A Distant Plain - สู่ความยุ่งเหยิงแห่งอัฟกานิสถาน

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
A Distant Plain - สู่ความยุ่งเหยิงแห่งอัฟกานิสถาน

NOTE: เป็นอีกเกมที่กะเขียนสั้นๆแต่ยิ่งเขียนยิ่งยาว แต่เกมกางยากโอกาสที่จะได้เจาะมาทำรีวิวเต็มๆคงไม่มี ผมเลยขอเขียนรีวิวที่ค่อนข้างหยาบทิ้งไว้ตอนที่ความทรงจำยังสดใหม่แบบนี้ล่ะกัน (รูปน้อยเพราะตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำรีวิว >__<)

A Distant Plain เป็นหนึ่งในเกม COIN Series (COunter-INsurgency : ต่อต้านก่อการร้าย) ออกมาแล้วหลายเกม อันนี้เป็น volume ที่สามของซีรี่ย์ เป็นหนึ่งในเกมสไตล์ wargame ที่ผมอยากลองมานานล่ะ เคยเกือบได้เล่น Fire in a Lake แต่พลาดไป เกมนี้ได้เล่นเพราะเพื่อนสายซื้อสั่งรวมกับเกมอื่นมาเพราะเห็นว่า rating เยอะดี พอดีพึ่งหาเหยื่อมาได้หลังจากดองไว้นานเพราะเกมมันต้องเล่น 4 คนเท่านั้น (จริงๆแล้ว COIN นี้จะออกไปทางกลุ่มย่อยของ wargame อีกทีไม่ใช่ classic wargame ที่เอาตัว chit เดินบนแผ่นที่หกเหลี่ยมนะ)

เกมนี้ถือเป็น wargame สมัยใหม่ที่ไม่ได้มีแค่สงครามแต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องนโยบายการเมืองด้วย ตัวเกมจับเอาบรรยากาศการเมืองในอัฟกานิสถานในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ในช่วงปี 2002 - 2013 หลังจากที่ฝ่ายอเมริกาและพวกได้ทำการบุกยึดล้มล้างกลุ่มตอลิบานพร้อมกับ ‘ช่วยเหลือ’จัดตั้งรัฐบาลอัฟกานิสถาน

ข้อมูลทาง ประวัติศาสตร์, เหตุการณ์ และคำจำกัดความ อาจจะมีข้อผิดเพี้ยนหลายจุดนะครับเพราะความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีน้อยมาก แต่ถ้าพูดแบบบ้านๆก็คิดว่าไม่น่าจะหลุดจากนี้เท่าไร ถ้ามีตรงไหนคิดว่าควรแก้ไขติดต่อเข้ามาได้ครับผม


“4 ฝ่าย 4 เป้าหมาย 1 ดินแดน”

โดยภาพรวมแล้วเกมนี้ (และเกมอื่นๆใน COIN Series) ก็เหมือนกับการชักเย่อกัน 4 ฝ่ายไปมาโดยมีผู้ชนะได้เพียงแค่คนเดียว ตัวเกมจะแบ่งแต่ล่ะฝ่ายออกเป็นสองฝั่งคือ COIN ( อเมริกา , รัฐบาลอัฟกานิสถาน ) กับ Insurgency (ตอลิบาน , มาเฟีย) ระหว่างเล่นเราก็จะเคลื่อนทหารของแต่ล่ะฝ่ายไปมาบนพื้นที่ ที่แบ่งออกตามเขตแดนของประเทศนี้

เพื่อความเข้าใจง่ายก่อนอธิบายต่อ แต่ล่ะพื้นที่ในเกมจะมีอยู่ 2 คุณสมบัติที่สำคัญคือ

  • ถ้าฝ่ายไหนคนเยอะกว่า ฝ่ายนั้นจะเป็นคนควบคุมพื้นที่นั้น (COIN Control , Taliban Control , Natural) กับ
  • ความเห็นของคนในพื้นที่ต่อฝ่ายรัฐบาล (Support , Opposition , Natural)

Coalition : กองกำลังผสมนานาชาติ นำทีมโดยอเมริกาและพรรคพวก (ต่อจากนี้ขอเหมารวมเรียกอเมริกา) เป้าหมายคือการสร้างเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่เข้มแข็งพร้อมกับถอนทหารของตัวเองออกจากพื้นที่ ระหว่างเกมเราจะคอยวิ่งไปหลายๆพื้นที่พร้อมฝ่ายรัฐบาล (เพราะคนน้อยเลยต้องอาศัยคนพื้นที่ด้วย) กับคอยสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ให้เข้าสนับสนุนรัฐบาล [win cond: Support + จำนวนทหารที่ถอนออกมาจากอัฟกานิสถาน]

