จิตวิทยาว่าด้วยความเร็วในการเล่นเกม

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
จิตวิทยาว่าด้วยความเร็วในการเล่นเกม

บทความนี้ทำการแปลและเรียบเรียงใหม่ ควรอ่านต้นฉบับประกอบเพราะมีการ ตัดทอน/ปรับเปลี่ยน/สอดแทรกความเห็นส่วนตัวลงไปในบทความหลายจุด แต่ยังคงใจความสำคัญของบทความไว้

‘แกน’ของบทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก : Board game speed psychology เขียนโดย Tony Hanna


คุณเคยไหมที่อยากจะบีบคอใครซักคนให้ตายคามือ เพราะว่าคนคนนั้นใช้เวลาคิดนานนานเหลือเกินกว่าจะเดินได้ซักตานึง? ถ้าใช่ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนยืดหยุ่นขนาดไหน หรือจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจมากเพียงใด ลองถ้าเล่นบอร์ดเกมมาซักพักคุณก็น่าจะเคยมีโมเม้นแบบนี้กันมาบ้างแหละ แน่นอนว่าคุณไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร ไอ้อาการสมาธิสั้นนี้ไม่ใช่คุณคนเดียวแน่นอนที่เป็น แล้วก็โทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันอยู่ทุกวันเนี่ยมันสอนให้เราอดทนเสียเมื่อไร

ทีนี้เราจะมาคุยกันในหัวข้อนี้ผ่านสองมุมมองนั้นคือฝ่ายมุมของ นายใจร้อน และ  นายเพอร์เฟค(อีกชื่อคือ นายคิดช้า) ทำไมน่ะเหรอ? เพราะผมเป็นทั้งสองอย่างไงครับ

นายใจร้อน

ตอนนี้เราอยู่ที่โต๊ะ แล้วคุณ (นายใจร้อน) พึ่งจะสอนเกมใหม่ที่คุณคิดว่าเจ๋งสัดๆให้คนในวงเสร็จ ส่วนตัวแล้วคุณเล่นเกมนี้มาหลายครั้ง แล้วก็คันไม้คันมือที่จะได้เล่นเกมนี้กับเพื่อนๆยอดฝีมือในวง ด้วยความที่เล่นเกมนี้มาหลายรอบคุณเลยอธิบายเกมได้ค่อนข้างสมูทแล้วก็คนในวงก็ดูจะเข้าใจกติกาเป็นอย่างดี

ปัญหาคือพอเล่นไปซักพักวงจรที่คุณไม่ชอบเท่าไรก็เริ่มโผล่ขึ้นมาให้เห็น เพื่อนของคุณคนหนึ่งใช้เวลาในตาของตัวเองนานนนนนนมาก ตอนแรกๆคุณก็บอกตัวเองว่าเพราะว่านี้มันเป็นเกมแรกของเพื่อนคุณ “เอาน่า นี้มันเกมแรกของ XYZ นิหน่า? แล้ว……. ทำไมมันคิดนานจังว่ะ” พอเวลามันเหลือเพราะคิดตาต่อไปของตัวเองเสร็จแล้วแต่ไม่มีอะไรทำ คุณก็เริ่มหยิบมือถือมาเล่นพร้อมกับจิตใจที่เริ่มล่องลอยออกจากเกมตรงหน้า….ไวดั่งฟ้าฟาดเอ้าตาคุณแล้วหว่ะ “เห้ ตานายแล้วเพื่อน หรือว่านายต้องอ่านข้อความตรงหน้าให้เสร็จก่อนไหม?” คุณก็ได้แต่ขอโทษขอโพย หัวเราะกลบเกลื่อนไป แต่ในใจนี้ร้อนรุ่ม ด่าไอ้เพื่อนที่คิดช้าจนคุณไม่รู้จะทำอะไรก็เลยต้องเปิดมือถือรอ ว่าแล้วคุณก็ไม่อาจจะละความคิดเป็นอื่น เอาแต่สนใจว่าไอ้เพื่อนคนนี้มันจะช้าไปไหน (ตอนแรกที่อ่านถึงตรงนี้บอกตรงๆว่าแม่งโคตรโดนใจผมเลย : ผู้แปล)

มันคิดอะไรอยู่ทำไมถึงนานนัก? ก้มหน้าก้มตาอ่านการ์ดอะไรเยอะแยะ? มันจะรู้ไหมนะว่ามันมีคำที่ใช้เรียกพวกคนที่ใช้เวลาคิดเยอะเกินจำเป็นจนนานฉิบหายอยู่ว่า AP (Analysis Paralysis หรือที่ คุณยุ้ย คนชายขอบแปลไว้ว่า วิเคราะห์อัมพาต) โอเคคุณไม่ได้พูดมันออกไป แต่หน้าตาคุณมันฟ้อง!!

