18Lilliput- เกมยักษ์โลกใบจิ๋ว

Sisada Ransibrahmanakul
Written by Sisada Ransibrahmanakul on
18Lilliput- เกมยักษ์โลกใบจิ๋ว

เกมยูโรระดับกลางหนักที่นำเอาโลกของเกมลงทุนแบบ 18XX (เป็นชื่อปีเพราะเกมแนวนี้จะจับช่วงปี 1800-1899 อันเป็นยุคที่กิจการรถไฟในอเมริกากำลังรุ่งเรื่อง) ที่เป็นเกมแนวซื้อขายหุ้นและลงทุนในกิจการรถไฟที่ปกติแล้วจะใช้เวลาเล่นกันอย่างน้อยๆก็ 3-5 ชั่วโมงให้มาอยู่ในรูปแบบเกมที่ตัดระบบซับซ้อนรุงรังออกแล้วเก็บมาแต่บรรยากาศที่ทำให้เกมจบใน 90 นาที (แต่เอาจริงๆผมเล่นแล้วประมาณ 120 นาที) ผลงานของ Leonhard “Lonny” Orgler (Russian Railroads, 18CZ, 1880, 1854, Poseidon)

side note: เกมแนวนี้ปกติจะใช้ชื่อ 18 นำหน้าแล้วตามด้วยชื่อปีที่ต้องการ บางเกมก็จะใช้ตัวอักษร (ปกติจะใช้แค่สองตัวอักษร อย่าง 18CZ ที่ใช้แผนที่ของสาธารณรัฐเช็ก) ส่วน Lilliput นั้นเป็นชื่อเมืองจากนิยายเรื่อง กัลลิเวอร์ ที่ว่าด้วยชายไปติดเกาะโผล่ในเมืองที่มีแต่คนตัวเล็กจิ๋ว (นัยว่าเกมนี้เป็นเกมฉบับย่อส่วนของเกมที่ใหญ่กว่าอย่าง 18XX)

มาว่ากันโดยไอเดียหลักก่อน คือเกมนี้ (และเกม 18XX อื่นๆ) จะมีบริษัทรถไฟอยู่จำนวนหนึ่ง เราในฐานะนักลงทุนก็จะทำการซื้อ/ขายหุ้นกิจการรถไฟ ใครถือหุ้นใหญ่สุดก็จะเป็นคนกำหนดทิศทางของบริษัทว่าจะเอาเงินที่มีไปซื้อรถไฟแบบไหน เวลาทำเงินได้จะเอาเงินเก็บไว้กับบริษัทเพื่อเอาไว้ทำทุนขยายกิจการ หรือจะจ่ายปันผลออกไปเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเงินสดเอาไปใช้ต่อดี (สิ่งสำคัญของเกมแนวนี้คือเงินของผู้เล่นกับบริษัทจะแยกกันเด็ดขาด)

สิ่งที่แตกต่างกับเกม 18XX อื่นๆคือแทนที่จะให้ผู้เล่นเลือกทำแอคชั่นอย่างอิสระตามรอบของเกม ใน 18Lilliput เราจะต้องมาผลัดกันดราฟท์การ์ดแอคชั่นที่มีจำนวนจำกัดแทน ซึ่งแต่ล่ะใบจะมีอยู่สองแอคชั่นให้เลือกทำ ซึ่งหลักๆก็คือ ซื้อ-ขายหุ้น, วางไทล์, ซื้อรถไฟ กับอื่นๆอีกนิดหน่อย

ในเกมนี้เราจะไม่มีแผนที่จริงจังเหมือนเกมอื่น แต่จะให้ผู้เล่นหยิบไทล์มาวางต่อไปเรื่อยๆเอง แต่จะมีไทล์อยู่สามแบบได้แต่ไทล์ที่มีเมืองใหญ่เอาไว้วางสถานนี, ไทล์ที่มีเมืองขนาดเล็ก และ ไทล์ที่มีแค่เส้นทางอย่างเดียว (แต่ล่ะไทล์ยังสามารถอัพเกรดไปจาก ตรง/โค้ง ไปเป็นสามแยกและสี่แยกได้อีก) ถ้าถามว่าวางไว้ทำไม? ตรงนี้จะเชื่อมโยงต่อไปอีกหลายเรื่อง