Government : รัฐบาลอัฟกานิสถาน สิ่งที่คุณต้องการคือความมั่นคงของรัฐ คุณทำงานร่วมกับฝ่ายอเมริกาเพื่อควบคุมฝ่ายต่อต้านด้วยกำลังพลที่เหนือกว่า ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยสร้างระบบอุปถัมภ์ (patronage) เพื่อความมั่งคงในการบริหารงาน [win cond: COIN Control + patronage]

*sidenote: ธรรมเนียมระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือมาเฟีย(Warlords)ถือเป็นเครื่องมือในการบริหารงานของรัฐบาลอัฟกานิสถานมานมนาน เรียกอีกอย่างว่าคอรัปชั่นนั้นแหละ

Taliban : กลุ่มนักรบศาสนาหัวรุนแรงที่ถูกปลดจากอำนาจเพราะการบุกรุกของอเมริกา เป้าหมายของการกลับมาคือการสร้างฐานกำลังพร้อมกับปลุกระดมความเกลียดชังรัฐบาลหุ่นเชิด  [win cond: Opposition + Base]

Warlords : กลุ่มมาเฟีย,ค้ายา,หัวหน้าชนกลุ่มน้อย เมื่อก่อนรวมมือกับอเมริกาเพื่อขับไล่ตอลิบาน แต่ตอนนี้ต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระเหนือการควบคุมของรัฐบาล เป้าหมายคือการสร้างความไม่เสถียรภาพแก่ฝ่ายใด และการหาเงินทุนจำนวนมาก เพื่อเป็นทุนในการต่อสู้ระยะยาว [win cond: Uncontrolled และ Resources]


“Nothing personal , It’s just good business”

ฝั่ง Coalition กับ Governmentมีจุดร่วมที่น่าสนใจตรงที่ อเมริกาอยากให้มีคนในพื้นที่เยอะ แต่ตัวเองดันมีคนน้อย เลยต้องพยายามลากคนของรัฐบาลไปด้วย เพราะคนต้องเยอะกว่าฝั่งก่อการร้ายก่อนถึงจะสร้าง Support (ทัศนะคติเชิงบวกต่อรัฐบาล) อันเป็นหนึ่งในทางชนะได้ ทางรัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากการมี COIN Control แต่ดันขัดกันเองตรงที่ การสร้างระบบอุปถัมภ์ (หนึ่งในแต้มชนะของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการร่วมมือกันแบบหลวมๆกับฝั่ง Warlords) ต้องแอบทำในที่ที่ไม่มีฐานทัพของฝั่งอเมริกันตั้งอยู่ ผลของการทำระบบนี้ยังทำให้เสียง Support ของรัฐบาลลดลงด้วย (อันเป็นการขัดขาอเมริกา) แถมฝั่งอเมริกันไม่มี resource เป็นของตัวเองด้วยนะ สูบเอาจากรัฐบาลอัฟกันฯเนี่ยแหละ

ทางฝั่ง Taliban จะได้รับสนับสนุนจากประเทศปากีสถาน สามารถวิ่งเข้าวิ่งออกได้ประเทศได้โดยที่ฝ่ายอื่นตามเข้าไปไม่ได้ แต่ท่าทีของทางปากีสถานเองก็จะปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆในระหว่างเกม เงื่อนไขการชนะของทางตอลิบานจะคล้ายๆกับฝั่งอเมริกาแต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือพยายามไปยึดพื้นที่จากนั้นก็ปกครองด้วยความหวาดกลัว (Terror) หรือ ไม่ก็ผ่านทางใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ (กฏหมายอิสลาม) เพื่อปลุกระดมคนให้เห็นด้วยกับตัวเองและต่อต้านรัฐบาลอัฟกันฯ จะใช้ท่าไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ของพื้นที่นั้น ถ้ายึดไม่ได้นานการใช้ความกลัวเข้าข่มจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ resource เยอะกว่าให้การสร้างเสียงสนับสนุน แต่ว่าความกลัวก็อยู่ได้ไม่นานเพราะจะหายไปตอนการ์ดเช็คเงื่อนไขจบเกมจะออก

ฝั่ง Warlords นี้จะออกแนวกวนๆชาวบ้านหน่อยเพราะเน้นการแทรกตัวไปตามช่องว่างกองกำลังแต่ล่ะฝ่าย เพื่อให้พื้นที่นั้นไม่มีใครควบคุมได้เบ็ดเสร็จ ( ไม่มี COIN / Taliban Control) เพราะเงื่อนไขแต้มเราคือความไม่มั่นคงของฝ่ายใด พอคนเผลอก็ปลุกฝิ่น ตั้งด่านไถเงินบนถนนเก็บตังชิลๆไป ความสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐบาลก็น่าสนใจเพราะรัฐบาลก็ต้องอาศัยผู้เล่นฝั่งก่อการร้ายเนี่ยล่ะถล่มฐานของฝ่ายอเมริกันเพื่อเปิดช่องทำแต้มเหมือนกัน