alt tag

เอาล่ะนายชักช้าของเราเริ่มสังเกตุเห็นสัญญาณทางร่างกายของคุณ พร้อมกับเริ่มเดาสถานการณ์ได้ เลยเอยปากว่า “อาร์ โทดทีๆ เราแค่อยากจะให้แน่ใจว่ามูฟนี้ทำแล้วมันโอเค” คุณก็ได้แต่ส่งยิ้มจอมปลอมตอบกลับไป “เมิงช้าสาดดดดดดดดด” คุณเริ่มแพร่บรรยากาศความมู๊ดดี๊ของคุณไปถึงเพื่อนคนอื่นในวง แล้วความกดดันก็เริ่มขึ้น เกมที่คุณกำลังเล่นก็ค่อยๆกลายเป็นบางสิ่งบางอย่าง….ที่ไม่ใช่ความสนุก มันกลับกลายเป็นเรื่องของนายเชื่องช้าคนนั้นแทน บรรยากาศมันแย่ขนาดที่เพื่อนของคุณแทบจะรู้สึกได้ว่ามีใครมาจับคอเค้าไว้ตลอดเวลา บรรยากาศมันแย่ขึ้นเรื่อยๆจนคุณทนไม่ไหวจนต้องระเบิดออกไป “ทำไมเมิงคิดช้าจังว่ะ(สัด)? อยากให้ช่วยคิดไหม?” เอาล่ะตอนนี้เพื่อนคุณกำลังรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นไอ้โง่ เพื่อนคนนึงออกตัวปกป้องนายคิดช้า ขณะที่อีกคนก็เข้าข้างคุณเพราะจริงๆแล้วก็รำคาญเหมือนกัน (แต่เพื่อนคนนี้ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าคุณ เลยไม่ได้ระเบิดอารมณ์ออกไปแต่แรก) เรื่องนี้อาจจะไปได้แย่กว่านี้อีกเยอะ แต่เราหยุดที่ตรงนี้ล่ะกัน

แล้วมันเกิดอะไรขึ้นล่ะ? ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้? ตอนที่คุณเล่นเกมนี้กับเพื่อนกลุ่มอื่น เกมมันก็ไม่ได้ช้าขนาดนี้นิ? ออกจะสมูท ราบรื่น สนุกสนาน คุณไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าเพื่อนของคุณจะคิดได้ช้าขนาดนี้

alt tag

ลองมาดู ข้อดี/ข้อเสีย ของสถานการณ์นี้กันดีกว่า แต่อ่ะมันไม่มีข้อดีเลยนิหว่า งั้งมาดูข้อเสียทีล่ะข้อกันนะ

  • เพื่อนคุณรู้สึกว่าตัวเองโง่มาก ในกรณีแย่สุดเพื่อนคุณได้สูญเสียความนับถือในตัวเองไปเรียบร้อย
  • เพื่อนที่คุณตั้งความหวังไว้ว่าจะกลายมาเป็นขาประจำ จะได้รับประสบการณ์สุดย่ำแย่ และเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่อยากเล่นเกมกับคุณอีก
  • คุณลืมไปแล้วว่ากำลังเล่นเกมถึงตรงไหน
  • เพื่อนคนอื่นของคุณได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี
  • ‘คุณ’ ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี

แล้วมันเกิดอะไรกันขึ้นกันแน่?

เริ่มจาก เพื่อนผู้เชื่องช้าของคุณพยายามที่จะเรียนรู้เกมไปพร้อมกับอยากจะดูเจ๋งในสายตาของเพื่อนๆ แถมไม่อยากแพ้ด้วย ใครๆก็ไม่อยากแพ้ใช่มะ? เค้าอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า downtime (ระยะเวลาระหว่างรอตาเล่นของตัวเอง) เป็นสิ่งที่ไม่ดี (นี้โคตรจะมองโลกในแง่ดีสุดๆแล้วนะ : ผู้แปล) แต่เค้าเป็นเพื่อนคุณ แล้วก็เป็นคนฉลาดคนหนึ่งที่คุณให้ความนับถือด้วย

