Argent- The Consortium - ศึกเวทย์มนต์แห่งฮ๊อก..ว๊อ... เอ๊ย Argent

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
Argent- The Consortium - ศึกเวทย์มนต์แห่งฮ๊อก..ว๊อ... เอ๊ย Argent

Review นี้เป็นงานเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ เดือน 4 ปี 2015 เดิมเขียนไว้ที่ blog Lomwong (ล้อมวง) ที่ปิดตัวไปแล้ว ผมเลยย้ายมาเก็บไว้ในนี้แทน

“โรงเรียนเวทย์ Argent แห่ง Indines กำลังระส่ำ ต่ำแหน่งอาจารย์ใหญ่ได้ว่างลง เหล่าอาจารย์ต่างพยายามที่จะก้าวขึ้นสู่ต่ำแหน่ง และหนทางหนึ่งเดียวคือการได้รับเสียงข้างมากจากสภานักเวทย์”

สำหรับสายยูโรเกมฟังธีมดูอาจจะไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไรหรือปล่าว? ตอนแรกผมก็คิดแบบนั้น แต่ด้วยประโยคที่โปรยไว้ว่าเกมนี้เป็น cutthroat worker-placement/engine-building มันทำให้ผมกลับไปเปิดหน้า bgg ของเกมนี้อยู่บ่อยๆ  และหลังจากเกมออกขายผ่านหน้าร้านได้ไม่นาน ผมก็โชคดีที่มีเพื่อนในกลุ่มไปหิ้วเกมมาให้ลองเล่นกันแบบทันใจ


ชิวิตมหาลัยเวทย์เค้าทำอะไรกัน

แน่นอนผมไม่คิดจะอธิบายวิธีการเล่นให้ยืดยาวเพราะมันหาอ่านได้ไม่ยาก แต่ผมจะบอกให้ฟังกันคร่าวๆครับ โดยในแต่ล่ะตาเราจะทำได้ 1 อย่างระหว่าง

  • วางนักเวทย์ของเราลงไปในห้อง
  • ร่ายเวทย์
  • หยิบการ์ดหอระฆัง (Bell Tower Card) หากเป็นการ์ดใบสุดท้ายของรอบนั้นล่ะก็รอบการเล่นนั้นจะจบลงทันที และหากเป็นรอบการเล่นที่ 5 เกมจะจบและบรรดาคณะกรรมการก็จะลงเสียงเลือกผู้ชนะ

เกมนี้ก็เหมือน worker placement ทั่วไปที่วางตัวลงช่องแล้วเกิดผลตามนั้น แต่ใน Argent ช่องต่างๆจะ reslove ให้ผู้เล่นทำ action หลังจากการ์ด Bell Towerใบสุดท้ายถูกหยิบ และก่อนที่จะสิ้นเสียงกังสดาลอะไรก็เกิดขึ้นได้

เมื่อคนงานไม่ใช่แค่คนงาน

ในตอนเริ่มเกมผู้เล่นจะผลัดกันเลือกนักเรียนเวทย์เพื่อมาทำงานให้ โดยนักเวทย์ในเกมก็ไม่ใช่ตัวหมากไม้บ้านๆไก่กาเหมือนเกมอื่น แต่ว่ามันคือนักเวทย์จากสายต่างๆที่มีความสามารถติดตัว แต่ล่ะตัวมีความสามารถสองแบบ แต่ล่ะเกมจะสุ่มใช้มาแค่แบบเดียว

นักเวทย์แดง : ที่สามารถร่ายเวทย์ลูกไฟเป่าคนที่ยืนอยู่ก่อนหน้าให้เข้าห้องพยาบาลและเอาตัวเองไปยืนแทนที่ หรือ ได้รับมานาตามผู้เล่นคนอื่นที่อยู่ในห้อง นักเวทย์เขียว : ที่ทนทานทุกความเจ็บปวด หรือ ย้ายเตะคนงานคนอื่นไปยืนช่องอื่น นักเวทย์ฟ้า : ที่ได้รับพลังเทพป้องกันจากทุกเวทย์ หรือ สามารถจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้ความสามารถช่องพิเศษ นักเวทย์ม่วง : ที่ควบคุมกาลเวลาทำให้สามาถทำ action ได้เร็วกว่านักเวทย์สายอื่น หรือ จ่ายมานาเพื่อวางตัวเองในมิติเงา นักเวทย์ดำ : ที่สามารถเคลือนที่ได้แม้ขณะร่ายเวทย์ หรือ ลดมานาในการร่ายเวทย์อื่น นักเวทย์ส้ม : ที่สามารถทำงานวิจัยเพิ่มพลังเวทย์ได้ในระหว่างการเล่น หรือ จ่ายเงินเพื่อแอบดูการ์ดกรรมการ

เนื่องจากเกมกำหนดให้เรามีนักเวทย์สายเดียวกันซ้ำได้ไม่เกิน 2 ตัว (แต่เริ่มเกมให้ผลัดกันหยิบจนครบคนล่ะ 5) ผู้เล่นจะต้องคิดให้ดีว่าเราอยากจะทำทีมแบบไหนเพื่อชิงชัย