“ระบบเลือก action น่าสนใจ”

การทำ Action ของ COIN Series ค่อนข้างน่าสนใจ หลักคือเราจะเห็นการ์ดอยู่สองใบ คือของตานี้ และตาหน้า แต่ล่ะใบก็จะมี icon สัญลักษณ์ของทั้งสี่ฝ่ายเรียงลำดับสลับกันแล้วแต่การ์ด แต่ล่ะใบจะมี event ให้เลือกทำ 2 แบบ ทีนี้เราก็จะไล่ถามผู้เล่นแต่ล่ะฝ่ายเรียงลำดับตามการ์ด ว่าจะทำ action ไหม? ถ้าทำก็ต้องเลือกระหว่าง Main Action / Main Action + Spacial Action / เล่น Event บนการ์ด

ผมจงใจเลือกคำเฉพาะที่ไม่ตรงกับใน rulebook นะครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยเล่น

สิ่งที่ทำให้ระบบนี้พิเศษก็คือสิ่งที่ผู้เล่นคนแรกเลือกจะเป็นตัวกำหนดว่าผู้เล่นลำดับสองจะได้ทำ action แบบไหนด้วย อย่างเช่นคนแรกเล่น Main Acion ฝ่ายที่เล่นตามก็จะทำได้แต่  Main Action แบบจำกัดพื้นที่เล่น แต่ฝ่ายแรกเลือกที่จะเล่น Event ฝ่ายตามก็จะได้ทำ Main Action + Spacial Action

ถ้ารอบนี้เราเลือกที่จะทำ action รอบหน้าเราจะอยู่ในสภาพ [Inactive] ทำให้ไม่สามารถทำ action ได้ (ในทางกลับกันถ้า [Inactive] ตานี้ก็จะได้กลับไปอยู่ในสภาพ [Active] ตาหน้า) ในตานึงจะมีผู้เล่นแค่สองฝ่ายเท่านั้นที่ได้ action ด้วยความที่เราเห็นการ์ดตาหน้าทำให้บางทีเราเลือกที่จะ ‘ผ่าน’ เพื่อคงสภาพ [Active] เอาไว้เล่นรอบหน้าแทน เลเยอร์การตัดสินใจตรงนี้น่าสนใจมากเพราะเราไม่ใช่สักแต่ว่าต้องทำแต่ของที่เราได้ประโยชน์สูงสุดแต่ต้องดูด้วยว่าอีกฝ่ายจะทำอะไร (หรือบางทีก็ต้องเจรจาเพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน)

เกมนี้ไม่ได้จบทันที่ที่ฝ่ายไหนทำตามเงื่อนไขได้ แต่ว่าจะเช็คเงื่อนไขแค่ตอนที่การ์ด Propaganda ถูกเปิดขึ้นมา การ์ดที่ว่าจะถูกสับใส่ไว้ในกองจำนวนหนึ่ง (มีระบบเว้นระยะให้การ์ดห่างกันคล้ายๆการ์ด epidemic ในเกม Pandemic )


“รูลอ่านยากสาดดดดดดดดดดดดดด”

เกมนี้ใช้เวลาอ่านเกือบ 2 อาทิตย์ อ่านๆหลับๆทรมานสัดๆคือรูลมันอ่านยากมากทั้งๆที่กติกาก็ไม่ได้ยาวมากมาย เป็นกติกาประเภท “1.2.2 Action A คุณจะได้ทำเกี่ยวกับ C (2.3.1) ถ้าคุณต้องการเคลื่อนที่ไปบน Line of Comunication (4.2.1) คุณจะต้อง……” คือมันมี reference อ้างอิงกันไปมาสะดุดความคิดรัวๆ การที่จะอ่านให้เห็นภาพรวมมันทำได้ยากมากๆ  คือผมเป็นโรคจิตพอเห็นมัน refer แล้วต้องโดดไปอ่าน พอโดดไปอ่านแล้วมันก็ refer ต่อๆกันไปเรื่อยๆ

แถมแต่ล่ะฝ่ายมี Main Action / Spacial Action ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่อันเดียว!! อันที่คล้ายๆก็มี แต่ก็จะมีข้อแตกต่างเล็กๆหน่อยกันไป ทำให้การสอนเกมเป็นไปอย่างลำบากพอควร ถ้าเจอผู้เล่นสายไม่มีปัญญาอ่าน referance sheet เองนี้คือจบเลย ข้อจำกัดพวกนี้พอลองไปดำๆเล่นจริงในเกมก็เริ่มเข้าใจนะ ยิ่งเข้าใจ background ของแต่ล่ะฝ่ายก็ยิ่งเก็ทว่าทำไมแต่ล่ะท่ามันถึงเป็นแบบที่มันเป็น แต่ตอนอ่านนี้ไม่เก็ทเลยว่ามันทำเอี้ยไรได้ เราทำแบบไหนถึงจะทำให้เราใกล้ชนะ หรือทำแบบไหนมันอวยฝ่ายไหน ตัดกำลังฝ่ายไหน ไรงี้