สรุปให้สั้น : คุณกำลังทำตัวแบบ reactive (รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ไข) คุณคาดหวังบางอย่างแต่กลับได้รับที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง บางอย่างที่ทำให้ความเป็นจริงของคุณถูกทำลาย - ลำดับความคิดในสมองต่อเหตุการณ์ของคุณล่มสลาย - และคุณกำลัง ‘ตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น’ (อันนี้ยอมรับเลยว่าเป็นปัญหาส่วนตัวผมเองเลยนะ)

แต่สิ่งที่คุณต้องไม่ลืมคือ เพื่อนคุณไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้คุณรู้สึกแย่ เค้าแค่กำลังเล่นเกมของคุณ พยายามเต็มที่ที่จะทำให้มันดีที่สุด แล้วก็หวังว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาดีๆด้วยกัน ความขุ่นมัวของคุณนอกจากจะทำให้บรรยากาศการเล่นหลังจากนั้นไม่ดีแล้ว ถ้าเรื่องไปไกลกว่านั้นคุณอาจจะเสียเพื่อนไปเลยก็ได้

จงจำไว้ว่า “ไม่มีเกมไหนสำคัญขนาดนั้นหรอก”

ผมขอเสนอให้คุณใช้วิธีแบบ pro-active (การกระทำเชิงป้องกันไม่ให้เกิด) ซะหน่อย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นเราลองมามองโลกในมุมของ ‘นายเพอร์เฟค’ กันซักหน่อย

alt tag

นายเพอร์เฟค (หรือนายคิดช้า)

ย้ายเข้าไปในหัวของนายเพอร์เฟคหลังจากเกมจบลง เรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วมันแก้ไขไม่ได้ แต่นายใจร้อนก็ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีของคุณไม่ใช่เหรอ? คุณเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเพื่อนของคุณแม้ว่าคุณเป็นฝ่ายถูกทิ้งให้จมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆนี้ คุณได้นึกย้อนไปว่าในคืนนั้นคุณสามารถทำอะไรที่แตกต่างออกไปได้บ้าง แต่มันทำให้คุณยิ่งนึกถึงการได้รับการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่สุดท้ายคุณก็เลือกที่จะผนึกความรู้สึกนั้นไปพร้อมกับพยายามมองสถานการณ์ใหม่โดยปราศจากอคติ

คุณรู้ตัวดีว่าคุณเป็นคนที่ต้องทำทุกสิ่งให้เพอร์เฟคเสมอ แล้วก็มีความอยากเอาชนะสูงด้วย ทุกครั้งที่คุณเริ่มสังเกตุว่าทุกคนใช้เวลาในการเล่นน้อยกว่าคุณอย่างเห็นได้ชัด คุณก็จะพยายามที่จะคิดตาต่อไปของตัวเองในระหว่างตาของผู้เล่นคนอื่น ในขณะเดียวกันคุณก็พยายามที่จะดูว่าคนอื่นกำลังทำอะไรเพื่อที่จะได้ศึกษาเกมได้เร็วขึ้นผ่านวิธีการเล่นของคนอื่น และทันเมื่อมันวนกลับมาถึงตาของคุณ… คุณก็ยังไม่พร้อม

โอเคมันเป็นเกมแนววางแผนที่ค่อนข้างซับซ้อน แล้วก็นี้เป็นเกมแรกของคุณ มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับคุณที่หาความสมดุลย์ระหว่าง เล่นให้ชนะ กับ เล่นเพื่อความสุนทรีย์ คุณยึดติดกับชัยชนะและมันยากที่จะปล่อยวาง ต่อให้เพื่อนใจร้อนของคุณเริ่มที่แสดงความรู้สึกออกมาแล้วก็เถอะ มันอาจจะดีกว่าสำหรับทุกคนถ้าคุณเลือกที่จะล่ะเอาความยึคติดของคุณไปเก็บไว้ แล้วเลือกพุ่งสมาธิไปที่การเรียนรู้เกม คำสำคัญของเรื่องนี้คือ ความยึดติด แต่คุณอาจจะแย้งว่า “ฉันได้รับประสบการณ์ดีๆมากมายจากการที่ฉันยึดติดในสิ่งที่ฉันทำ” แต่ก็แน่นอนว่าไอ้ความยีดติดที่ว่ามันก็มีด้านตรงข้ามเหมือนกัน