อย่างแรกคือไทล์มันจะมี ‘รายได้’ อยู่ (20/10/0 สำหรับไทล์เมืองใหญ่/ไทล์เมืองเล็ก/ถนน แต่ตัวเลขนี้เพิ่มได้ถ้าอัพเกรดระดับไทล์) เราก็จะพยายามต่อไทล์ให้มันเชื่อมโยงเป็นกันแล้วให้บริษัทเรามีเส้นทางทำเงินให้ได้เยอะๆ พอมีเส้นทางแล้วยังไงต่อ? เราก็ต้องมีรถไฟ ซึ่งมันจะมีระยะทำการของมันอยู่อย่างรถไฟเบอร์สองก็จะวิ่งได้สองเมือง ถ้าเรามีสองคันก็วิ่งไปคนล่ะทาง (ห้ามวิ่งเส้นทางเดิม) ได้เงินมาก็ค่อยมาคิดอีกทีว่าจะเก็บเงินนี้เอาไว้กับบริษัทเพื่อเอาไว้ทำทุนซื้อรถไฟคันใหม่ แต่หุ้นราคาตก หรือจะจ่ายปันผลให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นดีแถมราคาหุ้นก็จะขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาคิดอีกว่า

ความเชือดเฉือนหลักของเกมก็จะอยู่ที่การวางไทล์เนี่ยล่ะ เพราะการที่บริษัทจะเดินเส้นทางรถไฟเพื่อทำเงินได้จะต้องเริ่มจาก ‘สถานี’ ของบริษัทตัวเอง ซึ่งนอกจากจำนวนสถานีจะมีจำกัดแล้วที่วางก็จำกัดอยู่แค่ไทล์เมืองใหญ่เท่านั้น ส่วนความเหี้ยคือถ้าเมืองใหญ่นั้นมีสถานีของบริษัทอื่นจองเต็มแล้วคุณก็จะวิ่งผ่านไปไม่ได้ ทำให้การวางไทล์เชื่อมต่อทางในเกมนี้เป็นหัวใจหลักอีกอย่างหนึ่ง ในอีกแง่แล้วความสนุกอีกอย่างก็คือเราสามารถ ‘แกล้ง’ กันได้โดยไปสร้างสถานีวางขวางเส้นทางชาวบ้าน

ของเล่นอีกอย่างประจำเกมแนวนี้ก็คือระบบ ‘รถไฟตกยุค’ คือเวลาเราเล่นเนี่ยรถไฟดีวิ่งไกลก็จะออกมาเรื่อยๆจนถึงจุดจุดหนึ่งคันที่วิ่งช้าจะตกยุคไป โดยเริ่มจากเก็บเงินได้น้อยลงสองเท่า และถูกทำลายไปถ้าห่างชั้นมากๆ ตรงนี้คนคุมบริษัทเลยต้องกะจังหวะการซื้อรถไฟกับวางรางให้สัมพันกันว่าจะเน้นวิ่งด้วยระยะหรือด้วยปริมาณ กับหาช่วงเวลาที่เหมาะๆเก็บเงินเข้าบริษัทไว้ออกรถใหม่ ถ้ากะจังหวะไม่ดีเงินรายได้บริษัทก็จะขาดมือเพราะเครื่องมือผลิตเงิน(รถไฟ)มันหมดอายุงาน

อีกส่วนคือลูกเล่นด้านความ asymmetric หรือความสามารถแตกต่างกันระหว่างผู้เล่น คือเราก็จะมีตัวละครพร้อมความสามารถประจำตัวอีกนิดหน่อยที่ช่วยให้บริษัทของเราทำเงินหรือวางไทล์ได้มากขึ้น (ในเกม 18XX อื่นจะอยู่ในรูปสิ่งที่เรียกว่า Private Company ที่ต้องประมูลมาตอนเริ่มเกม) กับถึงแม้ว่าเกมนี้จะไม่มีแผนที่แต่ว่าเกมจะให้ไทล์จำพวกภูเขา ทะเล ฯลฯ เอาไว้ช่วยให้เราสร้างแผนที่ให้แต่ล่ะเกมเพื่อให้มันแตกต่างกันได้นิดหน่อย

🐸 [กบโอเค]

เอาจริงๆให้โอเคด้วยเหตุผลว่าเกมนี้มีไว้คัดคนรอ Upgrade มากกว่าเลยไม่น่าจะได้กางบ่อย เพราะในฐานะเกมหน้าด่านที่เอาไว้แนะนำคนเล่นสู่โลกของเกม 18XX แล้วเกมนี้ถือว่าเจ๋งดี เพราะเก็บทุกอย่างที่เป็นของ 18XX มาครบถ้วนโดยใช้เวลาการเล่นน้อยมาก (เกมแนวนี้ปกติขั้นต่ำที่ 3 - 5 ชั่วโมง นี้ย่อมาเหลือแค่ 1.5 - 2 ชั่วโมงเท่านั้น) วิธีเล่นฟังดูเหมือนมันจะซับซ้อนแต่จริงๆแล้วเกมมันเล่นง่ายจนคุณตกใจ เพราะมีแค่หยิบไทล์ต่อราง-ซื้อขายหุ้นเท่านั้นเอง ทุกอย่างที่เล่ามาถึงจะฟังดูเยอะๆแต่มันจะลงล๊อกเกี่ยวโยงกันไปแบบที่สมเหตุสมผลไม่โยงกันวุ่นวาย