ยังดีว่าตัวเกมมีคู่มือ playbook อีกเล่มที่นำเกมตัวอย่างมาให้ดูแบบ step by step ก็ช่วยให้พอเห็นภาพในเกมได้ดีขึ้นมากๆวิธีสอนก็น่าสนใจคือ อธิบายไปถึงจุดนึงจะให้เราหยุดแล้วไปเปิดรูลที่ล่ะช่วงไปเรื่อยๆ แต่ก็กว่าจะมีความมั่นใจเอาเกมมากางผมก็ใช้เวลาทำใจเยอะอยู่เหมือนกัน


“สนุกมากแต่น่าจะกางยาก”

พึ่งเล่นไปครั้งเดียวสนุกมาก คือการที่แต่ล่ะคนมีเป้าหมายในการเล่นที่แตกต่างกัน แต่ก็มีการขัดขา/ส่งเสริมกันได้อย่างลงตัว ขนาดไม่เก็ทข้อมูลอะไรมากยังเล่นแล้วชอบ เกมบังคับให้เราต้องคิด , เดินเกม แล้วก็ปฎิสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆในแบบที่เล่นแล้วรู้สึกว่า ‘real’ มาก การ์ดเหตุการณ์ในเกมก็มี reference อ้างอิงให้ทุกใบเล่นไปอ่านไปก็ยิ่งช่วยเพิ่มความ’อิน’ คือเล่นแล้วรู้สึกว่าตัวเกมเล่าเรื่องได้ดีมาก ตัวเกมหลังเข้าใจกติกาแล้วค่อนข้างเดินไปได้ไว (แต่กว่าจะเข้าใจก็ใช้คลุกดินคลุกทรายเป็นชั่วโมงอยู่)

แกนเกมให้ความรู้สึกเป็นยูโรมาก ถ้าให้เทียบ weight แล้วจะเทียบเท่า heavy-euro แต่ก็เป็นอะไรที่แตกต่างออกไปเยอะอยู่ (คำแบบฝรั่งก็คงเป็น diffrent beast) ผู้เล่นสายยูโรที่มุ่งแต่จะหาว่าทำยังไงจะถึงจะทำแต้มให้ชนะ หรือพยายามคิด optimal move อย่างเดียวก็ไม่น่าจะชอบเกมนี้เท่าไร เพราะด้วยธรรมชาติของสงครามจำลองที่คุณไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้ไกลนัก (แต่ไม่มี event แบบที่เปลี่ยนเกมมั่วซั่วนะ) แต่ถ้าสามารถเปลี่ยน mindset ให้จมไปกับบรรยากาศการเมืองและสถานะการณ์จำลองของเกมได้ก็คิดว่าน่าจะชอบกัน

โดยพื้นฐานแล้วผมไม่ค่อยชอบ wargame เท่าไร (wargame จริงๆที่ไม่ใช่แค่มีอะไรมาตีกันแล้วก็มโนเรียกว่า wargame แบบที่เห็นเรียกกันทั่วอ่ะนะ) เพราะถ้าไม่เล่นได้แค่สองคน ก็จริงจังกับพวกรายเอียดการปฎิบัติการเยอะเกินจริตผมไปหน่อย แต่ COIN Series นี้สนุกดีอยากเล่นอีก

ตอนนี้เลยเล็งๆ Cuba Libre เอาไว้เพราะถูกยกเป็น Gateway สำหรับ COIN Series (พื้นฐานสุดแล้วก็ใช้เวลาน้อยสุด) ทำให้น่าจะมีโอกาสกางแบบไม่ต้องนัดมาเล่นง่ายกว่า แต่ Falling Sky: The Gallic Revolt Against Caesar (ธีมสมัยโรมันโน้นเลย) ที่พึ่งออกมาใหม่ก็น่าสนใจดีเหมือนกันเพราะ complexity  ไม่สูงเท่า A Distant Plain

คิดว่าคงจะยากที่จะได้กางใหม่ง่ายๆ เพราะหาคนเล่นที่พร้อมจะจมดิ่งไปกับเรื่องราวได้ยากจริงๆ (คือเข้าใจเลยว่าทำไมพวกฝรั่งสาย wargame ถึงได้กริ๊ดกราดกับเกมที่ solo ได้กันนัก)


ข้อมูลอื่นสำหรับผู้เล่นที่สนใจใน COIN Series

Guide to GMT Games’s COIN Series

Cuba Libre. A Study in COIN Pedagogy

The 5 Worst Mistakes I’ve Made when Learning COIN

Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->