บทสรุป

ลองมาสมมุติกันว่า นายใจร้อน นั้นรับรู้ถึงความใจร้อนของตัวเองที่ไม่อยากจะต้องมานั่งรอคนอื่นเวลาเล่นเกม วิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับเรื่องนี้ได้คือการทำตัวแบบ pro-active อันเป็นการทำตัวแบบป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้ากันซักหน่อย วิธีการก็คือเรามากำหนดกรอบกว้างๆให้คนในวงทำตามกันเสียหน่อย (คุณรู้ไหมว่ามนุษย์เรานี้มีความสามารถในการปรับตัวที่ไม่ธรรมดา แต่เราดันมักจะไม่ค่อยเข้าใจในสถาะการณ์ที่เรากำลังเจออยู่เองซักเท่าไร) เริ่มจากลองมาวิเคราะห์สถานการณ์ตัวอย่างของเรากันสักนิด

  • มีคนใจร้อนหนึ่งคน
  • มีคนคิดช้าหนึ่งคน
  • 3/4 ของผู้เล่นไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อนในขณะที่ 1/4 เล่นมาแล้วหลายครั้ง
  • เกมที่เล่นต้องใช้ทักษะการวางแผน และต้องใช้ความสามารถในการเล่นสูง

เราลองป้องกันโดยบอกผู้เล่นทุกคนในวงแบบนี้ดู

“นี้เป็นเกมแรกของพวกนาย แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าควรจะต้องทำยังไงบ้าง เพราะงั้นแทนที่จะมาสนใจว่าทำไงให้ชนะ เราขอแนะนำให้อย่าไปคิดเยอะมากแต่พยายามสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเกมบ้าง แล้วก็ดูว่าคนอื่นเค้าเล่นกันยังไง อย่าลืมที่จะทดลองวิธีเล่นหลายๆแบบดู ถ้าทำแบบนี้พวกนายจะเรียนรู้เกมได้เร็วกว่า แม้ว่ารอบนี้อาจจะไม่ชนะก็ตาม”

แบบนี้มันก็จะแฟร์สำหรับทุกคน เพราะทุกคนรู้ว่ากำลังจะทำอะไร (กำลังเรียนรู้เกม) และ นายคิดช้า ก็ อาจจะ เลือกที่จะปล่อยวางความยึดติดในชัยชนะของตัวเองเอาไว้สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความของผม(ผู้เขียน) จะช่วยให้คุณได้รู้จักตัวเอง พร้อมกับมีเครื่องมือที่ใช้จัดการความรู้สึกด้านลบในระหว่างเล่นเกม


อันนี้เป็นความเห็นของผมเอง

ตอนที่อ่านบทความนี้เสร็จสิ่งที่ผมคิดว่าคือ ความรู้ตัว (self awareness) นี้แหละเพราะพูดตรงๆคือผมรู้สึกว่าวิธีแก้ปัญหาของบทความต้นทางอาจจะ โลกสวยเกินไป แล้วก็สถานการณ์สมมุติก็ค่อนข้างจำกัดไปซักหน่อย เพราะวิธีแก้ปัญหาแบบที่ว่านี้ผมใช้ประจำเลยครับ (บอกผู้เล่นให้เกมแรกไม่ต้องคิดมาก ลองระบบก่อน)………. แต่ไม่ค่อยเห็นผลนะ

ถ้าในวงเดิมแต่ทุกคนในวงเล่นเป็นอยู่แล้วล่ะ? ถ้าไม่มีใครยอมปรับตัว (หรือยอมทน) ก็คงต้องจบที่ไม่ต้องเล่นด้วยกันอีกเลยหรือปล่าว? ผมคิดว่าการรู้ตัวว่า ใจร้อน ก็สำคัญพอๆกับการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลัง ช้า เพราะไม่ว่าแบบไหนก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ เวลาเล่นเกมมันก็มีจังหวะที่เล่นแล้วต้องใช้ความคิดกันอยู่แล้ว สำหรับผมแล้วประโยคประมาณ… “ขอโทษทีนะ จังหวะนี้ยากมากขอคิดแป๊บ“… เป็นบางทีผมก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้ากาลเวลาหยุดนิ่งตลอดเวลาทุกครั้งที่วนไปถึงตาผู้เล่นคนนั้นนี้ผมก็ไม่ไหวนะ

สำหรับผมแล้วก็คิดหวังไว้เหมือนกันว่าบทความนี้จะช่วยให้ทั้ง นายใจร้อน แล้วก็ นายเพอร์เฟค จะเข้าใจมุมมองของทั้งสองฝ่ายแล้วปรับตัวให้ ปกติ กันมากขึ้น อย่าไป เร่งคนอื่น หรือ ปล่อยให้รอ เลยนะ

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->