An Infamous Traffic - ค้าฝิ่นโพ้นทะเล

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
An Infamous Traffic - ค้าฝิ่นโพ้นทะเล

สิ่งที่ทำให้เกมนี้อยู่ในความสนใจของผมมีอยู่หลายอย่าง อย่างแรกคือมันเป็นเกม mid-heavy ธีม economic ที่ใช้เวลาเล่นแค่ 90 นาที อย่างที่สองคือเป็นผลงานของนักออกแบบเกม Cole Wehrle ที่เป็นนักออกแบบร่วมใน Pax Parmir กับเป็นคนออกแบบ draft แรกของ Pax Renaissance และอย่างที่สามคือเกมนี้ถูกจัดอันดับเข้าชิงรางวัลของ Heavy Cardboard กลุ่มที่มีแนวทางการเล่นเกมยูโรสายหนัก ซึ่งเกมส่วนมากที่กลุ่มนี้แนะนำมักจะถูกใจผม


เกมนี้เราจะอยู่ในประเทศจีนตอนช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ในช่วงที่ประเทศจีนยังถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ช่วงนั้นอังกฤษเสียดุลการค้าให้กับจีนเยอะเพราะนำเข้าใบชาจำนวนมาก (สมัยนั้นคนอังกฤษใช้เงินถึง 5% ของรายได้ต่อปีเพื่อใบชาอย่างเดียว) เลยพยายามหาทางคืนดุลการค้าโดยเอาฝิ่นเข้าไปขาย ต่อมาทางจีนประกาศห้ามการค้าฝิ่นและทำลายฝิ่นทั้งหมดจนนำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งแรก ที่ทำให้ทางจีนต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษเช่าเป็นเวลา 100 ปี ตัวเกมก็จะจับเอาช่วงเวลานี้แหละมาทำเป็นเกมให้เราเล่น โดยเราจะรับบทเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษที่ต้องมาธุรกิจค้าฝิ่นในจีน

“แนวคิดหลักของเกมคือการสร้างห่วงโซ่อุปทาน”

แผนที่ในเกมจะแบ่งออกเป็นหลายโซน โดยแต่ล่ะโซนจะมีห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ที่แต่ล่ะอันจะประกอบไปด้วย ช่องฝิ่น/น่านน้ำลึก/น่านน้ำตื้น/พื้นดินจำนวนหนึ่ง และงานของเราในเกมนี้ก็คือหาทางเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานนี้ให้เต็มด้วยไทล์ชนิดต่างๆ ทั้งจากระหว่างผู้เล่นกันเองและจากส่วนกลาง เนื่องจากในเกมนี้ส่วนมากแล้วเราจะไม่สามารถทำให้ระบบการค้าสมบูรณ์ได้ด้วยตัวคนเดียว การร่วมกันกันแบบหลวมๆ(และแทงกันทุกครั้งที่มีโอกาส)ของผู้เล่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในเกมนี้มีไทล์อยู่ไม่กี่แบบ แต่ไทล์กิจการที่ผู้เล่นเป็นเจ้าของจะมีแค่สามแบบคือ

  • ไทล์เรือ (Fleet) : แทนถึงการลงทุนในกิจการเดินเรือ ใช้สำหรับขนฝิ่น
  • ไทล์ฝิ่น (Opium) : แทนถึงการลงทุนในการผลิตฝิ่น
  • ไทล์พ่อค้า (Merchant) : แทนถึงการลงทุนในตัวกิจการโรงฝิ่นในจีน

แล้วก็จะมีไทล์แบบอื่นอีกคือ

  • ไทล์นักค้าของเถื่อน (Smuggle): ใช้สำหรับลักลอบนำเข้าฝิ่นสู่แผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงใช้ในการสร้าง ‘อุปสงค์’ (Demand) ของฝิ่นในพื้นที่นั้น
  • ทล์ข้าราชการ (Bureaucrat) : เพราะเราทำการค้าของเถื่อน การแบ่งกำไรเป็นน้ำร้อนน้ำชาบางทีก็จำเป็นเหมือนกัน

ส่วนห่วงโซ่อุปทานประกอบจากช่องว่างอยู่ 4 แบบโดยแต่ล่ะแบบก็รองรับไทล์ได้แตกต่างกันตามนี้