ปกติตัวเลือกสายแนะนำตัวของ 18XX จะเป็น Poseidon (ธีมเดินเรือค้าขายในยุคโรมัน ส่วนตัวคิดว่ามันเฟรนลี่ แล้วก็นานไปหน่อย) หรือ 1889 (มีไฟล์ PnP กติกาคล้าย 1830 มากแต่ว่าเล็กและจบเร็วกว่า) ที่ให้ระดับโอเคเพราะถ้าเพิ่มเวลาอีกซักหน่อย ผมก็อยากจะกางเกม 18XX เต็มๆอย่าง 1830: Railways & Robber Barons มากกว่าเยอะ ตัวนี้มันเลยมีสภาพเหมือนเกมเอาไว้คัดเลือกหรือมาทดลองเล่นก่อนจะเจอเกมใหญ่มากกว่า แต่ในมุมมองจะหยิบมากางเล่นด้วยตัวมันเองบ่อยๆก็ไม่ได้แย่นะ ยังเพลินอยู่ (แค่มันไม่เหี้ยมแบบที่ผมอยากให้เป็น)

ข้อเสียในมุมเกมธรรมดาคือช่วงเวลาคิดเงินปันผลมันค่อนข้างน่าเบื่อไปซักหน่อย อย่างเช่นการต้องมาคอยนับว่าบริษัทเราลากเส้นเดินทางแบบไหนเงินถึงจะได้เยอะสุด ต่อรางยังดีถึงจะได้เงินเพิ่ม หรือกระทั้งควรออกรถไฟแบบไหน พอได้มาแล้วเราก็ต้องมาหารเลขเอาว่าจะได้หุ้นล่ะเท่าไร ใครได้แค่ไหน เอาจริงๆมันก็ไม่ได้มากมายแต่ว่าถ้าต้องทำหลายๆบริษัทก็จะรู้สึกเหนื่อยๆพอควร ตรงนี้แนะนำมากว่าถ้าใช้ Poker Chip แทนเงินกระดาษจะดีกว่ามาก กับอีกอย่างคือพิมพ์ตารางจ่ายเงินรอไว้จะช่วยให้ไม่ต้องเปลืองพลังสมองมานั่งคิดเศษเลขให้วุ่นวาย

ในมุมเกมแนว 18XX แล้วเกมนี้ถือว่าเบาแล้วก็เฟรนลี่มาก ถึงจะพอแกล้งกันได้แต่ว่าเกมนี้ไม่การขายบริษัททิ้ง คือเปิดแล้วเปิดประธานถือหุ้น 50% ยาวๆเกมเลยค่อนข้างเป็นมิตรเยอะ ถ้าเป็นเกมอย่าง 1830 นี้คุณจะเริ่มจากโดนประธานโอนเงินไปให้อีกบริษัทในเครือผ่านการซื้อรถไฟ (ขายรถไฟให้อีกบริษัทที่ตัวเองถืออยู่ในราคาแบบเรียกได้ว่าให้เปล่า) จากนั้นก็ถล่มขายหุ้นทิ้ง ทำให้ผู้เล่นที่ถือหุ้นรองลงมาต้องมาคุมบริษัทที่ไม่มีเงินและไม่มีรถไฟแถมหุ้นก็เน่าโคตรไรงี้ พอเกมนี้ไม่มีความตื้นเต้นก็น้อยลงพอควร กลายเป็นเกมเน้นสร้างรางทำเงินไปเรื่อยๆแล้วหาจังหวะต่อรางไปขวางบริษัทอื่นอย่างเดียวแทน

😍 กบโปรด - อวยไส้แตก ยากมากที่เล่นแล้วจะรู้สึกไม่สนุก

😁 กบชอบ - พร้อมจะเล่นตลอด

🙂 กบโอเค - ชอบในบางแง่มุม แต่อาจจะเล่นไม่บ่อยหรือเล่นแค่บางอารมณ์

😐 กบเฉย - ไม่ได้เกลียดอะไร ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นก็เล่นได้อยู่

🖕 กบไม่เล่น - ไม่ตรงจริต ชวนก็ไม่เล่น

อนึ่ง : เป็นความรู้สึกในความ “อยากจะหยิบมาเล่นไหม?” ของผมเอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของเกม ดูให้เป็นแค่ “อีกความคิดเห็นหนึ่ง” เท่านั้นก็พอนะครับ :)

 


Sisada Ransibrahmanakul

Sisada Ransibrahmanakul

โปรแกรมเมอร์ขี้บ่นที่ชอบเล่นเกมกระดาน

-->