A Feast Of Odin - ปล้น-ล่า-ค้า มาถมที่

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
A Feast Of Odin - ปล้น-ล่า-ค้า มาถมที่

ถึงจะจั่วหัวเหมือนหนังฆาตกรรม แต่ว่าเกมนี้เป็นเกมยูโรแสนสงบสุข วิถีชาวบ้านตามสไตล์ Uwe เราจะเล่นเป็นผู้นำเหล่าไวกิ้งมาพัฒนาบ้านเมืองผ่านการค้าขาย ล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ บุกปล้นสินค้า แกนหลักของเกมนี้เข้าใจง่ายมาก…… คือหาไทล์มาถมที่ว่าง

How things goes

เกมนี้ตัวเลือกให้ทำมากมาย กติกาเขียนซะยาวเฟื้อย แต่ flow ของเกมเรียบง่าย-อธิบายง่ายจนหน้าตกใจ

ตัวเกมออกไปทาง sand-box นิดหน่อย ผู้เล่นแต่ล่ะคนจะมีบอร์ดเป็นของตัวเองซึ่งมีแต่ที่ว่างรอการเติมเต็ม ในแต่ล่ะตาเราจะผลัดกันเอาคนงานไปลงในช่อง action บนกระดานกลาง พอทุกคนใช้คนงานหมดก็จบรอบ ตัวคนงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกตา แล้วก็วนใหม่ไปอีก 6 รอบก็นับแต้มจบเกม

ตัว action ในเกมมีให้เล่นถึง 61 ช่อง!!! ถึงจะฟังดูเยอะๆแต่เข้าใจค่อนข้างง่าย เพราะeffect มันคล้ายๆกันแค่แรงไม่เท่ากัน หลักๆก็คือเอาตัวลงไปแล้วได้หยิบไทล์ตามที่ช่องเขียนไว้  ช่อง action แบ่งออกเป็น 4 คอลัมน์ อยากใช้ช่องไหนก็ต้องเอาคนงานจำนวนเท่ากับคอลัมน์นั้นไปวางไว้ ความสามารถก็แรงตามจำนวนคนที่ต้องใช้

ผู้เล่นแต่ล่ะคนมีคนงานเท่ากัน ถ้าใช้แต่ช่องแรงๆ คนงานก็จะหมดก่อน ช่องเบาๆคนก็แย่งกัน ผู้เล่นที่ใช้คนหมดเป็นคนสุดท้ายจะได้เป็น starting player รอบหน้า การบริหารจำนวนคนงานในมือก็สำคัญ


Our job is to fill the holes

ไทล์ในเกมมีหลายขนาด ถ้าไม่นับไทล์พิเศษที่มีไม่มาก ไทล์ทั้งหมดจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆกันไป แต่ล่ะขนาดจะมี 4 ระดับเริ่มจาก

  • สีส้ม (lv1 ระดับล่างสุด รูปก็จะเป็นอาหารพวกพืชผัก)
  • สีแดง (lv2 รูปจะเป็นอาหารจำพวกเนื้อ)
  • สีเขียว (lv3 สินค้าแปรรูปแล้ว)
  • สีฟ้า (lv4 สินค้าเหล็กเป็นระดับสูงสุด)

เวลาเราจะ upgrade (ในเกมมีธีมว่าเป็นการเอาของไปค้าขายแลกเปลี่ยนมา) เราก็จะเอาไทล์มาเปลี่ยนเป็นทรงเดิมแต่ไล่ระดับสีไปเรื่อยๆ งานหลักก็ไทล์พวกนี้คือเอาไปถม player board ของเราเองจะวางท่าไหนตรงไหนก็ได้ กองไว้เยอะๆแล้วค่อยว่างทีเดียวก็ได้ แต่ถ้าวางแล้วห้ามเอาออก โดยมีกำหนดว่าไทล์ สีเขียว(lv3)ห้ามวางติดกันเอง ส่วนสีฟ้า(lv4)สามารถวางยังไงก็ได้ และห้ามวางไทล์ สีส้ม(lv1) และ สีแดง(lv2) ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆคือการถมดินแดนต้องใช้ไทล์  level 3-4 เท่านั้น, level 1-2 หมดสิทธิ์