  • ช่องฝิ่น : แน่นอนว่านี้มันเกมค้าฝิ่นผู้เล่นก็ต้องไปจัดหาฝิ่นมาลงสิ!! ในธีมจะแสดงถึงการลงทุนผลิตฝิ่นจากอินเดียอันเป็นอณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น
  • ช่องน่านน้ำลึก : จะขนฝิ่นได้ก็ต้องมีเรือ ตรงนี้ก็เหมือนกับฝิ่นที่ผู้เล่นจะต้องลงทุนเตรียมเอาไว้ก่อน
  • ช่องน่านน้ำตื้น : ในช่วงเวลาที่ผิดกฎหมายการจะเอาฝิ่นเข้าไปขายได้จำเป็นที่เราจะต้องจัดหา’นักลักลอบขนของเถื่อน’ มาเพื่อช่วยขนถ่ายสินค้าขึ้นฝั่ง
  • ช่องแผ่นดิน : การจะกระจายฝิ่นไปทั่วดินแดนได้มีตัวเลือกให้ทำหลายอย่าง เราจะเอานักค้าของเถื่อน/ติดสินบนข้าราชการ/ส่งพ่อค้าของผู้เล่นไปวางได้

ไทล์แต่ล่ะอันจะมีตัวเลขอยู่ที่มุมเพื่อบอกว่าราคาของมันคือเท่าไร ถ้าเป็นไทล์ของผู้เล่นจะมีหลายราคาอยู่ตามมุมเวลาจะเลือกราคาก็ให้หมุนไปในด้านที่ต้องการ ทันทีที่ผู้เล่นสามารถเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานได้ ทุกคนที่มีไทล์กิจการอยู่ก็จะได้รับเงินตามที่ตั้งราคาไว้ (และเสียทันทีที่ห่วงโซ่นี้ถูกทำลาย)

“Success occurs when opportunity meets preparation”

- Zig Ziglar

เกมนี้เล่นกันแค่ 4 รอบใหญ่ แต่ล่ะรอบผู้เล่นจะผลัดกันทำ action วนกันไปเรื่อยๆจนกว่าทุกคนจะผ่านหมด ตัวระบบ action ที่ทำได้ไม่ซับซ้อนคือประกอบไปด้วย

  • ลงทุน (Invest) : เป็นการหยิบไทล์กิจการหนึ่งในสามอย่างจากสต๊อก(ยังใช้งานไม่ได้) มาไว้ที่บริษัทของเรา(เอาไปใช้ได้ล่ะ)
  • วาง (Place) : ก็ตามชื่อเอาไปวางตามช่องที่สามารถวางได้ จังหวะนี้เราสามารถตั้งราคากิจการของเราเท่าไรก็ได้ ตรงนี้มีถือเป็นหนึ่งในแกนหลักของเกม มีกิมมิคหลายอย่างในการวางเดี๋ยวจะอธิบายต่อ
  • ปรับราคา (Lower Price) : ปรับราคาของกิจการที่วางไปแล้วในบอร์ด เกมนี้ปรับราคาลงได้อย่างเดียวไม่มีขึ้น
  • สมคบคิด (Conspiracy) : หยิบไทล์กลางที่ทุกสุ่มมาระหว่างเกมมาวางไว้ในพื้นที่ของไทล์นั้นๆ ไทล์ในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย ธงอังกฤษ/มิชชั่นนารี/นักลักลอบขนของเถื่อน/ข้าราชการ/ทหารราชวงศ์ชิง (ไทล์ส่วนมากของเกมก็คือไทล์สมคบคิดเนี่ยแหละ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเกมนี้เลย)

เกมนี้มีลูกเต๋าก็จริงแต่ก็ไม่ได้ดวงเท่าไร แต่ว่าสร้างสถานะการณ์การเล่นได้ดีมาก เริ่มเกมนี้จะเราจะทอยลูกเต๋า 8 ลูกไว้ที่กองกลางและอีก 2 ลูกไว้บนโซนหนึ่งในเกม เลขบนหน้าเต๋าแต่ล่ะลูกจะใช้แสดงถึง ‘โอกาส’ (opportunity) ที่ผู้เล่นจะสามารถเอาไทล์กิจการของตัวเองไปวางบนโซนนั้นได้ ถ้ามีหน้าเต๋าอย่างน้อยหนึ่งหน้าตรงกับหน้าเต๋าในส่วนกลางจะถือว่าผู้เล่นมีสิทธิ์ในการวางไทล์  ยิ่งลูกเต๋าเข้ามาในพื้นที่เยอะ = คนติดฝิ่นเยอะ โอกาสในการลักลอบทำการค้าฝิ่นก็จะน้อยตามเพราะหน้าเต๋าในกองกลางมีน้อยลง

