมไปถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไว้ที่ต้นเพื่อรองรับน้ำที่จะมาตัดหน้าคนอื่น

🔹จุดสำคัญคือด้วยรอบการสร้างที่น้อย และสร้างของซ้ำได้ไม่บ่อย การวางแผนพลาดถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่พอควรในเกมนี้ อย่างเช่นถ้าเรากะว่าจะสร้างเขื่อนรอรับน้ำแต่ดันมีคนดักไปสร้างเขื่อนในจุดที่สูงกว่าเราแล้วสูบน้ำไปก่อนนี้ก็แทบจะทำให้เราเดินหน้าไม่ได้เลย ถึงพอจะกลับลำมาได้แต่ก็มักจะไม่ค่อยทันล่ะ หรือบางครั้งผู้เล่นบางคนวางไปมั่วๆแต่ดันไปส้มหล่นตกอยู่ในปลายทางที่ผู้เล่นคนอื่นต้องสูบน้ำมาลงตรงนี้พอดีก็สบายไปก็มี แล้วการสร้างตัดหรือขวางทางน้ำมันไม่ได้กลับตัวได้เร็ว ทำให้บางคนอาจจะไม่ชอบเลเยอร์ส่วนนี้

🔹 การเล่นระยะสั้นของเกมทำได้สวยตามแบบฉบับเกม Worker Placement คือมีช่องน้อยแต่ต้องไปแย่งชาวบ้าน เกือบทุกช่องจะลงได้มากกว่าหนึ่งครั้งแต่ว่าถ้าไปช้าก็ต้องจ่ายแพงกว่าและมีจำนวนจำกัด ความน่าสนใจเล็กๆคือเกมเลือกที่จะให้ผู้เล่นทุกคนมีจำนวนคนงานเท่ากันทั้งเกม

🔹 ในแง่แผนระยะยาวเกมมีของเล่นคือระบบโบนัสที่เราจะเห็นล่วงหน้าว่าตาไหนจะคิดแต้มหมวดไหน แต่เกมก็มีเงื่อนไขบีบบังคับเราว่าถ้าอยากจะเคลมแต้มหมวดนั้นๆได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต้องผลิตไฟฟ้าให้ถึงจุดที่รอบนั้นๆต้องการด้วย ซึ่งยิ่งเล่นก็ต้องยิ่งหาทางผลิตไฟให้ได้เยอะขึ้นผ่านการกักเก็บน้ำและเลือกตำแหน่งที่การสร้างมีราคาแพง

🔹 เกมนี้มีตัวเสริมออกมาพร้อมกันซึ่งค่อนข้างแนะนำให้เล่นด้วยกันตั้งแต่เกมแรกเลยไม่ต้องเสียเวลาไปทดลองตัวหลักอย่างเดียว เพราะมันเพิ่มตัวเลือกในการเล่นที่หลากหลายขึ้นไปอีกโดยจะเพิ่มโมดูลเพิ่มความสามารถ และช่องเอาของไปแลก ทำให้เกมมีมิติในการคิดมากขึ้นและทำให้แต่ล่ะเกมมีวิธีเล่นต่างกันไปตามแต่โบนัสที่ออกมาให้เล่น ถ้าเล่นแต่ตัวหลักอาจจะรู้สึกว่าเกมแบนไปนิด แถมตัวเสริมเองก็ไม่ได้เพิ่มเลเยอร์การคิดที่ซับซ้อนเกินจำเพิ่มเข้ามา

👁‍🗨 จุดสังเกตุเท่าที่เล่นมาคือรู้สึกว่าความสามารถเสริมมันดูค่อนข้างต่างกันเยอะไปหน่อยบางตัวก็ก๊ากกาก บางตัวก็เก่ง(โกง)จังว่ะ แถมด้วยความสามารถของบอร์ดหลักแต่ล่ะประเทศที่มันจะเล็กน้อยไปไหนจนไม่รู้สึกว่าการที่เอาบอร์ดหลักกับบอร์ดเสริมมารวมกันแล้วมันน่าทำให้การเล่นของเราน่าสนใจขึ้นตรงไหน ตรงนี้ผมไม่ค่อยโดนเท่าไรเพราะคิดว่า Noise มันน้อยเกินไปแล้วผมชอบเกมที่ถ้าจะมีสายก็ชอบให้มันแตกต่างแบบโกงในแบบของตัวเองมากกว่านี้