ใน player board ของเราจะมีช่องโบนัสอยู่ เราจะเลือกปิดทับหรือไม่ก็ได้แต่ว่าถ้าเราสามารถเอาไทล์มาล้อมได้ตอนจบตาเราจะได้ไทล์สินค้าตามรูปนั้นมาด้วย การเล่นเลยไม่ได้แค่สักทำไทล์ใหญ่ๆมาวาง การคิดว่าจะเปิด หรือปิดตรงไหนก็สำคัญไม่แพ้กัน

ตอนจบรอบผู้เล่นจะต้องเอาไทล์สีส้ม(lv1)และแดง(lv2)มาปิดพื้นที่โต๊ะอาหาร ซึ่งจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกตาตามคนงานที่เพิ่มขึ้นมา ตรงนี้ผมว่าเป็นจุดที่ทำออกมาฉลาดดี รวบระบบกินข้าว/คนเกิด/turn marker ไว้ที่เดียวกัน

ไทล์ถ้าวางแล้วห้ามย้ายทีที่หลัง หนึ่งในความสนุก (และ AP) ของเกมนี้เลยอยู่ที่การจัดวางไทล์ให้ดี

[Note] ตอนแรกๆอาจจะงงเรื่องลำดับสีนิดหน่อยแต่เล่นแป๊บๆก็จำได้แล้ว


Knut , milord. We need more spaces

เกมนี้ในบอร์ดหลักนอกจากแต้มติดลบแล้วจะไม่มีแต้มบวกให้ เราต้องไปหาเพิ่มจากการถมพื้นที่อื่น

ตัวเกมมีตัวเลือกว่าเราจะไปบุกเบิกเปิดเกาะใหม่ หรือจะสร้างบ้าน เพิ่มก็ได้ แต่ล่ะเกาะก็มีรูปทรงพื้นที่ ช่องโบนัสแล้วก็แต้มแตกต่างกันไป บางที่ก็ให้เงินเยอะ บางที่ก็เน้นให้ของเยอะ บางที่ก็เน้นแต้มเยอะ ส่วนบ้านก็คล้ายๆกัน แต่บ้านจะมีข้อดีตรงที่สามารถเอาไทล์สีส้ม(lv1) และแดง(lv2) ที่ปกติเอาไว้ใช้แค่กินข้าวตอนจบตา หรือรอ upgrade ไปถมที่ในบ้านได้

สิ่งที่เหมือนกันในการเปิดพื้นที่ใหม่ๆก็คือมันมาพร้อมแต้มลบรอให้เราไปถมเพิ่ม (อีกแล้ว)


Dices with Mr.Wednesdays

หนึ่งในจุดที่ผมค่อนข้างลำบากใจที่จะเล่นเกมนี้ในตอนแรกคือเต๋า แต่พอเล่นแล้วผิดคาด เพราะรู้สึกว่าทำมาสมดุลย์ดีแต่ก็ไม่ได้ wow อะไร และแน่นอนว่าดวงดีกว่าย่อมได้เปรียบ

เกมนี้มี action อยู่สองกลุ่มที่จะต้องทอยลูกเต๋า คือกลุ่มล่าสัตว์ ถ้าชนะจะได้ไทล์สีเขียว(lv3) กับ สีแดง(lv2) กับกลุ่มไปปล้น ถ้าชนะได้ไทล์สีฟ้า(lv4) แต่ล่ะครั้งสามารถทอยเต๋าใหม่ได้ 3 ครั้ง

ในกลุ่มล่าสัตว์พอลงแล้วเราจะต้องทอยเต๋า D8 / D12 แล้วแต่ช่อง ออกเลขอะไรมาเราจะต้องทิ้ง ไม้ และ/หรือ การ์ดอาวุธ (มี ฉมวก/แห/ธนู แต่ล่ะช่องต้องการอาวุธไม่เหมือนกัน) ที่ตรงกับช่องนั้นเท่าจำนวนเต๋า (พูดง่ายๆอยากทอยให้ออกน้อย) ถ้าเราเลือกที่จะไม่จ่ายเราจะได้ ไม้และการ์ดอาวุธชนิดนั้นขึ้นมือ ทำให้ตาต่อไปโอกาสได้ของมีง่ายขึ้น

ในกลุ่มต่อสู้จะเปลี่ยนเป็นยิ่งทอยเยอะยิ่งดี เพราะเราจะเอามูลค่าเต๋าไปแลกไทล์สีฟ้า(lv4)ได้ยิ่งได้แต้มเยอะก็ยิ่งแลกไทล์ได้ชิ้นใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้บางช่องเรายังสามารถสร้างเรือมาช่วย +/- หน้าเต๋าลดดวงได้อีก (ในเกมมีเรือสามแบบ แต่ล่ะแบบก็ใช้เป็นเงื่อนไขเฉพาะสำหรับบาง action ด้วย)