การที่เราจะเพิ่มอุปทานฝิ่นได้เราจะต้องทำ action ‘สมคบคิด’ (conspiracy) เพื่อหยิบไทล์นักค้าของเถื่อนไปวางในโซนนั้น (จะในน่านน้ำชายฝั่งหรือบนแผ่นดินก็ได้) จากนั้นเราจะได้หยิบเต๋าหนึ่งลูกจากส่วนกลางมาทอยบนโซน ตรงนี้ก็เหมือนกับพอมีพ่อค้ารายย่อยเข้าไปปล่อยฝิ่นแจกจ่ายคนแล้วความต้องการซื้อก็ย่อมมีมากขึ้น การที่เราหยิบเต๋าออกมาจากส่วนกลางยังอาจจะเป็นการตัด ‘โอกาส’ ในการทำการค้าของคู่แข่งได้ด้วย อย่างเช่นจุดที่คู่แข่งจะเอาของไปวางได้มีเต๋าหน้าสองอยู่ และในกองกลางมีเต๋าหน้าสองแค่ลูกเดียว เราก็สามารถหยิบเอาเต๋าที่ว่าออกมาเพื่อที่ผู้เล่นคนอื่น(รวมถึงเราด้วย)จะไม่สามารถส่งไทล์มาลงได้อีก

อีกเรื่องที่ก็คือการส่งมิชชันนารีเข้าไปในพื้นที่ เราก็จะได้ลูกเต๋าเพิ่มเข้าไปด้วย (อ้างอิงจากแนวคิดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ว่าบรรดาหลวงบาทหลวงเนี่ยล่ะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอังกฤษเผยแพร่ฝิ่นในจีน)

“Lack of Money is the root of all evil”

- George Bernard Shaw

ฟังชั่นอื่นของลูกเต๋าในพื้นที่ก็คือจำนวนเลขรวมของลูกเต๋าจะเป็นตัวกำหนด ‘อุปทาน’ อย่างที่บอกว่าโดยแนวคิดของเกมนี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรแค่หาของมาวางให้เต็มช่องเท่านั้นเอง อย่างที่บอกคือทันทีที่เราสามารถเติม Supply chain ให้ครบได้ผู้เล่นทุกคนที่มีไทล์อยู่จะได้รับเงิน (และจะเสียเงินทันทีถ้า Supply chain พัง) เงื่อนไขอีกอย่างนอกจากวางไทล์ครบคือ จำนวนเลขของทั้ง Supply chain จะต้องน้อยกว่าจำนวนผลรวมหน้าเต๋าในโซนนั้น ก็ประมาณว่าถ้าเส้นทางนี้มันลงทุนสูงราคาแพง แต่ความต้องการมันไม่ถึงก็จะขายของไม่ได้นั้นเอง ด้วยว่าระบบเกมให้ผู้เล่นเลือกราคาได้เองถ้าตั้งสูงไปคนอื่นก็ไม่อยากจะช่วยแน่นอน ทันทีที่ความต้องการถูกเติมเต็มลูกเต๋าหนึ่งลูกจะกลับไปที่ dice pool ส่วนกลาง

ที่เด็ดกว่าผู้เล่นสามารถ ขายตัดราคา (underselling) กันได้ถ้าสามารถวางไทล์ชนิดเดียวกันลงไปได้โดยที่จะต้องตั้งราคาให้ถูกกว่า ทันทีที่ผู้เล่นทำการวางไทล์ลงไปคนที่วางก็จะได้เงินเพิ่ม ส่วนคนที่พึ่งโดนตัดราคามาก็จะเอาไทล์กิจการออกและเสียเงินทันที หรือเราจะไปหยิบไทล์ข้าราชการ/นักค้าของเถื่อน มาลงตัดราคาก็ได้ อีกกรณีคือไทล์ทหารของทางการบางอันจะมาพร้อมกับ ‘ตำรวจ’ ที่ผลคือตอนลงมาต้องไล่นักขนของเถื่อนออกจากเกม ถ้าเอาออกจาก Supply chain ผู้เล่นในวงก็เตรียมเสียเงินกันไป

“Only the opium eater truly understands the pain of death”

- John Cheever

ตอนจบแต่ล่ะรอบของเกมนี้ ถ้ามีค่าความไม่พอใจ (outrage) เยอะกว่าจำนวนทหารของทางการ รอบนั้นจะมี ‘สงครามฝิ่น’ (opium war)เกิดขึ้น ส่วนความไม่พอใจจะเพิ่มทุกครั้งที่มีการหยิบไทล์อังกฤษ กับตอนตำรวจมาไล่จับนักค้าของเถื่อนทำให้คนจีนไม่มีฝิ่นสูบ (ฮา)