เกมนี้ก็มี ‘ข้อไม่ถูกใจ’ หลายอย่างอยู่เหมือนกัน (เพราะบางอันจะเรียกข้อเสียก็ยังไงๆอยู่เพราะไม่ได้เกี่ยวกับวิธีการเล่นเกมตรงๆ)

🔻 อย่างแรกที่เป็นข้อเสียอันร้ายกาจคือ component โดยเฉพาะล้อเนี่ยกากชิบหาย นี้คือใน KS มันแก้มารอบนึงล่ะนะ คือตัวซี่ล้อมันบางแล้วไม่แข็งทำให้มันงอตรงปลายๆ พอหมุนแล้วหลายครั้งมันไม่สามารถ ‘กวาด’ ไทล์กับของในร่องให้มันข้างหน้าได้ บางทีก็ติด บางทีก็แอ่นเยอะลอยข้ามไทล์ก็มี หมุนที่ไรก็หงุดหงิดฉิบ… จริงๆถ้าทำล้อหมุนแบบ manual อย่างใน Ponzi Scheme ไม่ก็ใน Macao ก็ได้นะ (แต่เข้าใจล่ะงาน KS ต้องเก๋าไว้ก่อน แต่ก็เห็นได้ว่ามั่นมากไปจนพลาด และซึ่ง…. Tzolkin ที่ไม่ใช่เกม KS ทำของเล่นออกมาคุณภาพดีกว่าเยอะ)

🔻 อันต่อมาคือ token ทรัพยากรนี้เล็กเหี้ยๆ คือจะเล็กไปไหนเล็กกว่า cube 8mm อีกนะ!! ก็คือเข้าใจล่ะว่าต้องทำให้เล็กจะได้ใส่ล้อได้ (ไอ้ล้อนี้สร้างหลายปัญหา) แต่มันพ่วงมาด้วยค่านิยมสุดพิลึกของค่ายนี้คือมันจะมี token สามขนาด สำหรับแทนเลข 1/3/5 แต่ว่าขนาดมันใกล้เคียงกันโคตรๆ เล่นไปก็จะมีจังหวะแอบงงนิดๆ

🔻 ข้อเสียแบบค่อนข้างส่วนตัวมากๆคือกระดาษแบบที่จับแล้วรู้สีกเหมือน ‘ยาง’ คือมีความนิ่มและหนืดเล็กๆที่มักเห็นได้บ่อยในเกมจีนก๊อปห่วยๆ ซึ่งโอเคมันอาจจะไม่ห่วยขนาดนั้น แต่ว่าความจำฝั่งใจผมโยงกระดาษแบบนี้กับความ low end ไปเรียบร้อย ยิ่งจ่ายเงินซื้อเกมไป 100EUR นี้ผมคาดหวังไทล์ระดับ Linen Finish แบบของพวกค่าย EGG มากกว่านะ

🔵 ในแง่ความคุ้มค่าจากจำนวนอุปกรณ์เนี่ยถ้าถามว่าคุ้มราคาไหมก็บอกว่าคุ้มครับ (คือคุ้มแค่ในแง่ปริมาณ) ยิ่งบวกความสนุกไปอีกนี้ยิ่งคุ้ม แต่พออุปกรณ์เล่นแล้วรู้สึกกากๆนี้ทำเอาเสียดายตังพอควร คือถ้าเป็นเกมที่เราจ่ายแพงแต่รู้ว่าของห่วยแน่ๆอย่าง Spielworxx / Spottler เราจะไม่บ่นอะไรเพราะรู้ข้อมูลก่อนจ่าย แต่ของ Barrage นี้เจอติสอิตาเลี่ยนขี้โม้ทำของหรูไม่เป็นนี้ทำเอาอารมณ์เสียพอควร แต่ถ้ามองข้ามตรงนี้ไปได้ก็อยากให้ลองเล่นกันครับ ตัวเกมดีมากๆ คนที่ซื้อรีเทลก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเสียความรู้สึกอยู่แล้วด้วยเพราะรู้คุณภาพงานล่ะ

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)


 

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->