A Feast of Vikings

ออกตัวก่อนว่าสำหรับ Uwe ผมชอบ Agricola มาก รองมาคือ Caverna กับ Field of Alre  ที่เฉยๆคือ Ora labora และที่ไม่ชอบเลยคือ Le Harve (ผมไม่ค่อยถูกโรคกับเกมแนว Resource conversion เท่าไร)

เกมนี้ตอนประมาณ 5-6 รอบแรกค่อนข้างชอบ หลังจากนั้นออกแนวเฉยๆ (อันนี้แค่ส่วนตัวผมนะ ในกลุ่มผม คนที่เล่นเป็น 10 รอบยังพีคก็มีหลายคน)

ที่เป็นแบบนี้เพราะลักษณะของตัวเกมที่ค่อนข้างไปทาง solitaire แบบคิดท่า คิดสายเองจากบ้านซะเยอะ ด้วยความที่ final product มันเป็นไทล์เหมือนกัน แต่วิธีได้มาระหว่างทางมีเยอะ ทำให้พอจบรอบแรกๆแล้วหัวจะแล่นมาก อยากลองท่านั้น นี้ โน้น ออกสเต๊ป 1..2..3 ชนิดที่เล่นได้สามเกมติด ช่วงเวลาในการค้นหาความเป็นไปได้นี้สนุกมากๆ

ของเล็กๆน้อยๆแต่ว่าทำออกมาได้น่าประทับใจคือถาดใส่ไทล์ ชนิดที่ผมกล้าฟันธงเลยว่าเกมนี้ถ้าไม่มีไอ้ถาดนี้มาให้นี้แป๊กแน่นอน เพราะว่ามันช่วยในการจัดเรียงไทล์ให้เป็นระเบียบ มองแล้วรู้เลยว่าจากตรงนี้จะต้องหยิบไทล์ชิ้นไหนต่อเวลา upgrade ตอนเก็บก็ง่ายดีด้วย

จุดที่ผมไม่ชอบอย่างมากของเกมนี้คือการ์ด Occupation (การ์ด effect เอาไว้ช่วยในการเล่น) อยากแรกคือ effect ด๊อกด๋อยบางมาก ไม่ใช่แบบ Agricola หรือ ห้องใน Caverna ที่ effect เป็นตัวกำหนดทิศทางในการเล่นเกม อย่างที่สองที่ไม่ชอบมากคือดวงฉิบหาย เพราะจั่วมาสุ่มๆ เงื่อนไขการการ์ดค่อนข้างจุกจิก หลายๆครั้งการ์ดที่ได้มาความสามารถและเงื่อนไขของการ์ดไม่ค่อยตรงกับสายที่เรากำลังเล่นอยู่ก็บ่อย (เรื่องการ์ด ก็เป็นเรื่องที่ในกลุ่มที่ผมเล่นให้ความเห็นแตกต่างกันเยอะ)

เลยกลายเป็นว่าสำหรับผมแล้ว พอรู้สึกว่าเล่นครบท่าที่อยากเล่นแล้วก็ไม่ค่อยอยากเล่นต่อเท่าไร เพราะการ์ดมันไม่แรงพอที่จะจูงใจเราเลือกวิธีการเล่นบางแบบเป็นพิเศษ แผนที่กับช่อง action เหมือนเดิมหมดเกมเลยค่อนข้างซ้ำๆ (แต่ช่วงเวลาก่อนจะรู้สึกเบื่อๆนี้สนุกมากๆเลยนะ อย่าเข้าใจผิด) แต่ถ้าได้เล่นในวงที่จบเกมนี้ 4 คนในเวลา 60-75 นาทีก็คิดว่าเป็นเกมแนวพักผ่อนที่ใช้ได้

[Note] เกมนี้มีหนังสือเกร็ดประวัติเกี่ยวกับตัวเกมแยกออกมาเล่มนึง อ่านเพลินใช้ได้

[Note] ส่วนตัวมี varient Occupation ที่ชอบอยู่สองแบบ แบบแรกคือแจกให้ดูล่วงหน้าเลยคนล่ะ 8 ใบเวลาจั่วก็ให้เลือก 1 ใน 8 นั้นมาใช้ กับอีกแบบทำคล้ายๆกันแต่เปลี่ยนจากสุ่มเป็น draft

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->