ตัวระบบสงครามไม่มีอะไรวุ่นวาย แค่ผู้เล่นที่มีไทล์อังกฤษเยอะสุดจะได้เป็นคนตัดสินใจเอาไทล์ที่ว่าไปใช้ทำการลดทหารทางการ/ข้าราชการ ถ้าที่ไหนไม่เหลือทหารแล้วเราจะสามารถบังคับให้ทางการจีน’เปิดท่าเรือ’ ในพื้นที่นั้นได้ ผลของการที่ท่าเรือถูกเปิดแล้วก็คือผู้เล่นไม่จำเป็นต้องดู ‘โอกาส’ ในการวางไทล์กิจการอีกต่อไป แต่ว่าข้อดีของการเป็นผู้นำทหารไม่ใช่การเปิดท่าเรือแต่เป็นการที่เราสามารถใช้โอกาสนี้ตัดข้าราชการชั่วช้าที่รับสินบน (จากคู่แข่งเรา) ออกจาก Supply Chain (ที่เราไม่ได้ตัง) ต่างหาก!!

“Riches are not an end of life by an instrument of life”

- Henryward Beecher

ขายของหาเงินกันมาตั้งนาน แต่เกมนี้รวยสุดไม่ชนะครับ……

แต้มในเกมนี้มาจากแค่สองอย่างคือ ผู้นำในอุตสาหกรรม (Industry Leader) กับทายาท (Scion) ระบบผู้นำคือในแต่ล่ะกิจการผู้เล่นคนไหนมีไทล์ชนิดนั้นเยอะสุด (ลงทุนไปเยอะสุด) ก็จะได้เป็นผู้นำที่ตอนจบมีค่าอันล่ะ 2 แต้ม (ปกติเกมนี้จบกันที่ประมาณ 6-8 แต้ม) ข้อดีอีกอย่างของการเป็นผู้นำคือจะไม่สามารถโดนตัดราคา (underselling) ในธุรกิจที่เราเป็นผู้นำ

อีกอย่างคือในตอนต้นรอบใหญ่เกมจะสุ่มรางวัลมาให้จำนวนหนึ่ง (มีมูลค่า -1 ถึง 3 แต้ม) แล้วเปิดโอกาสให้ผู้เล่นทุกคนแอบดูได้คนล่ะอัน ตอนที่เราบอกผ่านในรอบนั้นเกมจะให้เราเลือกว่าจะส่งทายาทกับอังกฤษไหม ถ้าส่งกลับทายาทเราจะมีความร่ำรวยเท่ากับเงินที่เรามีตอนนี้ บวกกับจำนวนเงินที่เราจ่ายเพิ่ม (เรียกได้ว่าหาเงินมาทั้งเกมเพื่อส่งเปย์ให้ลูกก็ได้) ทีนี้หลังจากทุกคนผ่านหมดแล้วของรางวัลจะเปิดขึ้นมาพร้อมกับผู้เล่นที่ส่งทายาทไปจะได้หยิบตามลำดับความรวยที่มี ตรงนี้คิดว่าหลายคนอาจจะคิดว่าดวงไปหน่อยแต่ผมก็คิดว่าโอเคนะเพราะเรารู้ข้อมูลนิดหน่อย กับดูๆเอาได้ว่าคนอื่นที่ส่งลูกกลับบ้านก่อนเราเค้าทำตัวยังไง ไทล์รางวัลเองก็รู้จำนวนแน่นอน (เพราะจะถูกใช้ทั้งหมด) ทำให้ตาท้ายๆเราจะพอเดาได้ล่ะว่าเหลืออะไรให้ไปตบตีแย่งมาบ้าง จังหวะในการเลือกที่จะบอกผ่านก็สำคัญมากเพราะถ้ามัวแต่ลีลาเล่นบนกระดานเราก็อาจจะพลาดส่งลูกกลับบ้านไม่ทัน

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆคือทำการค้ามาตั้งนานแต่ถ้าเต๋าหมดจาก dice pool ส่วนกลางเมื่อไรล่ะก็เกมก็จะจบทันที เพราะว่าจะเกิดการปฎิวัติขึ้นในจีน ผู้เล่นที่ชนะก็คือผู้เล่นที่มีไทล์กิจการในแผนที่มากที่สุดแทน