เวทย์ เวทย์ เวทย์:

แน่นอนนักเวทย์แค่นี้มันน้ำจิ้ม มันจะสนุกอะไรกับเวทย์เล็กๆ ต้องเล่นท่ายากๆเซ่!! ใน Argent ผู้เล่นสามารถเรียนรู้เวทย์ใหม่ๆได้ และยังสามารถ level up เวทย์ที่มีอยู่แล้วได้ด้วย คือผมว่ามันรู้สึกดีมากที่เวทย์รักษาของคุณ พอกลายเป็นระดับสองนอกจากรักษาแล้วยังเอาคนงานไปทำงานได้ทันที อ่ะยังธรรมดาไปเหรอลองเจอระดับสามที่รักษาแล้วออกมายิงคนอื่นต่อเลยเป็นไง? เวทย์บ้าพลังอย่างทำร้ายนักเวทย์ทุกตัวในห้องก็มีนะ หรือถ้าคุณเป็นสายสันติเวทย์ที่อนุญาติให้คุณพานักเวทย์ของคุณไปหลบอยู่ในมิติเงาคู่ขนานที่แสนปลอดภัย กระทั้งเวทย์ที่จะทำงานเมื่อถูกกระทำจากเวทย์อื่นก็มีพร้อม

อ่ะผมยังไม่ได้บอกใช้ไหมว่ามีเวทย์ระดับตำนาน(ที่ได้มาด้วยวิธีพิเศษ)ระเบิดที่เดียวพัง 4 ห้อง (ครึ่งกระดาน) ด้วยนะ

ยามสิ้นเสียงกังสดาล:

ถ้าคุณเคยเล่นเกม Luna มาก่อนคุณน่าจะเข้าใจอารมณ์แบบนี้ ต่างจากเกม worker placement ส่วนมากในเกมนี้ผู้เล่นที่คนงานเยอะสุดไม่ได้แปลว่าจะได้เปรียบสุด เพราะว่ารอบการเล่นอาจจะจบก่อนที่ผู้เล่นจะได้วางคนงานตัวสุดท้ายก็ได้เพราะโดนผู้เล่นที่คนงานน้อยกว่าชิงหยิบการ์ด Bell Tower ใบสุดท้ายไป และการ์ด Bell Tower ก็ไม่ใช่แค่ตัวนับจบรอบธรรมดา เพราะการหยิบการ์ดนี้จะมอบโบนัสต่างๆให้ด้วย ทำให้ยิ่งดึงดูดให้คนอยากหยิบมากขึ้นไปอีก จุดนี้ยิ่งเพิ่มความสนุกให้เกมเพราะคุณต้องคิดให้ดีว่า action ที่คุณกำลงจะทำมันคุ้มพอไหม เกมจะจบก่อนหรือไม่

ใครล่ะจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่:

แทนที่จะใช้ระบบ Victory Point ตามสมัยนิยม  Argent มีแต้มตอนจบเพียงครั้งเดียวและมีแค่ 12  แต้มเท่านั้น!!! ในตอนเริ่มเกมจะมีการสุ่มการ์ดกรรมการมา 10 ใบรวมกับใบพื้นฐาน 2 ใบที่จะออกทุกรอบ แต่ล่ะใบก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป อย่างเช่นกรรมการคนนี้จะบอกว่า คนที่ศึกษาเวทย์สายดำเยอะสุดเป็นผู้ชนะ คนที่สมบัติเยอะสุดชนะ และสารพัด X เยอะสุดชนะ ความสนุกคือ ไอ้ที่สุ่มมา 10 คนน่ะไม่มีใครรู้ว่ามันชอบอะไร!!! ในตอนเริ่มเกมผู้เล่นแต่ล่ะคนจะสามารถวาง marker เพื่อแอบดูกรรมการได้คนล่ะใบ แต่หลังจากนั้นก็ตัวใครตัวมัน แน่นอนว่าในระหว่างเกมจะมีวิธีที่ทำให้คุณสามารถเปิดดูเผื่อหาข้อมูลเพิ่มได้ ตรงนี้ทำให้ต้องคิดว่าเราจะเปิดหาข้อมูลเยอะๆ หรือเปิดน้อยๆทำส่วนที่คิดว่าชนะแน่ดี หรืออาจจะใช้วิธีสังเกตุคนที่เปิดดูไปแล้วก็ได้นะว่าเค้าพยายามทำอะไร และแน่นอนว่าผู้ที่จะได้เป็นอาจารย์ใหญ่แห่ง Argent ก็คือผู้ที่เอาใจกรรมการได้เยอะที่สุดนั้นเอง

มหาลัยนี้เปิดวิชาไม่ซ้ำ:

ตัวเกมจะมีการสุ่มห้องและต่ำแหน่งที่จะใช้ทุกครั้ง(แถมแต่ล่ะห้องมีสองหน้าที่แตกต่างกันด้วยนะ) เพราะเกมใช้วิธีการ reslove ห้องตามลำดับทำให้แม้ห้องแบบเดิมเกมก็อาจจะเปลี่ยนได้ การ์ดเวทย์/สมบัติ/ผู้สนับสนุน/คณะกรรมการ มีจำนวนมากพอทำให้เกิดความหลากหลาย  แถมนักเวทย์แต่ล่ะสียังมีความสามารถสองแบบสามารถสลับไปมาได้ตอนsetup ทำให้วิธีเล่นแต่ล่ะเกมไม่ซ้ำซากถือเป็นเกมที่ replayability สูงครับ

สรุปชีวิตในมหาลัยเวทย์มันเป็นไงบ้างนะ:

แน่นอนว่าผมชอบมากครับ ข้อดีอื่นๆสำหรับผมคือมันเป็นเกมที่ ‘หนัก’ แต่เข้าใจได้ง่าย ด้วยระบบเกมอธิบายเข้าใจง่ายตามแบบ worker placement แต่ว่าต้องคอยอธิบายการ์ดที่เปิดมา (ส่วนมาก Icon ทำมาคลีนดีไม่ค่อยมีปัญหา และมี text กำกับตลอด)  player interact  ที่แม้จะ direct conflict แต่ไม่ค่อยเคืองเท่าไร ( อาจจะเพราะเท่าที่เล่นมาผมเล่นแต่กับ Euro gamer ที่มูฟด้วยเหตุผลด้าน objective ไม่ใช่สายเกรียนซึ่งผมไม่โปรดที่จะเล่นด้วย )

ในเรื่องของความสมดุลย์ในเกม ผมรู้สึกว่าตัวละครบางตัวค่อนข้างเก่งกว่าตัวอื่นแบบโดดเด่น (ใช่ครับผู้เล่นแต่ล่ะคนน่ะเริ่มเกมพร้อมกับความสามารถพิเศษส่วนตัวด้วยนะ) อย่างหัวหน้าทีมสีม่วงที่มาพร้อมเวทย์ส่งลูกน้องไปช่อง shadow ซึ่งเป็นช่องที่แทบจะการันตีว่าจะไม่เป็นเป้าของเวทย์อื่น เทียบกับบางตัวที่ได้แค่ 2 mana ฟรี(แถมเสียจังหวะทำ action อีก) ตัว worker นักเวทย์สีม่วงกับดำก็มักจะหมดก่อนเพื่อน(เกมนี้คนงานเป็น hard limite)เพราะว่าเป็นตัวทำให้เราทำ action เพิ่มกว่าปกติ (ไม่ใช่ไม่ดีนะแค่รู้สึกว่ามันเด่นไปหน่อยเหมือนใครๆก็ต้องมี) และการ์ดกรรมการที่ถ้าเปิดที่หลังก็มักจะตามคนที่เก็บมาก่อนแล้วยากพอควร แต่เท่าที่เล่นมาผมยังไม่คิดว่ามันแตกต่างกันจนทำให้เกมเสียครับ

ข้อเสียเล็กๆคือ เกมใช้พื้นที่เยอะ (น่าจะใช้พื้นที่ประมาณเยอะกว่า Agricola 5 คน แต่น้อยกว่า Eclipse 4 คน) ส่วนข้อเสียที่ใหญ่แบบไม่หน้าให้อภัยคือ ตัวบอกว่านักเวทย์นี้เป็นของใครมองยากมาก!! คือขนาดมันเล็กและมองออกได้แค่มุมเดียว และชวนให้สับสนง่ายๆมากเพราะสีนักเวทย์ ไม่เท่ากับ สีของผู้เล่น พอเล่นไปซักพักคุณจะเห็นนักเวทย์จำนวนมากที่ดูแล้วงงว่าตัวไหนมันของใครหว่า ตอนนี้ผมใช้วิธีแก้โดยให้ผู้เล่นแต่ล่ะคนวางหันหน้านักเวทย์ไปคนล่ะทาง แต่คิดว่าทางแก้ที่ดีสุดคือต้องทาสีตัวฐานเพื่อบอกว่าใครเป็นเจ้าของครับ และอีกอย่างที่ผมคิดว่าเฉยๆแต่อาจจะเป็นข้อเสียสำหรับบางคนคือเวลาในการเล่นอาจจะนานไปนิด (3hr +-) แต่ผมรับรองว่ามันจะเป็น Quality time แน่ๆครับ

บอกตรงๆว่าเกมนี้ในตอนแรกผมไม่ชอบ artwork และธีมเกมนี้เท่าไร คิดว่าสาย Euro Gamer หลายคนอาจจะคิดว่าภาพกับเนื้อเรื่องมันดูเหมือนหลุดมาจากมังงะมากเกินไปหรือปล่าว (ผมมีอคติเล็กๆว่าภาพแนวนี้มันไม่เข้ากับเกมแนว Euro ) แต่หลังจากได้เล่นเกมนี้แล้ว สำหรับผมเกมนี้ก็เข้าไปอยู่ใน Top List ของผมอย่างรวดเร็วครับ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->