Commentary

เป็นอีกเกมที่ผมชอบนะ สนุกดีได้ชิงจังหวะขับเคี่ยวกันตลอดเวลา วิธีการเล่นเป็นแบบ tactical เน้นวางแผนหน้างานเป็นหลัก ซึ่งอาจจะไม่ตรงใจผู้เล่นสาย engine-building หรือสาย strategy ที่เน้นวางแผนระยะยาวเท่าไร แต่โดยรวมเกมตอบโจทย์ผมได้หลายอย่างเพราะเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิดเยอะโดยที่กติกาไม่ซับซ้อน ของไม่เยอะ setup ง่าย ใช้เวลาเล่นไม่นาน วิธีการเล่นผมคิดว่าก็มีเอกลัษณ์ที่แปลกดี ระบบเต๋า ‘โอกาส’ ค่อนข้างเข้าใจง่ายแต่สร้างความลึกในการตัดสินใจระหว่างได้เยอะพอดู ดวงเป็นแบบที่จัดการได้แล้วก็ช่วยสร้างเนื้อเรื่องในแต่ล่ะเกมไม่เหมือนเดิม

ส่วนที่ไม่ชอบน่าจะเป็น ด้วยความที่ไทล์แต้มมันมีน้อย รอบท้ายๆบางครั้งแทบไม่ต้องเล่นเพราะนับแต้มแล้วเห็นเลยว่าใครจะชนะซึ่งจริงๆมันก็ไม่มีปัญหาอะไร แค่มันอาจจะรู้สึกห้วนไปซักหน่อย ส่วนเรื่องแต้มที่เรารู้แค่บางส่วน (imperfect information) อาจจะไม่ตรงใจหลายคน (ผมเกลียดระบบประมาณนี้ใน Automobile มาก) แต่มาเกมนี้รู้สึกว่าลงตัวดี  กติกาไม่ยาว แต่ตอนอ่านอาจจะนึกภาพในหัวตามยากนิดนึงเพราะภาพประกอบน้อย กับกติกาสไตล์โยงหัวข้อกันไปมา

เกมนี้มีขายอยู่สองแบบ อย่างแรกคือแบบเป็นกล่องตามปกติที่สั่งทำตามออร์เดอร์ในราคา 50$ และแบบเป็นไฟล์ pdf อย่างเดียวในราคา 13$ โดยแบบที่ผมมีจะเป็นแบบซื้อไฟล์มาทำเองครับ เพราะค่าส่งจากอเมริกามาไทยค่อนข้างแพง จ่ายค่าพิมพ์กับอุปกรณ์ไปอีก 3-400 เบ็ดเสร็จจ่ายไปประมาณ 7xx บาทกับนั่งตัดตอนว่างๆอยู่สองสามวัน (ไปอ่านตามฟอรั่มมีคนสั่งแบบกล่องแค่ไม่กี่ร้อยชุด) ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคุ้มมาก ความสนุกเกินราคาเยอะ

ถ้าสั่งตรงค่าส่งจะแพงไปหน่อยแถมแผนที่จะเป็นแบบกระดาษธรรมดาๆที่ผู้เล่นที่ไม่ใช่สาย war game อย่างผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันดู low cost ยังไงชอบกล (แต่เห็นว่า counter หนาดีนะ) ถ้าเกมมันเปลี่ยนเป็นค่ายที่ทำ mass production ดีๆได้จะดีมากเลย (แต่คิดว่าคงน่าจะยากอยู่) แต่แบบซื้อไฟล์มาทำก็ไม่ได้แพงอะไรตัวเกมของที่ต้องใช้ก็ไม่เยอะเบ็ดเสร็จแค่กระดาษ A4 แค่ 8 แผ่นเท่านั้นเอง

ทริคในการทำ Player board แนะนำกระทู้นี้จาก BoardgameGeek : What to do with the pnp files

สั่งซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตได้ที่ Hollandspiele (50$ + Shipping)  หรือ WargameVault (13$ Pdf file)

อีกเรื่องคือเกมใหม่จากนักออกแบบคนนี้กำลังจะออก เป็นธีมเกี่ยวกับ East India Company ที่โปรยไว้ว่าเป็น Food Chain Magnate + Republic of Rome ชื่อ John Company ออกกับค่าย Sierra Madre Games ปีนี้


Notes

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงครามฝิ่นผมอ่านแนะนำกระทู้พันทิปอันนี้ก็สรุปเข้าใจง่ายดี สงครามฝิ่น ต้นแบบอำนาจที่มาจากกระบอกปืน

อีกแหล่งคือซี่รี่ย์คลิปการ์ตูนสั้นๆอันนี้ก็สนุกดี อธิบายเข้าใจง่ายดีด้วย

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->